
เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการขายทอดตลาดของกรมบังคับคดี
การใช้สิทธิทางกฎหมายในคดีแพ่งนั้นไม่ได้มีเฉพาะการฟ้องร้องดำเนินคดีต่อศาลเพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาสังให้ลูกหนี้ชำระหนี้เท่านั้น เพราะหากตัวลูกหนี้ไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาแล้ว เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาก็ต้องดำเนินการบังคับคดีเพื่อให้เป็นไปตามคำพิพากษาต่อไป โดยในการบังคับคดีนั้นก็มีด้วยกันหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับคำพิพากษาของศาลในคดีนั้นว่าลูกหนี้ตามคำพิพากษาต้องชำระหนี้ด้วยวิธีไหน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วในคดีแพ่งศาลมักมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ชำระหนี้เงิน หากลูกหนี้ไม่ยอมชำระหนี้เงินแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเจ้าหนี้ก็ต้องดำเนินการร้องขอต่อศาลให้ออกหมายบังคับคดี และให้ศาลตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี กรมบังคับคดีเพื่อยืดทรัพย์สินของลูกหนี้และดำเนินการขายทอดตลาดต่อไป
การขายทอดตลาดคืออะไร
การขายทอดตลาดของกรมบังคับคดีเป็นการดำเนินการบังคับคดีเพื่อให้เป็นไปตามคำพิพากษาอย่างหนึ่ง โดยเมื่อศาลได้มีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ชำระหนี้แล้ว หากลูกหนี้ไม่ชำระเจ้าหนี้ก็จะดำเนินการร้องขอต่อศาลให้ตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อให้เจ้าพนักงานบังคับคดี กองบังคับคดียึดทรัพย์สินของลูกหนี้และดำเนินการขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชำระให้แก่เจ้าหนี้ต่อไป โดยในการขายทอดตลาดเจ้าพนักงานบังคับคดีต้องแจ้งให้ผู้มีส่วนได้เสียทราบและต้องกำหนดเวลาขายทอดตลาดไม่น้อยกว่า 60วัน นับแต่มีการยึด
ทรัพย์สินใดสามารถขายทอดตลาดได้บ้าง
ทรัพย์ที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะสามารถยึดเพื่อนำมาขายทอดตลาดได้นั้น ต้องเป็นทรัพย์สินของลูกหนี้ หรือทรัพย์ที่ลูกหนี้มีสิทธิได้รับจากบุคคลอื่น เช่น ที่ดิน บ้าน หุ้น สิทธิการเช่าฯ เหล่านี้เจ้าพนักงานบังคับคดีสามารถยึดเพื่อนำมาขายทอดตลาดได้
ทำอย่างไรเมื่อทรัพย์ถูกกรมบังคับคดีเพื่อขายทอดตลาด
การขายทอดตลาดเป็นการดำเนินการในทางแพ่ง คู่ความจึงสามารถเจรจาตกลงกันได้ตลอดกระบวนการดังนั้นแม้ศาลได้มีคำพิพากษาจนถึงขั้นมีการยึดทรัพย์เพื่อขายทอดตลาดโดยกรมบังคับคดีแล้ว ผู้ที่ถูกยึดทรัพย์ก็ยังพอจะมีทางออกที่จะสามารถดำเนินการต่อไปได้ ได้แก่
1.เจรจาขอผ่อนชำระหนี้กับเจ้าหนี้ในชั้นบังคับคดี อย่างที่กล่าวมาแล้วว่าในคดีแพ่งแม้ศาลได้มีคำพิพากษาแล้วคู่ความก็ยังสามารถเจรจาตกลงกันได้ โดยหากคู่ความสามารถตกลงกันผ่อนชำระกันได้ลูกหนี้ก็สามารถขอให้เจ้าหนี้งดการขายทอดตลาดเอาไว้ก่อนและดำเนินการชำระหนี้ตามที่ตกลงกันต่อไปและหากผ่อนชำระกันครบถ้วนแล้วเจ้าหนี้ก็จะดำเนินการถอนการบังคับคดีทรัพย์สินที่ได้ยึดไว้ให้แก่ลูกหนี้ แต่หากมีการผิดนัดชำระหนี้ตามที่ตกลงกันในชั้นบังคับคดี เจ้าหนี้ก็สามารถร้องขอต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีให้ดำเนินการขายทอดตลาดต่อไปได้ในทันทีเช่นกัน
2.ชำระหนี้ตามคำพิพากษาทั้งหมด เมื่อลูกหนี้ชำระครบถ้วนตามคำพิพากษาแล้วเจ้าหนี้ก็จะดำเนินการถอนการบังคับในทันที ผู้ที่ถูกยึดทรัพย์จึงอาจจะหาเงินจากแหล่งอื่นมาชำระหนี้ตามคำพิพากษาเพื่อให้มีการถอนการยึดได้
3.กรณีทรัพย์สินที่ถูกยึดเพื่อขายทอดตลาด นั้นไม่ใช่ทรัพย์สินของลูกหนี้เพียงคนเดียว อาจเป็นทรัพย์สินของคนอื่นที่ลูกหนี้มีชื่อถือแทน บุคคลภายนอกมีบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินนั้น หรือลูกหนี้ตามคำพิพากษามีสิทธิในทรัพย์สินเพียงบางส่วน เช่น สินสมรส ทรัพย์ติดจำนอง ฯ ผู้ได้รับความเสียหายจากการยึดสามารถยื่นคำร้องของ ให้ปล่อยทรัพย์สินนั้น กันส่วนเงินที่ได้จากการขายทอตลาด ขอให้นำเงินจากการขายทอดตลาดมาชำระหนี้ให้แก่ตนก่อน หรือขอเฉลี่ยเงินซึ่งได้จากการขายทอดตลาดได้ แล้วแต่กรณี

จะเข้าร่วมประมูลทรัพย์ที่ขายทอดตลาดได้อย่างไร
เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินของลูกหนี้เช่นบ้านและที่ดินแล้ว กรมบังคับดคีก็จะดำเนินการขายทอดตลาดที่ดินนั้น โดยเปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้าประมูลสู้ราคาได้ซึ่งมีขั้นตอนดังนี้ครับ
1.ค้นหาทรัพย์ขายทอดตลาดตามที่กรมบังคับคดีประกาศ ในการขายทอดตลาดบ้านและที่ดินของกรมบังคับคดีนั้นผู้สนใจประมูลที่ดินกับกรมบังคับคดีสามารถตรวจสอบที่ดินที่ขายทอดตลาดโดยกรมบังคับคดีผ่านเว็บไซต์ของกรมบังคับคดี หรือตามลิ้งค์นี้ครับ https://asset.led.go.th/newbidreg/
2.ตรวจสอบข้อมูลทรัพย์สินที่ต้องการประมูลตามที่ระบุบในประกาศ และควรเดินทางไปตรวจสอบทรัพย์สิน ณ สถานที่จริงด้วยว่ายังมีผู้อยู่อาศัยอยู่หรือไม่ จะได้ไม่มีปัญหาในเรื่องอื่นๆ ตามมาเมื่อประมูลได้แล้ว
3.เตรียมเอกสารที่ใช้ในการเข้าร่วมประมูล ได้แก่ บัตรประชาชน หนังสือมอบอำนาจกรณีมอบอำนาจให้ผู้อื่นเข้าทำการประมูลแทน
4.ในวันประมูลผู้เข้าร่วมประมูลต้องทำสัญญาเสนอราคา และวางเงินประกันตามที่กำหนดซึ่งหลักประกันจะมากน้อยเพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับราคาประเมินของทรัพย์ที่ผู้สนใจต้องการประมูลโดยสามารถตรวจสอบได้ตามลิ้งค์นี้ครับ https://www.led.go.th/pdf/251263-3.pdf
5.เมื่อผู้เข้าประมูลทำสัญญาเสนอราคาและวางหลักประกันตามที่กำหนดแล้วผู้สนใจสามารถเข้ารวมประมูลได้ เมื่อเจ้าพนักงานเคาะไม้ขายแล้ว ผู้ชนะต้องดำเนินการทำสัญญาซื้อขาย ชำระราคาและค่าใช้จ่าย และดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์กันต่อไป
เจ้าของเดิมไม่ยอมออกจากทรัพย์สินที่ประมูลได้ต้องทำอย่างไร
ในกรณีที่เจ้าของเดิมไม่ยอมออกไปจากทรัพย์สินที่ได้มีการขายทอดตลาดแล้ว ผู้ที่ซื้อทรัพย์สินที่ได้จากการขายทอดตลาดมีสิทธิดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนดเพื่อบังคับให้เจ้าของเดิมออกจากทรัพย์สินได้ดังต่อไปนี้ครับ
1.ยื่นคำขอฝ่ายเดียวต่อศาลในเขตท้องที่ที่ทรัพย์สินนั้นตั้งอยู่เพื่อให้ศาลออกหมายบังคับคดี บังคับให้เจ้าของเดิมและบริวารออกจากทรัพย์สินนั้นโดยไม่ต้องฟ้องเป็นคดีใหม่ โดยวิธีนี้ไม่สามารถเรียกค่าเสียหายได้ทำได้เพียงขับไล่เจ้าของเดิมออกไปเท่านั้น
2.ฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายเป็นคดีใหม่
สรุป
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ก็เป็นเรื่องราวความรู้เกี่ยวกับการขายทอดตลาดที่ทุกคนควรรู้ ซึ่งสามารถใช้เป็นแนวทางในการแก้ปัญญาในเบื้องต้นได้ แต่หากอ่านแล้วไม่เข้าใจในส่วนไหนหรือมีเรื่องไหนที่ข้อเท็จจริงแตกต่างออกไปก็ควรปรึกษาทนายความเพื่อหาทางออกของปัญหาต่อไปครับ
ปรึกษาทนายตัวจริง
สอบถามได้ทุกเรื่องราวทางกฎหมาย
"โดนโกง โดนประจาน" ปรึกษาได้ในคลิกเดียว
สมัครเป็นทนายออนไลน์
แพล็ทฟอร์มรวบรวม
งานกฎหมายจากทั่วประเทศ



