เผยแพร่เมื่อ: 2023-12-27

หาทนายฟ้องหย่า ฟ้องหย่ามีขั้นตอนอย่างไร ใช้เอกสารอะไรบ้าง?

เมื่อความรักเดินทางมาถึงทางตัน ไม่สามารถอยู่ร่วมกันได้อีกต่อไป คู่สมรสบางคู่ก็สามารถตกลงหย่ากันได้ด้วยความยินยอม แต่ก็มีคู่สมรสอีกไม่น้อยต้องลงเอยด้วย “การฟ้องหย่า” หากคุณกำลังเผชิญสถานการณ์นี้อยู่ แต่ไม่รู้ว่าฟ้องหย่าจะต้องเริ่มอย่างไร? หาทนายฟ้องหย่าค่าใช้จ่ายสูงหรือไม่? ต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง? ในบทความนี้จะมาตอบทุกคำถามเกี่ยวกับการฟ้องหย่า

 

หาทนายฟ้องหย่า ราคาเท่าไร?

คำถามแรก ๆ ที่ตามมาเมื่อต้องหาทนายฟ้องหย่า คือ ค่าทนายความเท่าไร? ซึ่งค่าวิชาชีพทนายความนั้นขึ้นอยู่กับความพอใจของผู้จ้างและผู้ว่าจ้าง ไม่ได้กำหนดตายตัว แต่โดยทั่วไปหาเป็นคดีฟ้องหย่าที่ไม่ได้มีความยุ่งยากซับซ้อน มีพยานหลักฐานชัดเจน ค่าทนายความจะเริ่มอยู่ที่ประมาณ 30,000 - 50,000 บาท แต่ถ้าคดีมีความยุ่งยากซับซ้อน มีประเด็นข้อพิพาทกันหลายประเด็น ค่าทนายความจะเริ่มต้น 50,000 บาท ไปจนถึงหลักแสนบาท

 

เหตุแห่งการฟ้องหย่า 10 ประการ

กฎหมายกำหนดเหตุแห่งการฟ้องหย่าไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในมาตรา 1516 10 ประการ ซึ่งการจะฟ้องหย่าได้นั้น จะต้องเข้าเหตุฟ้องหย่าข้อใดข้อหนึ่งที่กฎหมายกำหนดไว้ ดังนี้

เหตุแห่งการฟ้องหย่า 10 ประการ.png

1. สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดู หรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามี เป็นชู้หรือมีชู้ หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ

2. สามีหรือภริยาประพฤติชั่ว ไม่ว่าความประพฤติชั่วนั้นจะเป็นความผิดอาญาหรือไม่ ถ้าเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่ง

  • ก. ได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง
  • ข. ได้รับความดูถูกเกลียดชังเพราะเหตุที่คงเป็นสามีหรือภริยาของฝ่ายที่ประพฤติชั่วอยู่ต่อไป หรือ
  • ค. ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควร ในเมื่อเอาสภาพ ฐานะและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบ

3. สามีหรือภริยาทำร้าย หรือทรมานร่างกายหรือจิตใจ หรือหมิ่นประมาทหรือเหยียดหยามอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุพการีของอีกฝ่ายหนึ่ง ทั้งนี้ ถ้าเป็นการร้ายแรง

4. สามีหรือภริยาจงใจละทิ้งร้างอีกฝ่ายหนึ่งไปเกิน 1 ปี

  • 4/1 สามีหรือภริยาต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก และได้ถูกจำคุกเกิน 1 ปี ในความผิดที่อีกฝ่ายหนึ่งมิได้มีส่วนก่อให้เกิดการกระทำความผิดหรือยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดนั้นด้วย และการเป็นสามีภริยากันต่อไปจะเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่งได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควร
  • 4/2 สามีและภริยาสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกิน 3 ปี หรือแยกกันอยู่ตามคำสั่งของศาลเป็นเวลาเกิน 3 ปี

5. สามีหรือภริยาถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ หรือไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่เป็นเวลาเกิน 3 ปีโดยไม่มีใครทราบแน่ว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร

6. สามีหรือภริยาไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่งตามสมควร หรือทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการที่เป็นสามีหรือภริยากันอย่างร้ายแรง ทั้งนี้ ถ้าการกระทำนั้นถึงขนาดที่อีกฝ่ายหนึ่งเดือดร้อนเกินควรในเมื่อเอาสภาพ ฐานะและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบ

7. สามีหรือภริยาวิกลจริตตลอดมาเกิน 3 ปี และความวิกลจริตนั้นมีลักษณะยากจะหายได้ กับทั้งความวิกลจริตถึงขนาดที่จะทนอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาต่อไปไม่ได้

8. สามีหรือภริยาผิดทัณฑ์บนที่ทำให้ไว้เป็นหนังสือในเรื่องความประพฤติ

9. สามีหรือภริยาเป็นโรคติดต่ออย่างร้ายแรงอันอาจเป็นภัยแก่อีกฝ่ายหนึ่งและโรคมีลักษณะเรื้อรังไม่มีทางที่จะหายได้

10. สามีหรือภริยามีสภาพแห่งกาย ทำให้สามีหรือภริยานั้นไม่อาจร่วมประเวณีได้ตลอดกาล

 

 

เอกสารประกอบการยื่นฟ้องหย่า

เอกสารที่ต้องใช้ประกอบการยื่นฟ้องหย่า และเตรียมมาให้กับทนายความเมื่อหาทนายฟ้องหย่าได้แล้ว มีดังนี้

  • ใบสำคัญการสมรส
  • สูติบัตรหรือทะเบียนบ้านของลูก กรณีมีลูกด้วยกัน
  • สำเนาบัตรประชาชนของตนเองและคู่สมรส
  • ทะเบียนบ้านที่สามี ภรรยา และลูกพักอาศัยอยู่ด้วยกัน
  • หลักฐานเกี่ยวกับสินสมรส เช่น สมุดบัญชีธนาคาร โฉนดที่ดิน เป็นต้น
  • หลักฐานเกี่ยวกับบุตรผู้เยาว์ เช่น หลักฐานค่าเลี้ยงดูบุตร หลักฐานการศึกษา
  • พยานหลักฐานที่เกี่ยวกับเหตุหย่า

 

ขั้นตอนการฟ้องหย่า

1. ขั้นตอนแรกของการฟ้องหย่า คือ ผู้ฟ้องต้องหาทนายฟ้องหย่าเพื่อนำข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นมาปรึกษาทนายความ รวมทั้งรวบรวมหลักฐานเอกสารที่เกี่ยวข้องมาให้ทนายความ 

2. หลังสอบข้อเท็จจริงแล้วพบว่าเรื่องราวของคุณเป็นเหตุให้ฟ้องหย่าได้ ทนายความจะร่างฟ้องและยื่นฟ้องคดีต่อศาลต่อไป 

3. โดยส่วนมากในคดีหย่า ศาลจะจัดให้คู่ความทั้งสองฝ่ายเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายตกลงกันด้วยดี

4. เมื่อทั้งสองฝ่ายตกลงกันได้ ทนายความจะให้ทั้งสองฝ่ายทำสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยทั้งสองฝ่ายต้องไปหย่าขาดกันภายในเวลาที่ระบุในสัญญา 

5. หากฝ่ายใดไม่ยอมไปจดทะเบียนหย่าตามกำหนด อีกฝ่ายสามารถนำสัญญาประนีประนอมยอมความ และหนังสือรับรองคดีถึงที่สุดไปดำเนินการจดทะเบียนหย่าที่อำเภอฝ่ายเดียวได้เลย

 

ฟ้องหย่า เรียกร้องอะไรได้บ้าง?

  • ค่าทดแทน หากเหตุฟ้องหย่าเกิดจากคู่สมรสมีชู้ เช่น สามีมีชู้ ภรรยาสามารถฟ้องชู้เพื่อเรียกค่าทดแทนจากสามีและชู้ที่เป็นเหตุหย่าได้อีกด้วย หรือหากไม่ต้องการฟ้องหย่า สามารถฟ้องเรียกค่าทดแทนจากชู้เพียงอย่างเดียวก็ได้ 
  • ค่าเลี้ยงดูบุตร หากบุตรอยู่ในความดูแลของฝ่ายที่ฟ้องหย่า ฝ่ายที่ฟ้องหย่าสามารถเรียกค่าเลี้ยงดูบุตรตามสมควรได้
  • ค่าเลี้ยงชีพ หากการหย่าเป็นความผิดของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และการหย่าทำให้อีกฝ่ายไม่มีรายได้เพียงพอ ฝ่ายนั้นย่อมมีสิทธิฟ้องเรียกค่าเลี้ยงชีพได้
  • สินสมรส สามารถฟ้องแบ่งสินสมรสไปพร้อมคดีฟ้องหย่าได้เลย โดยต้องแบ่งสินสมรสคนละส่วนเท่า ๆ กัน

 

ฟ้องหย่าลูกอยู่กับใคร?

พ่อแม่สามารถพูดคุยเจรจาตกลงกันได้ว่าบุตรจะอยู่กับใคร ใครเป็นผู้มีอำนาจปกครองบุตร หากตกลงไม่ได้ ศาลจะเป็นผู้กำหนดให้ โดยศาลจะไม่ได้กำหนดให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้เลี้ยงดูบุตรเพียงผู้เดียว แต่มักจะกำหนดให้ทั้งสองฝ่ายร่วมกันเลี้ยงดูบุตร ซึ่งเป็นวิธีที่เกิดประโยชน์ต่อบุตรผู้เยาว์มากที่สุด

 

แยกกันอยู่กี่ปีถึงจะฟ้องหย่าได้?

หากคู่สมรสแยกกันอยู่เป็นเวลาเกินกว่า 3 ปี ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสามารถฟ้องหย่าได้ ตามเหตุแห่งการฟ้องหย่าข้อ 4/2

 

ฟ้องหย่าที่ศาลไหน?

คดีฟ้องหย่าต้องฟ้องที่ศาลเยาวชนและครอบครัว

 

หาทนายฟ้องหย่าที่ Legardy

อ่านมาถึงตรงนี้ ใครที่คิดว่าการฟ้องหย่าเป็นเรื่องยาก ไม่แน่ใจว่ากรณีของตนเองเข้าข่ายเหตุแห่งการฟ้องหย่าหรือไม่ แนะนำให้หาทนายฟ้องหย่าเพื่อปรึกษาเบื้องต้น เพียงเล่าข้อเท็จจริงทั้งหมดให้ทนายความฟัง ทนายความพร้อมช่วยเหลือ และแนะนำแนวทางที่เป็นประโยชน์ให้กับคุณ โดยที่ Legardy เรารวบรวมทนายความมืออาชีพทั่วประเทศ ​​สามารถใช้บริการปรึกษาทนายแบบส่วนตัว หรือฝากคำถามเบื้องต้นได้ฟรี ทนายคดีครอบครัวที่เชี่ยวชาญด้านการฟ้องหย่าพร้อมที่จะตอบคำถามของคุณตลอด 24 ชม. แล้วคุณจะพบว่าการพบทนายไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป

cta
ปรึกษาทนาย 24 ชั่วโมง
“ ได้รับคำตอบทันที ! “
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.