รู้จักคดีฉ้อโกง อายุความคดีฉ้อโกงกี่ปี?
โดนหลอกขายสินค้า หลอกให้โอนค่าธรรมเนียม หลอกปล่อยเงินกู้ แล้วหนีหาย รู้หรือไม่ว่าแบบนี้เข้าข่ายความผิดฐาน “ฉ้อโกง” วันนี้ Legardy ชวนทำความรู้จักคดีที่เกิดขึ้นบ่อยในปัจจุบันอย่างคดีฉ้อโกง อายุความคดีฉ้อโกง รวมทั้งอัตราโทษคดีฉ้อโกง ใครที่ยังมีข้อสงสัยติดตามได้ในบทความนี้
คดีฉ้อโกงคืออะไร? อายุความคดีฉ้อโกงเท่าใด?
คดีฉ้อโกง คือ การกระทำที่มีเจตนาทุจริตหลอกลวงผู้อื่น โดยแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดความจริงที่ควรบอก เพื่อให้ได้ทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้คนอื่นทำ ถอน ทำลายเอกสารสิทธิ ซึ่งต้องมีเจตนาหลอกตั้งแต่แรก ถ้าหลอกหลังจากได้ทรัพย์สินไปแล้วจะไม่ถือว่ามีความผิดฐานฉ้อโกง
คำถามที่ว่าอายุความคดีฉ้อโกงกี่ปีนั้น จะแบ่งเป็น 2 อายุความ คือ
- อายุความคดีฉ้อโกงสำหรับร้องทุกข์ ผู้เสียหายต้องร้องทุกข์หรือฟ้องคดีภายใน 3 เดือน นับตั้งแต่รู้เรื่องและรู้ตัวผู้กระทำผิด ไม่อย่างนั้นคดีจะเป็นอันขาดอายุความในทางอาญา
- อายุความคดีฉ้อโกงสำหรับการนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ โดยเมื่อร้องทุกข์อย่างถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ต้องนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษหรือฟ้องศาลภายในอายุความ 10 ปี นับตั้งแต่วันที่กระทำความผิด
องค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกง
1. ผู้ใดหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง
2. โดยการหลอกลวงดังว่านั้น
- ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือ
- ทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ
3. โดยทุจริต (เจตนาพิเศษ)
อัตราโทษคดีฉ้อโกง
ตามกฎหมายอัตราโทษคดีฉ้อโกงมีหลายรูปแบบ ดังนี้
- ฉ้อโกงเพื่อให้ได้ทรัพย์สินคนอื่น หรือเพื่อให้คนอื่นทำ ถอน ทำลายเอกสารสิทธิ จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- ฉ้อโกงด้วยกลอุบาย แสดงตนเป็นคนอื่น หรืออาศัยความเบาปัญญาของผู้หลอกลวง จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- ฉ้อโกงประชาชน จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- ฉ้อโกงแรงงานตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ให้ทำงานโดยไม่จ่ายค่าแรงงานหรือค่าจ้าง หรือจ่ายค่าจ้างต่ำกว่าที่ตกลงกัน จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- ฉ้อโกงค่าอาหาร โรงแรม จำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท
- ฉ้อโกงผู้อื่นให้จำหน่ายทรัพย์สินโดยเสียเปรียบ โดยอาศัยเหตุจิตอ่อนแอ เด็กเบาปัญญา จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- ฉ้อโกงวินาศภัย แกล้งทำให้เกิดเสียหายแก่ทรัพย์สินอันเป็นวัตถุที่เอาประกันภัย จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทำอย่างไรเมื่อถูกฉ้อโกง?
เมื่อแน่ใจแล้วว่าตกเป็นเหยื่อการฉ้อโกง ให้รวบรวมหลักฐานทั้งหมดแจ้งความดำเนินคดี ภายใน 3 เดือน นับตั้งแต่ทราบเรื่องและรู้ตัวผู้กระทำผิด เพื่อป้องกันคดีขาดอายุความ
คดีฉ้อโกงยอมความได้หรือไม่?
คดีฉ้อโกงยอมความได้ ยกเว้นคดีฉ้อโกงประชาชน เพราะกระทบกระเทือนความสงบเรียบร้อยของสังคมเป็นส่วนรวม
ความแตกต่างระหว่างการฉ้อโกงและการยักยอกทรัพย์
การยักยอกทรัพย์ คือ การที่ผู้อื่นยื่นทรัพย์สินให้ด้วยความสมัครใจ ไม่ได้มีการหลอกลวงด้วยวิธีการใด ๆ แล้วต่อมาจึงนำเอาทรัพย์สินไปเป็นของตนเองหรือของบุคคลที่สาม แตกต่างกับการฉ้อโกง ซึ่งต้องมีการหลอกลวงให้ผู้อื่นหลงเชื่อก่อน เพื่อให้ผู้ที่ถูกหลอกส่งทรัพย์สินให้ตนเอง
คดีฉ้อโกงเกิดขึ้นบ่อยครั้ง โดยเฉพาะแก๊งคอลเซนเตอร์ต่าง ๆ ที่เราพบเห็นผู้เสียหายมากมายในปัจจุบัน ดังนั้นใครที่พบว่าตนเองถูกฉ้อโกง ไม่ว่าจะสูญเสียเงินมากหรือน้อย แนะนำให้รีบแจ้งความหรือฟ้องคดีให้เร็วที่สุด เพราะอายุความคดีฉ้อโกงสำหรับร้องทุกข์มีเพียง 3 เดือนเท่านั้น หากใครที่ต้องการความช่วยเหลือในการแจ้งความ ฟ้องคดี หรือมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการฉ้อโกง สามารถปรึกษาทนายได้ที่ Legardy ทนายของเรายินดีให้ความช่วยเหลือ แนะนำแนวทางเพื่อรักษาผลประโยชน์ของคุณให้มากที่สุด ปรึกษาเลยวันนี้
ปรึกษาทนายตัวจริง
สอบถามได้ทุกเรื่องราวทางกฎหมาย
"โดนโกง โดนประจาน" ปรึกษาได้ในคลิกเดียว