“มาตรา 352 หรือ มาตรา 352 อาญา คืออะไร?
“มาตรา 352 ” หรือ “มาตรา 352 อาญา” คือหนึ่งในมาตราของประมวลกฎหมายอาญา
ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ผู้ใดครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น หรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานยักยอก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าทรัพย์นั้นได้ตกมาอยู่ในความครอบครองของผู้กระทำความผิด เพราะผู้อื่นส่งมอบให้โดยสำคัญผิดไปด้วยประการใด หรือเป็นทรัพย์สินหายซึ่งผู้กระทำความผิดเก็บได้ ผู้กระทำต้องระวางโทษแต่เพียงกึ่งหนึ่ง
[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐] “ อ่านบทความเพิ่มเติมเกี่ยวกับการยักยอกทรัพย์
อ่านบทความทุกความผิดทางอาญาเกี่ยวกับทรัพย์สิน
3 ตัวอย่างจริงของการใช้ “มาตรา 352” หรือ “มาตรา 352 อาญา” ในประเทศไทย
1. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3414/2565
แม้คำฟ้องจะบรรยายความผิดฐานฉ้อโกงมาด้วย แต่การกระทำอันเดียวกันอาจเป็นความผิดฐานฉ้อโกงหรือยักยอกฐานหนึ่งฐานใดก็ได้ และเป็นเรื่องในใจของจำเลยว่าจำเลยมีเจตนาปลอมใบส่งของและใบเสร็จรับเงินเพื่อการหลอกลวงให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินอันเป็นความผิดฐานฉ้อโกงหรือเพื่อปกปิดการกระทำความผิดฐานยักยอกของตน กรณีจึงไม่ทำให้จำเลยไม่เข้าใจฟ้องหรือหลงต่อสู้ ทั้งฟ้องของโจทก์ประสงค์ให้ศาลเลือกลงโทษจำเลยฐานใดฐานหนึ่งเท่านั้นจึงไม่เป็นฟ้องที่ขัดแย้งกันเองหรือเคลือบคลุม ฟ้องโจทก์ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)
2. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2598/2565
ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยกระทำความผิดฐานยักยอกทรัพย์ของโจทก์ร่วม ตาม ป.อ. มาตรา 352 วรรคแรก ระหว่างพิจารณาในศาลชั้นต้น คู่ความตกลงกันได้ โดยจำเลยตกลงชำระหนี้ตามฟ้องให้แก่โจทก์ร่วม เมื่อโจทก์ร่วมได้รับชำระครบถ้วนแล้ว โจทก์ร่วมจะถอนคำร้องทุกข์ให้แก่จำเลย ข้อตกลงดังกล่าวไม่มีข้อความใดที่แสดงว่าโจทก์ร่วมสละสิทธิในการดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยในทันที แต่กลับมีเงื่อนไขให้จำเลยชำระหนี้ให้ครบถ้วนเสียก่อน โจทก์ร่วมจึงจะถอนคำร้องทุกข์ให้แก่จำเลย ศาลชั้นต้นจึงให้จำหน่ายคดีชั่วคราวและนัดพร้อมเพื่อฟังผลการชำระหนี้หรือนัดฟังคำพิพากษาตามคำแถลงของคู่ความเพื่อให้โอกาสแก่จำเลยนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์ร่วม เมื่อถึงกำหนดนัด จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ร่วมบางส่วน และประสงค์จะชำระหนี้แก่โจทก์ร่วมอีก แต่จำเลยไม่สามารถชำระเงินแก่โจทก์ร่วมตามที่ตกลงกันและขอเลื่อนนัดไปอีกหลายนัด จำเลยยังคงไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ร่วมจนครบถ้วน โจทก์ร่วมจึงแถลงขอให้ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษา และศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลย ยิ่งทำให้เห็นเจตนาของโจทก์ร่วมชัดเจนว่า ตราบใดที่จำเลยยังไม่ได้ชำระเงินให้แก่โจทก์ร่วมครบถ้วน โจทก์ร่วมก็ยังติดใจที่จะดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยอยู่เช่นเดิม ดังนี้ ข้อตกลงที่โจทก์ร่วมให้จำเลยผ่อนชำระหนี้แก่โจทก์ร่วมดังกล่าว จึงไม่ได้มีลักษณะเป็นการยอมความอันจะทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องต้องระงับสิ้นไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)
3. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1778/2565
โจทก์ร่วมมอบหมายให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นน้องของสามีโจทก์ร่วม มีหน้าที่เปิดปิดร้าน ดูแลลูกจ้าง เก็บเงินจากลูกค้าและใบส่งของชั่วคราวหรือบิล สรุปรายการขายสินค้าแต่ละวันตามใบส่งของชั่วคราวและรวบรวมเงินส่งให้แก่โจทก์ร่วมภายหลังปิดร้านทุกวัน จำเลยที่ 1 ครอบครองเงินค่าสินค้าแทนโจทก์ร่วมชั่วคราวชั่วระยะเวลาหนึ่งก่อนส่งมอบแก่โจทก์ร่วมภายหลังปิดร้าน ดังนี้ การที่จำเลยที่ 1 เอาเงินค่าสินค้าของโจทก์ร่วมที่อยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 1 แม้เพียงชั่วคราวชั่วระยะเวลาหนึ่งก็มิใช่การลักทรัพย์เพราะไม่ได้ทำร้ายการครอบครอง ที่จะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ต้องเป็นการทำร้ายการครอบครองและกรรมสิทธิ์ สำหรับจำเลยที่ 2 โจทก์ร่วมในฐานะผู้ร้องขอประกันยื่นคำร้องขอศาลอนุญาตให้ประกันจำเลยที่ 2 ว่าจำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ร่วมเป็นที่พอใจ โจทก์ร่วมไม่ประสงค์ที่จะดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 2 อีกต่อไป กรณีเช่นนี้ถือได้ว่า โจทก์ร่วมและจำเลยที่ 2 ได้ตกลงยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจำเลยที่ 2 ของโจทก์และโจทก์ร่วมย่อมระงับไป ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2) แม้จำเลยที่ 2 ไม่ได้ฎีกา แต่ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185, 195 วรรคสอง, 215, 225