ทุกเรื่องที่คุณต้องรู้เกี่ยวกับการเลิกจ้างตามกฎหมายแรงงานในประเทศไทย: สิทธิ หน้าที่ และการชดเชย

1. การเลิกจ้างตามกฎหมายแรงงาน
การเลิกจ้าง คือ การที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้าง รวมถึงกรณีที่นายจ้างไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไป
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118 วรรคสอง กำหนดไว้ว่า “การเลิกจ้างตามมาตรานี้ หมายความว่า การกระทำใดที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้างหรือเหตุอื่นใด และหมายความรวมถึงกรณีที่ลูกจ้างไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้างเพราะเหตุที่นายจ้างไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไป”
สรุป การเลิกจ้าง คือ นายจ้างแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาจ้างแรงงาน ซึ่งอาจจะเป็นการแสดงเจตนาเลิกจ้างโดยตรง หรือมีการกระทำใดๆ ที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไป และไม่จ่ายค่าจ้างให้ และรวมถึงกรณีที่ลูกจ้างไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้างเพราะเหตุที่นายจ้างไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ การเลิกจ้างแบ่งตามลักษณะการเลิกจ้างเป็น 2 กรณี คือ กรณีที่นายจ้างมีเจตนาเลิกจ้าง และ กรณีที่ถือว่าเป็นการเลิกจ้าง
ถูกไล่ออกหรือลาออกเอง มาดูความหมายทางกฎหมายกันครับ คลิกเลย !
1.1 ตัวอย่างกรณีที่นายจ้างมีเจตนาเลิกจ้าง
พฤติการณ์เลิกจ้าง ข้อความบทสนทนาที่นางสาว พ. กรรมการผู้จัดการจำเลยพูดกับโจทก์ที่ 1 และที่ 2 มีข้อความบางตอนว่า “ไม่ต้องมาเม้นท์มาโพสต์หรอกค่ะ ถามตรงๆ คนอย่างพี่ ตรงไปตรงมา พวกคุณประจานใคร ไม่ใช่ประจานบริษัท ประจานตัวเอง นึกถึงแต่ แค่ประกันสังคมห้าสิบบาทร้อยนึง แต่วันนี้คงทำงานด้วยกันลำบากเนอะ ถ้าคนที่เม้นท์ เป็นเพื่อน A พี่ว่าทำงานด้วยกันต่อไปไม่ได้หรอกค่ะ พี่ไม่ได้เชิญออกรู้ใหม่ด้วย พี่ไล่ออก ในฐานะที่คุณไม่ให้ความเคารพผู้บังคับบัญชา พี่มีสิทธิไล่ออกในฐานะผู้ถือหุ้นเจ้าของบริษัท พี่เห็น A ลงอะไรปุ๊บ ไม่ B ก็ C เม้นท์กันใหญ่ มีความสุข สนุก พี่ไม่ติดอะไรไม่เชิญใครออก ใบลาออกอยู่ตรงนั้น ไล่ออกเลยค่ะ ข้อความดังกล่าวมีความหมายชัดเจนเพียงพอ แปลความหมายได้แล้วว่านางสาว พ. กรรมการผู้จัดการไล่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นลูกจ้างออกจากงาน อ้างอิงจากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3866-3867/2561
"หากโดนไล่ออก ลูกจ้างมีสิทธิได้รับการชดเชยอะไรบ้าง" คำตอบได้ที่นี่ คลิก !
1.2 ตัวอย่างกรณีที่ถือว่าเป็นการเลิกจ้าง
ลูกจ้างต่างด้าวถูกนายจ้างและผู้บังคับบัญชาเรียกไปในห้อง และให้เขียนใบลาออกมิฉะนั้นจะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมายไทย โดยลูกจ้างมิได้สมัครใจอย่างแท้จริง พฤติการณ์เป็น “การเลิกจ้างโดยปริยาย” และเป็นการกระทำละเมิดต่อลูกจ้าง นายจ้างต้องร่วมรับผิดในการกระทำละเมิดร่วมกับผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายห้องพักชดใช้ค่าเสียหายในมูลละเมิด 100,000 บาทและจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 550,000 บาท (10 เดือน) อ้างอิงจากคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 841/2562
2. การเลิกจ้างบอกกล่าวล่วงหน้ากี่วัน และต้องบอกกล่าวล่วงหน้าอย่างไร
การเลิกจ้างในกรณีที่สัญญาจ้างไม่มีกำหนดระยะเวลา นายจ้างต้องบอกกล่าวล่วงหน้าก่อนวันจ่ายค่าจ้าง หรือวันจ่ายค่าจ้างไม่เกินสามเดือน
การเลิกจ้างในกรณีที่มีสัญญาจ้างมีกำหนดเวลาจ้างแน่นอน สัญญาย่อมสิ้นสุดเมื่อครบกำหนดระยะเวลาในสัญญาจ้างโดยมิต้องบอกกล่าวล่วงหน้า
การเลิกจ้างในกรณีที่สัญญาจ้างไม่มีกำหนดระยะเวลา พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17 วรรคสอง กำหนดไว้ว่า “ในกรณีที่สัญญาจ้างไม่มีกำหนดระยะเวลา นายจ้างหรือลูกจ้างอาจบอกเลิกสัญญาจ้าง โดยบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวหนึ่งคราวใด เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้าก็ได้ แต่ไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเกินสามเดือน ทั้งนี้ ให้ถือว่าสัญญาจ้างทดลองงานเป็นสัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาด้วย”
สรุป: สัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลา นายจ้างต้องบอกกล่าวล่วงหน้าก่อนวันจ่ายค่าจ้าง (ก่อนวันเงินเดือนออก) หรือวันจ่ายค่าจ้าง รอจนถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไป เมื่อจ่ายค่าจ้างตามระยะเวลาดังกล่าว ถือว่านายจ้างได้บอกกล่าวล่วงหน้าก่อนเลิกจ้างตามกฎหมายแล้ว
ยกตัวอย่าง: คดีนี้นายจ้างได้จ้างลูกจ้างเข้าทำงาน โดยไม่มีกำหนดระยะเวลา นายจ้างกำหนดจ่ายค่าจ้างทุกสิ้นเดือน นายจ้างจะบอกเลิกสัญญาจ้าง โดยอาจบอกเลิกสัญญาจ้างเป็นหนังสือให้ลูกจ้างทราบในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวหนึ่งคราวใดเพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้า นายจ้างบอกเลิกสัญญาจ้างในวันที่ 1 ธันวาคม 2549 ซึ่งเป็นการบอกกล่าวเลิกสัญญาจ้างก่อนวันที่ 31 ธันวาคม 2549 ซึ่งเป็นวันถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้า ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่ลูกจ้างจนถึงวันที่ 31 มกราคม 2550 จึงชอบแล้ว (อ้างอิงตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4705/2557)
ทั้งนี้ถ้านายจ้างบอกกล่าวเลิกจ้างให้ลูกจ้างทราบก่อนวันสิ้นเดือน (ซึ่งมีการจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน) เช่น นายจ้างบอกกล่าวเลิกจ้างล่วงหน้าในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2550 มีผลเป็นผลเลิกสัญญาจ้างเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้าคือวันที่ 31 ธันวาคม 2550 ถือว่านายจ้างบอกกล่าเลิกจ้างโดยชอบตามกฎหมายแล้ว นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่ลูกจ้าง
สรุป: กฎหมายไม่ได้กำหนดระยะเวลาในการบอกกล่าวไว้แน่นอน ความเข้าใจหรือข้อปฏิบัติว่านายจ้างหรือลูกจ้างต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเวลา 1 เดือน หรือ 3 เดือน จึงไม่ถูกต้อง การบอกเลิกจ้างให้ยึดถือกำหนด (วันที่) จ่ายค่าจ้างระหว่างนายจ้างและลูกจ้างตามที่นายจ้างระบุไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเป็นหลัก เช่น นายจ้างจ่ายค่าจ้างเป็น (เงินเดือน) ให้แก่ลูกจ้างทุกวันที่ 1 ของเดือน เป็นต้น การเลิกจ้างต้องบอกกล่าวล่วงหน้าในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวหนึ่งคราวใดเพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้า ไม่จำเป็นต้องบอกกล่าวล่วงหน้าถึง 3 เดือน
ดูบทความเกี่ยวกับการเลิกจ้าง, คำปรึกษาจริงเรื่องการเลิกจ้างพร้อมคำตอบจากทนายความ, มาตรากฎหมายที่เกี่ยวข้อง ได้ที่นี่ !
3. ค่าชดเชยจากการเลิกจ้าง
ค่าชดเชยจากการเลิกจ้างจะขึ้นอยู่กับอายุงานของลูกจ้าง โดยมีการกำหนดอัตราค่าชดเชยตามระยะเวลาการทำงาน
การเลิกจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยกี่เดือน
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 5 กำหนดไว้ว่า “ค่าชดเชย หมายความว่า เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง นอกเหนือจากเงินประเภทอื่นซึ่งนายจ้างตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้าง” และพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118 วรรคหนึ่ง กำหนดไว้ว่า ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้าง ดังต่อไปนี้
3.1 ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงาน 30 วันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
3.2 ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงาน 90 วันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
3.3 ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงาน 180 วันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
3.4 ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 240 วัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงาน 240 วันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
3.5 ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 10 ปี แต่ไม่ครบ 20 ปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงาน 300 วันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
3.6 ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 20 ปีขึ้นไป ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 400 วัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงาน 400 วันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
หมายความว่า: ลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันไม่ครบ 120 วัน เมื่อเลิกจ้างนายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้าง ดังนั้น การเลิกจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยกี่วันกี่เดือน ขึ้นอยู่กับอายุงานของลูกจ้างตามที่กล่าวมาข้างต้น
ทำความรู้จักกับ "เงินชดเชยเลิกจ้าง" ให้มากขึ้น อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่ !
4. การเลิกจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119
หากลูกจ้างกระทำความผิดตามมาตรา 119 (1) - (6) นายจ้างมีสิทธิเลิกจ้างลูกจ้างได้ทันที โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้าง
กำหนดไว้ว่า “นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างในกรณีหนึ่งกรณีใด ดังต่อไปนี้
4.1 ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนา แก่นายจ้าง คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8017/2560 ได้วินิจฉัยว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย ตำแหน่งหัวหน้างานบริหารส่วนกลางพนักงานมีหน้าที่ดูแลรถยนต์ของจำเลยด้วย โจทก์นำรถยนต์ของจำเลยไปใช้โดยมีเจตนารถยนต์ของจำเลยไปใช้ส่วนตัวจริง โดยไม่ขออนุญาต เมื่อการเบิกจ่ายค่าแก๊สจากจำเลยนั้นเป็นไปเพื่อประโยชน์ของโจทก์ทั้งสิ้น ดังนั้น การที่โจทก์เบิกค่าแก๊สจากจำเลย โดยรู้อยู่แล้วว่าไม่มีสิทธิเบิกค่าแก๊สคืนจากจำเลยนั้น จึงถือว่าเป็นการทุจริตต่อหน้าที่อันเป็นการผิดวินัยร้ายแรงตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานแล้ว ซึ่งจำเลยมีอำนาจลงโทษโจทก์โดยการไล่ออกจากการเป็นพนักงานได้
4.2 จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 770-775/2560 ได้วินิจฉัยว่า ลูกจ้างหยุดงานด้วยการ “ลาป่วยพร้อมกัน” พร้อมขอใบรับรองแพทย์เพื่อกดดันให้จำเลยขึ้นเงินเดือนและโบนัสตามหนังสือเวียน พฤติการณ์เป็นการจงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย นายจ้างจึงชอบที่จะเลิกจ้างได้
4.3 ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4433/2550 ได้วินิจฉัยว่า การที่โจทก์ไม่ดำเนินการให้เจ้าหน้าที่การเงินส่งเช็คที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายให้โจทก์เพื่อไปทวงถามหรือรายงานให้โจทก์ทราบ ถือได้ว่าเป็นความบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ และฝ่าฝืนต่อระเบียบข้อบังคับของจำเลย โจทก์ในฐานะผู้จัดการขายย่อมสามารถสั่งให้ระงับการขายสินค้า แต่โจทก์กลับไม่กระทำตามอำนาจหน้าที่ การกระทำของโจทก์ ถือได้ว่าประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง และฝ่าฝืนระเบียบของนายจ้างอย่างร้ายแรง
4.4 ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรง นายจ้างไม่จำเป็นต้องตักเตือน หนังสือเตือนให้มีผลบังคับได้ไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ลูกจ้างได้กระทำผิด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 535/2560 ได้วินิจฉัยว่า นายจ้างประกอบกิจการธนาคาร ลูกจ้างทำหน้าที่ผู้บริหารเงินสด ได้นำเงินสด 50,000 บาท ที่อยู่ในความรับผิดชอบออกไปจากที่ทำการสาขาโดยไม่มีอำนาจ เป็นการฝ่าฝืนระเบียบเกี่ยวกับการเงิน เป็นความผิดร้ายแรง
4.5 ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกัน ไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตาม โดยไม่มีเหตุอันสมควร คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1975-1976/2560 ได้วินิจฉัยว่า ลูกจ้างทำงานที่คลังสินค้าฉะเชิงเทรา นายจ้างมีคำสั่งย้ายลูกจ้างไปทำงานที่คลังสินค้า จังหวัดสมุทรปราการ ลูกจ้างเพิกเฉย นายจ้างออกหนังสือเตือน ต่อมานายจ้างมีคำสั่งย้ายอีกครั้ง แต่ลูกจ้างเพิกเฉย จึงเป็นการผิดซ้ำคำเตือนและละทิ้งหน้าที่ 3 วันทำงานติดต่อกัน
4.6 ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษา ถึงที่สุดให้จำคุก คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2909/2524 ได้วินิจฉัยไว้ว่า ข้อยกเว้นซึ่งนายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างที่ได้รับโทษตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก หมายถึง ได้รับโทษตามคำพิพากษาของศาลให้จำคุกคดีถึงที่สุดขณะที่เป็นลูกจ้างหาใช่ได้รับโทษและพ้นโทษมาแล้ว จึงมาเป็นลูกจ้างไม่ ส่วนคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกนั้นจะเป็นคำพิพากษาของศาลชั้นใดก็ได้ และลูกจ้างก็ได้รับโทษจำคุกนั้นในขณะที่เป็นลูกจ้างของนายจ้าง
ในกรณี (6) ถ้าเป็นความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษต้องเป็นกรณีที่เป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหาย (หมายความว่าการประมาทของลูกจ้างทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายเช่น พนักงานขับรถ ขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด เป็นเหตุให้รถยนต์ของนายจ้างได้รับความเสียหาย เป็นความผิดฐานประมาทเป็นเหตุให้ทรัพย์สินเสียหาย กรณีดังกล่าวแม้จะเป็นความผิดฐานประมาท แต่ก็ทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายแล้ว นายจ้างเลิกจ้างได้ โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย
สรุป: หากลูกจ้างกระทำความผิดตามมาตรา 119 (1) - (6) นายจ้างมีสิทธิเลิกจ้างลูกจ้างได้ทันที โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้าง และลูกจ้างยังไม่มีสิทธิได้รับเงินสิทธิประโยชน์ทดแทน กรณีว่างงานจากกองทุนประกันสังคมด้วย
อ่านคำปรึกษาจริงและคำตอบจากทนายความผู้เชี่ยวชาญเรื่อง "เลิกจ้าง" ได้ที่นี่
Q: โดนบอกเลิกจ้างล่วงหน้า 1 เดือนโดยไม่ได้รับเงินชดเชย
Q: เลิกจ้างโดยไม่ได้รับความเป็นธรรม
Q: นายจ้างจะเลิกจ้าง เรียกค่าชดเชยได้ไหมคะ
5. การนับอายุงานอย่างไร
การนับอายุงานจะนับรวมระยะเวลาของทุกสัญญาจ้างเข้าด้วยกันเพื่อคำนวณค่าชดเชย
การเลิกจ้าง ไม่ว่าลูกจ้างจะมีการต่อสัญญาหลายฉบับให้นับอายุความแต่ละฉบับเข้าด้วยกัน
ยกตัวอย่าง: นายจ้างทำสัญญาจ้างลูกจ้างเป็นวิศวกรควบคุมงานก่อสร้างโครงการ รวม 2 ฉบับ เมื่อครบกำหนดแล้ว ไม่ได้จ้างทำงานต่อ ถือเป็นการเลิกจ้างตามความหมายของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118 วรรคสองแล้ว แม้สัญญาฉบับแรกและฉบับที่ 2 จะเป็นการจ้างให้ทำงานในโครงการต่างกัน แต่สัญญาทั้งสองฉบับมีลักษณะงานเดียวกันและมีความต่อเนื่องเกี่ยวพันกัน จึงนับระยะเวลาตามสัญญาจ้างทั้งสองฉบับเพื่อคำนวณค่าชดเชย คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3866-3867/2561
6. เมื่อลูกจ้างถูกเลิกจ้าง ประกันสังคมจ่ายให้ลูกจ้างเท่าไร
เมื่อลูกจ้างถูกเลิกจ้าง ประกันสังคมจ่ายให้ลูกจ้างจำนวน 70% ของค่าจ้าง ไม่เกิน 200 วัน
ลูกจ้างเป็นผู้ประกันตน ม.33 จะต้องเป็นลูกจ้างที่มีเงินเดือนที่ทำงานตามบริษัทเอกชน หรือพนักงานประจำที่มีนายจ้าง โดยนายจ้างจะเป็นผู้แจ้งขึ้นทะเบียนต่อสำนักงานประกันสังคมให้ลูกจ้าง
- ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้ว 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนว่างงาน
- ลูกจ้างว่างงานตั้งแต่ 8 วันขึ้นไป
- ลูกจ้างได้ขึ้นทะเบียนว่างงานผ่านเว็บไซต์กรมการจัดหางาน ภายใน 30 วัน เพื่อไม่ให้เสียสิทธิในการรับเงินทดแทน
- รายงานตัวออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ของกรมการจัดหางาน เดือนละ 1 ครั้ง
- ลูกจ้างต้องไม่ถูกเลิกจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119
- ไม่เป็นผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ
- ไม่เป็นผู้ประกันตนโดยสมัครใจตามมาตรา 39
กรณีถูกเลิกจ้าง: (ต้องไม่ถูกเลิกจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119) ลูกจ้างจะได้รับเงินสิทธิประโยชน์ทดแทน กรณีว่างงาน จากกองทุนประกันสังคม ต้องมีคุณสมบัติตามข้อ 1 ถึง ข้อ 8. โดยกองทุนประกันสังคมจะจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างที่ถูกนายจ้างเลิกจ้างดังกล่าวจำนวน 70% ของค่าจ้าง ไม่เกิน 200 วัน
ดังนั้น: เมื่อลูกจ้างถูกเลิกจ้าง ประกันสังคมจ่ายให้ลูกจ้างจำนวน 70% ของค่าจ้าง ไม่เกิน 200 วัน
ตามกฎหมายแล้วการทำงานล่วงเวลาหรือ OT ต้องจ่ายเงินอย่างไร ร่วมหาคำตอบกันที่นี่ !
7. เลิกจ้าง อายุงาน
อายุงาน หมายถึง ระยะเวลาที่ลูกจ้างทำงานให้กับนายจ้างโดยไม่ถูกขัดจังหวะจากการเลิกจ้างหรือสัญญาจ้างที่หมดอายุ
อายุงาน หมายถึง ระยะเวลาที่ลูกจ้างทำงานให้กับนายจ้างโดยไม่ถูกขัดจังหวะจากการเลิกจ้างหรือสัญญาจ้างที่หมดอายุ เมื่อมีการเลิกจ้าง อายุงานของลูกจ้างจะถูกนำมาคำนวณค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน
8. เลิกจ้าง บอกกล่าวล่วงหน้า
ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17 วรรคสอง นายจ้างต้องบอกกล่าวล่วงหน้าก่อนวันจ่ายค่าจ้าง หรือวันจ่ายค่าจ้างรอจนถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไป
ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17 วรรคสอง นายจ้างต้องบอกกล่าวล่วงหน้าก่อนวันจ่ายค่าจ้าง หรือวันจ่ายค่าจ้างรอจนถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไป การบอกกล่าวล่วงหน้าต้องเป็นหนังสือให้อีกฝ่ายทราบเพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไป
หากถูกเลิกจ้าง นายจ้างต้องบอกล่วงหน้าอย่างน้อยกี่วัน และจได้ชดเชยอะไรบ้าง อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่ !
9. เลิกจ้าง ชดเชยกี่เดือน
จำนวนเดือนของค่าชดเชยที่นายจ้างต้องจ่ายขึ้นอยู่กับอายุงานของลูกจ้างตามที่พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานกำหนดไว้
จำนวนเดือนของค่าชดเชยที่นายจ้างต้องจ่ายขึ้นอยู่กับอายุงานของลูกจ้างตามที่พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานกำหนดไว้ ลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันไม่ครบ 120 วัน นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย แต่ถ้าอายุงานมากขึ้น ค่าชดเชยจะเพิ่มขึ้นตามระยะเวลาที่ทำงาน
ที่มา: (ที่มาจากเว็บไซต์กรมประชาสัมพันธ์ https://www.prd.go.th/th/content/category/detail/id/31/iid/284797)
กำลังทุกข์ใจเรื่องกฎหมายแรงงานอยู่ใช่ไหม ทนายกว่า 500คนบน Legardy พร้อมให้คำปรึกษาและช่วยเหลือคุณ คลิกเลย !
ปรึกษาทนายตัวจริง
สอบถามได้ทุกเรื่องราวทางกฎหมาย
"โดนโกง โดนประจาน" ปรึกษาได้ในคลิกเดียว
สมัครเป็นทนายออนไลน์
แพล็ทฟอร์มรวบรวม
งานกฎหมายจากทั่วประเทศ



