การหมั้นที่ถูกต้องตามกฎหมาย
การหมั้นคืออะไร ?
การหมั้น หมายถึง การที่ชายและหญิงทำสัญญาต่อกันว่าจะสมรสและอยู่กินกันฉันสามีภริยาต่อไป ซึ่งหากเปรียบการสมรสเป็นการทำสัญญาซื้อขาย การหมั้นอาจเปรียบได้ว่าเป็นการทำสัญญาจะซื้อจะขายหรือวางมัดจำไว้ แต่มีข้อแตกต่างกันคือ การหมั้นไม่เป็นเหตุให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งร้องขอให้ศาลบังคับให้สมรสได้ และหากมีข้อตกลงให้มีเบี้ยปรับหากมีการผิดสัญญาหมั้น ข้อตกลงนั้นย่อมตกเป็นโมฆะ (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1438) (เทียบคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 137/2481) นอกจากนี้กฎหมายไม่ได้บังคับว่าการที่ชายหญิงจะสมรสกันได้นั้นต้องมีการหมั้นก่อน ดังนั้น ชายหญิงอาจสมรสกันได้ทันทีโดยไม่มีการหมั้นก่อนก็ได้
รู้ไว้ก่อน ! จดทะเบียนสมรสต้องเตรียมตัวอย่างไร ฟังคำแนะนำจากทนายตัวจริง! คลิกเลย
เงื่อนไขการหมั้นตามกฎหมาย
1. การหมั้นจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุ 17 ปีบริบูรณ์แล้ว หากฝ่าฝืนย่อมตกเป็นโมฆะ (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1435)
2. ผู้เยาว์จะทำการหมั้นได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอมจากบุคคลดังต่อไปนี้ (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1436) [หมายเหตุ : คำว่า “ผู้เยาว์” หมายถึง บุคคลที่อายุไม่ถึง 20 ปีบริบูรณ์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 19]
(1) บิดาและมารดา ในกรณีที่มีทั้งบิดามารดา
(2) บิดาหรือมารดา ในกรณีที่มารดาหรือบิดาตาย หรือถูกถอนอำนาจปกครอง หรือไม่อยู่ในสภาพหรือฐานะที่อาจให้ความยินยอม หรือโดยพฤติการณ์ผู้เยาว์ไม่อาจขอความยินยอมจากมารดาหรือบิดาได้
(3) ผู้รับบุตรบุญธรรม ในกรณีที่ผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรม
(4) ผู้ปกครอง ในกรณีที่ไม่มีบุคคลซึ่งอาจให้ความยินยอมตาม (1) (2) และ (3) หรือมีแต่บุคคลดังกล่าวถูกถอนอำนาจปกครอง
หลังจากจดทะเบียนสมรสแล้ว สินสมรสและสินส่วนตัวคืออะไร? บทความนี้มีคำตอบ คลิกเลย!
ผู้เยาว์ทำหมั้นโดยไม่ปรึกษาผู้ปกครองได้ไหม ?
หากผู้เยาว์ทำการหมั้นโดยปราศจากความยินยอมของบุคคลดังกล่าวนั้น ส่งผลให้การหมั้นตกเป็นโมฆียะ
การหมั้นต้องมี "ของหมั้น" และ "สินสอด"
1. ของหมั้น
ของหมั้น คือ ทรัพย์สินที่ฝ่ายชายได้ส่งมอบหรือโอนให้แก่หญิงในงานหมั้น เพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1437 วรรคหนึ่ง) และเมื่อมีการหมั้นแล้ว ของหมั้นนั้นย่อมตกเป็นสิทธิแก่หญิง (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1437 วรรคสอง) นอกจากนี้ ในทางกฎหมายของหมั้นย่อมถือเป็นสินส่วนตัวของหญิงนั้น (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1471(4))
คำปรึกษาจริงเรื่อง "หมั้น" พร้อมคำตอบจากทนายความ อ่านได้ที่นี่
Q: ยกเลิกการหมั้นได้ไหม? (คลิกเลย)
Q: หมั้นแล้วไม่แต่งได้มั้ยคะ (คลิกเลย)
Q: ของหมั้นถ้าฝ่ายชายรับปากจะให้แต่ยังไม่ได้ให้ผ่านมาหลายปี ฟ้องได้ไหมคะ (คลิกเลย)
2. สินสอด
สินสอด คือ ทรัพย์สินที่ฝ่ายชาย ให้แก่บิดามารดา ผู้รับบุตรบุญธรรมหรือผู้ปกครองฝ่ายหญิง แล้วแต่กรณี เพื่อตอบแทนในการที่หญิงยอมสมรส แต่หากไม่มีการสมรสเพราะมีเหตุสำคัญอันเกิดแก่หญิงหรือมีพฤติการณ์ซึ่งฝ่ายหญิงต้องรับผิดชอบ ทำให้ชายไม่สมควรหรือไม่อาจสมรสกับหญิงนั้น ฝ่ายชายเรียกสินสอดคืนได้ (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1437 วรรคสาม)
จะเห็นได้ว่าทั้งของหมั้นและสินสอดนั้น เป็นทรัพย์สินที่ให้แก่กัน โดยชายและหญิงมีเจตนาที่จะไปจดทะเบียนสมรสกันต่อไป หากชายและหญิงไม่มีเจตนาที่จะไปจดทะเบียนสมรสกัน ทรัพย์สินที่ให้แก่กันนั้น ย่อมไม่เป็นสินสอดและของหมั้นตามกฎหมาย (เทียบคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2886/2555)
หมั้นแล้วไม่แต่งทำได้ไหม? อ่านคำตอบจากทนายได้ที่นี่ คลิกเลย!
กรณีผิดสัญญาหมั้น
เมื่อมีการหมั้นแล้ว ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดสัญญาหมั้น อีกฝ่ายมีสิทธิเรียกให้รับผิดใช้ค่าทดแทน ในกรณีที่ฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้นให้คืนของหมั้นแก่ฝ่ายชายด้วย (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1439)
สำหรับค่าทดแทนที่อาจเรียกต่อกันได้นั้น ได้มีการกำหนดไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1440 ดังนี้
1) ทดแทนความเสียหายต่อกายหรือชื่อเสียง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5777/2540 ได้วางหลักไว้ว่า “การที่ชายหญิงอยู่ด้วยกันหลังหมั้น ย่อมเกิดความเสียหายแก่กายและชื่อเสียงของหญิง ในการที่จะทำการสมรสใหม่ หญิงจึงมีสิทธิ์เรียกค่าทดแทนจากชายได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1440(1)”
2) ทดแทนความเสียหายเนื่องจากการที่คู่หมั้น บิดามารดาหรือบุคคลผู้กระทำการฐานะเช่นบิดามารดาได้ใช้จ่ายหรือต้องตกเป็นลูกหนี้เนื่องจากในการเตรียมการสมรสโดยสุจริตตามสมควร เช่น ค่าใช้จ่ายที่เสียไปในการจัดงานแต่งงาน ค่าเลี้ยงดูแขก (เทียบคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2165/2538)
3) ทดแทนความเสียหายเนื่องจากการที่คู่หมั้นได้จัดการทรัพย์สินหรือการอื่นอันเกี่ยวแก่อาชีพหรือทางทำมาหาได้ของตนไปโดยสมควรด้วยการคาดหมายว่าจะได้มีการสมรส เช่น ในกรณีที่หลังจากหมั้นกัน เป็นเหตุให้ฝ่ายหนึ่งต้องลาออกจากงานที่ตนทำอยู่ (เทียบคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3366/2525)
ปรึกษาทนายความฟรีตลอด 24ชั่วโมง และไม่ระบุตัวตนผู้ถาม ได้ที่นี่ คลิกเลย!
การบอกเลิกสัญญาหมั้น
1. กรณีมีเหตุสำคัญอันเกิดแก่หญิงคู่หมั้น ทำให้ชายไม่สมควรสมรสกับหญิงนั้น ชายมีสิทธิบอกเลิกสัญญาหมั้นได้และให้หญิงคืนของหมั้นแก่ชาย (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1442)
2. กรณีมีเหตุสำคัญอันเกิดแก่ชายคู่หมั้น ทำให้หญิงไม่สมควรสมรสกับชายนั้น หญิงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาหมั้นได้โดยไม่ต้องคืนของหมั้นแก่ชาย (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1443)
3. ภายหลังการหมั้นคู่หมั้นฝ่ายหนึ่งกระทำชั่วอย่างร้ายแรง อีกฝ่ายบอกเลิกสัญญาหมั้นได้ และคู่หมั้นที่กระทำชั่วอย่างร้ายแรงนั้นต้องรับผิดชดใช้ค่าทดแทนแก่คู่หมั้นที่ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาหมั้น (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1444)