คิดสักนิดก่อนทำ! ปลอมแปลงเอกสารจะต้องรับโทษอะไรบ้าง
เอกสารนับเป็นเครื่องมือสำคัญที่คนเราใช้เพื่อการสื่อสารระหว่างกัน ยิ่งเอกสารที่เป็นลายลักษณ์อักษร มีการลงนามร่วมกัยระหว่างฝ่ายต่าง ๆ หรือเป็นเอกสารกำกับสิ่งของที่มีมูลค่าก็ยิ่งเป็นเอกสารที่มีความสำคัญ และจะต้องเก็บรักษาเอาไว้เป็นอย่างดี แต่ก็อาจมีผู้ประสงค์ร้ายมาทำการปลอมแปลงเอกสารเพื่อฉกฉวยผลประโยชน์จากเอกสารปลอมนั่นได้ การกำหนดบทลงโทษทางกฎหมายคุ้มครองการปลอมแปลงเอกสารจึงเป็นมาตรการป้องกันปัญหาดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การปลอมแปลงเอกสารคือ
การปลอมเอกสาร คือการเติมหรือตัดทอน หรือแก้ไขข้อความ การประทับตราปลอม หรือลงลายมือชื่อปลอมลงในเอกสาร ทำให้เกิดความเสียหายต่อผู้อื่น ยิ่งเป็นการกระทำเพื่อให้ผู้อื่นหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารจริง ก็จะถือว่าผู้กระทำนั้นมีความผิดฐานปลอมเอกสาร โดยความผิดสามารถแบ่งได้ 2 กรณี ตามการกระทำ ดังนี้
- ผู้ที่ทำเอกสารปลอม ประมวลความผิดตามกฎหมาย ดังนี้
- ความผิด (ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา264) โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- กรณีที่เอกสารที่ปลอมขึ้นมา เป็นเอกสารแสดงสิทธิ หรือเอกสารราชการ เช่น เอกสารสัญญากู้ยืมเงิน สัญญาซื้อขาย และสัญญาเช่า ความผิด (ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา265) มีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 5 ปี และปรับตั้งแต่ 10,000 ถึง 100,000 บาท
- กรณีเอกสารที่ทำปลอมขึ้น เป็นเอกสารแสดงสิทธิของทางราชการ เช่น โฉนดที่ดิน สัญญาจดทะเบียน และพินัยกรรม ก็จะมีความผิด (ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา266) ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000 ถึง 200,000 บาท
- กรณีให้ข้อมูลเท็จต่อเจ้าพนักงาน ทำให้เจ้าหน้าจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการ ก็จะมีโทษ (ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา267) จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- ผู้ที่ใช้เอกสารปลอม ประมวลความผิดตามกฎหมาย ดังนี้
- ความผิด (ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา268) ต้องโทษเช่นเดียวกับผู้ทำเอกสารปลอม ตามประเภทของเอกสารที่ใช้นั้น ๆ ตามมาตรากฎหมาย 264, 265 ,266 หรือ 267 เช่นกัน
'ดูคำปรึกษาจริงพร้อมคำตอบจากทนายความที่เชี่ยวชาญเรื่องเอกสาร เรื่องการปลอมแปลงเอกสาร'
เอกสารที่เมื่อปลอมแปลงเอกสารมาใช้จะถือว่ามีความผิดทางอาญาทันที
- เอกสารแสดงสิทธิ คือ เอกสารที่ใช้เป็นหลักฐานแห่งแสดงสิทธิ เปลี่ยนแปลงสิทธิ โอนสิทธิ สงวนสิทธิ หรือระงับสิทธิ อย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น หนังสือสัญญา ลอตเตอรี่ ใบเสร็จรับเงิน ใบรับหรือมอบฉันทะ
- เอกสารที่ออกโดยหน่วยงานราชการ คือ เอกสารที่เจ้าพนักงานทำขึ้นหรือรับรอง โดยต้องเป็นการจัดทำขึ้น หรือรับรองในหน้าที่ด้วย หากทำนอกหน้าที่ก็จะไม่ถือเป็นเอกสารราชการ รวมถึงสำเนาของเอกสารนั้น ๆ ตัวอย่างเช่น ป้ายทะเบียนรถ บัตรประชาชน ใบขับขี่ ทะเบียนสมรส
- เอกสารตามมาตรา 266 ได้แก่
- เอกสารสิทธิที่เป็นเอกสารราชการ เช่น โฉนดที่ดิน
- พินัยกรรม
- ใบหุ้น ใบหุ้นกู้ ใบสำคัญของหุ้น หรือหุ้นกู้
- บัญชีเงินฝาก
การกระทำแบบใดที่เข้าข่ายว่าเป็นการปลอมแปลงเอกสาร
- ทำเอกสารปลอมขึ้นมาใหม่ทั้งฉบับ หรือทำเพียงส่วนใดส่วนหนึ่ง
- มีการเติมแต่ หรือตัดทอนข้อความ หรือแก้ไขด้วยลักษณะใด ๆ เพื่อให้ข้อเท็จจริงในเอกสารเปลี่ยนแปลง
- การประทับตราปลอม หรือลงลายมือชื่อปลอม
- การกระทำใด ๆ ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น โดยมีมูลเหตุชักจูงใจเพื่อให้ผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง
สถานการณ์ที่มักพบเอกสารปลอม
- ใช้เพื่ออ้างถึง
- ใช้เป็นเอกสารสำเนา
- ใช้เพื่อทำให้เกิดความเสียหายต่อผู้อื่น
ข้อควรระวังเมื่อจัดทำเอกสารสำคัญ
- มีสติสัมปชัญญะในการทำเอกสาร หากมีปัญหาสุขภาพที่ส่งผลต่อการใช้สติ ควรจัดให้มีพยานในขณะทำเอกสาร เพื่อยืนยันว่าทำเอกสารสำคัญอย่างถี่ถ้วนและรอบคอบดีแล้ว
- ห้ามถูกชักจูงในขณะที่ทำเอกสาร แต่ควรพิจารณาจากเจตนาที่แท้จริงของตนเอง เพราะเอกสารที่ได้อาจก่อให้เกิดปัญหาแก่ผู้ทำเอกสารในภายหลัง
- ข้อความในเอกสารต้องชัดเจน อ่านเข้าใจง่าย และไม่ควรเว้นช่องไฟมากเกินไป
- ปากกาที่ใช้ในการเขียนเอกสารแนะนำให้เป็นสีน้ำเงิน เพื่อป้องกันการนำไปปลอมในรูปแบบของสำเนา
- การลงลายมือชื่อควรลงให้ชัดเจน กรณีเซ็นต์รับรองสำเนาต้องระบุเอาไว้ด้วยว่าเป็นการทำสำเนาเพื่อใช้งานใดให้ชัดเจน
- ห้ามลงลายมือชื่อในเอกสารเปล่าเด็ดขาด เพราะอาจมีการนำลายเซ็นไปใส่ในเอกสารที่เป็นเท็จได้
- เอกสารสำคัญอย่างพินัยกรรม แนะนำให้ถ่ายคลิปวีดีโอในขณะที่จัดทำ เพื่อใช้เป็นหลักฐานเอาไว้ด้วย
ต้องการค้นหาด้านกฎหมายใช่ไหม ? สามารถค้นหาบทความ, คำปรึกษาจริง, มาตราที่เกี่ยวข้อง คลิกที่นี่ !
เมื่อทราบว่าถูกปลอมแปลงเอกสารต้องทำอย่างไร
- เข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจทันทีที่ทราบเรื่อง จากนั้นตำรวจจะทำหมายเรียกเพื่อแจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ต้องหาทราบ ก่อนทำสำนวนคดีส่งให้อัยการเพื่อเข้ากระบวนการพิจารณาคดีของศาลต่อไป
- ติดต่อทนายความ เพื่อให้เจ้าทุกช์เป็นโจทย์ฟ้องร้องผู้ต้องหาด้วยตนเอง การพิจารณาคดีของศาลจะเริ่มตั้งแต่ว่าคดีดังกล่าวเป็นคดีที่มีมูลหรือไม่ ก่อนส่งฟ้องตามกระบวนการของศาลต่อไป
- อายุความในการปลอมแปลงเอกสาร คือ 10 ปี นับจากวันที่มีการยื่นเรื่องฟ้องร้อง
การปลอมแปลงเอกสารของผู้อื่น ไม่ว่าจะด้วยเจตนาใดก็ตาม ถือเป็นคดีความที่มีโทษทางอาญา ซึ่งต้องระวางโทษทั้งการจำคุก หรือปรับเป็นเงิน หรือทั้งจำทั้งปรับ และบทลงโทษก็มีผลทั้งต่อตัวผู้ใช้เอกสาร และผู้ที่จัดทำเอกสารด้วย ซึ่งนอกจากจะเป็นโทษที่รุนแรงแล้ว ยังทำให้ต้องเสียทั้งเวลา และเงินทองในการขึ้นศาลต่อสู้คดีด้วย ดังนั้นหากใครมีความคิดในการปลอมเอกสาร ขอแนะนำให้ลองทบทวนให้ดี ส่วนใครที่สนใจจะทำเอกสารสำคัญ และกลัวว่าจะมีการปลอมเอกสาร สามารถขอคำแนะนำได้ที่ Legardy ทนายความออนไลน์ ที่พร้อมให้คำปรึกษาตลอด 24 ชั่วโมง
แหล่งที่มา