คลิปเสียงที่แอบบันทึกจากคู่สนทนาใช้เป็นหลักฐานในคดีอาญาได้หรือไม่ ?
ในปัจจุบันที่เทคโนโลยีพัฒนาไปมาก การบันทึกเสียงจึงเป็นสิ่งที่เราทุกคนทำได้เกือบทุกที่และทุกเวลา อีกทั้งหลายคนมักจะบันทึกเสียงการสนทนาในเหตุการณ์สำคัญเพื่อใช้เป็นหลักฐานในการป้องกันตัวเองจากเรื่องทางกฎหมายกันบ่อยครั้ง แล้วเคยสงสัยกันไหมครับว่าหากเราบันทึกเสียงการสนทนาโดยที่คู่สนทนาไม่ยินยอม เราจะสามารถใช้เป็นหลักฐานในการดำเนินคดีอาญาได้หรือไม่ ในบทความนี้มีคำตอบครับ
ทำความเข้าใจเกี่ยวกับหลักฐานในคดีอาญา
ก่อนอื่นผมต้องขอท้าวความไปถึงนิยามของคำว่าพยานหลักฐานในคดีอาญาก่อน โดยตาม ประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 226 ได้วางหลักไว้ว่า
“...พยานวัตถุ พยานเอกสาร หรือพยานบุคคลซึ่งน่าจะพิสูจน์ได้ว่าจำเลยมีผิดหรือบริสุทธิ์ ให้อ้างเป็นพยานหลักฐานได้ แต่ต้องเป็นพยานชนิดที่มิได้เกิดขึ้นจากการจูงใจ มีคำมั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวงหรือโดยมิชอบประการอื่น และให้สืบตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นอันว่าด้วยการสืบพยาน...”
จึงแปลความได้ว่าไม่ว่าสิ่งใดก็สามารถใช้เป็นพยานหลักฐานได้ขอเพียงต้องไม่ต้องห้ามรับฟังตามกฏหมาย
ต้องการค้นหาด้านกฎหมายใช่ไหม ? สามารถค้นหาบทความ, คำปรึกษาจริง, มาตราที่เกี่ยวข้อง คลิกที่นี่ !
โดยในกรณีของการแอบบันทึกเสียงคู่สนทนานั้น ถือเป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยชอบแต่ได้มาโดยการกระทำไม่ชอบ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/1 ที่วางหลักว่า
“...ในกรณีที่ความปรากฏแก่ศาลว่า พยานหลักฐานใดเป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยชอบแต่ได้มาเนื่องจากการกระทำโดยมิชอบ หรือเป็นพยานหลักฐานที่ได้มาโดยอาศัยข้อมูลที่เกิดขึ้นหรือได้มาโดยมิชอบ ห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานนั้น เว้นแต่การรับฟังพยานหลักฐานนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อการอำนวยความยุติธรรมมากกว่าผลเสียอันเกิดจากผลกระทบต่อมาตรฐานของระบบงานยุติธรรมทางอาญาหรือสิทธิเสรีภาพพื้นฐานของประชาชน...”
เมื่อพิจารณาจากบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวจะเห็นได้ว่า คลิปเสียงที่เกิดจากการแอบบันทึกนั้นจะใช้เป็นพยานหลักฐานได้ต่อเมื่อหากศาลรับฟังแล้วจะเป็นประโยชน์ต่อคดีมากกว่า ผลกระทบที่จะเกิดจากสิทธิเสรีภาพของประชาชน
Q: ถูกด่าว่าเป็น... กับบุคคลที่สามมีคลิปเสียงสามารถฟ้องได้ไหมค่ะ
Q: แอบอัดคลิปเสียงผู้อื่น และนำไปเผยแพร่ให้เสียหาย ผิดกฏหมายหรือไม่
แล้วกรณีแบบไหนที่ศาลจะสามารถรับฟังคลิปเสียงที่แอบอัดเป็นพยานหลักฐานได้ ?
1.คลิปเสียงที่สามารถใช้เป็นพยานหลักฐานสำคัญในคดีร้ายแรง
เช่น เจ้าพนักงานของรัฐปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ สามารถรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้เราลองมาดูตัวอย่างคำพิพากษาของศาลฎีกากันครับ
คำพิพากษาฎีกาที่ 50/2563
“...จำเลยเป็นพนักงานอัยการเจ้าของสำนวนคดีดังกล่าว เดินทางไปบ้านบิดาของผู้ต้องหา พยายามพูดโน้มน้าวให้ญาติของผู้ต้องหาเห็นว่า ข้อหานำเมทแอมเฟตามีนเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตมีโทษถึงประหารชีวิต การให้จำเลยสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาเป็นวิธีที่ดีที่สุด ไม่ต้องไปเสี่ยงในการต่อสู้คดีในชั้นศาล โดยภริยาของผู้ต้องหาแอบบันทึกภาพและเสียงการสนทนาไว้ แม้เป็นการแสวงหาพยานหลักฐานโดยมิชอบตาม ป.วิ.อ.มาตรา 226 ก็ตาม แต่ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 226/1 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานที่ได้มาโดยมิชอบได้ ถ้าการรับฟังพยานหลักฐานนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อการอำนวนความยุติธรรมมากกว่าผลเสียอันเกิดจากผลกระทบต่อมาตราฐานของระบบงานยุติธรรมทางอาญา ดังนั้น แผ่นซีดี บันทึกภาพและเสียงการสนทนา รวมทั้งบันทึกการถอดเทปดังกล่าวแม้จะได้มาโดยไม่ชอบ แต่เมื่อศาลศาลนำมาฟังจะเป็นประโยชน์ต่อการอำนวยความยุติธรรมมากกว่าผลเสียอันเกิดจากผลกระทบต่อมาตรฐานของระบบงานยุติธรรมทางอาญา ศาลจึงนำมารับฟังเป็นพยานหลักฐานได้...”
'เจาะลึก! กฎหมาย PDPA คืออะไร คุ้มครองอะไรบ้าง'
2. .คลิปเสียงที่สามารถใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีความผิดต่อส่วนตัว
เช่น คดีหมิ่นประมาทศาลรับฟังเป็นพยานหลักฐานไม่ได้ เราลองมาดูตัวอย่างคำพิพากษาฎีกากันครับ
คำพิพากษาฎีกาที่ 8575/2563
“...โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดฐานหมิ่นประมาทอันเป็นการพิพาทระหว่างเอกชนด้วยกัน และเป็นความผิดอันยอมความได้ พฤติการณ์ของความผิดในคดีจึงมิใช่เรื่องร้ายแรงที่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐหรือผลประโยชน์สาธารณะของประชาชนโดยส่วนรวม ทั้งในคดีอาญาโจทก์ทั้งสองมีภาระการพิสูจน์ และศาลต้องใช้ดุลพินิจวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวง โดยจะไม่พิพากษาลงโทษจนกว่าจะแน่ใจว่ามีการกระทำผิดจริงและจำเลยทั้งสองเป็นผู้กระทำความผิดนั้น ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคหนึ่ง ซึ่งความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยลักษณะแห่งคดียังอยู่ในวิสัยที่โจทก์ทั้งสองสามารถหาพยานหลักฐานด้วยวิธีการอันสุจริต ชอบด้วยกฎหมาย มาพิสูจน์ความผิดของจำเลยทั้งสองได้ การอนุญาตให้รับฟังพยานหลักฐานที่โจทก์ทั้งสองได้มาจากการแสวงหาพยานหลักฐานโดยมิชอบ เท่ากับอนุญาตให้โจทก์ทั้งสองนำพยานหลักฐานมาเพิ่มเติมในสวนที่ตนนำสืบบกพร่องไว้ เพื่อจะลงโทษจำเลยทั้งสองแต่เพียงอย่างเดียวทั้งที่เป็นการละเมิดต่อสิทธิส่วนบุคคลของจำเลยทั้งสองและกระทบกระเทือนต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน อันเป็นการขัดต่อหลักการพื้นฐานของการดำเนินคดีอาญาโดยทั่วไป
ประกอบกับโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้แสวงหาพยานหลักฐานโดยมิชอบ มิใช่ผู้ที่จะต้องได้รับการลงโทษในทางอาญาหากศาลปฏิเสธไม่รับฟังพยานหลักฐานเช่นว่านั้นดังนี้ เมื่อพิเคราะห์ถึงพฤติการณ์ต่าง ๆ แห่งคดีโดยตลอดแล้ว การรับฟังพยานหลักฐานนั้นมิได้เป็นประโยชน์ต่อการอำนวยความยุติธรรม แต่กลับจะเป็นผลเสียที่กระทบต่อมาตรฐานของระบบงานยุติธรรมทางอาญาหรือสิทธิเสรีภาพพื้นฐานของประชาซนมากกว่า บันทึกเสียงการสนทนาและข้อความจากการถอดเทปไม่อาจรับฟังได้ ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 226 และ 226/1...”
Q: แฟนเก่าแฟนหมิ่นประมาทผ่านคลิปเสียงทางโทรศัพท์
สรุป
กล่าวโดยสรุปคือคลิปเสียงที่เกิดจากการแอบบันทึก เป็นพยานหลักฐานอย่างหนึ่ง แต่เป็นพยานหลักฐานที่เกิดโดยการกระทำไม่ชอบ จะใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีอาญาได้ต่อเมื่อจะสามารถพิสูจน์ความผิดของจำเลยในคดีร้ายแรงได้เท่านั้นครับ หากมีข้อสงสัยต้องการปรึกษาทนายความเพื่อหาทางออกกฎหมาย สามารถติดต่อผ่าน Legardy ได้ตลอด 24ชั่วโมงครับ
![cta](https://backside.legardy.com/uploads/cta_lawyer_8c8c858e34.png)