เผยแพร่เมื่อ: 2024-01-13

คดีล้มละลายคืออะไร มีขั้นตอนอย่างไรและเราสามารถทำอะไรได้บ้าง?

เชื่อว่าในสภาพเศรฐกิจฝืดเคืองอย่างเช่นในเวลานี้หลายๆ คนคงเคยได้ยินเรื่องการถูกฟ้องล้มละลายกันมาบ้าง ไม่ว่าจะถูกฟ้องเองหรือจากคนใกล้ตัวก็ตามแล้วเคยสงสัยกันไหมครับว่าคดีล้มละลายแตกต่างจากคดีทั่วไปอย่างไร มีลำดับขั้นตอนวิธีการพิจารณาแบบไหน และเราจะสามารถทำอะไรได้บ้างเมื่อถูกฟ้องล้มละลาย ในบทความนี้ผมได้รวบรวมและเรียบเรียงมาให้เพื่อนๆ ผู้อ่านสามารถเข้าใจคดีล้มละลายในเบื้องต้นได้อย่างไม่ยากครับ

 

finance-accounting-concept-business-woman-working-desk.jpg

Image by jcomp on Freepik

บุคคลล้มละลายหมายถึงอะไร

บุคคลล้มละลายหมายถึงบุคคลที่มีหนี้สินล้นพ้นตัวและศาลได้พิพากษาให้บุคคลนั้นล้มละลาย โดยบุคคลล้มละลายนี้จะถูกจำกัดสิทธิในการจัดการทรัพย์สินของตัวช่วงระยะเวลาหนึ่งโดยศาลจะตั้งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นผู้จัดการทรัพย์สินแทนและเจ้าพนักงานพิทักษ์จะดำเนินการขายทอดตลาดและทำนิติกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้เพื่อนำเงินมาชำระให้แก่เจ้าหนี้ที่ยื่นขอรับชำระหนี้ต่อไป


ขั้นตอนการพิจารณาคดีล้มละลายเป็นอย่างไร

การที่ศาลจะพิพากษาให้บุคคลใดเป็นบุคคลล้มละลายนั้นศาลจะพิจารณาโดยอาศัย พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 9,10,14 ประกอบกันโดยมีหลักการพิจารณาดังนี้ครับ

1.บุคคลนั้นต้องมีหนี้สินล้มพ้นตัว

หมายถึง มีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สินหรือต้องด้วยบทสันนิษฐานตาม มาตรา 8 เช่น ลูกหนี้ถูกยึดทรัพย์ตามหมายบังคับคดีหรือไม่มีทรัพย์สินที่จะยึดมาชำระหนี้ หรือ ลูกหนี้ได้รับหนังสืบบอกกล่าวทวงถามให้ชำระหนี้ไม่น้อยกว่า 2 ครั้งระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่า 30 วันและไม่ชำระหนี้ตามหนังสือทวงถามนั้น ฯ เราลองมาดูตัวอย่างจากคำพิพากษาฎีกากันครับ

คำพิพากษาฎีกาที่ 10781/2558

“...จำเลยที่ 1 และที่ 3 ถูกยึดทรัพย์ตามหมายบังคับคดี ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 4 ไม่มีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้ กรณีต้องด้วยข้อสันนิษฐานตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 8 (5) ว่าจำเลยทั้งสี่มีหนี้สินล้นพ้นตัว จำเลยทั้งสี่มีหน้าที่นำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมาย...”

2.บุคคลนั้นต้องมีหนี้สินไม่น้อยกว่า 1 ล้านกรณีเป็นบุคคลธรรมดา, 2 ล้านบาทกรณีเป็นนิติบุคคล

โดยคำว่าหนี้สินไม่น้อยกว่า 1 หรือ 2 ล้านบาทนี้จะเป็นหนี้ของเจ้าหนี้รายเดียวหรือรายรายรวมกันก็ได้เราลองมาดูตัวอย่างจากคำพิพากษาฎีกากันครับ

คำพิพากษาฎีกาที่ 8469/2552

“...เมื่อตามคำร้องปรากฏว่าลูกหนี้เป็นหนี้ บสท. อันมีจำนวนไม่ถึง 1,000,000 บาท ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย ฯ มาตรา 9 (2) ผู้ร้องจึงไม่อาจยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดได้...”

3.ต้องเป็นหนี้ที่กำหนดจำนวนเงินได้แน่นอน

หมายถึงหนี้นั้นสามารถกำหนดได้แน่ชัดว่าเป็นหนี้กันจำนวนเท่าไหร่ เช่น หนี้กูยืม หนี้ค่าสินค้าฯ แต่หากเป็นหนี้ที่ยังไม่สามารถกำหนดได้แน่นอน เช่น หนี้ที่เกิดจากมูลละเมิดที่ศาลยังไม่ได้มีคำพิพากษาว่าต้องชำระหนี้กันเท่าไหร่ ก็จะนำมาฟ้องให้ลูกหนี้ล้มละลายไม่ได้ เรามาดูตัวอย่างจากคำพิพากษาฎีกากันครับ

คำพิพากษาฎีกาที่ 6516/2548

“...มูลหนี้ตามคำฟ้องเป็นหนี้ตามคำพิพากษาจำเลยต้องผูกพันในผลของคำพิพากษาจนกว่าคำพิพากษานั้นจะถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับ หรืองดเสียในที่สุด ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 และถือว่าเป็นหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 9 (3) ที่โจทก์นำมาฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายได้...”

ในชั้นนี้หากลูกหนี้เห็นว่าตัวเองไม่มีลักษณะที่ศาลจะพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายได้ ลูกก็สามารถยื่นคำให้การและนำหลักฐานต่างๆ ไปชี้แจงต่อศาลได้หากศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าลูกหนี้ไม่สมควรล้มละลายศาลก็จะยกฟ้อง

แต่หากศาลพิจารณาตามข้อพิจารณาที่กล่าวมาแล้วและศาลเห็นว่าสมควรให้ลูกหนี้ล้มละลายศาลก็จะมีคำสังพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาด เมื่อศาลมีคำสังพิทักษ์ทรัพย์แล้วลูกหนี้ก็จะไม่มีอำนาจจัดการทรัพย์สินของตนเองอีกต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการ ขาย ให้เช่า ทวงหนี้ รวมถึงการทำนิติกรรมต่างๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินทั้งปวง โดยอำนาจในการจัดการทรัพย์สินจะตกอยู่กับเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ซึ่งศาลตั้งขึ้น เรามาดูตัวอย่างจากคำพิพากษาฎีกากันครับ

คำพิพากษาฎีกาที่ 637/2558

“...พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 และมาตรา 24 ได้กล่าวไว้ชัดแจ้งว่า เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้แล้ว ห้ามมิให้ลูกหนี้กระทำการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินหรือกิจการของตน ไม่ว่าในชั้นพิจารณาหรือชั้นบังคับคดี การร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดเป็นการต่อสู้คดีใด ๆ หรือกระทำการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้อย่างหนึ่งอันเป็นอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ จำเลยที่ 2 ถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและพิพากษาให้ล้มละลายแล้ว จึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาด...”

เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด แล้วเจ้าหนี้รายต่างๆ ก็จะยื่นคำขอรับชำระหนี้เข้ามาในคดีในช่วงระยะเวลานี้หากลูกหนี้ยังเห็นว่าตนเองยังพอชำระหนี้ได้ลูกหนี้ก็อาจขอประนอมหนี้กับเจ้าหนี้ได้ แต่หากไม่สามารถตกลงกันได้หรือเจ้าหนี้เห็นว่าสมควรให้ลูกหนี้ล้มละลายศาลก็จะพิพากษาให้ลูกหนี้เป็นบุคคลล้มละลาย เรามาดูตัวอย่างกันครับ

คำพิพากษาฎีกาที่ 3425/2535

“...การดำเนินกระบวนพิจารณาคดีล้มละลายกฎหมายกำหนดให้ต้องดำเนินเป็นการด่วน ทั้งคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดก็มีผลเป็นคำพิพากษา ดังนั้น หลังจากที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดและเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานว่าเจ้าหนี้ได้ลงมติในการประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายแล้ว แม้คำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดจะยังไม่ถึงที่สุดเพราะจำเลยอุทธรณ์คำสั่งอยู่ก็ตาม ศาลชั้นต้นก็ต้องพิพากษาให้จำเลยล้มละลายตามความในมาตรา 61 ไปทันที...”

ต้องการค้นหาด้านกฎหมายใช่ไหม ? สามารถค้นหาบทความ, คำปรึกษาจริง, มาตราที่เกี่ยวข้อง คลิกที่นี่ !

 

business-man-sitting-floor-stressed.jpg

 

 


3.เมื่อเป็นบุคคลล้มละลายแล้วมีผลอย่างไร

  •  ไม่สามารถทำนิติกรรมเกี่ยวทรัพย์สินของตนเองได้โดยอำนาจในการจัดการทรัพย์สินของบุคคลล้มละลายจะ ตกอยู่กับเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เช่นเดียวกับขั้นตอน
  • การถูกพิทักษ์ทรัพย์ หากต้องการทำนิติกรรมต่างๆ เช่น ทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานก็ต้องแจ้งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทราบเพื่อดำเนินการให้ถูกต้องต่อไป
  • ไม่สามารถเดินทางออกนอกประเทศได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานพิทักทรัพย์
  • ไม่สามารถเป็นผู้จัดการมรดก รับราชการ ลงรับสมัครเลือกตั้ง ได้

 

young-businessman-stressed-while-go-work-business-people-concept.jpg


4.ทำอย่างไรเมื่อเป็นบุคคลล้มละลาย

• มีสิทธิขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดจำนวนเงินเพื่อใช้จ่ายเลี้ยงชีพ

บุคคลล้มละลายมีสิทธิขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดจำนวนเงินเพื่อใช้จ่ายเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัวตามสมควรแก่ฐานานุรูป ตามมาตรา 67(1) โดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นผู้อนุญาตให้ลูกหนี้ จ่ายจากเงินที่ลูกหนี้ได้มาในระหว่างล้มละลาย และลูกหนี้จะต้องส่งเงินหรือทรัพย์สินที่เหลือนั้นแก่ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในเวลาที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดพร้อมด้วยบัญชีรับจ่ายเรามาดูตัวอย่างกันครับ

คำพิพากษาฎีกาที่ 2862/2524

“...เงินบำนาญของลูกหนี้ซึ่งกระทรวงการคลังส่งมาให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แม้จะเป็นเงินบำนาญที่ลูกหนี้มีสิทธิได้รับก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ แต่ก็เป็นเงินบำนาญที่ได้ส่งมาให้ภายหลังที่ศาลชั้นต้นสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้แล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงมีหน้าที่ต้องรับเงินบำนาญดังกล่าวซึ่งเป็นเงินที่ลูกหนี้ได้มาระหว่างล้มละลายรวบรวมเข้ากองทรัพย์สินของลูกหนี้เพื่อแบ่งแก่เจ้าหนี้ และพิจารณาจ่ายค่าเลี้ยงชีพของลูกหนี้และครอบครัวตามสมควรแก่ฐานานุรูปต่อไป...”

• ขอประนอมหนี้กับเจ้าหลังล้มละลายได้

เมื่อศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายแล้ว ลูกหนี้อาจขอประนอมหนี้กับเจ้าหลังล้มละลายได้หากลูกหนี้ สามารถตกลงกับเจ้าหนี้แล้วศาลเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ ศาลก็จะยกเลิกการล้มละลายแล้วให้ลูกหนี้ กลับมามีอำนาจจัดการทรัพย์สินได้ตามเดิมตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 63

 

คำพิพากษาฎีกาที่ 1097/2539

“...เมื่อศาลเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ภายหลังล้มละลายและมีคำสั่งให้ยกเลิกการล้มละลายกับให้ลูกหนี้มีอำนาจเกี่ยวกับทรัพย์สินของตนตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯมาตรา63ลูกหนี้ย่อมหลุดพ้นจากภาวะล้มละลายและมีอำนาจจัดการเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สินได้ต่อไป...”

 

• ขอปลดจากการล้มละลายได้ก่อนครบกำหนดเวลา

ลูกหนี้อาจขอปลดจากการล้มละลายได้ก่อนครบกำหนดเวลาล้มละลายตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 67/1 ประกอบมาตรา 71 โดยลูกหนี้ต้องเคยชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้มาแล้วไม่น้อยกว่า ร้อยละ 50หากลูกหนี้ถูกปลดจากการล้มละลายแล้วลูกหนี้ย่อมหลุดพ้นจากหนี้ทั้งปวงเกินขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสังพิทักษ์ทรัพย์

 

คำพิพากษาฎีกาที่ 621/2510

“...เมื่อลูกหนี้ได้ใช้หนี้ให้แก่เจ้าหนี้เกินกว่าร้อยละ 50 แล้ว และทรัพย์สินของลูกหนี้ก็ไม่มีที่จะรวบรวมมาใช้หนี้ต่อไปจนกระทั่งปิดคดีล้มละลายแล้ว เจ้าหนี้และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็ไม่ได้คัดค้านในการที่ลูกหนี้ขอปลดจากการล้มละลาย แม้ลูกหนี้จะยังมีหนี้อีกมากก็ไม่ใช่เหตุที่ศาลจะไม่สั่งปลดจากการล้มละลายได้...”

 

• ลูกหนี้ก็จะถูกปลดจากล้มละลายทันที

หากลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ลูกหนี้ก็จะถูกปลดจากล้มละลายทันทีโดยผลของกฏหมาย โดยสำหรับบุคคลธรรมดาเมื่อครบกำหนด 3 ปี นิติบุคคลเมื่อครบกำหนด 5 ปี นับแต่ศาลพิพากษาให้ล้มละลาย โดยผลของ พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 81/1

 

สุดท้ายนี้อยากจะบอกเพื่อนๆ ว่าการถูกฟ้องคดีล้มละลายไม่ได้มีแต่ข้อเสียเพียงอย่างเดียว เพราะกฏหมายล้มละลายเป็นกฏหมายที่ให้ประโยชน์ทั้งกับตัวเจ้าหนี้เองและเป็นประโยชน์กับตัวลูกหนี้ด้วยตัวอย่างเช่น เมื่อลูกหนี้ถูกปลด หรือศาลยกเลิกการล้มละลายแล้ว ลูกหนี้ก็จะหลุดพ้นจากหนี้ที่ลูกหนี้มีอยู่ก่อนวันที่ศาลพิทักษ์ทรัพย์ไม่ว่าเจ้าหนี้จะขอรับชำระหนี้หรือไม่ก็ตาม ทำให้ลูกหนี้เหมือนได้เริ่มต้นชีวิตใหม่ แต่เมื่อได้เริ่มใช้ชีวิตใหม่แล้วก็อยากให้ใช้เรื่องราวนี้เป็นบทเรียนในการดำเนินชีวิตจะได้ไม่ต้องเดินผิดพลาดแล้วถูกฟ้องเป็นคนล้มละลายในอนาคตอีก หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ที่จะสามารถช่วยชี้ให้เห็นทางออกในขั้นตอนต่างๆ ของคดีล้มละลายและคลายความกังวลของหลายๆ คนที่ต้องมาเกี่ยวพันกับการถูกฟ้องล้มละลายได้ไม่มากก็น้อยนะครับ


มาตรากฎหมายที่เกี่ยวกับคดีล้มละลาย

มาตรา ๗  ลูกหนี้ที่มีหนี้สินล้นพ้นตัวอาจถูกศาลพิพากษาให้ล้มละลายได้ ถ้าลูกหนี้นั้นมีภูมิลำเนาในราชอาณาจักร หรือประกอบธุรกิจในราชอาณาจักรไม่ว่าด้วยตนเองหรือโดยตัวแทนในขณะที่มีการขอให้ลูกหนี้ล้มละลาย หรือภายในกำหนดเวลาหนึ่งปีก่อนนั้น

 

มาตรา ๘  ถ้ามีเหตุอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้เกิดขึ้นให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว
              (๑) ถ้าลูกหนี้โอนทรัพย์สินหรือสิทธิจัดการทรัพย์สินของตนให้แก่บุคคลอื่นเพื่อประโยชน์แห่งเจ้าหนี้ทั้งหลายของตน ไม่ว่าได้กระทำการนั้นในหรือนอกราชอาณาจักร
              (๒) ถ้าลูกหนี้โอนหรือส่งมอบทรัพย์สินของตนไปโดยการแสดงเจตนาลวง หรือโดยการฉ้อฉล ไม่ว่าได้กระทำการนั้นในหรือนอกราชอาณาจักร
              (๓) ถ้าลูกหนี้โอนทรัพย์สินของตนหรือก่อให้เกิดทรัพยสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดขึ้นเหนือทรัพย์สินนั้น ซึ่งถ้าลูกหนี้ล้มละลายแล้ว จะต้องถือว่าเป็นการให้เปรียบ ไม่ว่าได้กระทำการนั้นในหรือนอกราชอาณาจักร
              (๔) ถ้าลูกหนี้กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ เพื่อประวิงการชำระหนี้หรือมิให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้
                    ก. ออกไปเสียนอกราชอาณาจักร หรือได้ออกไปก่อนแล้วและคงอยู่นอกราชอาณาจักร
                    ข. ไปเสียจากเคหสถานที่เคยอยู่ หรือซ่อนตัวอยู่ในเคหสถาน หรือหลบไปโดยวิธีอื่น หรือปิดสถานที่ประกอบธุรกิจ
                    ค. ยักย้ายทรัพย์ไปให้พ้นอำนาจศาล
                    ง. ยอมตนให้ต้องคำพิพากษาซึ่งบังคับให้ชำระเงินซึ่งตนไม่ควรต้องชำระ
              (๕) ถ้าลูกหนี้ถูกยึดทรัพย์ตามหมายบังคับคดี หรือไม่มีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้
              (๖) ถ้าลูกหนี้แถลงต่อศาลในคดีใด ๆ ว่าไม่สามารถชำระหนี้ได้
              (๗) ถ้าลูกหนี้แจ้งให้เจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดของตนทราบว่าไม่สามารถชำระหนี้ได้
              (๘) ถ้าลูกหนี้เสนอคำขอประนอมหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตั้งแต่สองคนขึ้นไป
              (๙) ถ้าลูกหนี้ได้รับหนังสือทวงถามจากเจ้าหนี้ให้ชำระหนี้แล้วไม่น้อยกว่าสองครั้งซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่าสามสิบวัน และลูกหนี้ไม่ชำระหนี้

 

มาตรา ๙  เจ้าหนี้จะฟ้องลูกหนี้ให้ล้มละลายได้ก็ต่อเมื่อ
              (๑) ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว
              (๒)๒ ลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาเป็นหนี้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์คนเดียวหรือหลายคนเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท หรือลูกหนี้ซึ่งเป็นนิติบุคคลเป็นหนี้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์คนเดียวหรือหลายคนเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าสองล้านบาท และ
              (๓) หนี้นั้นอาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนไม่ว่าหนี้นั้นจะถึงกำหนดชำระโดยพลันหรือในอนาคตก็ตาม

 

มาตรา ๑๐  ภายใต้บังคับมาตรา ๙ เจ้าหนี้มีประกันจะฟ้องลูกหนี้ให้ล้มละลายได้ก็ต่อเมื่อ
              (๑) มิได้เป็นผู้ต้องห้ามมิให้บังคับการชำระหนี้เอาแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้เกินกว่าตัวทรัพย์ที่เป็นหลักประกัน และ
              (๒)๔ กล่าวในฟ้องว่า ถ้าลูกหนี้ล้มละลายแล้ว จะยอมสละหลักประกันเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย หรือตีราคาหลักประกันมาในฟ้องซึ่งเมื่อหักกับจำนวนหนี้ของตนแล้ว เงินยังขาดอยู่สำหรับลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท หรือลูกหนี้ซึ่งเป็นนิติบุคคลเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าสองล้านบาท

หากมีข้อสงสัยต้องการปรึกษาทนายความเพื่อหาทางออกกฎหมาย สามารถติดต่อผ่าน Legardy ได้ตลอด 24ชั่วโมงครับ หรือคลิกที่นี่ !

 

Image by jcomp on Freepik
Image by jcomp on Freepik

ปรึกษาทนายตัวจริง

สอบถามได้ทุกเรื่องราวทางกฎหมาย

"โดนโกง โดนประจาน" ปรึกษาได้ในคลิกเดียว

ทนายพร้อมให้คำปรึกษาตลอด 24 ชม.
4.8/5
รีวิวจากผู้ใช้งานจริงมากกว่า 16000 รีวิว
sanook ข่าวสด มติชน spring
cta
ปรึกษาทนาย 24 ชั่วโมง
“ ได้รับคำตอบทันที ! “
ติดต่อเราทาง LINE