ถูกฟ้องต้องทำอย่างไร? คดีแพ่งร้ายแรงไหม?
มื่อได้รับหมายศาลถูกฟ้องคดีแพ่ง หลายคนย่อมเป็นกังวลว่าจะต้องทำอย่างไร? คดีแพ่งร้ายแรงไหม? จะติดคุกหรือไม่? วันนี้ Legardy จะมาแนะนำสิ่งที่ต้องทำเมื่อถูกฟ้องคดีแพ่งตั้งแต่เริ่มต้นจนจบกระบวนการ พร้อมหาคำตอบว่าจริง ๆ แล้วคดีแพ่งร้ายแรงไหม?
คดีแพ่งร้ายแรงไหม?
คำถามที่ว่าคดีแพ่งร้ายแรงไหม? ต้องบอกก่อนว่าคดีแพ่งเป็นการฟ้องร้องเพื่อเรียกค่าเสียหายหรือค่าสินไหมทดแทน แม้จะไม่มีโทษทางอาญา ไม่มีติดคุก ไม่มีประหารชีวิต แต่ความรุนแรงจะอยู่ที่เมื่อแพ้คดี และไม่มีเงินจ่าย ทรัพย์สินทั้งหมดที่มีอยู่จะถูกยึดหรืออายัดไปขายทอดตลาด แล้วนำเงินที่ขายได้ไปให้เจ้าหนี้ เรียกได้ว่าทรัพย์สินหามาได้เท่าไรก็ถูกยึดไปหมด
ถูกฟ้องคดีแพ่งต้องทำอย่างไร?
หากถูกฟ้องคดีแพ่งและได้รับหมายศาล เบื้องต้นสามารถดำเนินการตามกระบวนการดังนี้
1. ตรวจสอบหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง
สิ่งแรกที่ควรทำ คือ การตรวจสอบรายละเอียดในหมายเรียก ประกอบด้วย 4 ส่วนสำคัญ คือ
- ประเภทของคดีแพ่ง เช่น คดีแพ่งสามัญ คดีมโนสาเร่ หรือคดีผู้บริโภคเป็นต้น ซึ่งคดีแต่ละประเภทจะมีกำหนดระยะเวลายื่นคำให้การแตกต่างกันไป
- ข้อเท็จจริงหรือสำเนาคำฟ้อง โดยในหมายเรียกจะบรรยายไว้ว่าสาเหตุที่โจทก์ยื่นฟ้องเราคืออะไร ให้ตรวจสอบว่ามีข้อเท็จจริงใดในคำฟ้องที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงบ้าง
- เอกสารท้ายคำฟ้อง จะเป็นเอกสารที่ใช้ในการฟ้องคดีนี้ที่ฝ่ายโจทก์ได้แนบมา เพื่อให้เราเข้าใจว่าเราถูกฟ้องเรื่องอะไร หากมีเอกสารใดที่ไม่ถูกต้อง ให้รวบรวมเอาไว้เพื่อเตรียมปรึกษาทนายความ
- บัญชีระบุพยาน จะอยู่หน้าสุดท้ายของชุดสำเนาคำฟ้อง
2. รวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน
หลังจากได้เห็นคำฟ้องและเอกสารท้ายคำฟ้องของโจทก์แล้ว ขั้นตอนต่อมา คือ การรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่คาดว่าจะเป็นประโยชน์ในคดี เพื่อเตรียมชี้แจงข้อเท็จจริงต่อทนายความและต่อศาลในภายหลัง
3. ปรึกษาทนายความ
นำหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้ทนายความตรวจสอบ เพื่อให้ทนายความทราบเบื้องต้นว่าคุณโดนฟ้องเกี่ยวกับอะไร หลังจากนั้นจะเป็นหน้าที่ของคุณที่ต้องเล่าเรื่องราวทั้งหมดให้ทนายความฟังตามความเป็นจริง เพื่อให้ทนายความสามารถวางรูปคดีได้อย่างถูกต้อง และหาทางออกให้กับคุณได้อย่างเหมาะสม โดยรายละเอียดต่าง ๆ จะถูกปิดเป็นความลับ หากมีพยานบุคคลใดจะเป็นประโยชน์แก่คดี ทนายความอาจมีการออกหมายเรียกพยานเพื่อมาให้การในชั้นศาลต่อไป
4. เข้าสู่กระบวนการในชั้นศาล
หลังจากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการในชั้นศาล โดยในนัดแรกศาลมักจะให้คู่ความทุกฝ่ายไกล่เกลี่ยกันก่อน หากไม่สามารถตกลงกันได้ศาลจะกำหนดวันนัดพร้อมหรือนัดชี้สองสถานเพื่อกำหนดวันนัดสืบพยานต่อไป ซึ่งนัดสืบพยานจะเป็นนัดที่ชี้ผลแพ้ชนะในคดีได้ และหลังจากการสืบพยานเสร็จประมาณ 1-2 เดือน ศาลจะนัดฟังคำพิพากษาเป็นอันสิ้นสุด
ถ้าแพ้คดีจะเป็นอย่างไร?
หากแพ้คดี จะต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาล เช่น ต้องชำระเงินให้โจทก์ภายในกี่วัน เป็นต้น ซึ่งหากไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาและคำบังคับของศาล จะถูกดำเนินบังคับคดีตามกฎหมาย เช่น ยึดทรัพย์ อายัดเงินเดือน หรืออาจถูกฟ้องล้มละลาย เป็นต้น
ชนะคดีไปแล้ว ค่าใช้จ่ายต่างๆจะได้คืนไหม? หาคำตอบได้ที่นี่ คลิกเลย !
ถ้าไม่มีทรัพย์ให้ยึด จะเป็นอย่างไร?
ถ้าไม่มีทรัพย์ให้ยึดหรืออายัดเลย ไม่ได้หมายความว่าเราจะรอดตัว เพราะนับตั้งแต่วันมีคำพิพากษา คดีจะมีอายุความ 10 ปี ดังนั้นภายใน 10 ปีนี้ หากลูกหนี้ได้ทรัพย์ใหม่ ๆ มา เจ้าพนักงานบังคับคดีก็สามารถยึดทรัพย์เหล่านั้นได้ จนกว่าจะชำระครบ
ต้องการค้นหาด้านกฎหมายใช่ไหม ? สามารถค้นหาบทความ, คำปรึกษาจริง, มาตราที่เกี่ยวข้อง คลิกที่นี่ !
คดีแพ่งไม่ไปศาลได้ไหม?
ไม่จำเป็นต้องไปศาลด้วยตนเอง สามารถแต่งตั้งทนายความเป็นตัวแทนได้ แต่หากไม่ได้แต่งตั้งทนายความ แนะนำให้ไปศาลด้วยตัวเอง เพราะเป็นโอกาสในการเจรจาต่อรองและต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมให้กับตัวเอง ในทางตรงข้ามหากไม่ไปศาลเท่ากับเสียสิทธิในการต่อสู้ต่อหน้าคนกลาง ศาลจะตัดสินตามคำฟ้องของโจทก์เพียงฝ่ายเดียว โอกาสแพ้คดีสูง ทำให้ต้องชำระหนี้เต็มจำนวนโดยไม่มีทางเลือก
อ่านมาถึงตรงนี้ หากถามว่าคดีแพ่งร้ายแรงไหม? ความร้ายแรงก็คงอยู่ที่การโดนยึดทรัพย์สินทั้งหมดกรณีแพ้คดี ดังนั้นเมื่อโดนฟ้องควรตั้งสติ แล้วค่อย ๆ หาพยานหลักฐานที่คาดว่าจะเป็นประโยชน์ และดำเนินการตามขั้นตอนที่เราแนะนำไปข้างต้น ทั้งนี้หากเป็นฝ่ายผิดตามที่ถูกกล่าวหา การเจรจาไกล่เกลี่ยก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่ทำให้ข้อพิพาทจบลงด้วยดีทั้งสองฝ่าย
ไม่ว่าจะต่อสู้คดีให้ถึงที่สุด หรือเจรจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาท สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ไม่ควรดำเนินการเองโดยไม่ปรึกษาทนายความ ไม่อย่างนั้นเราอาจเป็นผู้เสียเปรียบได้ ดังนั้นเมื่อถูกฟ้อง แนะนำให้รีบเข้าปรึกษาทนายความเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุด หากไม่รู้จะมองหาทนายความที่ไหน สามารถค้นหาทนายความมืออาชีพได้ที่ Legardy ศูนย์รวมทนายความที่มีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ทั้งทางแพ่งและอาญา ยินดีให้ความช่วยเหลือคุณตลอด 24 ชม.
คำถามที่พบบ่อย
1. คดีแพ่งมีอายุความกี่ปี ติดคุกไหม?
คดีแพ่งแต่ละคดีก็มีอายุความแตกต่างกันออกไป เช่น คดีเกี่ยวกับเงินค้างชำระ ค่าอุปการะเลี้ยงบุตร มีอายุความ 5 ปี คดีเรียกเอาค่าการงานที่ได้ทำ มีอายุความ 2 ปี หรือบางคดีก็มีอายุความเพียง 1 ปีเท่านั้น ดังนั้นก่อนจะฟ้องคดีต้องดูอายุความคดีแพ่งให้แน่ใจ เพราะหากไม่ฟ้องคดีในเวลาที่กำหนด เราอาจจะเสียสิทธิอย่างน่าเสียดาย
ส่วนเรื่องติดคุกไหม? คดีแพ่งไม่มีโทษจำคุก โทษสูงสุดของคดีแพ่ง คือ ถูกตัดสินให้ล้มละลาย เว้นแต่ว่าเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวโยงอยู่กับคดีอาญา เช่น การจ่ายเช็กเด้ง การหลอกลวงและการฉ้อโกง การทุจริตและปลอมแปลงเอกสารทางการเงิน อาจมีโทษจำคุกเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
2. คดีหนี้สินติดคุกไหม?
คดีเกี่ยวกับหนี้สิน เช่น หนี้เสียบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด ถือเป็นคดีแพ่ง ไม่มีโทษจำคุกเหมือนกันคดีอาญา
3. คดีแพ่งสามารถออกหมายจับได้ไหม?
ศาลสามารถออกหมายจับบุคคลในคดีแพ่งกรณีคดีขับไล่
ปรึกษาทนายตัวจริง
สอบถามได้ทุกเรื่องราวทางกฎหมาย
"โดนโกง โดนประจาน" ปรึกษาได้ในคลิกเดียว