เผยแพร่เมื่อ: 2024-02-17

โดนแจ้งความเท็จฟ้องกลับได้ไหม?

การแจ้งความเท็จ คือการนำข้อความที่เป็นเท็จที่เกี่ยวข้องกับคดีอาญาไปแจ้งต่อเจ้าพนักงาน ไม่ว่าจะเป็น พนักงานอัยการ พนักงานสอบสวนหรือพนักงานที่มีอำนาจในการสอบสวน จนการกระทำดังกล่าวนั้นทำให้คนอื่นหรือประชาชนได้รับความเสียหาย บทความนี้ Legardy จะพาผู้อ่านทุกท่านมาไขข้อสงสัยกันครับ


5.png

จริงๆแล้วแจ้งความเท็จคืออะไร?

อยากให้เข้าใจกันก่อนว่า "การแจ้งความเท็จ" นั้นคือการแจ้ง "ข้อเท็จจริง" ต่อเจ้าพนักงาน ไม่ใช่ "ข้อกฎหมาย" ต่อเจ้าพนักงาน

ข้อเท็จจริง คือ ข้อความหรือเหตุการณ์ที่เป็นมาหรือที่เป็นอยู่ตามจริง

ข้อกฎหมาย คือ ข้อความที่เกี่ยวกับการใช้บังคับหรือการตีความกฎหมายในเรื่องที่เกี่ยวกับกฎหมาย

ขอยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพมากขึ้นนะครับ

Aแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าBหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา โดยBได้บอกว่าข้อความนั้นไม่ได้เป็นการหมิ่นประมาท ซึ่งคำว่าหมิ่นประมาทนั้นถือว่าเป็นข้อกฎหมายไม่ใช่ข้อความ แต่เมื่อคำพิพากษาออกมาแล้วข้อความที่Bได้พิมพ์ลงไปนั้นไม่ถือว่าเป็นการหมิ่นประมาท 

ดังนั้นAก็จะไม่มีความผิดฐานแจ้งความเท็จนะครับเพราะต่อให้หมิ่นประมาทหรือไม่ มันคือข้อกฎหมายไม่ใช่ข้อเท็จจริง


แจ้งความเท็จเพื่อกลั่นแกล้ง

1.หากผู้ใดแจ้งความเท็จโดยมีเจตนาให้ผู้อื่นต้องรับโทษหนักขึ้น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ตัวอย่างเช่น Aไปแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า Bได้กระทำการชิงทรัพย์(ใช้กำลังในการเอาทรัพย์) แต่ความเป็นจริงBแค่ลักทรัพย์(ขโมยของ) เมื่อสืบพยานแล้วพบว่า Aได้แจ้งความเท็จที่เกี่ยวกับคดีความผิดทางอาญา Aจะผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 174

2.หากผู้ใดแจ้งความเท็จว่ามีความผิดทางอาญาเกิดขึ้น ทั้งที่ความจริงแล้วไม่มีเหตุการณ์ใดเกิดขึ้นเลย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 60,000 บาท”
ตัวอย่างเช่น Aไปแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า Bได้ทำการกักขังหน่วงเหนี่ยวตน แต่เมื่อสืบพยานแล้วไม่มีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น Aจะต้องรับโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 173

 


 

6.png

โดนแจ้งความเท็จแล้วต้องการฟ้องกลับ

หากต้องการแจ้งความกลับข้อหาแจ้งความเท็จ จะต้องพิจารณาดังนี้ก่อนครับ

1.ข้อความเท็จนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญหรือไม่ต่อการพิจารณาคดี

ถึงแม้จะมีข้อความบางส่วนที่คลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริงบ้าง แต่ไม่ใช่ใจความสำคัญต่อการแพ้ชนะของคดีก็ไม่สามารถฟ้องกลับฐานแจ้งความเท็จได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 669/2532

คำเบิกความของจำเลยซึ่งไม่มีน้ำหนักในการวินิจฉัยของศาลหรือจะมีผลให้แพ้ชนะคดีกันเป็นคำเบิกความที่ไม่เป็นประเด็นสำคัญแห่งคดี แม้คำเบิกความดังกล่าวจะเป็นเท็จ จำเลยก็ไม่มีความผิดฐานเบิกความเท็จ.

2.รู้อยู่แล้วไหมว่าข้อความดังกล่าวเป็นเท็จ

การพิจารณาคดีอาญาต้องดูเจตนาเป็นหลัก หากอีกฝ่ายไม่ทราบว่าข้อความดังกล่าวนั้นเป็นเท็จซึ่งอาจเกิดจากพยานบุคคลที่มาเล่าให้ฟังก็ได้ว่าคนนู้นคนนี้ทำผิด หรือมีพยานเอกสารที่เป็นเท็จทำให้เชื่อว่าข้อความดังกล่าวนั้นเป็นความจริง ก็ถือว่าไม่มีเจตนาที่จะแจ้งความเท็จ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 426/2512

จำเลยที่ 2 เรียงคำฟ้องและรับว่าความในหน้าที่ของทนายความข้อความที่ปรากฏในคำฟ้องเป็นข้อความที่ได้จากคำบอกเล่าของจำเลยที่ 1(ซึ่งเป็นลูกความ) และจะเป็นความเท็จหรือความจริง จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นทนายความย่อมไม่มีโอกาสจะทราบได้นอกจากจะปรากฏตามหลักฐานที่นำสืบ หากในเวลาภายหน้าความปรากฏขึ้นว่า คำฟ้องมีข้อความอันเป็นเท็จผู้ที่จะต้องรับผิดชอบก็คือจำเลยที่ 1 หาใช่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นแต่ผู้เรียงคำฟ้องตามคำบอกเล่าในหน้าที่ของทนายความไม่

3.เจตนาที่จะบิดเบือนขอเท็จจริงหรือไม่

หากไม่มีการบิดเบือนข้อเท็จจริง อีกฝ่ายสู้คดีด้วยข้อความที่เป็นจริงตลอดไม่มีการบิดเบือนวิธีการ อธิบายข้อเท็จจริงไปตามที่ตนทราบก็จะไม่สามารถฟ้องกลับฐานแจ้งความเท็จได้ครับ

หากฟ้องแล้วแพ้ไม่จำเป็นที่จะต้องถูกฟ้องกลับเสมอไป ส่วนฝ่ายที่ชนะคดีก็ไม่สามารถฟ้องกลับเสมอไปเช่นกัน!


องค์ประกอบของการแจ้งความเท็จ

1.บุคคล อาจจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ได้ที่กระทำการแจ้งความเท็จ

2.การกระทำ การแจ้งความเท็จนั้นอาจทำได้หลายวิธีการ ไม่ว่าจะเป็น การแจ้งความเท็จกับเจ้าพนักงานโดยตรง , ให้การเท็จโดยเจตนาในฐานะพยานบุคคล 

3.ข้อความ ข้อความนั้นอาจจะเป็นเรื่องในอดีตหรือปัจจุบันก็ได้ แต่ถ้าเป็นเรื่องของอนาคตจะไม่ถือเป็นการแจ้งความเท็จนะครับ 

4.เป็นการยืนยันข้อเท็จจริง ไม่ใช่การแสดงความคิดเห็น เพราะว่าถ้าเป็นการแสดงความคิดเห็นจะไม่ถือเป็นการแจ้งความเท็จ

5.ต่อเจ้าพนักงาน

ตัวอย่างของการแจ้งความเท็จ เช่น A ไม่ชอบBเป็นทุนเดิม จึงไปแจ้งความว่าBนั้นได้กระทำอนาจารภรรยาของตน เพื่อต้องการให้Bได้รับโทษจำคุก แต่เมื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว ปรากฎว่าAโกหก Aจะผิดฐานแจ้งความเท็จ

อ่านคำปรึกษาจริงเรื่อง "แจ้งความเท็จ" พร้อมคำตอบจากทนายความ คลิกเลย !

Q: แจ้งความเท็จ

Q: แจ้งความเท็จพนักงาน(สอบสวน)

Q: แจ้งความเท็จหรือไม่


 

4.png

โทษของการแจ้งความเท็จ

ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 137 
“ผู้ใดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 172 
“ผู้ใดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับ ‘ความผิดอาญา’ แก่พนักงานอัยการ ผู้ว่าคดี พนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 173
มาตรา 173 “ผู้ใดรู้ว่ามิได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น แจ้งข้อความแก่พนักงานสอบสวน หรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาว่า ได้มีการกระทำความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 60,000 บาท”

ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 174 
มาตรา 174 “ถ้าการแจ้งข้อความตามมาตรา 172 หรือมาตรา 173 เป็นการเพื่อจะแกล้งให้บุคคลใดต้องถูกบังคับตามวิธีการเพื่อความปลอดภัย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 60,000 บาท
ถ้าการแจ้งตามความในวรรคแรก เป็นการเพื่อจะแกล้งให้บุคคลใดต้องรับโทษหรือรับโทษหนักขึ้น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 100,000 บาท”

ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 367
ผู้ใดเมื่อเจ้าพนักงานถามชื่อหรือที่อยู่ เพื่อปฏิบัติการตามกฎหมายไม่ยอมบอก หรือแกล้งบอกชื่อหรือที่อยู่อันเป็นเท็จ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท


เป็นพยานบุคคลก็อาจผิดฐานแจ้งความเท็จได้!

ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 3702/2526 ใจความสำคัญของคดีแจ้งความเท็จอยู่ที่ว่า พยานบุคคลนั้นได้เห็นเหตุการณ์กระทำผิดจริงตามคำให้การแก่พนักงานสอบสวนจริงหรือไม่ ถึงแม้ว่าผู้อื่นมีการกระทำผิดเกิดขึ้นจริง แต่ถ้าพยานบุคคลนั้นไม่ได้เห็นเหตุการณ์แล้วให้การว่าเห็นเหตุการณ์ดังกล่าว จะถือว่าผิดฐานแจ้งความเท็จต่อให้พยานบุคคลนั้นให้การในชั้นศาลว่าโดนเสี้ยมให้บอกว่าเห็นเหตุการณ์ พยานบุคคลนั้นก็ถือว่ามีความผิดฐานแจ้งความเท็จอยู่ดี


แจ้งความเท็จกับพยายามแจ้งความเท็จ

การแจ้งความเท็จนั้นหากอิงตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 137 การแจ้งความเท็จนั้นจะสำเร็จต่อเมื่อเจ้าพนักงานต้องรับทราบข้อความที่แจ้ง โดยให้ใช้ความรู้สึกและเจตนาของผู้แจ้งเป็นสำคัญ ไม่ใช่ผู้รับแจ้ง ถึงแม้ว่าจะเป็นเรื่องจริงแต่เข้าใจว่าเป็นเรื่องเท็จ ก็จะผิดฐานแจ้งความเท็จ

ตัวอย่างเช่น นาย ก. เห็นนาย ข. ทิ้งขยะลงแม่น้ำ แต่คิดว่าการกระทำนี้ไม่ผิดกฎหมาย จึงให้การว่าไม่เห็นการทิ้งขยะ ต่อมาพบว่าการทิ้งขยะนี้ผิดกฎหมาย นาย ก. จึงถือว่าให้การเท็จแม้ว่าจะมีเจตนาดีและไม่รู้ว่าการทิ้งขยะนั้นผิดกฎหมาย

ส่วนการพยายามแจ้งความเท็จ คือการที่ผู้แจ้งได้มีการเริ่มกระทำแจ้งความเท็จแต่อาจทำการกระทำนั้นไม่บรรลุผล 
ตัวอย่างเช่น นาย ก. ได้ให้เพื่อนที่บริษัทส่งเอกสารแจ้งความเท็จแก่ตำรวจ แต่ระหว่างทางเกิดกลัวความผิดจึงยกเลิกการส่งเอกสารดังกล่าวนั้น หากเกิดเป็นคดีความ นาย ก. จะผิดฐานพยายามแจ้งความเท็จเพราะความผิดดังกล่าวนั้นยังไม่สำเร็จแต่มีการดำเนินการแล้ว


สรุป

การแจ้งความเท็จนั้นไม่สามารถยอมความได้เนื่องจากเป็นความผิดอาญาแผ่นดินเพราะส่งผลต่อความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมหากมีการยอมความได้กฎหมายข้อนี้ก็จะถูกใช้ในการกลั่นแกล้งกันมากขึ้น และการแพ้คดีไม่จำเป็นจะต้องถูกฟ้องกลับเสมอไปนะครับ หากใครที่กำลังมีคดีความอยู่ ทางLegardy สามารถให้คำปรึกษาได้ครับ

ปรึกษาทนายตัวจริง

สอบถามได้ทุกเรื่องราวทางกฎหมาย

"โดนโกง โดนประจาน" ปรึกษาได้ในคลิกเดียว

ทนายพร้อมให้คำปรึกษาตลอด 24 ชม.
4.8/5
รีวิวจากผู้ใช้งานจริงมากกว่า 16000 รีวิว
sanook ข่าวสด มติชน spring
cta
ปรึกษาทนาย 24 ชั่วโมง
“ ได้รับคำตอบทันที ! “
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.