“มาตรา 1660 หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1660” คืออะไร?
“มาตรา 1660” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1660 “ คือ หนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ พินัยกรรมนั้น จะทำเป็นเอกสารลับก็ได้ กล่าวคือ
(๑) ผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อในพินัยกรรม
(๒) ผู้ทำพินัยกรรมต้องผนึกพินัยกรรมนั้น แล้วลงลายมือชื่อคาบรอยผนึกนั้น
(๓) ผู้ทำพินัยกรรมต้องนำพินัยกรรมที่ผนึกนั้นไปแสดงต่อกรมการอำเภอ และพยานอีกอย่างน้อยสองคน และให้ถ้อยคำต่อบุคคลทั้งหมดเหล่านั้นว่าเป็นพินัยกรรมของตน ถ้าพินัยกรรมนั้นผู้ทำพินัยกรรมมิได้เป็นผู้เขียนเองโดยตลอด ผู้ทำพินัยกรรมจะต้องแจ้งนามและภูมิลำเนาของผู้เขียนให้ทราบด้วย
(๔) เมื่อกรมการอำเภอจดถ้อยคำของผู้ทำพินัยกรรมและวัน เดือน ปี ที่ทำพินัยกรรมมาแสดงไว้บนซองนั้นและประทับตราตำแหน่งแล้ว ให้กรมการอำเภอผู้ทำพินัยกรรมและพยานลงลายมือชื่อบนซองนั้น
การขูดลบ ตก เติม หรือการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอย่างอื่นซึ่งพินัยกรรมนั้นย่อมไม่สมบูรณ์ เว้นแต่ผู้ทำพินัยกรรมจะได้ลงลายมือชื่อกำกับไว้ “
3 ตัวอย่างจริงของการใช้” มาตรา 1660” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1660 ” ในประเทศไทย
1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1396/2518
ภริยา 2 คนก่อนบรรพ 5 ซึ่งสามียกย่องเป็นภรรยาเสมอเท่าเทียมกัน ไม่ยกใครเป็นภรรยาหลวง ทั้ง 2 คนมีส่วนได้ทรัพย์สินบริคณห์และมรดกในฐานะภริยาเท่ากัน คือคนละครึ่งในหนึ่งในสามของสินสมรสซึ่งเป็นส่วนของภริยา
พินัยกรรมที่ผู้ทำพินัยกรรมลงลายมือชื่อบรรจุซอง ผู้ทำพินัยกรรมลงชื่อตามรอยผนึก กรมการอำเภอจดข้อความที่ซองยืนยันและลงลายมือชื่อรับรองประทับตราประจำตำแหน่งมีพยานลงลายมือชื่อรับรอง 2 คน ทั้งระบุชื่อและที่อยู่ผู้พิมพ์พินัยกรรม ดังนี้เป็นพินัยกรรมลับ ตามมาตรา 1660
ข้อต่อสู้ว่าฟ้องเคลือบคลุม ซึ่งไม่กล่าวว่าเคลือบคลุมตรงไหนอย่างไร ไม่แสดงเหตุผลโดยชัดแจ้ง คำให้การนี้ไม่ชอบด้วย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรค 2 ศาลไม่รับวินิจฉัย
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
พ.ร.บ.ให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2477
ป.วิ.พ. ม. 177
ป.พ.พ. ม. 1660, ม. 1636
2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 126/2518
พินัยกรรมแบบเอกสารลับนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1660 หาได้บังคับให้ผู้ทำพินัยกรรมต้องลงวันเดือนปีที่ทำพินัยกรรมในพินัยกรรมไม่แต่เมื่อได้ปฏิบัติการถูกต้องครบถ้วนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1660 บัญญัติไว้ทุกประการแล้ว ก็เป็นพินัยกรรมที่สมบูรณ์ตามกฎหมาย ใช้บังคับได้
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 1655, ม. 1656, ม. 1660, ม. 1705
3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1370 - 1371/2498
พินัยกรรมนั้นจะทำได้ก็แต่ตามแบบใดแบบหนึ่ง (มาตรา1655)โดยลงลายมือชื่อไว้ต่อหน้าพยานอย่างน้อย 2 คนพร้อมกัน(มาตรา 1656)โดยทำเป็นเอกสารเขียนเองทั้งฉบับก็ได้(มาตรา 1657) ฯลฯ
เมื่อปรากฏว่าพินัยกรรมนั้นทำขึ้นโดยเปิดเผยเป็นสามฉบับข้อความตรงกัน มอบให้ผู้รับพินัยกรรมไว้ 1 ฉบับ ผู้ทำเก็บไว้ 1 ฉบับ การทำมิได้มีการปิดบังอย่างใดเช่นนี้มิใช่เป็นพินัยกรรมทำตามแบบเอกสารลับแม้จะระบุไว้ว่าฉบับหนึ่งให้ฝากอำเภอเก็บเป็นเอกสารลับนั้น ก็เป็นการเข้าใจของผู้ทำว่าเอกสารที่ฝากอำเภอนั้น อำเภอย่อมเก็บลับเท่านั้นเอง ผู้ทำมิได้เจตนาทำเป็นแบบเอกสารลับและเพียงเท่านี้ยังมิทำให้พินัยกรรมนั้นกลายเป็นพินัยกรรมทำตามแบบเอกสารลับไปไม่
ฎีกาอื่นที่เกี่ยวข้องแยกตามกฎหมายและมาตรา
ป.พ.พ. ม. 248, ม. 1648, ม. 1655, ม. 1656, ม. 1657, ม. 1660