“มาตรา 1532 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1532” คืออะไร?
“มาตรา 1532” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1532 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ เมื่อหย่ากันแล้วให้จัดการแบ่งทรัพย์สินของสามีภริยา
แต่ในระหว่างสามีภริยา
(ก) ถ้าเป็นการหย่าโดยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย ให้จัดการแบ่งทรัพย์สินของสามีภริยาตามที่มีอยู่ในเวลาจดทะเบียนการหย่า
(ข) ถ้าเป็นการหย่าโดยคำพิพากษาของศาล คำพิพากษาส่วนที่บังคับทรัพย์สินระหว่างสามีภริยานั้น มีผลย้อนหลังไปถึงวันฟ้องหย่า “
3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 1532” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1532 ” ในประเทศไทย
1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8333/2560
ภายหลังจากจำเลยกับ ส. จดทะเบียนหย่ากันแล้ว จำเลยกับ ส. ยังคงอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาพักอาศัยอยู่ที่บ้านเดียวกัน ทั้งจำเลยยังเป็นผู้ดูแล ส. เมื่อยามเจ็บไข้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจนกระทั่ง ส. ถึงแก่ความตาย พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่า การจดทะเบียนหย่าระหว่างจำเลยกับ ส. กระทำขึ้นโดยมีเจตนาที่จะไม่ประสงค์ให้ผูกพันตามนั้น จึงเป็นโมฆะใช้บังคับมิได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง แม้จำเลยจะเบิกความว่า เหตุที่จำเลยจดทะเบียนหย่าเพราะเหตุผลทางธุรกิจการค้าของจำเลย แตกต่างจากเหตุผลการหย่าในคำให้การก็ตาม ก็ไม่ทำให้ข้อต่อสู้ของจำเลยเสียไป เพราะเหตุผลการหย่าไม่ได้เป็นสาระสำคัญ สาระสำคัญอยู่ที่การแสดงเจตนา เมื่อการจดทะเบียนหย่าเป็นโมฆะ การสมรสยังคงมีอยู่ มีผลทำให้บันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนหย่าเกี่ยวกับการยกที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทให้ ส. ใช้บังคับมิได้ จำเลยอ้างความเป็นโมฆะดังกล่าวใช้ยันโจทก์ซึ่งเป็นทายาทรับมรดกของ ส. ที่จะต้องรับไปทั้งสิทธิและความรับผิดต่าง ๆ ได้
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 155 วรรคหนึ่ง, ม. 1531, ม. 1532, ม. 1600
2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10159/2559
ตามบันทึกข้อตกลงการหย่าและแบ่งสินสมรส ฝ่ายชายให้บุตรทั้งสองอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของฝ่ายหญิงเพียงผู้เดียว ฝ่ายชายจะไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับสินสมรสทั้งหมดที่ได้ยกให้แก่บุตรทั้งสอง สินสมรสที่มีชื่อฝ่ายชายถือกรรมสิทธิ์ผู้เดียว ฝ่ายชายก็จะโอนเปลี่ยนชื่อให้เป็นชื่อฝ่ายหญิงเป็นผู้ครอบครองแทนบุตรทั้งสอง ในส่วนสินสมรสใดซึ่งหากตรวจสอบพบในภายหลังจากทำบันทึกข้อตกลงฉบับนี้แล้ว ฝ่ายชายตกลงจะนำมายกให้แก่บุตรทั้งสองคนต่อไปในทันที ก็หมายถึง สินสมรสที่เป็นส่วนของฝ่ายชายเท่านั้น หาได้มีข้อความระบุถึงสินสมรสที่ตรวจสอบพบในภายหลังแล้วฝ่ายหญิงตกลงจะนำมายกให้แก่บุตรทั้งสองแต่อย่างใดไม่ และไม่ได้หมายถึงสินสมรสของทั้งสองฝ่ายดังเช่นที่ระบุไว้ในบันทึกข้อตกลงที่มีรายละเอียดของสินสมรสที่คู่สัญญาทั้งสองตกลงยกให้แก่บุตรทั้งสอง เมื่อปรากฏว่าสินสมรสที่ตรวจสอบพบในภายหลังจากทำบันทึกข้อตกลงในส่วนที่เป็นสินสมรสของฝ่ายชายคือจำเลยที่ 1 ได้นำไปให้จำเลยที่ 2 แล้ว คงเหลือสินสมรสส่วนที่เป็นของโจทก์ซึ่งไม่ได้ตกอยู่ในบังคับข้อตกลงดังกล่าว โจทก์จึงมีสิทธิติดตามเอาสินสมรสส่วนนี้มาเป็นของตนได้
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1336, ม. 1471, ม. 1474, ม. 1532
3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7860/2559
เมื่อมีการหย่ากันโดยจดทะเบียนหย่าย่อมมีผลนับแต่จดทะเบียนและให้จัดการแบ่งทรัพย์สินตามที่มีอยู่ในเวลาจดทะเบียนหย่า ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1531 และ 1532 (ก) ซึ่งมาตรา 1532 (ก) มีจุดมุ่งหมายให้มีการแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาให้เสร็จเรียบร้อยก่อนที่คู่หย่าจะแยกจากกัน หากมีการตกลงเกี่ยวกับทรัพย์สินแล้ว ถือว่าเป็นการตกลงแบ่งทรัพย์สินตามมาตราดังกล่าว เป็นการทำสัญญาประนีประนอมยอมความตามมาตรา 850 ส่วนบทบัญญัติมาตรา 1533 ที่บัญญัติว่า เมื่อหย่ากันให้แบ่งสินสมรสให้ชายและหญิงได้ส่วนเท่ากัน ก็ไม่ใช่บทบัญญัติเด็ดขาดโดยคู่หย่าสามารถตกลงให้แบ่งสินสมรสเป็นอย่างอื่นได้และในส่วนสินส่วนตัวก็ตกลงแบ่งกันอย่างใดก็ได้
เมื่อโจทก์จำเลยตกลงกันในขณะจดทะเบียนหย่าแล้วว่าให้จำเลยอุปการะเลี้ยงดูบุตร ให้บ้านและที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์จำเลย ให้โจทก์ออกจากบ้านดังกล่าว ให้รถยนต์ 2 คัน เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ โดยจำเลยจ่ายเงินให้แก่โจทก์รวม 3,500,000 บาท โดยโจทก์ไม่ต้องชำระหนี้อีก ก็ต้องเป็นไปตามนั้น และลงลายมือชื่อโดยมีพยาน 2 คน และนายทะเบียนลงลายมือชื่อไว้ด้วย แม้บันทึกข้อตกลงจะไม่มีข้อความ "ทรัพย์สินอื่นนอกจากนี้โจทก์ไม่ติดใจเรียกร้อง" ก็ตาม แต่โจทก์เบิกความลอย ๆ ว่า ไม่มีการตกลงว่าจะไม่ขอแบ่งอีก โดยไม่มีพยานอื่นสนับสนุนคำเบิกความ จำเลยมีพยานบุคคลซึ่งเป็นคนกลางยืนยันถึงการเจรจาตามบันทึกข้อตกลง ทั้งจำเลยได้ดำเนินการตามข้อตกลงแก่โจทก์แล้ว จึงไม่มีเหตุผลที่หย่ากันแล้วจะไม่เจรจาเกี่ยวกับทรัพย์สินให้เสร็จสิ้น จึงฟังได้ว่าโจทก์และจำเลยตกลงแบ่งทรัพย์สินกันชัดเจน โดยโจทก์ตกลงเอาทรัพย์สินตามที่บันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่าเท่านั้น ส่วนทรัพย์สินอื่นตามฟ้องนอกจากที่ตกลง หากมีชื่อของโจทก์หรือจำเลยก็ให้ตกเป็นของฝ่ายนั้น ส่วนหนี้สินให้จำเลยรับผิดชอบ ข้อตกลงดังกล่าวเป็นสัญญาแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาและเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความเพื่อระงับข้อพิพาทอันใดอันหนึ่งซึ่งมีอยู่ หรือจะมีขึ้นนั้นให้เสร็จไปด้วย ต่างยอมผ่อนผันให้แก่กันตามมาตรา 850 ผลของสัญญาย่อมทำให้การเรียกร้องซึ่งโจทก์และจำเลยได้ยอมสละนั้นระงับสิ้นไป และทำให้โจทก์และจำเลยได้สิทธิตามที่แสดงในสัญญานั้นเป็นของตน ตามมาตรา 852 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกเอาทรัพย์สินตามฟ้องอีก
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 850, ม. 851, ม. 852, ม. 1531, ม. 1532 (ก), ม. 1533