คู่สมรสก่อหนี้ คู่สมรสอีกฝ่ายต้องรับผิดชอบด้วยหรือไม่
เมื่อจดทะเบียนสมรสแล้วย่อมเกิดสิทธิและหน้าที่ต่างๆ ที่คู่สมรสจะต้องปฏิบัติต่อกันไม่ว่าจะเป็นการอุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่าย สิทธิในการในกรปกป้องคู่สมรส และที่สำคัญที่สุดคือความรับผิดร่วมกันในทางทรัพย์สินซึ่งความรับผิดร่วมกันในทางทรัพย์สินนี้เชื่อเหลือเกินว่าหลายคนมักจะมีคำถามขึ้นมาในใจเสมอว่าหาก เป็นหนี้บัตรเครดิตยึดทรัพย์คู่สมรสได้ไหม? สามีเป็นหนี้บัตรเครดิตภรรยาต้องรับผิดชอบหรือไม่? หนี้บัตรเครดิตยึดทรัพย์คู่สมรสได้ไหม? ภรรยาเป็นหนี้ยึดทรัพย์สามีได้ไหม ในบทความนี้จึงอยากจะหยิบยกประเด็นข้อสงสัยเกี่ยวกับหนี้สินระหว่างสามีและภรรยามาให้ได้อ่านกันครับจะมีอะไรบ้างลองไปดูกันเลยดีกว่า
1.การก่อหนี้ก่อนสมรส
เมื่อยังไม่มีการจดทะเบียนสมรสย่อมยังไม่เกิดความผูกพันในทรัพย์สินระหว่างคู่สมรส ดังนั้นแม้คู่สมรสจะมีหนี้อยู่ก่อนจดทะเบียนสมรส
แม้ต่อมาได้มีการจดทะเบียนสมรสในภายหลังก็ไม่ทำให้หนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ร่วมระหว่างคู่สมรส
หนี้ดังกล่าวจึงยังคงเป็นหนี้ส่วนตัวของคู่สมรสฝ่ายนั้น เช่น หากเราติดหนี้บัตรเครดิตหลายปีแล้วเราจดทะเบียนสมรสในภายหลัง หนี้บัตรเครดิตนี้ก็ยังคงเป็นหนี้ส่วนตัวของเรา คู่สมรสของเราไม่จำเป็นต้องรับผิดชำระหนี้แทนด้วย เมื่อคู่สมรสของเราไม่มีความรับผิดต้องชำระหนี้แทนแล้ว เจ้าหนี้ก็ไม่สามารถยึดทรัพย์สินส่วนตัวของคู่สมรสเราได้แม้มีการฟ้องร้องบังคับคดีภายหลังจากที่มีการสมรสแล้วก็ตาม
2.การก่อหนี้ในระหว่างสมรส
เมื่อจดทะเบียนสมรสแล้วประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1476 ได้กำหนด
นิติกรรมที่คู่สมรสอีกฝ่ายไม่สามารถกระทำได้โดยไม่ได้รับควมยินยอมจากอีกฝ่ายเอาไว้
เช่น การขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นสินสมรสเช่น การขายที่ดินซึ่งเป็นสินสมรสต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสอีกฝ่ายด้วย หากกระทำไปโดยไม่ได้รับความยินยอมคู่สมรสอีกฝ่ายจะขอให้เพิกถอนได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1480
แต่การกู้ยืมเงินนั้น
การกู้ยืมเงินนั้นกฎหมายอนุญาตให้คู่สมรสอีกฝ่ายสามารถทำได้แต่เพียงลำพัง
ดังนั้นคู่สมรสฝ่ายหนึ่งสามารถทำได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมและถือเป็นหนี้สินส่วนตัวของคู่สมรสฝ่ายนั้นเว้นแต่จะเป็นการกู้ยืมที่ลักษณะเป็นหนี้ร่วมระหว่างคู่สมรสดังจะได้กล่าวในประเด็นต่อไป
3.หนี้ร่วมได้แก่หนี้อะไรบ้าง
คำถามว่าหนี้ร่วมระหว่างสามีภรรยามีหนี้อะไรบ้างต้องท้าวไปถึงประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1490 ได้แก่
3.1 หนี้ที่ก่อขึ้นเพื่อหาสิ่งที่จำเป็นสำหรับครอบครัว หนี้ที่ก่อเพื่อรักษาพยาบาลบุคคลในครอบครัวหรือให้การศึกษาคนในครอบครัวตามสมควร เช่น การกู้ยืมเงินมาจ่ายค่าเทอมให้แก่บุตรเป็นหนี้ร่วมระหว่างคู่สมรส
3.2 หนี้ที่เกี่ยวข้องกับสินสมรส เช่น กู้ยืมเงินมาซื้อบ้านเพื่อใช้เป็นที่อยู่ของครอบครัวในขณะสมรสบ้านย่อมเป็นสินสมรสการกู้เงินมาซื้อบ้านย่อมเป็นหนี้ที่เกี่ยวกับสินสมรสจึงเป็นหนี้ร่วมระหว่างคู่สมรส
3.3 หนี้ที่เกิดจากการงานที่ทำร่วมกันระหว่างคู่สมรส เช่น กู้เงินมาเปิดกิจการของครอบครัวหนี้เงินกู้ดังกล่าวเป็นหนี้ร่วมระหว่างคู่สมรส
3.4 หนี้ที่ก่อขึ้นเพื่อประโยชน์ของคู่สมรสแต่เพียงฝ่ายเดียวแต่อีกฝ่ายให้สัตยาบันแก่หนี้นั้น เช่น สามีเป็นผู้กู้ ภรรยาลงชื่อเป็นพยานในสัญญาหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ร่วมระหว่างคู่สมรส
คำปรึกษาจริงพร้อมคำตอบจากทนายความผู้เชี่ยวชาญเรื่อง "หนี้สมรส" คลิกเลย !
Q: หนี้สมรสที่เกิดก่อนหย่า ต้องชำระหนี้ถึงขั้นไหนค่ะ
4.ผลของการเป็นหนี้ส่วนตัวของคู่สมรส
เมื่อเป็นหนี้ส่วนตัวของคู่สมรส
เจ้าหนี้สามารถบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินส่วนตัวของคู่สมรสฝ่ายนั้นได้ทั้งหมด
แต่บังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่เป็นสินสมรสได้กึ่งหนึ่งเท่านั้น เช่น
A สมรสกับ B A มีรถยนต์เป็นสินส่วนตัว 1 คันและมีบ้านอันเป็นสินสมรสระหว่าง A กับ B 1 หลัง ต่อมา A ไปกู้ยืมเงินจากธนาคารมาใช้ส่วนตัวหนี้กู้ยืมดังกล่าวจึงเป็นหนี้ส่วนตัว หาก A ไม่ชำระหนี้ธนาคารสามารถยึดรถยนต์ของ A ได้ทั้งหมดและมีสิทธิยึดบ้านอันเป็นสินสมรสด้วยแต่ B ขอให้กันส่วนเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดบ้านได้ครึ่งหนึ่ง
5.ผลของการเป็นหนี้ร่วมระหว่างคู่สมรส
เมื่อเป็นหนี้ร่วมระหว่างคู่สมรสแล้ว
เจ้าหนี้สามารถบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินส่วนตัวของคู่สมรสคนนั้นได้ทั้งหมดแม้คู่สมรสอีกฝ่ายไม่ได้ลงชื่อเป็นผู้กู้ร่วมด้วยและยังสามารถบังคับชำระหนี้จากสินสมรสได้ทั้งหมดด้วย
เช่น
A สมรสกับ B A มีรถยนต์เป็นสินส่วนตัว 1 คันและมีบ้านอันเป็นสินสมรสระหว่าง A กับ B 1 ต่อมา A ไปกู้ยืมเงินจากธนาคารมาใช้ส่วนตัว และในสัญญากู้ยืมนั้น B ลงชื่อเป็นพยานซึ่งถือเป็นการให้สัตยาบันแก่หนี้ส่วนตัวของคู่สมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1490(4) หนี้กู้ยืมดังกล่าวจึงเป็นหนี้ร่วมระหว่าง A และ B คู่สมรสแม้ A จะกู้มาใช้ประโยชน์ส่วนตัวก็ตาม หากต่อมา A ไม่ชำระหนี้ธนาคารสามารถยึดรถยนต์ของ A ได้ทั้งหมดและมีสิทธิยึดบ้านอันเป็นสินสมรสได้ทั้งหมด โดยที่ B ไม่สามารถขอกันส่วนเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดบ้านได้เลย
สรุป
จะเห็นว่าการก่อหนี้ในระหว่างสมรสนั้นมีผลทางกฎหมายที่คู่สมรสจะต้องพิจารณาหลายประการ และมักจะส่งผลให้เกิดปัญหาตามมาบ่อยครั้ง ดังนั้นจึงหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ที่ผู้อ่านทุกท่านจะสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปประกอบการตัดสินใจในการก่อหนี้ในระหว่างสมรสแต่ระครั้ง เพื่อจะได้ทราบถึงผลของการก่อหนี้ในระหว่างสมรสรวมทั้งทราบแนวทางในการแก้ปัญหาหนี้สินระหว่างคู่สมรสต่อไปครับ หากมีข้อสงสัยทางด้านกฎหมาย ทนายความที่ Legardy กว่า500 ท่านพร้อมช่วยเหลือคุณครับ คลิกที่ลิงค์นี้ได้เลย !
ปรึกษาทนายตัวจริง
สอบถามได้ทุกเรื่องราวทางกฎหมาย
"โดนโกง โดนประจาน" ปรึกษาได้ในคลิกเดียว
สมัครเป็นทนายออนไลน์
แพล็ทฟอร์มรวบรวม
งานกฎหมายจากทั่วประเทศ



