เป็นหนี้และกำลังจะโดนยึดทรัพย์ (พิทักษ์ทรัพย์)
ตามปกติแล้วเมื่อเกิดหนี้ขึ้นและบังคับคดียึดทรัพย์แล้วลูกหนี้จะถูกพิทักษ์ทรัพย์เพื่อให้เจ้าหนี้นั้นสบายใจได้เพื่อไม่ให้ลูกหนี้โยกย้ายสินทรัพย์หนีหนี้ บทความนี้จะพาทุกท่านไปรู้จักการพิทักทรัพย์กันครับ
พิทักษ์ทรัพย์คืออะไร ?
พิทักษ์ทรัพย์ คือ คำสั่งของศาลล้มละลายที่ตัดสินให้ทรัพย์สินของลูกหนี้นั้นอยู่ภายใต้การดูแลของพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ โดยตัวลูกหนี้นั้นจะหมดอำนาจในการจัดการทรัพย์สินของตนและไม่สามารถทำอะไรกับทรัพย์สินเหล่านั้นได้ ไม่ว่าจะเป็น การขาย การถ่ายโอน การจำนอง
การพิทักษ์ทรัพย์แบ่งได้ 2 ประเภท
1.)คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราว คือ เป็นคำสั่งที่เกิดช่วงระหว่างพิจารณาคำฟ้อง เจ้าหนี้สามารถขอคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราวได้ เพื่อให้ป้องกันลูกหนี้ปิดบัง โยกย้าย ทรัพย์สินที่มีอยู่ และทรัพย์สินดังกล่าวนั้นจะตกอยู่ในการดูแลของพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
ก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราวศาลจะให้เจ้าหนี้วางหลักประกันค่าเสียหายที่ลูกหนี้อาจจะได้รับจากคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราวตามจำนวนที่ศาลเห็นสมควร
2.)คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด คือ หากศาลวินิจฉัยแล้วว่าลูกหนี้นั้นมีหนี้สินที่ล้นพ้นตัว ศาลจะออกคำสั่งให้พนักงานพิทักษ์ทรัพย์นั้นมีอำนาจในการจัดการและจำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้เพื่อนำมาชำระหนี้
เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดลูกหนี้แล้วถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของคดีล้มละลาย ณ ขั้นตอนนี้ลูกหนี้สามารถขอประนอมหนี้ได้ แต่ศาลจะยังไม่มีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายในทันที
ผลของการถูกพิทักษ์ทรัพย์
1.)ทรัพย์สินทั้งหมดของลูกหนี้จะอยู่ภายใต้การดูแลของพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
2.)ลูกหนี้ห้ามเดินทางออกนอกประเทศ
3.)ขอสินเชื่อที่มีมูลค่าเกิน 100 บาทไม่ได้
4.)ต้องสาบานตนต่อพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่ามีทรัพย์สิน กิจการ สินสมรส หรือทรัพย์อื่นใดที่อาจตกสู่ตนเองในอนาคตบ้าง
5.)มีโอกาสที่เจ้าหนี้สามารถฟ้องให้ลูกหนี้เป็นบุคคลล้มละลายได้
ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ต้องออกจากราชการไหม?
ไม่ต้องออกครับ เพราะตามระเบียบของการรับราชการนั้น ห้ามบุคคลล้มละลายเข้ารับราชการ แต่การที่ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดนั้นยังไม่ถือว่าเป็นบุคคลล้มละลาย
พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ล้มละลาย
ความแตกต่างระหว่างพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด และ ล้มละลาย มีดังนี้
1.)การพิทักษ์ทรัพย์นั้นเป็นการควบคุมทรัพย์สินของลูกหนี้เพื่อไม่ให้ลูกหนี้ย้ายทรัพย์สินหนี แต่การล้มละลายนั้นคือการประกาศว่าลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้แล้ว และจะเริ่มกระบวนการจัดการทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อชำระหนี้
2.)ในด้านของการยื่นคำร้อง ถ้าเป็นการพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เจ้าหนี้จะเป็นฝ่ายยื่นขอคำร้อง แต่ถ้าเป็นการล้มละลาย จะเป็นลูกหนี้หรือเจ้าหนี้ก็ได้ที่ยื่นคำร้องขอให้ศาลประกาศล้มละลาย
3.)ในด้านของทรัพย์สิน การถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดนั้นจะยังไม่ถูกขายทันที แต่ถ้าเป็นการล้มละลายทรัพย์สินนั้นจะถูกจัดการขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชำระหนี้แก่เจ้าหนี้
4.)ความเป็นเจ้าของทรัพย์สิน การถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดนั้นลูกหนี้ยังคงเป็นเจ้าของสินทรัพย์นั้นอยู่เพียงแต่อำนาจการดูแลจะตกไปอยู่แก่พนักงานพิทักษ์ทรัพย์ แต่ถ้าเป็นการล้มละลายความเป็นเจ้าของสินทรัพย์นั้นจะตกอยู่ที่กองทุนล้มละลาย
ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด
หากศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ลูกหนี้มีสิทธิ์ที่จะขออุทธรณ์ได้ หากอุทธรณ์ไม่ผ่าน ศาลจะเปิดโอกาสให้ประนอมหนี้ก่อนโดนสั่งให้ล้มละลาย หากขอประนอมหนี้ไม่สำเร็จหรือไม่มีการขอประนอมหนี้ ศาลก็จะมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้นั้นกลายเป็นบุคคลล้มละลาย หรือสามารถปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมาย เพื่อหาทางออกที่ดีกว่าได้ครับ
พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด มาตรา
การพิทักษ์ทรัพย์มาจากพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช ๒๔๘๓
มาตรา 24 เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้แล้ว ห้ามมิให้ลูกหนี้กระทำการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สิน หรือกิจการของตน เว้นแต่จะได้กระทำตามคำสั่งหรือความเห็นชอบของศาล เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ผู้จัดการทรัพย์ หรือที่ประชุมเจ้าหนี้ ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้
มาตรา 24/18 บุคคลผู้เป็นหนี้ลูกหนี้หรือมีทรัพย์สินของลูกหนี้อยู่ในครอบครองซึ่งได้รับคำสั่งจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ให้แจ้งข้อมูลเกี่ยวกับหนี้หรือทรัพย์สินของลูกหนี้ มีหน้าที่ต้องแจ้งข้อมูลดังกล่าวให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทราบภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ได้ทราบคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
มาตรา 25 ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้าว่าคดีแพ่งทั้งปวงอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ ซึ่งค้างพิจารณาอยู่ในศาลในขณะที่มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ และเมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำขอโดยทำเป็นคำร้อง ศาลมีอำนาจงดการพิจารณาคดีแพ่งนั้นไว้ หรือจะสั่งประการใดตามที่เห็นสมควรก็ได้
มาตรา 26 ตราบใดที่ศาลยังมิได้สั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด เจ้าหนี้จะฟ้องคดีแพ่งอันเกี่ยวกับหนี้ซึ่งอาจขอรับชำระได้ตามพระราชบัญญัตินี้ก็ได้ ในกรณีเช่นนี้ให้นำบทบัญญัติในมาตราก่อนมาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา 27 เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว เจ้าหนี้จะขอรับชำระหนี้ได้ก็แต่โดยปฏิบัติตามวิธีการที่กล่าวไว้ในพระราชบัญญัตินี้ แม้จะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา หรือเป็นเจ้าหนี้ที่ได้ฟ้องคดีแพ่งไว้แล้ว แต่คดียังอยู่ระหว่างพิจารณาก็ตาม
มาตรา 28 เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์แล้ว ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โฆษณาคำสั่งนั้นในราชกิจจานุเบกษาและในหนังสือพิมพ์รายวันไม่น้อยกว่าหนึ่งฉบับ ในคำโฆษณานั้นให้แสดงการขอให้ล้มละลาย วันที่ศาลมีคำสั่ง ชื่อ ตำบลที่อยู่ และอาชีพของลูกหนี้
ในคำโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดนั้น ให้แจ้งกำหนดเวลาให้เจ้าหนี้ทั้งหลายเสนอคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ด้วย
มาตรา 29 ถ้าปรากฏภายหลังว่า เจ้าหนี้แกล้งให้ศาลใช้อำนาจดังกล่าวไว้ในมาตรา ๑๖ หรือมาตรา ๑๗ เมื่อลูกหนี้มีคำขอโดยทำเป็นคำร้อง ศาลมีอำนาจสั่งให้เจ้าหนี้ชดใช้ค่าเสียหายตามจำนวนที่เห็นสมควรให้ลูกหนี้ ในกรณีเช่นนี้หากเจ้าหนี้ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล ศาลมีอำนาจบังคับเจ้าหนี้นั้นเสมือนหนึ่งว่าเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา
พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เงินเดือน
สมัยนี้การโอนจ่ายเงินเดือนนั้นจะเป็นการโอนเข้าบัญชีโดยตรง หากบัญชีถูกอายัดเนื่องจากเกิดการพิทักษ์ทรัพย์ ต้องทราบก่อนว่าเงินเดือนนั้นอยู่ที่ไหน
- หากมีการโอนจ่ายเงินเดือนแล้วแต่บัญชีปลายทางไม่สามารถรับได้ เงินเดือนนั้นจะกลับเข้าสู่บริษัท ให้นำหนังสือจากกรมบังคับคดีไปยื่นให้บริษัท เพื่อให้บริษัทโอนเงินเดือนเข้ากรมบังคับคดี และให้นำหลักฐานที่นำส่งไปยื่นต่อพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพื่อให้พนักงานพิทักษ์ทรัพย์นำเงินดังกล่าวออกจากบัญชี มาจ่ายค่าเลี้ยงชีพให้เรา
- หากโอนเงินเดือนให้กรมบังคับคดีแล้ว ให้ไปยื่นขอหลักฐานการโอนที่บริษัท แล้วนำเอกสารที่บริษัทออกให้นั้นไปยื่นที่กรมบังคับคดียื่นต่อพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพื่อให้พนักงานพิทักษ์ทรัพย์นำเงินดังกล่าวมาจ่ายค่าเลี้ยงชีพให้เรา