การสมัครสอบ (สอบใบอนุญาตให้เป็นทนายความ)
การสมัครสอบแบ่งออกเป็น 2 แบบ
1. การสมัครสอบแบบฝึกหัดงานในสำนักงาน 1 ปี
2. การสมัครสอบแบบรุ่น
การสมัครสอบแบบฝึกหัดงานในสำนักงาน 1 ปี
ผู้สมัครสอบต้องไปติดต่อขอรับแบบแจ้งการฝึกหัดงานในสำนักงาน 1 ปี จากสภาทนายความฯ แล้วนำแบบแจ้งการฝึกหัดงานไปติดต่อขอฝึกงานกับสำนักงานทนายความที่มีทนายความที่มีใบอนุญาตให้เป็นทนายความมาแล้วไม่น้อยกว่า 7 ปี (เจ็ดปี) เพื่อที่ทนายความท่านจะได้มีสิทธิลงชื่อรับรองการฝึกงานให้กับเรา
เมื่อฝึกหัดงานในสำนักงานทนายความ ครบกำหนด 1 ปี เราจะมีสิทธิลงทะเบียนสอบใบอนุญาตให้เป็นทนายความ ซึ่งเป็นการทำข้อสอบที่มีทั้งอัตนัยและปรนัย ในส่วนของอัตนัยนั้นต้องทำลงในแบบฟอร์มศาล ซึ่งเรามีความจำเป็นที่จะต้องติดตามประกาศกำหนดการต่าง ๆ ของทางสำนักฝึกอบรมวิชาว่าความฯ อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะประกาศรับสมัครสอบในแต่ละรอบ
สมัครสอบแบบรุ่น
โดยปกติที่ผ่านมา ทางสำนักฝึกอบรมวิชาว่าความฯ จะเปิดรับสมัครอบรมวิชาว่าความปีละ 2 รุ่น ซึ่งสามารถสมัครสอบภาคทฤษฏีได้เลยโดยไม่ต้องฝึกงานกับสำนักงานทนายความก่อน เหมือนกรณีของผู้ฝึกหัดงานในสำนักงานฯ 1 ปี
ซึ่งการสอบนั้นแบ่งออกเป็น 2 ภาค คือ ภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ กล่าวคือ ผู้ที่สอบผ่านภาคทฤษฎีแล้ว ต้องไปฝึกงานในสำนักงานทนายความเป็นระยะยเวลา 6 เดือน ซึ่งสำนักงานฯ ที่จะไปฝึกงานนั้นต้องเป็นสำนักงานฯ ที่มีทนายความที่มีใบอนุญาตให้เป็นทนายความมาแล้วไม่น้อยกว่า 7 ปี (เจ็ดปี) เพื่อที่ทนายความท่านจะได้มีสิทธิลงชื่อรับรองการฝึกงานให้กับเรา เช่นเดียวกับกรณีของผู้ฝึกหัดงานในสำนักงานฯ 1 ปี ต่างกันที่กรณีนี้ต้องฝึกงานเพียง 6 เดือนเท่านั้น และเราจะมีสิทธิลงทะเบียนสอบภาคปฏิบัติเมื่อฝึกงานครบ 6 เดือน และได้มีการเซ็นรับรองเอกสารการประเมินการฝึกงานให้กับเรา เพราะเราต้องนำเอกสารในส่วนนี้ประกอบการลงทะเบียนสอบในภาคปฏิบัติด้วย
ลักษณะข้อสอบอัตนัย (สอบใบอนุญาตให้เป็นทนายความ)
ถ้าให้เปรียบเทียบระหว่างข้อสอบอัตนัยที่ให้วินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงในระดับปริญญาตรี กับข้อสอบของสำนักฝึกอบรมวิชาว่าความฯ ก็พอเปรียบเทียบได้ว่าในระดับปริญญาตรี ถ้าเราเรียนเรื่องบุคคล นิติกรรม สัญญา แน่นอนว่าข้อสอบที่ออกมา ก็จะไม่ออกนอกเหนือจาก 3 เรื่องนี้แน่นอน แต่ข้อสอบของสำนักฝึกอบรมวิชาว่าความฯ นั้น สามารถออกได้ทุกเรื่องตั้งแต่มาตราแรก ๆ ถึงมาตราท้าย ๆ ของ ป.พ.พ. (สำหรับข้อที่ให้ร่างคำฟ้องหรือคำร้องในคดีแพ่ง) หรืออาจกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า ข้อที่ให้ร่างคำฟ้องหรือคำร้องคดีแพ่งนี้ไม่มีขอบเขตเลยก็ได้
ถ้าเป็นข้อที่ให้ร่างคำฟ้องคดีอาญาจะดีตรงที่โจทย์จะมีตัวบทมาให้ด้วยเลย ประมาณ 2 มาตรา เพียงแต่เราต้องวินิจฉัยว่าปัญหาตามที่โจทย์ให้มานั้นเข้าองค์ประกอบของความผิดมาตราใด แล้วจึงนำมาตรานั้นไปประกอบการร่างคำฟ้องคดีอาญา แน่นอนว่าถ้าเราเลือกมาตราผิด เราก็จะเสียคะแนนอย่างแน่นอน
เนื่องจากข้อที่ให้ร่างคำฟ้องคดีแพ่งเป็นข้อที่มีคะแนนมากที่สุด ถ้าหากพลาดข้อนี้ไป ก็เป็นอะไรที่น่าเสียดาย สิ่งที่จะทำให้ตั้งรับ (ความไม่มีขอบเขตของข้อสอบ) นี้ได้ดี นอกจากการจดจำโครงสร้างการร่างคำฟ้องคดีแพ่งได้แล้ว การที่เราได้เห็น ได้อ่านตัวอย่างคำฟ้อง และคำร้อง (คดีไม่มีข้อพิพาท) ประเภทต่าง ๆ จะมีส่วนช่วยให้เราทำคะแนนข้อนี้ได้ดีขึ้นไม่มากก็น้อย
ถ้าถามว่า หนังสือเล่มไหนที่เหมาะแก่การอ่านเพื่อตั้งรับในข้อนี้ ขอแนะนำเป็นหนังสือประเภทรวมคำฟ้องคดีแพ่ง เช่น หนังสือ : สำนวนคำฟ้องคดีแพ่ง (เรียงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์) ที่แต่งโดย ดร.สุพิศ ปราณีตพลกรัง
นอกจากนี้ก็ควรศึกษาเกี่ยวกับคดีประเภทคำร้องฝ่ายเดียว (คดีไม่มีข้อพิพาท) เผื่อไปด้วย เพราะมีโอกาสที่สำนักฝึกอบรมวิชาว่าความฯ จะนำมาออกเป็นข้อสอบได้เหมือนกัน เช่น คดีร้องขอตั้งผู้จัดการมรดก คดีร้องขอครอบครองปรปักษ์ เป็นต้น
อาจสรุปได้ว่า ถ้ายิ่งได้อ่านตัวอย่างคำฟ้อง คำร้อง(คดีไม่มีข้อพิพาท) หลากหลายมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีโอกาสทำข้อสอบได้มากเท่านั้น
ลักษณะข้อสอบปรนัย (สอบใบอนุญาตให้เป็นทนายความ)
1.ข้อสอบปรนัย (ภาคทฤษฎี)
จากประสบการณ์ ข้อสอบปรนัยในภาคทฤษฎีเกือบทั้งหมดจะนำสิ่งที่อาจารย์บรรยายมาออกเป็นคำถามในข้อสอบ สำหรับท่านที่ไม่มีเวลาไปอบรมภาคทฤษฎีที่สภาทนายความฯ สามารถสั่งจองชีทคำบรรยายพร้อมกับตอนที่สมัครสอบได้เลย การที่เราได้อ่านชีทคำบรรยายจะเป็นประโยชน์มากสำหรับการทำข้อสอบปรนัยในภาคทฤษฎี
2.ข้อสอบปรนัย (ภาคปฏิบัติ)
ข้อสอบปรนัยในภาคปฏิบติจะแตกต่างจากข้อสอบปรนัยในภาคทฤษฎีอยู่พอประมาณ คำถามจะออกมาในแนวของการทดสอบความรู้ในเรื่องเขตอำนาจศาลของคดีประเภทต่าง ๆ เป็นส่วนใหญ่ เช่น เขตอำนาจของศาลทหาร เขตอำนาจของศาลปกครอง เขตอำนาจของศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ ขั้นตอนการดำเนินคดีแพ่ง ขั้ตตอนการดำเนินคดีอาญา ถ้าให้นึกภาพตามก็ประมาณว่าการสอบในภาคปฏิบัตินี้ ถือว่าผู้เข้าสอบได้รับการฝึกหัดงานในสำนักงานทนายความมาแล้ว สมควรแก่การที่จะมีความรอบรู้ในส่วนนี้
3.แหล่งค้นคว้าที่แนะนำ
การอ่านแนวข้อสอบปรนัยรุ่นเก่า ๆ ในหนังสือ : รวมข้อสอบพร้อมแนวคำตอบที่รวบรวมโดยสำนักฝึกอบรมวิชาว่าความแห่งสภาทนายความฯ ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ อาจช่วยได้บางส่วน ย้ำว่าบางส่วน และโดยเฉพาะในภาคทฤษฎี แนะนำให้เข้าอบรมหรืออ่านชีทคำบรรยายให้ครบ เพื่อให้มีโอกาสทำข้อสอบปรนัยได้มากขึ้น
ลักษณะคำถามที่ใช้ในการสอบปากเปล่าและการเตรียมตัว
1.ลักษณะคำถาม
จากประสบการณ์ตรงและเพื่อนทนายความและจากการติดตามแนวคำถามที่นำมาถามในการสอบปากเปล่า โดยรวมแล้วกรรมการจะถามเกี่ยวกับขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งในการดำเนินคดี ไม่ว่าจะเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญา ซึ่งคำถามในรุ่นที่ผมสอบปากเปล่าจะถูกถามเกี่ยวกับเรื่องของ "การจับโดยไม่มีหมายจับ สามารถทำได้ไหม?"
ซึ่งอาจจะสรุปได้ว่า ถ้าเราจดจำข้อกฎหมายที่กำกับอยู่ในขั้นตอนหรือกระบวนพิจารณาต่าง ๆ ของคดีแต่ละประเภทโดยเฉพาะคดีแพ่งกับคดีอาญาได้ว่าตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ แต่ละจุดนั้น มีกฎหมายข้อใดที่เกี่ยวข้องกำกับอยู่บ้าง ก็อาจพอให้เราอุ่นใจได้ในระดับหนึ่ง สำหรับการเข้าสอบปากเปล่า
2.แหล่งค้นคว้าที่แนะนำ
-ทำสรุปเป็นแผนผัง ขั้นตอนการดำเนินคดีแพ่งและคดีอาญา เพื่อเอาไว้ใช้ทบทวน และจดจำให้ขึ้นใจว่าแต่ละขั้นตอนนั้นมีกฎหมายข้อใดเข้ามากำกับอยู่บ้าง
-อ่านประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตราสำคัญ ๆ ที่มีการใช้บ่อย ๆ ในการดำเนินกระบวนพิจารณา
-ลงคอร์สสอบปากเปล่า (ข้อนี้แล้วแต่ดุลพินิจของแต่ละท่าน) ส่วนตัวได้ลงคอร์สสอบปากเปล่ากับสถาบันติวแห่งหนึ่ง ที่ลงก็เพื่อเป็นการเสริมจากสิ่งที่เราคิดว่าเรารู้อยู่แล้วเพื่อจะได้รู้ว่าเรายังพลาดอะไรไปอีกบ้าง และตอนนั้นค่าคอร์สไม่ได้แพงมาก ติวเตอร์บรรยายเพลิน
การเตรียมตัวสอบภาคปฏิบัติ (สอบใบอนุญาตให้เป็นทนายความ)
ขั้นตอนการเตรียมตัวสอบภาคปฏิบัติ
1.อ่านหนังสือ ดังนี้
-หนังสือ : เอกซเรย์ (๒) ตั๋วทนาย คู่มือสอบตั๋วทนายความ ภาคปฏิบัติ ของ อาจารย์พิเชฐ โพธิวิจิตร อาจารย์ปิติ โพธิวิจิตร อาจารย์ปริญญ์ โพธิวิจิตร (สำหรับเตรียมสอบภาคปฏิบัติ)
-คู่มือเตรียมสอบทนายความ ของ อาจารย์ภูดิท โทณผลิน (สำหรับดูและศึกษาตัวอย่างโครงสร้างของหนังสือต่างๆ เช่น หนังสือสัญญา หนังสือมอบอำนาจ หนังสือถึงหน่วยงานราชการ หนังสือร้องทุกข์ เป็นต้น)
-หนังสือรวมข้อสอบพร้อมแนวคำตอบที่มีการรวบรวมตั้งแต่ ๑๐ รุ่นขึ้นไปภาคปฏิบัติ เป็นการรวบรวมแยกเป็นภาคทฤษฎีกับภาคปฏิบัติ ที่รวบรวมโดยสำนักฝึกอบรมวิชาว่าความแห่งสภาทนายความฯ
2.เมื่อศึกษาคู่มือจนเกิดความเข้าใจและสามารถจดจำรูปแบบหรือโครงสร้างของการร่างคำฟ้อง คำร้อง และหนังสือประเภทต่าง ๆ ได้แล้ว ให้ลองทำข้อสอบ โดยเอาโจทย์มาจาก หนังสือ : รวมข้อสอบพร้อมแนวคำตอบ(ภาคปฏิบัติ)ที่รวบรวมโดยสำนักฝึกอบรมวิชาว่าความแห่งสภาทนายความฯ
3.ปริ้นแบบฟอร์มศาลเพื่อศึกษาดูรูปแบบของแบบฟอร์มศาล และเพื่อใช้ฝึกทำข้อสอบโดยเขียนลงไปในแบบฟอร์มศาล
เลือกทำข้อสอบของรุ่นไหนก็ได้ สุ่ม ๆ เอา โดยเริ่มจากการอ่านคำสั่งว่าให้เราร่างหนังสืออะไรบ้าง แล้วค่อยมาอ่านคำถาม ถ้าหากเราจำโครงสร้างหรือรูปแบบคำฟ้อง คำร้อง หรือหนังสือประเภทต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี เราจะเห็นคำตอบที่อยู่ในคำถาม ซึ่งเรามีหน้าที่ในการนำคำตอบเหล่านั้นมาเรียบเรียงให้อยู่ในรูปแบบที่ถูกต้องของคำฟ้อง หรือคำร้อง หรือหนังสือประเภทต่าง ๆ ตามที่ข้สอบสั่งให้ทำ และในขณะฝึกทำข้สอบอาจจะจับเวลาไปด้วยก็ได้ เพื่อประเมินตนเองไปพร้อม ๆ กัน
หนังสือที่แนะนำ (สอบใบอนุญาตให้เป็นทนายความ)
หนังสือที่แนะนำให้อ่านสำหรับการเตรียมตัวสอบใบอนุญาตให้เป็นทนายความ มีดังนี้
1.หนังสือ : เอกซเรย์ (๑) ตั๋วทนาย คู่มือสอบตั๋วทนายความ ภาคทฤษฎี ของ อาจารย์พิเชฐ โพธิวิจิตร อาจารย์ปิติ โพธิวิจิตร อาจารย์ปริญญ์ โพธิวิจิตร (สำหรับเตรียมสอบภาคทฤษฎี)
2.หนังสือ : เอกซเรย์ (๒) ตั๋วทนาย คู่มือสอบตั๋วทนายความ ภาคปฏิบัติ ของ อาจารย์พิเชฐ โพธิวิจิตร อาจารย์ปิติ โพธิวิจิตร อาจารย์ปริญญ์ โพธิวิจิตร (สำหรับเตรียมสอบภาคปฏิบัติ)
3.หนังสือ : คู่มือเตรียมสอบทนายความ ของ อาจารย์ภูดิท โทณผลิน (สำหรับดูและศึกษาตัวอย่างโครงสร้างของหนังสือต่างๆ เช่น หนังสือสัญญา หนังสือมอบอำนาจ หนังสือถึงหน่วยงานราชการ หนังสือร้องทุกข์ เป็นต้น)
4.หนังสือ : รวมข้อสอบพร้อมแนวคำตอบที่มีการรวบรวมตั้งแต่ ๑๐ รุ่นขึ้นไปทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ (ภาคละเล่ม) เป็นการรวบรวมแยกเป็นภาคทฤษฎีกับภาคปฏิบัติ ที่รวบรวมโดยสำนักฝึกอบรมวิชาว่าความแห่งสภาทนายความฯ
5.หนังสือ : สำนวนคำฟ้องคดีแพ่ง (เรียงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์) ที่แต่งโดย ดร.สุพิศ ปราณีตพลกรัง
การฝึกงาน (สอบใบอนุญาตให้เป็นทนายความ)
ส่วนมากสิ่งที่เราจะได้รับมอบหมายให้ทำในระหว่างฝึกงานก็จะมีตั้งแต่สอบข้อเท็จจริงลูกค้า รับมอบฉันทะไปยื่นคำฟ้อง คำร้อง ต่อศาล รอฟังคำสั่งศาล ร่างคำฟ้อง ค้นคำพิพากษาศาลฎีกา และบางที่อาจจะมอบหมายให้เราไปดำเนินการตั้งเรื่องยึดทรัพย์บังคับคดีที่สำนักงานบังคับคดี และบางท่านอาจจะได้รับมอบหมายงานมากกว่าที่กล่าวมานี้ก็อาจจะมีครับ
ด้วยเหตุที่ระหว่างที่เราฝึกงาน ส่วนมากเราล้วนต้องไปติดต่อประสานงานกับหน่วยงานราชการและสิ่งที่เราคาดหวังก็คือความราบรื่นและความสำเร็จของงานที่เราไปดำเนินการ ซึ่งจากประสบการณ์ตรงที่สัมผัสได้เลย สิ่งที่ใช้เวลาไปติดต่อประสานงานกับหน่วยงานราชการซึ่งทำให้งานราบรื่นและสำเร็จลุล่วงก็คือ "การที่เราเข้าไปติดต่อราชการด้วยความนอบน้อม อัธยาศัยดี" ถ้าให้เห็นภาพก็คือเวลาเราเข้าไปติดต่อกับเจ้าหน้าที่ท่านใดเราก็ทักทายด้วยการยกมือไหว้แล้วกล่าวคำว่าสวัสดีครับ/ค่ะ แล้วแจ้งกับเจ้าหน้าที่ว่าเรามาติดต่อเรื่องอะไร การกระทำนี้ถือเป็นการทักทาย ให้เกียรติ และทลายกำแพงอัตตาหรืออีโก้ (ในใจ) ของเจ้าหน้าที่ไปในคราวเดียว และยิ่งเราปฏิบัติแบบนี้ตั้งแต่เจ้าหน้าที่คนแรก ๆ ที่เราเจอในหน่วยงานนั้นก็จะยิ่งส่งผลดีกับงานของเราครับ
หัวข้อนี้ก็เป็นเพียงเทคนิคเล็ก ๆ น้อย ๆ ในการติดต่อประสานงานกับหน่วยงานราชการในระหว่างที่ฝึกงาน และแม้จะสอบใบอนุญาตให้เป็นทนายความได้แล้ว เห็นว่าหลักปฏิบัติดังกล่าวข้างต้นก็ควรจะยึดถือปฏิบัติต่อไปครับ
หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์แก่ทุกท่านนะครับ
ปรึกษาทนายตัวจริง
สอบถามได้ทุกเรื่องราวทางกฎหมาย
"โดนโกง โดนประจาน" ปรึกษาได้ในคลิกเดียว
สมัครเป็นทนายออนไลน์
แพล็ทฟอร์มรวบรวม
งานกฎหมายจากทั่วประเทศ



