เครดิต/เครดิตบูโรแก้ไขอย่างไร ? ฟังคำแนะนำจากนักกฎหมาย
ในช่วงของการหาเสียงเลือกตั้งที่ผ่านมา มีพรรคการเมืองหลายพรรคพยายามชูนโยบายหาเสียงในการจัดการข้อมูลเครดิตบูโร (Credit Bureau) ใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นจริง ซึ่งก็มีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เดี๋ยววันนี้เรามาดูกันนะครับว่า จริง ๆ แล้ว
ข้อมูลเครดิตบูโรคืออะไร มีความสำคัญอย่างไร
ข้อมูลเครดิต คือ ข้อมูลสำคัญที่ช่วยให้ผู้ให้สินเชื่อไม่ว่าจะเป็นธนาคารหรือสถาบันการเงินต่าง ๆ สามารถใช้เป็นข้อมูลเพื่อประกอบการอนุมัติสินเชื่อให้กับลูกค้า ซึ่งมาตรา 3 พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต พ.ศ. 2545 ได้กำหนดนิยามคำว่า “ข้อมูลเครดิต" ไว้ ดังนี้
(1) ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้าที่ขอสินเชื่อ ได้แก่ ข้อเท็จจริงที่บ่งชี้ถึงตัวลูกค้า และคุณสมบัติของลูกค้าที่ขอสินเชื่อ ประกอบกับประวัติการขอและการได้รับอนุมัติสินเชื่อ และ
(2) การชำระสินเชื่อของลูกค้าที่ขอสินเชื่อ รวมทั้งประวัติการชำระราคาสินค้าหรือบริการโดยบัตรเครดิต
ทั้งนี้ เพื่อป้องกันมิให้มีการเรียกดูรายงานข้อมูลเครดิตของผู้อื่นโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เช่น กรณีที่มีชื่อและนามสกุลซ้ำกัน รายงานข้อมูลเครดิตดังกล่าวจึงปรากฏเพียงข้อมูลระบุตัวตนเท่านั้น และจะไม่มีการจัดเก็บข้อมูลของบุคคลที่อ่อนไหว ซึ่งอาจมีผลต่อการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม เช่น ข้อมูลความพิการ ข้อมูลสุขภาพ หรือ ประวัติอาชญากรรม เป็นต้น
แล้วทำไมต้องมีข้อมูลเครดิตหละ ?
ข้อมูลเครดิตจึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้การปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับพฤติกรรมทางการเงินของลูกค้าแต่ละราย กล่าวคือ หากผู้ขอเครดิตเคยมีประวัติการผิดนัดชำระหนี้มาก่อน ผู้ให้เครดิตอาจพิจารณาไม่อนุมัติสินเชื่อหรืออนุมัติไม่เต็มวงเงินตามที่ผูขอเครดิตร้องขอก็ได้ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่นโยบายของผู้ให้สินเชื่อแต่ละแห่ง อย่างไรก็ตาม หากเราในฐานะลูกค้าผู้ขอสินเชื่อถูกปฏิเสธการให้สินเชื่อจากธนาคารหรือสถาบันการเงิน เราก็สามารถขอตรวจการขอตรวจเครดิตบูโรของตนเองได้ โดยยื่นคำขอตรวจเครดิตบูโรได้ที่ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร ภายใน 30 วัน ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งนี้ ตามมาตรา 28 พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต พ.ศ. 2545 ครับ
วิธีการล้างเครดิตบูโรและการออกจากบัญชีดำ
ทีนี้มาดูกันต่อครับว่า ถ้าสมมติเราผัดนัดชำระหนี้ไปแล้ว จะต้องถูกขึ้นบัญชีดำ (Black list) ไปนานแค่ไหน จะสามารถล้างเครดิตบูโรได้หรือไม่ และจะต้องแก้ไขอย่างไร
โดยปกติแล้ว เมื่อมีการผิดนัดชำระหนี้ ข้อมูลในส่วนนี้จะปรากฏอยู่ในรายงานข้อมูลเครดิตในรูปแบบของรหัสตัวเลข ซึ่งตามประกาศคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลเครดิต เรื่อง รหัสสถานะบัญชี ลงวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2562 ก็ได้มีการกำหนดรหัสสถานะทางบัญชีเพื่อให้การประมวลผลข้อมูลเกิดความชัดเจนไว้หลายรหัส โดยหลัก ๆ เลขรหัสเลขที่มี 2 หลัก จะเป็นรหัสสถานะทางบัญชีของลูกค้าประเภทบุคคลธรรมดา และสาม 3 สำหรับลูกค้าประเภทนิติบุคคล โดยรหัสหลัก ๆ ที่มักพบบ่อย ได้แก่
สถานะบัญชีเครดิตที่พบเจอบ่อยๆ
10 หรือ 010 หมายถึง สถานะปกติ จ่ายตรง จ่ายครบ ไม่มีหนี้ค้าง
11 หรือ 011 หมายถึง ปิดบัญชี คนเคยค้างในอดีตจ่ายหนี้หมดแล้ว ปิดบัญชีแล้ว
12 หรือ 012 หมายถึง เคยชำระหนี้ และได้รับพักชำระหนี้ตามนโยบายรัฐ
20 หรือ 020 หมายถึง หนี้ค้างชำระเกิน 90 วัน ยังมีหนี้ค้างอยู่
นอกจากนี้ยังมีเลขรหัสที่กำหนดไว้ในประกาศฯ ดังกล่าว อีกหลายรหัส ซึ่งรายละเอียดจะมีความหมายแตกต่างกันไปครับ และธนาคารหรือสถาบันการเงินสามารถหยิบข้อมูลในส่วนนี้ไปพิจารณาประกอบการอนุมัติสินเชื่อได้
ต้องการค้นหาด้านกฎหมายใช่ไหม ? สามารถค้นหาบทความ, คำปรึกษาจริง, มาตราที่เกี่ยวข้อง คลิกที่นี่ !
3 วิธีการออกจากการเป็นบัญชีดำ ( Black List )
อย่างไรก็ดี ต้องเข้าใจในเบื้องต้นก่อนว่า บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด มีหน้าที่จัดเก็บข้อมูลต่าง ๆ เท่านั้น ไม่ได้อำนาจในการ Black list แต่อย่างใด ผู้ที่ Black list จริง ๆ คือธนาคารหรือสถาบันการเงินต่าง ๆ ที่เราไปขอสินเชื่อ ซึ่งสถาบันการเงินหรือธนาคารในแต่ละแห่ง ก็มีการกำหนดกฎเกณฑ์การ Black list ไว้แตกต่างกัน บางธนาคารอาจกำหนดไว้ที่ 6 เดือน หรือบางธนาคารอาจกำหนดไว้นานถึง 2 ปี เลยทีเดียวครับ ทั้งนี้ วิธีการแก้ไขเมื่อเราผิดนัดชำระหนี้ไปแล้ว หลัก ๆ มีอยู่ 3 ข้อ คือ
1. ชำระหนี้ให้หมด เพื่อไม่ให้มียอดค้างในระบบ
2. สร้างเครดิตขึ้นมาใหม่ หากเราชำระหนี้ที่ค้างหมดแล้ว พยายามสร้างเครดิตมาใหม่ให้ดูน่าเชื่อถือ
3. รอระยะเวลาตามที่ธนาคารหรือสถาบันการเงินผู้ให้สินเชื่อกำหนด ซึ่งเมื่อเราชำระหนี้ครบถ้วนแล้ว เราจะยังไม่สามารถยื่นขอสินเชื่อกับธนาคารได้ทันที ต้องรอให้ครบกำหนดก่อน ซึ่งธนาคารหรือสถาบันการเงินแต่ละแห่งจะมีการกำหนดระยะเวลาเพื่อพิจารณาพฤติกรรมการชำระหนี้ของเราใหม่อีกครั้งครับ
อย่างไรก็ดี ในเรื่องของข้อมูลเครดิตบูโรปัจจุบัน ยังมีข้อวิพากษ์วิจารณ์อยู่มาก เช่น ผู้ที่เคยผิดนัดชำระเงินกู้ในอดีตเมื่อนานมาแล้ว แต่ปัจจุบันก็ยังไม่สามารถกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินในระบบได้ จึงหันไปพึ่งพาการกู้ยืมนอกระบบ ซึ่งมักมีการคิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด ต้องตกอยู่ในสภาพย่ำแย่ ซึ่งพรรคการเมืองหลาย ๆ พรรค จึงมีความพยายามในการรื้อระบบการจัดเก็บข้อมูลของเครดิตบูโร เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้ที่เคยติดเครดิตบูโร สามารถกลับมามีเครดิตและขอกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินในระบบได้อีกครั้ง เพื่อให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม อีกฝ่ายหนึ่งก็มีความเห็นว่า การยกเลิกระบบเครดิตบูโร อาจทำให้ระบบเศรษฐกิจของไทยพังทลายเหมือนเช่นวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง เมื่อปี 2540 ซึ่งเป็นบทเรียนสำคัญ ดังนั้น ในการยกเลิกหรือปรับแก้ไขเครดิตบูโร จึงต้องคิดทบทวนดูให้ดีและชั่งน้ำหนักข้อดีข้อเสียให้ถี่ถ้วนก่อนดำเนินการครับ
จะเห็นได้ว่า ข้อมูลเครดิตบูโร มีความสำคัญอย่างมากในการบริหารความเสี่ยงกิจการของสถาบันการเงินและทำให้ผู้บริโภคได้รับบริการสินเชื่อที่สอดคล้องกับศักยภาพในการชำระคืนหนี้ ซึ่งมีผลต่อความมั่นคงของระบบสถาบันการเงิน และเป็นประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ และตราบใดที่ยังไม่มีการยกเลิกหรือแก้ไขกฎหมาย เราในฐานะผู้บริโภคก็ยังต้องหมั่นรักษาวินัยทางการเงิน พึงระมัดระวังในการใช้เครดิตในชีวิตประจำวันอย่างมาก เพื่อไม่ให้มีประวัติการชำระหนี้เสียปรากฏในรายงานข้อมูลเครดิตครับ
หากมีข้อสงสัยต้องการปรึกษาทนายความเพื่อหาทางออกกฎหมาย สามารถติดต่อผ่าน Legardy ได้ตลอด 24ชั่วโมงครับหรือคลิกที่นี่ได้เลย !
ปรึกษาทนายตัวจริง
สอบถามได้ทุกเรื่องราวทางกฎหมาย
"โดนโกง โดนประจาน" ปรึกษาได้ในคลิกเดียว
สมัครเป็นทนายออนไลน์
แพล็ทฟอร์มรวบรวม
งานกฎหมายจากทั่วประเทศ



