ทำอย่างไรเมื่อถูกฟ้องคดีหนี้บัตรเครดิต ?
ในยุคปัจจุบันที่อุตสาหกรรมการเงินอย่างเช่น ธนาคาร บริษัทสินเชื่อ ฯ เข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตเรามากขึ้นและมีการคิดค้นผลิตภัณฑ์ทางการเงินออกมามากมาย หนึ่งในนั้นคือสิ่งที่เรียกว่า “บัตรเครดิต” ทำให้เรามีความสะดวกสะบายในการใช้จ่าย ซื้อสินค้า ชำระค่าบรการ ถึงขนาดว่าซื้อก่อนจ่ายทีหลังได้อย่างรวดเร็วจนในบางครั้งยังไม่ทันคิดเลยว่าเมื่อซื้อไปแล้วจะมีเงินจ่ายเมื่อถึงเวลาที่ต้องชำระหนี้หรือไม่ ทำให้หลายคนติดหนี้บัตรเครดิตจนถูกฟ้องกันอยู่บ่อยครั้ง ในบทความนี้เลยอยากจะมาเล่าเกี่ยวกับแง่มุมต่างๆ ที่ทุกคนควรรู้เมื่อถูกฟ้องหนี้บัตรเครดิตให้ได้อ่านกันครับ
บัตรเครดิตคืออะไรในทางกฏหมาย?
บัตรเครดิตในทางกฏหมายมีลักษณะเป็นการกู้ยืมเงินอย่างหนึ่งโดยผุ้ให้บริการจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าหรือใช้บริการฯ ให้กับเจ้าของบัตรก่อนและมาเรียกเก็บเงินกับเจ้าของบัตรในภายหลัง โดยเงื่อนไงของการกู้ลักษณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นวงเงิน กำหนดการชำระหนี้ ดอกเบี้ยฯ ก็จะเป็นไปตามสัญญาที่ธนาคาร หรือบริษัทสินเชื่อ นั้นๆ กำหนดไว้
ต้องการค้นหาด้านกฎหมายใช่ไหม ? สามารถค้นหาบทความ, คำปรึกษาจริง, มาตราที่เกี่ยวข้อง คลิกที่นี่ !
เป็นหนี้บัตรเครดิตเท่าไหร่ถึงถูกฟ้อง?
ตามประมวลกฏหมายแพ่งและพาณิชย์ไม่ได้มีข้อกำหนดว่าการฟ้องคดีกู้ยืมต้องเป็นหนี้กู้ยืมกันจำนวนเท่าใด เพียงถึงจะฟ้องร้องดำเนินคดีได้แต่ ประมวลกฏหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 ได้วางหลักเกี่ยวกับการฟ้องคดีกู้ยืมเงินไว้ว่าหากเป็นการกู้ยืมเงินเกินกว่า 2,000 บาทจะฟ้องคดีได้ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือเท่านั้น จึงแปลความได้ว่า ไม่ว่าเป็นหนี้กันเท่าไหร่ เจ้าหนี้ก็สามารถฟ้องลูกหนี้ได้เสมอถ้ามีหลักฐานเป้นหนังสือ เพียงแต่ในทางปฏิบัติแล้ว เจ้าหนี้ก็จะดูความเหมาะสมและความคุ้มค่าของค่าดำเนินการต่าง ๆ ในการดำเนินคดีเช่นค่าทนาย ค่าทวงถามฯ ว่าคุ้มค่าที่จะฟ้องคดีหรือไม่ หากยอดหนี้น้อยจนไม่คุ้มค่าเจ้าหนี้ก็มักจะไม่ฟ้อง แต่หากคำนวนแล้วคุ้มค่าเจ้าหนี้ก็จะฟ้องนั่นเอง
ไม่มีเงินจ่ายหนี้บัตรเครดิตติดคุกหรือไม่ ?
การเป็นหนี้บัตรเครดิตเป็นความรับผิดตามสัญญากู้ยืมในทางแพ่งเกี่ยวกับหนี้เงิน ไม่ใช่ความผิดอาญา ลูกหนี้จึงมีหน้าที่ต้องชำระหนี้เงินต้นพร้อมดอกเบี้ยคืนให้กับเจ้าหนี้เท่านั้น จึงไม่มีโอกาสที่จะติดคุกซึ่งเป็นความรับผิดทางอาญาได้
คดีแพ่งร้ายแรงไหม? ถูกฟ้องต้องทำอย่างไร? หาคำตอบที่นี่ คลิกเลย !
ทำอย่าไรเมื่อถูกฟ้องหนี้บัตรเครดิต ?
สิ่งที่อยากแรกที่ควรทำและต้องทำโดยเร็วที่สุดคือศึกษาข้อกฏหมายเกี่ยวกับคดีโดยจะศึกษาเองหรือปรึษากับทนายก็ได้ เพื่อดูว่าคดีของเราเป็นอย่างไรมีทางสู้ไหมเพื่อจะได้วางแผนในการดำเนินคดีต่อไป
1.หากคดีมีทางสู้ได้
ก็ให้ดำเนินการยื่นคำให้ต่อสู้คดี และดำเนินการสืบพยาน พิจารณาคดีไปจนศาลมีคำพิพากษา หากคดีเราสามารถสู้ได้ เช่นคดีโจทก์ขาดอายุความแต่เราไม่ยื่นคำให้การก็อาจจะทำให้เราเสียสิทธิที่จะต่อสู้คดีได้ โดยอายุความของหนี้บัตรเครดิตมีอายุความ 2 ปีตาม ประมวลกฏหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 เรามาดูตัวอย่างจากคำพิพากษาฎีกากันครับ
ตัวอย่างกรณีที่คุณสามารถสู้คดีได้
1.คำพิพากษาฎีกาที่ 1261/2547
“...จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การจึงไม่มีประเด็นว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ และในเรื่องอายุความเมื่อไม่ได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ ศาลจะอ้างเอาอายุความเป็นมูลยกฟ้องไม่ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์จำเลยในข้อนี้จึงชอบแล้ว...”
2. คำพิพากษาฎีกาที่ 5484/2553
“...จำเลยเป็นสมาชิกบัตรเครดิตของโจทก์ ยอมผูกพันตามเงื่อนไขของผู้ถือบัตรตกลงให้โจทก์ทดรองจ่ายเงินอันเนื่องจากจำเลยใช้บัตรเครดิตไปชำระค่าสินค้า ค่าบริการหรือเบิกเงินสดล่วงหน้า โดยจำเลยยอมชำระคืนให้โจทก์ในภายหลัง อันเป็นการประกอบธุรกิจรับทำการงานต่างๆ แก่สมาชิก เมื่อโจทก์ชำระเงินแก่เจ้าหนี้แล้วโจทก์จะเรียกเก็บเงินจากสมาชิกในภายหลัง จึงเป็นกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจในการรับทำการงานต่าง ๆ เรียกเอาเงินที่ได้ออกทดรองไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (7) การฟ้องเรียกเงินทดรองของโจทก์จึงมีอายุความ 2 ปี เมื่อโจทก์มีหนังสือถึงจำเลยขอยกเลิกการเป็นสมาชิกบัตรเครดิตตั้งแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2547 พร้อมทั้งให้จำเลยชำระหนี้ที่เกิดจากการใช้บัตรเครดิต โจทก์ย่อมบังคับสิทธิเรียกร้องของตนได้นับแต่วันดังกล่าว ซึ่งจะครบกำหนดอายุความในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2549 แต่โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2550 หลังครบกำหนดอายุความแล้วคดีจึงขาดอายุความ...”
2.ขอผ่อนชำระกับทางเจ้าหนี้
หากเห็นว่าคดีของเราไม่มีข้อต่อสู้เลย ก็ให้ดำเนินการขอผ่อนชำระกับทางเจ้าหนี้ หากเจ้าหนี้ยินยอมก็สามารถทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับเจ้าหนี้ได้และศาลก็จะพิพากษาไปตามยอมนั้น หากไม่สามารถตกลงกันได้ศาลก็จะดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาคดีต่อไป
รู้จัก "การประนอมหนี้" ในกรณีที่จ่ายหนี้ไม่ไหว ศึกษาเพิ่มเติมคลิกที่นี่ !
หากไม่มีเงินจ่ายหนี้บัตรเครดิตตามคำพิพากษาจะเป็นอย่างไร ?
ในกรณีที่เราแพ้คดีและศาลพิพากษาให้เราชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้แล้ว หากเราไม่มีเงินชำระหนี้ตามคำพิพากษา เจ้าหนี้ก็จะดำเนินการบังคับคดีตามคำพิพากษาโดยการยึดทรัพย์ หรืออายัดสิทธิเรียกร้องของเราเช่นเงินเดือนมาชำระหนี้ตามคำพิพากษาต่อไป โดยเจ้าหนี้มีสิทธิบังคับคดียึดทรัพย์หรืออายัดสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้มาชำระหนี้ตามคำพิพากษาเป็นเวลา 10 นับแต่ศาลได้มีคำพิพากษาในชั้นที่สุด โดยอาศัยสิทธิตาม ประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 เราลองมาดูตัวอย่างกันครับ
ตัวอย่างคดีการขอผ่อนกับเจ้าหนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 6968/2559
“...มื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาตามยอมและโจทก์ประสงค์จะได้รับชำระหนี้ โจทก์ย่อมมีสิทธิร้องขอให้บังคับคดีตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในคำพิพากษา โดยนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินจำนองออกขายทอดตลาด หากได้เงินสุทธิไม่พอชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์จึงจะมีสิทธินำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยเพื่อนำออกขายทอดตลาดและนำเงินที่ขายได้สุทธิมาชำระหนี้ที่ยังค้างชำระได้ภายในสิบปีนับแต่วันถัดจากวันสุดท้ายที่จำเลยจะต้องชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามที่กำหนดในคำพิพากษาตามยอม...”
เมื่อถูกยึดทรัพย์แล้วทำอะไรได้บ้าง ?
เมื่อลูกหนี้ถูกเจ้าหนี้ยึดทรัพย์แล้ว หากเจ้าพนักงานบังคับคดียังไม่ได้ขายทอดตลาด ถ้าลูกหนี้มีกำลังที่จะผ่อนได้ในช่วงนี้ลูกหนี้สามารถเจรจาขอผ่อนชำระกับเจ้าหนี้ได้ หากเจ้าหนี้ตกลงเจ้าหนี้ก็จะดำเนินการงดการขายทอดตลาดออกไปก่อนจนกว่าจะชำระหนี้ครับถ้วน หากเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ครบถ้วนแล้วก็จะดำเนินการถอนการบังคับคดีเป็นอันจบกระบวนการทั้งหมด แต่หากลูกหนี้ผ่อนไม่ไหวอีกเจ้าหนี้ก็จะบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์สินนำเงินมาชำระหนี้ต่อไป
จะเห็นได้ว่าการเป็นหนี้บัตรเครดิตไม่ได้ร้ายแรงอย่างที่คิด หากลูกหนี้ใส่ใจตัวเอง รู้จักหาข้อมูลและได้รับคำปรึกษาที่ดี ก็มียังคงพอมีทางออกให้ลูกหนี้เสมอในทุกขั้นตอน หวังว่าบทความนี้จะสามารถเป็นคำแนะนำดีๆ ให้หลายคนที่กำลังเป็นหนี้บัตรเครดิต ไม่ว่าจะถูกฟ้องแล้วหรือยังไม่ถูกฟ้องก็ตาม และช่วยให้สามารถหาทางออกใบแบบของตัวเองได้นะครับ หากมีข้อสงสัยต้องการปรึกษาทนายความเพื่อหาทางออกกฎหมาย สามารถติดต่อผ่าน Legardy ได้ตลอด 24ชั่วโมงครับหรือคลิกที่นี่ !