
ลูกฟ้องพ่อแม่ได้ไหม ลูกแจ้งความพ่อแม่ได้ไหม?
หลายครั้งทุกคนเคยได้ยินข่าวว่า พ่อแม่ทำร้ายร่างกายลูกหรือเหตุการณ์อื่นๆอีกมากมายที่ทำต่อลูก และอาจจะยังมีความเข้าใจผิดอยู่ว่าไม่สามารถฟ้องพ่อแม่ได้ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วนั้นสามารถทำได้ บทความนี้ Legardy จะพาทุกท่านมารู้จักกับ "คดีอุทลุม" กันครับ
คดีอุทลุม
ตามความหมายของพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554
อุทลุม (อุด-ทะ-ลุม) ได้ให้ความหมายว่า ผิดประเพณี, ผิดธรรมะ, นอกแบบ, นอกทาง
ส่วนคำว่า คดีอุทลุม
คดีอุทลุม คือ เป็นหลักกฎหมายที่มีที่มาจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1562 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า "ผู้ใดจะฟ้องบุพการีของตนเป็นคดี ไม่ว่าจะเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญาก็ตาม ผู้นั้นจะฟ้องบิดา มารดาปู่ ย่า ตา ยาย หรือทวดที่สืบสายโลหิตโดยตรงไม่ได้"
ซึ่งคดีอุทลุม มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องคือประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1562
โดยบุคคลที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1562 คุ้มครองไม่ให้ฟ้องได้แก่
- บิดา
- มารดา
- ปู่
- ย่า
- ตา
- ยาย
- ทวด
- แต่ไม่รวมถึง ลุง ป้า น้า อา เป็นต้น
เราจะเห็นได้เลยว่า บรรดาเครือญาติที่ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายและฟ้องไม่ได้นั้นจะเป็นเครือญาติที่เราสืบสายเลือดมาโดยตรง แต่การที่เป็น ลุงป้าน้าอา ไม่ได้เป็นบุคคลที่เราสืบสายเลือดโดยตรงมา จึงมีสิทธิ์ที่จะฟ้องได้ครับ
ผู้เยาว์คืออะไร แล้วต้องอายุเท่าไรกันแน่ หาคำตอบได้ที่ลิงค์นี้ !
คดีอุทลุม ใครมีอํานาจฟ้อง
บางครั้งความรุนแรงก็เกิดขึ้นในครอบครัว คนเป็นบุตรก็อยากใช้กฎหมายในการแก้ปัญหา เนื่องจากกฎหมายห้ามบุตรฟ้องร้องบุพการีโดยตรง แต่บุตรสามารถแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือร้องทุกข์ต่อพนักงานอัยการ เพื่อให้พนักงานอัยการเป็นผู้มีอำนาจฟ้องคดีแทนได้ เพราะว่า พนักงานอัยการมีหน้าที่ในการรักษาผลประโยชน์ของรัฐและประชาชน การเป็นโจทก์แทนบุตรในการฟ้องร้องบุพการีจึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย
อัยการมีอำนาจฟ้องคดีอุทลุม หากคดีอุทลุมนั้นเกิดขึ้นกับผู้เยาว์อัยการสามารถยกคดีขึ้นว่ากล่าวโดยที่ผู้เยาว์ไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน
อ่านคำปรึกษาจริงพร้อมคำตอบจากทนายความเรื่อง "การฟ้องพ่อแม่" คลิกเลย !
Q: บุตรสาวยื่นฟ้องแม่ขอค่าอุปการะเลี้ยงดู
Q: เซ็นกู้ให้พ่อแม่ แต่เขาไม่จ่าย ฟ้องพ่อแม่ได้ไหมคะ
คำถามที่พบเจอบ่อยเกี่ยวกับ “คดีอุทลุม”
1.)แจ้งความจับคนในครอบครัว
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 28 และ 30 บุคคลใดก็ตามซึ่งรวมถึงกรณีที่ผู้เสียหายเป็นสมาชิกในครอบครัวที่มีเหตุอันควรเชื่อว่าได้มีการกระทำความผิดอาญาเกิดขึ้น มีสิทธิ์ที่จะร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน
ในกรณีความผิดอาญาอุกฉกรรจ์ เช่น ฆ่าผู้อื่น พยายามฆ่า ทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส หรือล่วงละเมิดทางเพศต่อสมาชิกในครอบครัว ผู้เสียหายหรือบุคคลอื่นสามารถแจ้งความดำเนินคดีได้ทันที เนื่องจากเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน
และตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 กำหนดให้เจ้าหน้าที่ตำรวจมีอำนาจในการเข้าระงับเหตุ และดำเนินการตามกฎหมายได้ทันที แม้ผู้เสียหายจะไม่ประสงค์จะแจ้งความก็ตาม โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถร้องทุกข์แทนผู้เสียหายได้ในกรณีที่ผู้เสียหายไม่สามารถแจ้งความได้ด้วยตนเอง เว้นแต่ ความผิดที่เกิดขึ้นนั้นไม่ใช่ความผิดอาญาแผ่นดินเป็นแค่ความผิดต่อส่วนตัว เจ้าหน้าที่ตำรวจจะไม่สามารถดำเนินคดีได้เว้นแต่เป็นกรณีที่กฎหมายกำหนดให้ต้องดำเนินคดีโดยไม่ต้องรอการร้องทุกข์
2.)พ่อทําร้ายร่างกายลูก แจ้งความได้ไหม
สามารถแจ้งความได้ โดยแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจและให้อัยการเป็นโจทก์ในการส่งฟ้อง และพ่อจะมีความผิดตาม
- พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทําด้วยความรุนแรงในครอบครัว มาตรา 4
ผู้ใดกระทําการอันเป็นความรุนแรงในครอบครัว ผู้นั้นกระทําความผิดฐานกระทําความรุนแรงในครอบครัว ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
- พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 มาตรา 26
ซึ่งผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 26 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
คดีอุทลุม ข้อยกเว้น
1.ฟ้องบุพการีในฐานะอื่น ที่ไม่ใช่ฐานะส่วนตัว
- ฟ้องบุพการีในฐานะผู้จัดการมรดก หากบุตรเป็นผู้จัดการมรดกของบุคคลอื่น และบุพการีเป็นลูกหนี้ของกองมรดกนั้น บุตรสามารถฟ้องร้องบุพการีในฐานะผู้จัดการมรดกได้ เพื่อเรียกคืนทรัพย์สินให้แก่กองมรดก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2505/2515 (ฟ้องบุพการีในฐานะผู้จัดการมรดก)
จำเลยฟ้องแย้งโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ไม่ได้ฟ้องในฐานะทายาทซึ่งเป็นบุตรของโจทก์ จึงไม่ถือเป็นคดีอุทลุม แม้โจทก์จะทราบว่าไม่มีสิทธิรับมรดกตามพินัยกรรม และพินัยกรรมห้ามโจทก์เกี่ยวข้องกับทรัพย์มรดก แต่เนื่องจากโจทก์เป็นภรรยาของผู้ตาย จึงเชื่อโดยสุจริตว่ามีสิทธิในทรัพย์มรดกครึ่งหนึ่ง และได้ซ่อมแซมห้องพิพาทโดยสุจริตใจ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าซ่อมแซมคืนได้
- หากบุตรเป็นผู้แทนของนิติบุคคล เช่น กรรมการบริษัท และบุพการีเป็นลูกหนี้ของนิติบุคคลนั้น บุตรสามารถฟ้องร้องบุพการีในฐานะผู้แทนนิติบุคคลได้
คดีอุทลุมนั้นต้องเป็นการฟ้องบุพการีในฐานะอื่นเท่านั้น ไม่ใช่ฐานะส่วนตัว และฟ้องได้แค่คดีแพ่งไม่สามารถฟ้องคดีอาญาได้ เพราะว่า วัตถุประสงค์ของการดำเนินคดีอาญาคือการลงโทษจำเลย ซึ่งเป็นเรื่องส่วนบุคคล ไม่สามารถรับโทษแทนกันได้ ดังนั้น การฟ้องคดีอาญาต่อบุพการีจึงเป็นสิ่งต้องห้ามโดยเด็ดขาด
บุคคลที่ไม่สามารถฟ้องคดีอุทลุมได้
บุคคลที่มีความสัมพันธ์ทางสายโลหิตโดยตรงกับบุคคลต้นตระกูล โดยอาจเป็นบุตร หลาน เหลน โหลน หรือผู้สืบสายโลหิตลงไปเรื่อยๆ หรือ ผู้สืบสันดาน นั่นเอง

บุคคลที่ได้รับการยกเว้นให้ฟ้องคดีอุทลุมได้
1.)บุตรนอกกฎหมาย
คือ บุตรที่เกิดจากบิดาและมารดาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมาย
บุตรที่ไม่ได้จดทะเบียนรับรองบุตร
คือ บุตรนอกกฎหมายที่ยังคงมีสถานะทางกฎหมายเป็นบุตรของมารดาเท่านั้น ซึ่งไม่สามารถฟ้องมารดาได้เพราะยังเป็นบุตรของมารดา แต่สามารถฟ้องบิดาได้
ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3019/2541 (บุตรนอกกฎหมายฟ้องร้องบิดา)
ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1547 บุตรจะถือเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของบิดาต่อเมื่อบิดาและมารดาสมรสกันภายหลัง หรือบิดาได้จดทะเบียนรับรองบุตร หรือศาลมีคำพิพากษาให้เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย ในกรณีนี้ แม้โจทก์จะเป็นบุตรที่จำเลยรับรองแล้ว แต่เนื่องจากจำเลยและมารดาโจทก์ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน และไม่มีคำพิพากษาของศาล โจทก์จึงยังคงมีสถานะเป็นบุตรนอกกฎหมายของจำเลย
2.)บุตรบุญธรรม
เพราะว่าบุตรบุญธรรมนั้น ไม่ถือเป็นผู้สืบสายเลือดโดยตรงของผู้รับบุตรบุญธรรม ดังนั้นบุตรบุญธรรมสามารถฟ้องร้องบิดามารดาบุญธรรมได้ เนื่องจากกฎหมายไม่ได้ห้ามไว้ เพราะว่าบุตรบุญธรรมนั้นไม่ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานของผู้รับบุตรบุญธรรม
บุตรบุญธรรมจึงมีอำนาจฟ้องร้องผู้รับบุตรบุญธรรมได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 895/2538 (บุตรบุญธรรมฟ้องผู้รับรองบุตรบุญธรรม)
บุตรบุญธรรมมีฐานะเทียบเท่าบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้รับบุตรบุญธรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1598/28 โดยมีสิทธิและหน้าที่ตามมาตรา 1561 ถึง 1584/1 เช่น สิทธิในการใช้นามสกุล การรับมรดก และการได้รับการเลี้ยงดู อย่างไรก็ตาม มาตรา 1562 ที่ห้ามฟ้องร้องบุพการีนั้น มีผลบังคับใช้เฉพาะบุตรชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น และบุพการีตามกฎหมายหมายถึง บิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย และทวดที่สืบสายโลหิตโดยตรงเท่านั้น ดังนั้น ในกรณีนี้ จำเลยซึ่งเป็นผู้รับบุตรบุญธรรม ไม่ถือเป็นบุพการีของโจทก์ตามบทกฎหมาย โจทก์ซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้
3.)การเป็นญาติด้วยการสมรส (ญาติฝ่ายสามี/ภรรยา)
ความสัมพันธ์ทางเครือญาติที่เกิดขึ้นจากการที่บุคคลหนึ่งสมรสกับบุคคลอื่น ซึ่งทำให้เกิดความสัมพันธ์ทางเครือญาติกับญาติของคู่สมรสด้วย ยกตัวอย่างเช่น
- พ่อตา/แม่ยาย พ่อและแม่ของคู่สมรส
- ลูกเขย/ลูกสะใภ้ สามีหรือภรรยาของลูก
- พี่เขย/น้องเขย พี่ชายหรือน้องชายของคู่สมรส
- พี่สะใภ้/น้องสะใภ้ พี่สาวหรือน้องสาวของคู่สมรส
สามารถฟ้องร้องญาติอีกฝั่งได้ เพราะทางกฎหมายถือว่าไม่เป็นผู้สืบสันดานทางกฎหมาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 806/2501 (ญาติฟ้องคดีอุทลุม)
มารดาหญิงตกลงยกที่ดินมีโฉนดให้เป็นกองทุน ชายก็มีเงินเป็นกองทุน ดังนี้ เป็นสัญญาต่างตอบแทนไม่ใช่ให้โดยเสน่หา เมื่อสมรสแล้วชายฟ้องบังคับให้โอนโฉนดได้บุตรเขยฟ้องมารดาของภริยาให้โอนที่ดินกองทุนได้ไม่เป็นอุทลุม
สรุป
คดีอุทลุมนั้นถึงแม้กฎหมายไม่ได้ให้สิทธิ์ในตัวบุตรในการฟ้องร้องโดยตรงหากเกิดคดีความขึ้น แต่บุตรสามารถให้อัยการเป็นโจทก์ในการส่งฟ้องผู้ปกครองได้ อีกทั้งหากเป็นคดีความที่ไม่ใช่ความผิดในฐานะต่อบุคคล บุตรสามารถฟ้องได้โดยตรง หากมีข้อสงสัยทางด้านกฎหมาย ทนายความจาก Legardy มากกว่า 500ท่าน พร้อมให้คำปรึกษาคุณ คลิกเลย !
ปรึกษาทนายตัวจริง
สอบถามได้ทุกเรื่องราวทางกฎหมาย
"โดนโกง โดนประจาน" ปรึกษาได้ในคลิกเดียว
สมัครเป็นทนายออนไลน์
แพล็ทฟอร์มรวบรวม
งานกฎหมายจากทั่วประเทศ



