ชวนเข้าใจ การกรรโชกทรัพย์คืออะไร.png
เผยแพร่เมื่อ: 2023-12-27

ชวนเข้าใจ การกรรโชกทรัพย์คืออะไร?

โดนขู่เอาเงิน ถ้าไม่ให้จะถูกทำร้าย เจอแบบนี้อย่านิ่งเฉย เพราะคุณกำลังถูกกรรโชกทรัพย์ซึ่งมีความผิดตามกฎหมาย สามารถแจ้งความเอาผิดได้ทันที! แต่หลายคนอาจจะไม่แน่ใจว่า กรรโชกทรัพย์คืออะไร? การกระทำแบบใดที่เรียกว่ากรรโชกทรัพย์? Legardy สรุปมาให้แล้ว อ่านจบเข้าใจมากขึ้นแน่นอน

 

กรรโชกทรัพย์คืออะไร?

กรรโชกทรัพย์คืออะไร.png

กรรโชกทรัพย์ คือ การข่มขืนใจให้ผู้อื่นยอมให้ตนหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน โดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของผู้ถูกขู่เข็ญ หรือของบุคคลที่ 3

องค์ประกอบของการกรรโชกทรัพย์

องค์ประกอบของการกรรโชกทรัพย์ คือ

1. ผู้ใด คือ บุคคลผู้กระทำความผิด

2. ข่มขืนใจผู้อื่นให้ยอมให้ หรือยอมจะให้ตนหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน

3. โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของผู้ถูกขู่เข็ญหรือของบุคคลที่สาม

4. จนผู้ถูกข่มขืนใจยอมเช่นว่านั้น

5. เจตนา

 

 

ความผิดฐานกรรโชกทรัพย์

กรรโชกทรัพย์ ถือเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 377 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 100,000 บาท แต่ถ้าผู้ที่กระทำการกรรโชกขู่ว่าจะฆ่า ทำให้ได้รับอันตรายสาหัส หรือขู่ว่าจะทำให้เกิดเพลิงไหม้แก่ทรัพย์ของผู้ถูกข่มขืนใจหรือผู้อื่น หรือมีอาวุธติดตัวมาขู่เข็ญ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน - 7 ปี และปรับตั้งแต่ 10,000 - 140,000 บาท 

ตัวอย่างการกรรโชกทรัพย์ 

หากจะยกตัวอย่างการกรรโชกทรัพย์ให้เห็นอย่างชัดเจน ให้นึกถึงกรณีรุ่นพี่บังคับขู่เข็ญเอาเงินหรือสิ่งของที่มีค่าจากรุ่นน้อง ถ้าไม่เอามาให้ก็มักจะถูกขู่หรือถูกทำร้าย ทำให้รุ่นน้องต้องยอมตามในที่สุด นอกจากนี้ขอยกตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้เพื่อให้เห็นภาพการกรรโชกทรัพย์มากขึ้น เช่น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22746/2555 

จำเลยขับรถจักรยานยนต์มาที่วินรถจักรยานยนต์พูดว่า “หากใครไม่จ่ายไม่ให้จอด ระวังจะจำเบอร์ไม่ได้ จำซอยไม่ได้ ขับเงียบ ๆ ใกล้จะหมดเวลาของพวกมึงแล้ว” มีลักษณะเป็นการข่มขู่ผู้เสียหายทั้งสามว่าอาจถูกทำร้าย หลังจากมีการแจ้งความร้องทุกข์แล้วแต่ไม่มีการควบคุมตัวจำเลยในระหว่างดำเนินคดี ผู้เสียหายทั้งสามเกรงจะได้รับอันตรายและถูกห้ามขับรถจักรยานยนต์รับจ้างในซอยเกิดเหตุจึงต้องจำยอมจ่ายเงินให้แก่จำเลยวันละ 15 บาท ตามที่จำเลยเรียกร้อง การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานกรรโชกทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337 แล้ว

การกรรโชกทรัพย์นั้น ต้องการให้ผู้ถูกกรรโชกเกิดความกลัวจนยอมทำตาม แต่หากผู้ถูกกรรโชกไม่เกิดความกลัว จะถือว่าเป็นความผิดฐานพยายามกรรโชก เช่น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2263/2551 

ผู้เสียหายนำรถยนต์เข้าไปจอดในบริเวณสถานีขนส่งสายใต้ใหม่ซึ่งจำเลยไม่มีสิทธิเรียกเก็บเงินค่าจอดรถจากผู้เสียหาย การที่จำเลยพูดกับผู้เสียหายว่า “ถ้าไม่จ่ายค่าจอดรถจะตบ” และจำเลยนำเก้าอี้ขวางกั้นมิให้ผู้เสียหายขับรถยนต์ออกไป ถือได้ว่าเป็นการขู่เข็ญข่มขืนใจผู้เสียหายให้ยอมให้หรือยอมจะให้ตนหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน เมื่อผู้เสียหายไม่ยอมให้เงินแก่จำเลย จำเลยจึงมีความผิดฐานพยายามกรรโชกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337 วรรคแรก ประกอบมาตรา 80

 

ความแตกต่างระหว่างชิงทรัพย์กับกรรโชกทรัพย์

ความแตกต่างระหว่างชิงทรัพย์กับกรรโชกทรัพย์ คือ การชิงทรัพย์ เป็นการใช้กำลังเข้าทำร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังเข้าทำร้ายในทันที โดยกระทำต่อผู้ถูกชิงทรัพย์โดยตรง แต่การกรรโชกทรัพย์ คือ การขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายในในทันที หรือในภาคหน้าก็ได้ โดยกระทำต่อผู้ถูกขู่เข็ญหรือบุคคลที่สามก็ได้

ได้เข้าใจกันแล้วว่ากรรโชกทรัพย์คืออะไร แบบไหนที่เข้าข่ายกรรโชกทรัพย์ ดังนั้นหากมีผู้ใดมาข่มขู่เพื่อให้คุณมอบทรัพย์สินต่าง ๆ ให้ ไม่อย่างนั้นจะเกิดอันตรายต่อคุณหรือคนใกล้ตัว แบบนี้เข้าข่ายความผิดฐานกรรโชกทรัพย์แน่นอน สามารถเอาผิดได้ทันที! แต่ถ้าใครไม่รู้จะดำเนินการเอาผิดอย่างไร หรือถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กรรโชกทรัพย์เสียเอง สามารถติดต่อทนายเพื่อขอคำปรึกษาได้ที่ Legardy ทนายความมืออาชีพยินดีให้บริการให้คำแนะนำเพื่อให้คุณเจอทางออกที่ดีที่สุด

ปรึกษาทนายตัวจริง

สอบถามได้ทุกเรื่องราวทางกฎหมาย

"โดนโกง โดนประจาน" ปรึกษาได้ในคลิกเดียว

ทนายพร้อมให้คำปรึกษาตลอด 24 ชม.
4.8/5
รีวิวจากผู้ใช้งานจริงมากกว่า 16000 รีวิว
sanook ข่าวสด มติชน spring
cta
ปรึกษาทนาย 24 ชั่วโมง
“ ได้รับคำตอบทันที ! “
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.