กฎหมายทำร้ายร่างกาย โทษรุนแรงแค่ไหน?
คดีทำร้ายร่างกายเกิดขึ้นบ่อยครั้งในประเทศไทย ทั้งการยกพวกทะเลาะวิวาท การทำร้ายร่างกายแฟน การทำร้ายร่างกายภายในครอบครัว ซึ่งก่อให้เกิดอันตรายต่อทั้งร่างกายและจิตใจ หลายคนอาจจะคิดว่าความผิดฐานทำร้ายร่างกายเสียค่าปรับไม่กี่ร้อย ไม่กี่พันก็จบคดีแล้ว แต่อัตราโทษปัจจุบันไม่ใช่แบบนั้นอีกแล้ว วันนี้ Legardy จึงอยากเตือนสติคนหัวร้อน พาเปิดกฎหมายทำร้ายร่างกาย โทษรุนแรงแค่ไหน? โดนทําร้ายร่างกาย ต้องแจ้งความภายในกี่วัน? โดนทําร้ายร่างกาย เรียกร้องอะไรได้บ้าง?
กฎหมายทําร้ายร่างกาย
คดีทำร้ายร่างกายเป็นข้อหาทางอาญา ผู้เสียหายจะได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายอาญา ลักษณะ 10 หมวด 2 มาตรา 295 - มาตรา 300 และมาตรา 391 ดังนั้นใครที่ถูกทำร้ายร่างกายไม่ต้องห่วงว่าจะไม่มีกฎหมายทำร้ายร่างกายใดคุ้มครอง
กฎหมายทำร้ายร่างกาย โทษมีอะไรบ้าง?
หลายคนอาจจะสงสัยว่า ทำร้ายร่างกาย โทษเป็นอย่างไร? ทะเลาะวิวาท ทำร้ายร่างกายติดคุกไหม? บอกเลยว่าทำร้ายร่างกาย โทษไม่ใช่ปรับเพียง 500 บาทอย่างที่หลายคนเข้าใจ เพราะกฎหมายทำร้ายร่างกายมีรายละเอียดบทลงโทษและค่าปรับตามประมวลกฎหมายอาญา ลักษณะ 10 หมวด 2 ดังนี้
- มาตรา 295 ผู้ใดทำร้ายผู้อื่น จนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้อื่นนั้น ผู้นั้นกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- มาตรา 296 ผู้ใดกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ถ้าความผิดนั้นมีลักษณะประการหนึ่งประการใดดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 289 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- มาตรา 297 ผู้ใดกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย จนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำร้ายรับอันตรายสาหัส ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 10,000 บาท ถึง 200,000 บาท
- มาตรา 298 ผู้ใดกระทำความผิดตามมาตรา 297 ถ้าความผิดนั้นมีลักษณะประการหนึ่งประการใดดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 289 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2 ปี ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 40,000 บาท ถึง 200,000 บาท
- มาตรา 299 ผู้ใดเข้าร่วมในการชุลมุนต่อสู้ระหว่างบุคคลแต่สามคนขึ้นไป และบุคคลหนึ่งบุคคลใดไม่ว่าจะเป็นผู้ที่เข้าร่วมในการนั้นหรือไม่รับอันตรายสาหัส โดยการกระทำในการชุลมุนต่อสู้นั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าผู้ที่เข้าร่วมในการชุลมุนต่อสู้นั้นแสดงได้ว่า ได้กระทำไปเพื่อห้ามการชุลมุนต่อสู้นั้น หรือเพื่อป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ
- มาตรา 300 ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- มาตรา 391 ผู้ใดใช้กำลังทำร้ายผู้อื่น โดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
โดนทำร้ายร่างกายแค่ไหนเรียกว่าสาหัส?
คำว่า สาหัส ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 ได้แก่
- ตาบอด หูหนวก ลิ้นขาด หรือเสียฆานประสาท
- เสียอวัยวะสืบพันธุ์ หรือความสามารถสืบพันธุ์
- เสียแขน ขา มือ เท้า นิ้วหรืออวัยวะอื่นใด
- หน้าเสียโฉมอย่างติดตัว
- แท้งลูก
- จิตพิการอย่างติดตัว
- ทุพพลภาพ หรือป่วยเจ็บเรื้อรังซึ่งอาจถึงตลอดชีวิต
- ทุพพลภาพ หรือป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่ายี่สิบวันหรือจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน
ตามกฎหมายทำร้ายร่างกาย หากทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ร่างกายได้รับอันตรายสาหัสตามที่กล่าวมาข้างต้นจะได้รับโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 10,000 บาท ถึง 200,000 บาท
โดนทําร้ายร่างกาย ต้องแจ้งความภายในกี่วัน?
โดนทำร้ายร่างกายต้องแจ้งความคดีทำร้ายร่างกายเป็นคดีอาญา ผู้เสียหายต้องร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน นับตั้งแต่เกิดเหตุ อย่างไรก็ตามแนะนำให้รีบแจ้งความให้เร็วที่สุด เพราะหากแจ้งความช้า ไม่มีการตรวจร่างกายทันที จะทำให้พยานหลักฐานอ่อน จำเลยจะได้เปรียบ และอาจทำให้เร็วคดีได้
การทำร้ายร่างกายไม่ใช่ทางออกของปัญหา จะเห็นได้ว่าปัจจุบันกฎหมายทำร้ายร่างกาย โทษถูกปรับให้แรงขึ้น และมีค่าปรับสูงขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นผู้ที่คิดทำร้ายร่างกายผู้อื่นควรมีสติและเกิดความยับยั้งชั่งใจ พูดคุยกันด้วยเหตุผล และเมื่อได้ทราบแล้วว่าโดนทําร้ายร่างกาย ต้องแจ้งความภายในกี่วัน ดังนั้นหากถูกทำร้ายร่างกาย อย่ากลัวที่จะปกป้องสิทธิของตนเองด้วยการแจ้งความทันที เพื่อให้ตำรวจสามารถดำเนินการเก็บหลักฐาน สอบพยาน ส่งตัวให้แพทย์วินิจฉัย และตั้งข้อหาผู้กระทำผิดตามกฎหมายทำร้ายร่างกายต่อไป
ใครตกเป็นเหยื่อของการทำร้ายร่างกายและอยากดำเนินคดีเอาผิดผู้ก่อเหตุ แต่ไม่รู้จะเริ่มจากตรงไหน ไม่มีความรู้เกี่ยวกับกฎหมายทำร้ายร่างกาย สามารถปรึกษาทนายกับ Legardy ศูนย์รวมทนายความมืออาชีพทั่วประเทศ พร้อมดูแล ให้แนะนำแนวทางแก้ไขทุกปัญหา ตลอด 24 ชั่วโมง
คำถามที่พบบ่อย
1. โดนทำร้ายร่างกาย แจ้งความย้อนหลังได้ไหม?
สามารถแจ้งความย้อนหลังได้ โดยใช้หลักฐานภาพถ่ายบาดแผล ร่องรอยการถูกทำร้าย แต่จะเสียเปรียบผู้กระทำผิด เพราะหากแจ้งความช้า ไม่มีการตรวจร่างกายทันที ศาลอาจมองว่าโจทก์มีการปรุงแต่งเรื่องเพื่อเอาผิดอีกฝ่ายได้
2. โดนทำร้ายร่างกายแต่ไม่มีพยาน เอาผิดได้ไหม?
สามารถเอาผิดได้ เพราะผู้เสียหาย ถือเป็นหนึ่งพยานสำคัญของคดีทำร้ายร่างกาย โดยจะพิจารณาร่วมหลักฐานการวินิจฉัยของแพทย์ว่าเกิดจากการถูกทำร้ายจริงหรือไม่ และพยานแวดล้อมอื่น ๆ เช่น ภาพจากกล้องวงจรปิด เป็นต้น
3. ทำร้ายร่างกายเสียค่าปรับเท่าไร?
ตามกฎหมายทำร้ายร่างกาย หากไม่เกิดอันตรายแก่ร่างกายและจิตใจ เสียค่าปรับไม่เกิน 10,000 บาท แต่หากบาดเจ็บ เจ็บสาหัส เลือดตกยางออก ค่าปรับจะสูงขึ้นตามลำดับ (ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 295 - มาตรา 300)
4. ทะเลาะวิวาทติดคุกไหม?
ตามกฎหมายทำร้ายร่างกาย ทะเลาะวิวาทในที่สาธารณะ เบื้องต้นจะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 372 ไม่มีโทษจำคุก แต่ต้องเสียค่าปรับสูงสุด 5,000 บาท หากความเสียหายนั้นมากขึ้นไปอีกก็จะต้องได้รับโทษหนักขึ้นตามลำดับไป
5. คดีทำร้ายร่างกายใช้เวลากี่วัน?
ระยะเวลาในการดำเนินคดีไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับพยานและหลักฐาน แต่ประมาณ 1-2 ปี จะต้องมีคำพิพากษาของศาลชั้นต้นแล้ว
6. โดนทําร้ายร่างกาย เรียกร้องอะไรได้บ้าง?
ตามกฎหมายทำร้ายร่างกาย ผู้เสียหายมีสิทธิ์เรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยที่กระทำการทำร้ายทั้งต่อร่างกายและจิตใจได้ ทั้งนี้ต้องยื่นคำขอรับเงินตอบแทนภายใน 1 ปี นับจากวันเกิดเหตุ โดยพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทน และค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 ได้ระบุไว้ว่า
- กรณีได้รับบาดเจ็บทั่วไป ผู้เสียหายจะได้รับค่ารักษาพยาบาลไม่เกิน 30,000 บาท ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกายและจิตใจ ไม่เกิน 20,000 บาท และค่าขาดประโยชน์ในช่วงที่ไม่สามารถประกอบอาชีพ วันละไม่เกิน 200 บาท ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี
- กรณีเสียชีวิต ญาติหรือผู้สืบทอดของผู้เสียชีวิตจะได้รับสินไหมทดแทนตั้งแต่ 30,000 บาท แต่ไม่เกิน 100,000 บาท ค่าจัดการศพ จำนวน 20,000 บาท ค่าขาดอุปการะเลี้ยงดูไม่เกิน 30,000 บาท และค่าเสียหายอื่นตามที่คณะกรรมการเห็นสมควรแต่ไม่เกิน 30,000 บาท
ปรึกษาทนายตัวจริง
สอบถามได้ทุกเรื่องราวทางกฎหมาย
"โดนโกง โดนประจาน" ปรึกษาได้ในคลิกเดียว
สมัครเป็นทนายออนไลน์
แพล็ทฟอร์มรวบรวม
งานกฎหมายจากทั่วประเทศ



