แคชเชียร์เช็ค ตั๋วเงิน และ เช็ค
วันนี้จะขอพูดถึง “แคชเชียร์เช็ค”นะครับ ซึ่งแคชเชียร์เช็คถือเป็นเช็คอันเป็นตั๋วเงินประเภทหนึ่ง
ตั๋วเงินคืออะไรและส่งต่อได้ไหม ?
ขออธิบายก่อนว่า ตั๋วเงินคือหนังสือตราสารที่ถูกออกเพื่อใช้ชำระหนี้แทนเงินสด โดยผู้ออกตั๋วประสงค์จะใช้เงินให้แก่ผู้ที่ถือตั๋วคนนั้น
ตั๋วเงินสามารถโอนเปลี่ยนมือหรือส่งต่อผ่านผู้ถือตั๋วได้หลายคนหลายๆทอดได้
ในส่วนความหมายของเช็คบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 987
ว่า
“อันว่าเช็คนั้น คือหนังสือตราสาร ซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า ผู้สั่งจ่ายสั่งธนาคารให้ใช้เงินจำนวนหนึ่งเมื่อทวงถามให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง หรือให้ใช้ตามคำสั่งของบุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่า ผู้รับเงิน”
หมายความว่า เช็คเป็นหนังสือตราสารที่มีผู้ออกตั๋วคือ “ผู้สั่งจ่าย”ได้ออกตั๋วโดยสั่งจ่ายให้ธนาคารมีหน้าที่ใช้เงินให้แก่ “ผู้รับเงิน”ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของตน ผู้รับเงินคือผู้ได้รับเช็คมาจากผู้สั่งจ่ายนั่นเอง โดยผู้รับเงินต้องนำเช็คไปขึ้นเงินกับ”ธนาคาร”เท่านั้น ห้ามนำเช็คไปขึ้นเงินกับผู้อื่นเด็ดขาด!!
ประเภทของตั๋วเงิน
เพราะตั๋วเงินนั้นแบ่งได้เป็น 3 ประเภทได้แก่
1.ตั๋วแลกเงิน ,
2.ตั๋วสัญญาใช้เงิน และ
3.เช็ค
องค์ประกอบสำคัญในการนำเช็คไปขึ้นเงิน
แต่การจะนำเช็คไปขึ้นเงินได้ เช็คต้องมีรายการต่างๆดังต่อไปนี้ 7 รายการซึ่งบัญญัติใน มาตรา 988 ว่า
“อันเช็คนั้นต้องมีรายการดังกล่าวต่อไปนี่ คือ
(1)คำบอกชื่อว่าเป็นเช็ค ,
(2)คำสั่งอันปราศจากเงื่อนไขให้ใช้เงินเป็นจำนวนแน่นอน หมายความว่า เช็คต้องระบุจำนวนเงินที่ผู้รับเงินจะได้ขึ้นโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆเลยเช่น เช็คเขียนว่าจะใช้เงินได้ถ้าผู้รับเงินเรียนเก่งหรือถูกหวย ก็ถือว่าเช็คเป็นอันใช้ไม่ได้ ,
(3)ชื่อ หรือยี่ห้อและสำนักของธนาคาร (ชื่อธนาคารที่จะไปขึ้นเงิน) ,
(4)ชื่อหรือยี่ห้อของผู้รับเงิน หรือคำจดแจ้งว่าให้ใช้เงินแก่ผู้ถือ
(5)สถานที่ใช้เงิน ,
(6)วันและสถานที่ออกเช็ค และ
(7)ลายมือชื่อผู้สั่งจ่าย
ต้องการค้นหาด้านกฎหมายใช่ไหม ? สามารถค้นหาบทความ, คำปรึกษาจริง, มาตราที่เกี่ยวข้อง คลิกที่นี่ !
ในส่วนชื่อหรือยี่ห้อของผู้รับเงินนี้เนื่องจากเช็คแบ่งเป็น 2 ชนิด
1.เช็คชนิดระบุชื่อ
ในเช็คต้องระบุชื่อผู้รับเงินไว้ในช่องว่างของชื่อผู้รับเงิน โดยขีดฆ่าคำว่าหรือผู้ถือออก
เช็คชนิดระบุชื่อโอนเปลี่ยนมือให้แก่กันได้ 2 วิธีคือ การสลักหลังและส่งมอบ ,
2.เช็คชนิดผู้ถือ
ไม่ได้ใส่ชื่อผู้รับเงิน โดยเว้นช่องว่างไว้ในช่องผู้รับเงินและมีคำว่า “หรือผู้ถือ”ซึ่งจะเข้าใจได้ว่าผู้ทรงหรือผู้ครอบครองเช็คโดยสุจริต (ผู้ได้รับมอบจากผู้สั่งจ่ายโดยตรง ไม่ได้ลักขโมยมา)ถือเป็นผู้รับเงิน เช็คชนิดผู้ถือโอนผ่านกันมาโดย ส่งมอบเท่านั้น ไม่สามารถสลักหลัง เพราะการสลักหลังเช็คชนิดผู้ถือจะเป็นการอาวัลผู้สั่งจ่าย (ตามมาตรา 921 ประกอบ มาตรา 989) หมายถึง ผู้รับโอนเช็คชนิดผู้ถือนั้นมีหนี้ที่ต้องรับผิดต่อผู้รับเงินเฉกเช่นเดียวกันกับผู้สั่งจ่าย กลับกัน ถ้ามีการขีดฆ่า หรือผู้ถือ ออกแล้วช่องว่างเขียนว่า “สดหรือเงินสด”จะไม่สามารถรู้ได้ว่าใครเป็นผู้รับเงินเช็คเป็นอันใช้ไม่ได้เลย ,
โดยรายการที่เป็นสาระสำคัญหากเช็คไม่มีรายการดังต่อไปนี้จะไม่สมบูรณ์เป็นเช็ค
- คำบอกชื่อว่าเป็นเช็ค
- คำสั่งอันปราศจากเงื่อนไขให้ใช้เงินเป็นจำนวนแน่นอน
- ชื่อ หรือยี่ห้อและสำนักของธนาคาร(ชื่อธนาคารที่จะไปขึ้นเงิน)
- ชื่อหรือยี่ห้อของผู้รับเงิน หรือคำจดแจ้งว่าให้ใช้เงินแก่ผู้ถือ
- ลายมือชื่อผู้สั่งจ่าย
หากขาดรายการเหล่านี้เช็คยังเป็นเช็คที่สมบูรณ์
- สถานที่ใช้เงิน ,
- วันและสถานที่ออกเช็ค
รายการที่ (5) และ (6) ยังถือว่าเช็คไม่ได้ขาดส่วนที่เป็นสาระสำคัญเช็คยังเป็นเช็คที่สมบูรณ์ เพราะผู้รับเงินในฐานะผู้ทรงเช็คโดยสุจริตย่อมสามารถลงเวลาใช้เงินได้ในเวลาที่ได้เห็นเช็คนั้น (มาตรา 910 วรรคสองประกอบมาตรา 989) , ส่วนสถานที่ใช้เงินเมื่อไม่ระบุไว้ให้ถือว่า ภูมิลำเนาของผู้จ่ายเป็นสถานที่ใช้เงิน (มาตรา 910 วรรคสามประกอบมาตรา 989) และส่วนวันที่ออกเช็คแม้ไม่ระบุไว้ ผู้ทรงก็สามารถลงวันที่ถูกต้องแท้จริงในวันที่ได้รับโอนมาจากผู้สั่งจ่ายเช็คนั่นเอง (มาตรา 910 วรรคท้ายประกอบมาตรา 989)
หลักการยื่นเช็คต่อธนาคาร
ต่อไปในเรื่อง การยื่นเช็คต่อธนาคารนั้น ตามมาตรา 990 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า
“ผู้ทรงเช็คต้องยื่นเช็คแก่ธนาคารเพื่อให้ใช้เงินคือว่าถ้าเป็นเช็คให้ใช้เงินในเมืองเดียวกันกับที่ออกเช็คต้องยื่นภายในเดือนหนึ่งนับแต่วันออกเช็คนั้น ถ้าเป็นเช็คให้ใช้เงินที่อื่นต้องยื่นภายใน 3 เดือน ถ้ามิฉะนั้นท่านว่าผู้ทรงสิ้นสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาแก่ผู้สลักหลังทั้งปวง ทั้งเสียสิทธิอันมีต่อผู้สั่งจ่ายด้วยเพียงเท่าที่จะเกิดความเสียหายอย่างหนึ่งอย่างใดแก่ผู้สั่งจ่าย เพราะการที่ละเลยเสียไม่ยื่นเช็คนั้น”
การนำเช็คไปขึ้นจังหวัดเดียวกัน
หมายความว่า การที่ผู้ทรงหรือผู้รับเงินจะนำเช็คไปขึ้นต่อธนาคาร ถ้าสถานที่ได้รับออกเช็คจากผู้สั่งจ่ายกับที่ที่นำเช็คไปขึ้นต่อธนาคารนั้นเป็นเมือง (จังหวัด) เดียวกัน ผู้ทรงต้องยื่นภายใน 1 เดือนนับแต่วันที่ผู้สั่งจ่ายออกเช็คให้
การนำเช็คไปขึ้นต่างจังหวัด
ถ้าเกิดผู้สั่งจ่ายออกเช็คให้คนละเมืองหรือต่างจังหวัดกับที่ที่ผู้ทรงจะนำเช็คไปขึ้น ผู้ทรงก็ยื่นเช็คได้ภายใน 3 เดือน หากผู้ทรงไม่ยอมนำเช็คไปขึ้นจนพ้นระยะเวลาดังกล่าว ย่อมไม่ได้รับเงินเมื่อผู้ทรงไม่ได้รับเงินก็เสียสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาเงินจากลูกหนี้ของตนแต่ละรายดังนี้ หากยื่นช้าไปไล่เบี้ยกับผู้สลักหลัง (ทุกคน) ไม่ได้เลยทุกกรณี ในส่วนของผู้สั่งจ่ายที่เป็นผู้ออกตั๋วจะไล่เบี้ยได้ต่อเมื่อ ไม่มีความเสียหายใดๆเกิดจากการที่ผู้ทรงนำเช็คไปขึ้นเงินช้าเท่านั้น หากนำเช็คไปขึ้นเงินช้าแล้วมีความเสียหายเกิดแก่ผู้สั่งจ่าย เช่น ธนาคารล้มละลาย ผู้ทรงก็ไม่สามารถไล่เบี้ยได้เลย หากมีข้อสงสัยต้องการปรึกษาทนายความเพื่อหาทางออกกฎหมาย สามารถติดต่อผ่าน Legardy ได้ตลอด 24ชั่วโมงครับ
ปรึกษาทนายตัวจริง
สอบถามได้ทุกเรื่องราวทางกฎหมาย
"โดนโกง โดนประจาน" ปรึกษาได้ในคลิกเดียว
สมัครเป็นทนายออนไลน์
แพล็ทฟอร์มรวบรวม
งานกฎหมายจากทั่วประเทศ



