ลิขสิทธิ์คืออะไร ทำอย่างไรถึงจะเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์
ลิขสิทธิ์ คือ สิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่จะกระทำการใด ๆ เกี่ยวกับงานที่ผู้สร้างสรรค์ได้สร้างสรรค์ขึ้นโดยการใช้สติปัญญาความรู้ ความสามารถ และความวิริยะอุตสาหะของตนเอง โดยไม่ลอกเลียนงานของผู้อื่น และเป็นงานตามประเภทที่กฎหมายลิขสิทธิ์ให้คุ้มครอง โดยผู้สร้างสรรค์จะได้รับความคุ้มครองทันทีที่สร้างสรรค์งานขึ้นโดยไม่ต้องนำงานที่สร้างสรรค์ไปจดทะเบียนแต่อย่างใด
โดยคำว่า “ผู้สร้างสรรค์” นั้น พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ มาตรา 4 ได้ให้ความหมายไว้ว่า ผู้ทำหรือก่อให้เกิดงานสร้างสรรค์อย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ (พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฯ) เช่น ผู้ที่เขียนหนังสือ ผู้ที่วาดภาพ ผู้แต่งเพลง ผู้ถ่ายภาพ เป็นต้น
หลักเกณฑ์ของการเป็นผู้สร้างสรรค์ มีดังนี้
1. มีการแสดงออกซึ่งงานโดยวิธีหรือรูปแบบอย่างใดอย่างหนึ่ง
2. เป็นงานที่เกิดจากความคิดริเริ่มของผู้สร้างสรรค์เอง แต่ไม่จำเป็นต้องสร้างสรรค์งานขึ้นใหม่ อาจซ้ำหรือคล้ายกับผลงานของผู้อื่นได้ แต่ต้องไม่ใช่งานที่เกิดจากการทำซ้ำหรือดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต (เทียบคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14580/2557)
3. สร้างสรรค์งานด้วยความวิริยะอุตสาหะ กล่าวคือ ไม่ใช่งานที่เกิดขึ้นโดยความบังเอิญ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14580/2557
งานที่จะมีลิขสิทธิ์ได้นั้นต้องเป็นงานสร้างสรรค์ซึ่งผู้สร้างสรรค์ได้ทำหรือก่อให้เกิดขึ้นด้วยการริเริ่มของตนเองโดยใช้ความรู้ความสามารถและความวิริยะอุตสาหะ จนทำให้งานนั้นสำเร็จจนถึงขนาดที่เรียกได้ว่าเป็นงานสร้างสรรค์โดยไม่ได้ทำซ้ำหรือดัดแปลงจากงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต
ลายผ้าของโจทก์ร่วมเป็นเพียงการนำลายโบราณมาปรับเปลี่ยนขนาดและเพิ่มเติมรายละเอียดของลายเพียงเล็กน้อยเพื่อให้ได้จำนวนลายที่สมบูรณ์บนผ้าและเหมาะกับเครื่องทอผ้า โดยยังคงเค้าโครงหลักของลายโบราณ เป็นเพียงงานคลี่คลายลายโบราณ แต่ไม่ได้ใช้ความสามารถและจินตนาการของตนผูกลายเพิ่มขึ้นมาใหม่ในส่วนอันเป็นสาระสำคัญ การที่โจทก์ร่วมเพียงแต่นำรูปแบบลายผ้ามาเลียนหรือประกอบเข้าด้วยกันแล้วเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมลายโบราณในส่วนของรายละเอียดเพียงเล็กน้อยมีลักษณะเป็นการคัดลอกหรือเลียนแบบหรือทำซ้ำซึ่งลวดลายของผ้าที่มีมาแต่โบราณซึ่งตกเป็นงานสาธารณะแล้วเท่านั้น ไม่ได้ทำหรือก่อให้เกิดงานโดยเปลี่ยนรูปใหม่หรือปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมในส่วนอันเป็นสาระสำคัญ งานดังกล่าวจึงไม่ใช่งานดัดแปลงงานที่มีมาแต่โบราณซึ่งตกเป็นงานสาธารณะแล้วถึงขนาดที่เรียกได้ว่าเป็นงานสร้างสรรค์ประเภทงานศิลปประยุกต์อันจะถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4 และมาตรา 6
9 ประเภทของงานสร้างสรรค์ที่ได้รับ "ลิขสิทธิ์"
สำหรับงานสร้างสรรค์ที่จะได้รับความคุ้มครองนั้น กฎหมายได้กำหนดงานสร้างสรรค์ที่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์
ทั้งหมด 9 ประเภท ดังนี้ (พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 4)
1. งานวรรณกรรม เช่น หนังสือ สิ่งเขียน สิ่งพิมพ์ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ เป็นต้น
2. งานนาฏกรรม เช่น การรำ การเต้น การทำท่า หรือการแสดงประกอบขึ้นเป็นเรื่องราว เป็นต้น
3. งานศิลปกรรม เช่น งานจิตรกรรม งานประติมากรรม งานภาพพิมพ์ งานสถาปัตยกรรม งานภาพถ่าย งานภาพประกอบ งานศิลปประยุกต์
4. งานดนตรีกรรม เช่น งานเกี่ยวกับเพลงไม่ว่าจะมีทำนองและคำร้อง หรือทำนองอย่างเดียว โน้ตเพลง เป็นต้น
5. งานโสตทัศนวัสดุ เช่น วีดีโอเทป วีซีดี ดีวีดี เป็นต้น
6. งานภาพยนตร์
7. สิ่งบันทึกเสียง
8. งานแพร่เสียงแพร่ภาพ เช่น การกระจายเสียงวิทยุ การแพร่เสียง หรือภาพทางโทรทัศน์
9. งานอื่นในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ แผนกศิลปะ
ต้องการค้นหาด้านกฎหมายใช่ไหม ? สามารถค้นหาบทความ, คำปรึกษาจริง, มาตราที่เกี่ยวข้อง คลิกที่นี่ !
5 ประเภทงานไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์
แต่อย่างไรก็ตามก็มีงานบางประเภทที่กฎหมายไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ โดยกำหนดประเภทของงานไว้ในพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 7 ดังนี้
1. ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสารอันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
2. รัฐธรรมนูญและกฎหมาย
3. ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
4. คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
5. คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตามข้อ 1 – 4 ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่นจัดทำขึ้น
ถึงแม้ว่างานดังกล่าวข้างต้นจะถือเป็นงานอันไม่มีลิขสิทธิ์ แต่หากเพียงนำงานดังกล่าวมาใช้เป็นข้อมูลในการสร้างสรรค์งานอื่น งานที่ทำขึ้นนั้นก็อาจเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ได้ เช่น การนำข้อมูลข่าวสารมาวิเคราะห์ (เทียบคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8313/2561)
3 กรณีที่ผู้สร้างสรรค์งานอาจไม่ได้มีลิขสิทธิ์
โดยปกติผู้ใดสร้างสรรค์งานขึ้น งานนั้นย่อมตกเป็นลิขสิทธิ์ของผู้สร้างสรรค์ แต่ก็มีบางกรณีที่ผู้สร้างสรรค์งานอาจไม่ได้มีลิขสิทธิ์ในผลงานนั้น เช่น
1. งานที่ลูกจ้างหรือพนักงานทำขึ้น โดยปกติลิขสิทธิ์ย่อมตกแก่ลูกจ้างหรือพนักงานนั้น เพราะถือเป็นผู้สร้างสรรค์ เว้นแต่นายจ้างจะได้ทำหนังสือตกลงกับลูกจ้างว่าให้งานที่ลูกจ้างทำขึ้นนั้นตกเป็นลิขสิทธิ์ของนายจ้าง (พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 9)
2. กรณีงานรับจ้าง เช่น จ้างวาดภาพ จ้างออกแบบ ผู้ว่าจ้างย่อมเป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในงานนั้น เว้นแต่มีการตกลงกันเป็นอย่างอื่น (พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 10)
3. งานที่ทำขึ้นตามการจ้าง คำสั่ง หรืออยู่ในความควบคุมของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น งานที่ทำขึ้นนั้นตกเป็นลิขสิทธิ์ของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น เว้นแต่จะได้ตกลงกันเป็นอย่างอื่นเป็นลายลักษณ์อักษร (พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 14)
5 สิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์
ตาม พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 15 เจ้าของลิขสิทธิ์ย่อมมีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการกระทำแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ของตน ดังนี้
1. ทำซ้ำหรือดัดแปลง
2. เผยแพร่ต่อสาธารณชน
3. ให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางานโปรแกรมคอมพิวเตอร์ โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ และสิ่งบันทึกเสียง
4. ให้ประโยชน์อันเกิดจากลิขสิทธิ์แก่ผู้อื่น
5. อนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิตาม ข้อ 1 – 3
นอกจากนี้ เจ้าของลิขสิทธิ์ยังสามารถโอนลิขสิทธิ์ของตนให้แก่ผู้อื่นได้ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน โดยทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้โอนและผู้รับโอน (พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 17)
เมื่องานใดเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นแล้ว หากมีบุคคลใดมานำงานนั้นไปใช้ไม่ว่าจะเป็นการนำมาทำซ้ำ ดัดแปลงงาน หรือเผยแพร่ต่อสาธารณชน โดยที่ไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ย่อมเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ มีโทษจำคุกหรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับตามกฎหมาย นอกจากนี้เจ้าของลิขสิทธิ์ยังมีอำนาจฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากการละเมิดลิขสิทธิ์นั้นได้ หากมีข้อสงสัยต้องการปรึกษาทนายความเพื่อหาทางออกกฎหมาย สามารถติดต่อผ่าน Legardy ได้ตลอด 24ชั่วโมงครับ