“มาตรา 1546 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1546” คืออะไร?
“มาตรา 1546” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1546 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ เด็กเกิดจากหญิงที่มิได้มีการสมรสกับชาย ให้ถือว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของหญิงนั้น เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น “
อ่านคำปรึกษาจริง, บทความเพิ่มเติมเรื่อง "บุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย" ได้ที่นี่ คลิกเลย !
คลิกเพื่ออ่าน : บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายคืออะไร
3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 1546” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1546 ” ในประเทศไทย
1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12502/2558
ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 จำเลยได้ดำเนินการจดทะเบียนผู้เยาว์เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายตามวิธีการที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1548 แล้ว ผู้เยาว์จึงเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของทั้งโจทก์และจำเลย ตามมาตรา 1546 และ 1547
ศาลล่างทั้งสองยังไม่ได้วินิจฉัยปัญหาว่าผู้เยาว์สมควรจะอยู่กับโจทก์หรือจำเลย เพราะข้อเท็จจริงว่าจำเลยเป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้เยาว์เพิ่งจะปรากฏขึ้นในชั้นฎีกา แต่เมื่อคดีเกี่ยวกับสิทธิในครอบครัวไม่ต้องห้ามอุทธรณ์และฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 และ 248 ทั้งข้อเท็จจริงปรากฏในสำนวนเพียงพอที่จะให้ศาลฎีกาวินิจฉัยไปได้โดยไม่จำต้องย้อนสำนวนลงไปให้ศาลล่างวินิจฉัยก่อน ศาลฎีกาสมควรวินิจฉัยปัญหาข้อนี้ไปเลย
โจทก์และจำเลยต่างเป็นบิดามารดาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้เยาว์ มีอำนาจปกครองและเลี้ยงดูผู้เยาว์ด้วยกัน แต่เมื่อโจทก์และจำเลยมิได้อยู่ด้วยกัน กรณีจึงพิจารณาความเหมาะสมว่าผู้เยาว์อยู่กับผู้ใดจะเป็นประโยชน์แก่ผู้เยาว์สูงสุด เมื่อโจทก์เพิ่งจะประกอบอาชีพค้าขายเล็ก ๆ น้อย ๆ ส่วนจำเลยทำงานมีความมั่นคง ทั้งผู้เยาว์อยู่อาศัยกับจำเลยมาโดยตลอด ผู้เยาว์เข้ารับการศึกษาในโรงเรียน มีเพื่อน มีความอบอุ่นอยู่แล้ว ทั้งไม่มีข้อบกพร่องในการดูแลของจำเลย การจะให้ผู้เยาว์ไปอยู่กับโจทก์ เป็นการให้ผู้เยาว์ไปเผชิญสภาพแวดล้อมใหม่ หาโรงเรียนใหม่ เข้าสู่สังคมใหม่ ที่ไม่ปรากฏว่าจะเป็นไปเพื่อประโยชน์ของผู้เยาว์หรือผู้เยาว์จะได้รับประโยชน์หรือไม่ กรณีไม่มีความเหมาะสมที่จะให้ผู้เยาว์ไปอยู่กับโจทก์ การที่ผู้เยาว์อยู่อาศัยกับจำเลยจึงมีความเหมาะสมกว่า ทั้งนี้ ให้จำเลยเปิดโอกาสให้โจทก์ได้พบผู้เยาว์ได้ตามสมควร
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1546, ม. 1547, ม. 1548
ป.วิ.พ. ม. 224, ม. 248
2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12768/2555
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนชื่อ จ. ออกจากการเป็นมารดาของจำเลยต่อนายทะเบียนท้องถิ่นแล้วให้จำเลยกลับไปใช้ชื่อบิดามารดาเดิมโดยอ้างว่าจำเลยไม่มีความเกี่ยวข้องกับ จ. เป็นเพียงคนที่ จ. อุปการะเลี้ยงดู และให้ใช้ชื่อสกุลเท่านั้น เมื่อตามทะเบียนบ้านระบุว่าจำเลยเกิดวันที่ 15 พฤศจิกายน 2490 ความเป็นบิดามารดากับบุตรระหว่างจำเลยกับ จ. ตาม พ.ร.บ.ให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่ง ป.พ.พ. ที่ตรวจชำระใหม่ พ.ศ.2519 มาตรา 5 กำหนดว่า บทบัญญัติบรรพ 5 แห่ง ป.พ.พ. ได้ตรวจชำระใหม่ไม่มีผลกระทบกระเทือนถึงความสมบูรณ์ของการเป็นบิดามารดากับบุตร ดังนั้นความเป็นมารดากับบุตรระหว่างจำเลยกับ จ. ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. บรรพ 5 เดิม ซึ่งมาตรา 1525 บัญญัติรับรองความเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของหญิงว่าเด็กที่เกิดจากหญิงที่มิได้สมรสกับชายย่อมต้องเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของหญิงนั้นเสมอ นอกจากนี้การพิสูจน์ความเป็นมารดาโดยชอบด้วยกฎหมายก็มิได้บัญญัติไว้เหมือนการพิสูจน์ความเป็นบิดา การพิสูจน์ความเป็นมารดาชอบด้วยกฎหมายระหว่างจำเลยกับ จ. จึงไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายหรือจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นที่จะยกมาบังคับได้ จึงต้องอาศัยเทียบเคียงบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 4 วรรคสอง ซึ่งได้แก่บทบัญญัติที่ใช้พิสูจน์ความเป็นบิดาตามมาตรา 1524 วรรคสองและวรรคสามตาม ป.พ.พ. บรรพ 5 เดิม มาพิสูจน์ความเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายระหว่างจำเลยกับ จ.
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 4 วรรคสอง, ม. 1524 วรรคสอง (เดิม), ม. 1524 วรรคสาม (เดิม), ม. 1546 (เดิม)
3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3290/2545
เด็กหญิง อ. เป็นบุตรของโจทก์ที่ 1 กับจำเลย แม้มิได้จดทะเบียนสมรสกัน เด็กหญิง อ. ก็เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นมารดาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1546 แม้เด็กหญิง อ. จะอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของ น. กับ ป. ซึ่งเป็นบิดามารดาของโจทก์ที่ 1 หรือต่อมาหลังจากฟ้องคดีนี้แล้วน. กับ ป. จะไปจดทะเบียนรับเด็กหญิง อ. เป็นบุตรบุญธรรมก็ตามก็หากระทบกระทั่งถึงสิทธิของเด็กหญิง อ. โจทก์ที่ 2 โดยโจทก์ที่ 1 ในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมในการนำคดีมาฟ้องขอให้จำเลยจดทะเบียนรับรองเด็กหญิง อ. เป็นบุตรตามนัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1556 ที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะไม่ เพราะการฟ้องขอให้รับเด็กเป็นบุตรตามมาตรานี้ระบุให้ผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กเป็นผู้ฟ้องแทนผู้แทนโดยชอบธรรมจึงไม่อาจกระทำในนามส่วนตัวได้ แต่กระทำการในฐานะผู้ฟ้องแทนได้ ดังนั้น โจทก์ที่ 2 จึงมีอำนาจฟ้อง
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1546, ม. 1556
ป.วิ.พ. ม. 55