เผยแพร่เมื่อ: 2024-02-26

การค้ำประกัน การถอนค้ำประกัน หลักการและกรณีศึกษา

2.png


การค้ำประกันคืออะไร ?

การค้ำประกันคือการที่บุคคลภายนอกทำสัญญาผูกพันตนต่อเจ้าหนี้ว่าจะชำระหนี้แทนลูกหนี้ในกรณีที่ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ โดยต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกัน

ก่อนจะอธิบายถึงเรื่องการถอนค้ำประกัน ท่านผู้อ่านต้องเข้าใจเรื่องของการค้ำประกันก่อน ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 680 กำหนดไว้ว่า:

“อันว่าค้ำประกันนั้น คือ สัญญาซึ่งบุคคลภายนอกคนหนึ่ง เรียกว่า ผู้ค้ำประกัน ผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่ง เพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น อนึ่ง สัญญาค้ำประกันนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่”

การค้ำประกันคือ การที่บุคคลภายนอกทำสัญญาผูกพันตนต่อเจ้าหนี้ว่าจะชำระหนี้ ในกรณีที่ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ ซึ่งเจ้าหนี้จะฟ้องผู้ค้ำประกันได้จะต้องมี “หลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกัน” เป็นสำคัญ

ตรวจสอบสัญญาค้ำประกัน แบบถูกต้องตามกฎหมายได้ที่นี่ ! คลิกเลย 


ผู้ค้ำประกันสามารถถอนค้ำประกันได้หรือไม่

ผู้ค้ำประกันไม่มีสิทธิยกเลิกสัญญาค้ำประกันได้ เว้นแต่ลูกหนี้ชำระหนี้ครบถ้วนหรือหนี้ประธานของลูกหนี้ระงับสิ้นไป ต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าหนี้ก่อน

แม้ผู้ค้ำประกันตายก่อนลูกหนี้ สิทธิและหน้าที่ตามสัญญาค้ำประกันย่อมตกทอดแก่ทายาท แต่ทายาทไม่ต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกของผู้ค้ำประกันที่ตกทอดให้แก่ทายาท

สัญญาค้ำประกันเป็นสัญญาที่ผู้ค้ำประกันยอมผูกพันตนต่อเจ้าหนี้เพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ ผู้ค้ำประกันไม่ได้มีหนี้ที่จะต้องปฏิบัติโดยอาศัยความสามารถหรือคุณสมบัติบางอย่างซึ่งต้องกระทำเป็นการเฉพาะตัว ผู้ค้ำประกันมีความผูกพันต้องชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้อันเป็นความผูกพันในทางทรัพย์สิน แม้ขณะผู้ค้ำประกันถึงแก่ความตายผู้กู้ยังไม่ผิดนัดชำระหนี้ สัญญาค้ำประกันหาได้ระงับไปเพราะความตายของผู้ค้ำประกันไม่ สิทธิหน้าที่และความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันย่อมตกแก่ทายาท แต่ทายาทไม่ต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกของผู้ค้ำประกันที่ตกทอดได้แก่ตน แต่เมื่อเจ้าหนี้ไม่ได้มีหนังสือบอกกล่าวไปยังทายาทของผู้ค้ำประกันภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ผู้กู้ผิดนัด เจ้าหนี้จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้ทายาทของผู้ค้ำประกันรับผิดตามสัญญาค้ำประกัน (อ้างอิงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1303/2564)

จากคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า แม้ถึงขนาดที่ผู้ค้ำประกันตาย หนี้ตามสัญญาค้ำประกันยังไม่ระงับไป การที่ผู้ค้ำประกันจะถอนการค้ำประกันทำได้หรือไม่ ตามหลักกฎหมายผู้ค้ำประกันไม่มีสิทธิยกเลิกสัญญาค้ำประกันได้ เว้นแต่ลูกหนี้ชำระหนี้ครบถ้วน หรือหนี้ประธานของลูกหนี้เป็นอันระงับสิ้นไป ผู้ค้ำประกันจึงจะหลุดพ้นจากสัญญาค้ำประกัน จึงเป็นเรื่องที่ทำได้ แต่มีข้อจำกัด เนื่องจากการขอถอนการค้ำประกันต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าหนี้ก่อน ซึ่งเจ้าหนี้ต้องยินยอมที่จะให้แปลงหนี้ใหม่ หมายความว่า หากผู้ค้ำประกันจะถอนการค้ำประกัน ผู้ค้ำประกันจะต้องหาผู้ค้ำประกันคนใหม่ โดยยื่นเอกสารแสดงให้เจ้าหนี้เห็นว่าผู้ค้ำประกันรายใหม่มีเครดิตดีเช่นเดียวกับผู้ค้ำประกันคนเดิม เพื่อทำสัญญาค้ำประกันแทน ทั้งนี้ ต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าหนี้ และเจ้าหนี้บางรายอาจคิดค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนสัญญาค้ำประกันผู้ค้ำประกันรายใหม่ได้

ผลสัญญาค้ำประกันถึงตายแล้วก็ไม่หลุดพ้น ทำไมมาดูกัน ! คลิกเพื่ออ่าน


คดีที่ศาลยกฟ้องผู้ค้ำประกัน

ข้อตกลงที่กำหนดให้ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดอย่างเดียวกับลูกหนี้ร่วมหรือในฐานะลูกหนี้ร่วม ข้อตกลงนั้นเป็นโมฆะ

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 681/1 กำหนดไว้ว่า

“ข้อตกลงใดที่กำหนดให้ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดอย่างเดียวกับลูกหนี้ร่วมหรือในฐานะลูกหนี้ร่วม ข้อตกลงนั้นเป็นโมฆะ”

ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8418/2563 ได้วินิจฉัยว่า การทำสัญญาระหว่างนายเอกับนายซีที่ให้ร่วมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมเป็นการหลีกเลี่ยงกฎหมายที่คุ้มครองผู้ค้ำประกัน สัญญาดังกล่าวจึงเป็นโมฆะ

สรุป คือ การที่นายเอผู้เช่าซื้อ ทำสัญญาให้นายบีเป็นผู้เช่าซื้อแล้ว ให้นายซีตกลงรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับนายบีซึ่งเป็นผู้เช่าซื้อ ทั้งไม่ปรากฏว่าสัญญาเช่าซื้อได้ระบุให้นายซีเป็นผู้เช่าซื้อกับนายบีด้วย เท่ากับนายเอมีเจตนาให้นายซีเป็นผู้ค้ำประกันหนี้นายบี โดยให้รับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม การทำสัญญาดังกล่าวระหว่างนายเอผู้เช่าซื้อกับนายซี เป็นการหลีกเลี่ยงประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 681/1 ที่กำหนดไว้ว่า “ข้อตกลงใดที่กำหนดให้ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดอย่างเดียวกับลูกหนี้ร่วมหรือในฐานะลูกหนี้ร่วม ข้อตกลงนั้นเป็นโมฆะ ดังนั้น นายเอไม่สามารถฟ้องนายซีให้รับผิดให้หนี้ตามสัญญาเช่าซื้อที่ได้

อ่านคำปรึกษาจริงพร้อมคำตอบจากทนายความเรื่อง "การค้ำประกัน" 

Q: โดนคดีคนค้ำค่ะ โดยเเฟนเป็นคนไปค้ำประกันเอาเงินธนาคารให้เขา

Q: ผู้ค้ำประกันถึงแก่ความตายทายาทต้องรับผิดอย่างไรบ้าง

Q: ค้ำประกันสัญญาเช่าซื้อรถมอเตอร์ไซค์

Q: ฟ้องทายาทผู้ค้ำประกัน

 


กรณีใดที่ทำให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นความรับผิด

เมื่อหนี้ของลูกหนี้ชั้นต้นระงับไม่ว่าด้วยเหตุใด ผู้ค้ำประกันจะหลุดพ้นจากความรับผิดในหนี้นั้นด้วย

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 698 กำหนดไว้ว่า

“อันผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดในขณะเมื่อหนี้ของลูกหนี้ระงับสิ้นไปไม่ว่าเพราะเหตุใด ๆ”

หมายความว่า เมื่อหนี้ของลูกหนี้ชั้นต้นระงับไม่ว่าด้วยเหตุใด ย่อมทำให้ผู้ค้ำประกันซึ่งเป็นลูกหนี้ชั้นที่สองหลุดพ้นจากหนี้นั้นไปด้วย หนี้ของลูกหนี้ย่อมระงับไปเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 2 ดังนี้:


สถานการณ์ที่ทำให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นความรับผิด

1.ลูกหนี้ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ครบถ้วนตามสัญญาแล้ว

หนี้จึงระงับไป ผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดไปด้วย

2.เจ้าหนี้ปลดหนี้ให้ลูกหนี้

ตามมาตรา 340 กำหนดไว้ว่า:

“ถ้าเจ้าหนี้แสดงเจตนาต่อลูกหนี้ว่าจะปลดหนี้ให้ ท่านว่าหนี้นั้นก็เป็นอันระงับสิ้นไป ถ้าหนี้มีหนังสือเป็นหลักฐาน การปลดหนี้ก็ต้องทำเป็นหนังสือด้วย หรือต้องเวนคืนเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งหนี้ให้แก่ลูกหนี้ หรือขีดฆ่าเอกสารนั้นเสีย”

ยกตัวอย่างเช่น สัญญากู้ยืมได้ทำเป็นหนังสือ และสัญญาค้ำประกันได้ทำเป็นหนังสือ ถ้าเจ้าหนี้จะปลดหนี้ให้ลูกหนี้ การปลดหนี้ต้องทำเป็นหนังสือด้วย เมื่อลูกหนี้ได้รับการปลดหนี้จากเจ้าหนี้แล้ว ผู้ค้ำประกันยิ่มหลุดพ้นจากหนี้ดังกล่าวด้วย

3.หักลบกลบหนี้

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 341 กำหนดไว้ว่า:

“ถ้าบุคคลสองคนต่างมีความผูกพันซึ่งกันและกันโดยมูลหนี้อันมีวัตถุเป็นอย่างเดียวกัน และหนี้ทั้งสองรายนั้นถึงกำหนดจะชำระไซร้ ท่านว่าลูกหนี้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งย่อมจะหลุดพ้นจากหนี้ของตนด้วยหักกลบลบกันได้เพียงเท่าจำนวนที่ตรงกันในมูลหนี้ทั้งสองฝ่ายนั้น”

ในขณะที่หักลบกลับหนี้ หนี้ทั้ง 2 รายต้องถึงกำหนดชำระแล้ว จึงจะสามารถหักกลบลบหนี้กันได้ ยกตัวอย่างเช่น นายไก่เป็นหนี้ค้างชำระสินค้ากับนายไข่จำนวน 100,000 บาท ส่วนนายไข่เป็นหนี้เงินกู้ยืมนายไก่จำนวน 100,000 บาท และมีนายกุ้งเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ดังกล่าวจำนวน 100,000 บาท ทั้งมูลหนี้ค้างชำระค่าสินค้า และมูลหนี้เงินกู้ยืม ต่างถึงกำหนดชำระแล้ว ทั้งนายไก่และนายไข่จึงหักลบกลบหนี้กัน ให้หนี้ทั้ง 2 รายระงับสิ้นไป โดยทั้งสองฝ่ายไม่ต้องจ่ายเงินชำระหนี้กันไปกันมา เช่นนี้ นายกุ้งในฐานะผู้ค้ำประกันจึงหลุดพ้นจากความรับผิดด้วย

4.แปลงหนี้ใหม่

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 349 วรรคหนึ่ง กำหนดไว้ว่า:

“เมื่อคู่กรณีที่เกี่ยวข้องได้ทำสัญญาเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ไซร้ ท่านว่าหนี้นั้นเป็นอันระงับสิ้นไปด้วยแปลงหนี้ใหม่”

หมายความว่า เจ้าหนี้และลูกหนี้ได้ตกลงแปลงหนี้ใหม่ โดยให้หนี้เดิมระงับและมีการตกลงบังคับกันตามหนี้ที่ตกลงกันใหม่ โดยมีการเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้เดิม กล่าวคือ มีการตกลงให้เปลี่ยนตัวลูกหนี้ เปลี่ยนตัวเจ้าหนี้ หรือเปลี่ยนวัตถุแห่งหนี้ ยกตัวอย่างเช่น นายต้นเป็นหนี้เงินกู้นายวิทย์เป็นจำนวน 10,000 บาท และมีนายแคนเป็นผู้ค้ำประกันหนี้เงินกู้ดังกล่าว พอถึงกำหนดชำระหนี้ นายวิทย์ผู้เป็นเจ้าหนี้ได้ให้นายต้นจัดทำอาหารเพื่อเลี้ยงลูกน้องในวันครบรอบเปิดบริษัทแทนนายวิทย์ ถือว่านายต้นได้ทำการชำระหนี้ให้นายวิทย์แทนเงินแล้ว หนี้เงินกู้เป็นอันระงับไป นายแคนเป็นผู้ค้ำประกันหนี้เงินกู้ดังกล่าวหลุดพ้นจากความรับผิดในหนี้ไปด้วย

5.หนี้เกลื่อนกลืนกัน

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 353 กำหนดไว้ว่า:

“ถ้าสิทธิและความรับผิดในหนี้รายใดตกอยู่แก่บุคคลคนเดียวกัน ท่านว่าหนี้รายนั้นเป็นอันระงับสิ้นไป”

ยกตัวอย่างเช่น กรณีเจ้าหนี้หรือลูกหนี้เป็นทายาทในการรับมรดกตามพินัยกรรมของอีกฝ่ายหนึ่ง ความเป็นเจ้าหนี้และลูกหนี้จึงอยู่ในคนเดียวกัน เช่น นายเอซึ่งเป็นลูก เป็นหนี้เงินกู้นายบีซึ่งเป็นพ่อจำนวน 200,000 บาท ต่อมานายบีถึงแก่ความตาย โดยนายบีได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินทั้งหมดของนายบีให้แก่นายเอผู้เดียว เช่นนี้ให้ถือว่าหนี้ระงับสิ้นไป เพราะสิทธิและหน้าที่ของผู้ตายตกอยู่ในนายเอซึ่งเป็นลูกหนี้แล้ว

6.คดีขาดอายุความ

หนี้ประธานเช่นสัญญาเช่าซื้อขาดอายุความ ผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากหนี้ดังกล่าวไปด้วย

7.เจ้าหนี้ไม่บังคับคดีภายใน 10 ปีนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด


ผู้ค้ำประกันให้กับลูกหนี้ที่ผิดสัญญาเช่าซื้อรถมีอายุความกี่ปี

ค้ำประกันรถหมดอายุความในการฟ้องผู้ค้ำประกันมีอายุ 10 ปี นับแต่วันที่ลูกหนี้ผู้เช่าซื้อผิดสัญญา

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 กำหนดไว้ว่า:

“อายุความนั้น ถ้าประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ให้มีกำหนดสิบปี”

อายุความฟ้องคดีกรณีผู้เช่าซื้อผิดสัญญาเช่าซื้อรถ มีอายุความ 10 ปี อ้างอิงจากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2742/2556 ที่เคยวินิจฉัยไว้ว่า กรณีที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาเช่าซื้อ การฟ้องเรียกค่าเสียหายเช่นนี้เป็นผลมาจากการเลิกสัญญาไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความสิบปีตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 ซึ่งเมื่อสัญญาเช่าซื้อสิ้นสุดลงผู้ให้เช่าซื้อย่อมอาจบังคับให้ผู้เช่าซื้อชดใช้ค่าขาดประโยชน์และราคารถยนต์ส่วนที่ขาดได้นับแต่วันดังกล่าวตามมาตรา 193/12 ซึ่งเป็นวันที่อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องนั้นได้ มิใช่สิทธิเรียกร้องของผู้ให้เช่าซื้อมีอายุความสิบปีนับแต่วันทำสัญญา

อายุความในการฟ้องผู้ค้ำประกัน คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1554/2534 เคยวินิจฉัยไว้ว่า จำเลยที่ 1 ทุจริตยักยอกเงินของโจทก์ที่จำเลยที่ 1 ไปเก็บจากลูกค้าเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2526 วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2526 และวันที่ 6 กรกฎาคม 2526 รวมเป็นเงิน 28,989.20 บาท จำเลยที่ 1 ได้ชื่อว่าผิดนัดตั้งแต่วันดังกล่าว ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 206 โจทก์จึงอาจเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1ต่อโจทก์รับผิดใช้เงินดังกล่าวนับแต่วันเกิดเหตุตามมาตรา 686 อันเป็นวันที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ อายุความจึงเริ่มนับแต่วันนั้น มิใช่เริ่มนับตั้งวันที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาค้ำประกันต่อโจทก์เมื่อนับถึงวันฟ้องยังไม่พ้นกำหนด 10 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

ดังนั้น เมื่อพิจารณาเทียบเคียงกับคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2742/2556 และ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1554/2534 จึงได้ข้อสรุปว่า ผู้ค้ำประกันให้กับลูกหนี้ที่ผิดสัญญาเช่าซื้อรถ มีอายุความ 10 ปี เมื่อลูกหนี้ผิดสัญญาเช่าซื้อ เจ้าหนี้ต้องฟ้องผู้ค้ำประกันภายในอายุความ 10 ปีนับแต่วันที่ลูกหนี้ผู้เช่าซื้อผิดสัญญา ไม่ใช่นับแต่วันที่ทำสัญญาเช่าซื้อหรือนับแต่วันที่ทำสัญญาค้ำประกัน

คลิกเพื่อรับชม : บทความทั้งหมด, คำปรึกษาจริงพร้อมคำตอบจากทนายความ, มาตรากฎหมายที่เกี่ยวข้องเรื่อง "การค้ำประกัน"

3.png


ลูกหนี้เสียชีวิต ผู้ค้ำประกันต้องทำอย่างไร

หากลูกหนี้เสียชีวิต ผู้ค้ำประกันต้องแจ้งธนาคารและตรวจสอบว่าธนาคารได้ฟ้องทายาทของลูกหนี้ภายใน 1 ปีหรือไม่ เพื่อหลุดพ้นจากความรับผิด

ยกตัวอย่าง การที่นายไก่ เป็นลูกหนี้ ทำสัญญากู้ยืมเงินกับธนาคารซึ่งเป็นเจ้าหนี้ จำนวน 500,000 บาท และมีนายไข่ เป็นผู้ค้ำประกันหนี้จำนวนดังกล่าว เมื่อนายไก่ซึ่งเป็นผู้กู้ตายก่อน นายไข่ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกัน ธนาคารมีหน้าที่ต้องฟ้องทายาทโดยธรรมของนายไก่ให้รับผิดตามสัญญากู้ ภายใน 1 ปีนับแต่เมื่อธนาคารได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของนายไก่ หากธนาคารไม่ใช้สิทธิฟ้องทายาทของนายไก่ให้รับผิดตามสัญญาเงินกู้ ภายในหนึ่งปีนับแต่เมื่อธนาคารได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของผู้ตาย สิทธิเรียกร้องของธนาคารที่มีต่อผู้ตายหรือกองมรดกของผู้ตายจึงเป็นอันขาดอายุความตามมาตรา 1754 วรรคสาม นายไข่เป็นผู้ค้ำประกันย่อมสามารถยกข้อต่อสู้ดังกล่าวขึ้นต่อสู้ธนาคาร เพื่อให้ตนเองพ้นความรับผิดได้ด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 694 ที่กำหนดไว้ว่า “นอกจากข้อต่อสู้ซึ่งผู้ค้ำประกันมีต่อเจ้าหนี้นั้น ท่านว่าผู้ค้ำประกันยังอาจยกข้อต่อสู้ทั้งหลายซึ่งลูกหนี้มีต่อเจ้าหนี้ขึ้นต่อสู้ได้ด้วย”

ดังนั้น ถ้าลูกหนี้ตายก่อนผู้ค้ำประกัน ผู้ค้ำประกันต้องทำอย่างไร ผู้ค้ำประกันต้องสืบหาข้อมูลว่าลูกหนี้ตายเมื่อใด และแจ้งให้ธนาคารทราบ เมื่อธนาคารทราบถึงการตายของลูกหนี้แล้ว แต่ไม่ฟ้องทายาทของลูกหนี้ภายในกำหนด 1 ปีนับแต่เมื่อธนาคารได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของผู้ตาย สิทธิเรียกร้องของธนาคารที่มีต่อผู้ตายหรือกองมรดกของผู้ตายจึงเป็นอันขาดอายุความตามมาตรา 1754 วรรคสาม เมื่อหนี้ของลูกหนี้ขาดอายุความ ผู้ค้ำประกันสามารถยกข้อต่อสู้ดังกล่าวกับธนาคารให้หลุดพ้นจากความรับผิดในหนี้ดังกล่าวได้

อ้างอิงจากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 350/2564 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 350/2564 ได้วินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 692 บัญญัติว่าอายุความสะดุดหยุดลงเป็นโทษแก่ลูกหนี้นั้น ย่อมเป็นโทษแก่ผู้ค้ำประกันด้วย แต่บทบัญญัติดังกล่าวหาได้บัญญัติว่าหากอายุความสะดุดหยุดลงเป็นโทษแก่ผู้ค้ำประกันรายหนึ่งจะเป็นโทษแก่ผู้ค้ำประกันร่วมรายอื่นหรือเป็นโทษแก่ลูกหนี้ชั้นต้นด้วย จำเลยทั้งสามต่างฝ่ายต่างยอมตนเข้าเป็นผู้ค้ำประกันในหนี้กู้ยืมของผู้ตายที่มีต่อโจทก์ ตามหนังสือเงินกู้สามัญ จำเลยทั้งสามจึงมีความรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกัน แม้ถึงว่าจะมิได้เข้ารับค้ำประกันรวมกันตาม มาตรา 682 วรรคสอง ดังนี้ อายุความของลูกหนี้ร่วมคนใดก็ย่อมเป็นไป เพื่อคุณและโทษแต่เฉพาะแก่ลูกหนี้คนนั้น ฉันใดฉันนั้น เมื่ออายุความสะดุดหยุดลงเฉพาะแก่ลูกหนี้ร่วมคนใดก็ย่อมเป็นไปเพื่อคุณและโทษแต่เฉพาะแก่ลูกหนี้คนนั้นเช่นกัน ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 295 แม้การที่จำเลยทั้งสามต่างผ่อนชำระหนี้ตามสัญญาค้ำประกันให้แก่โจทก์หลายครั้งภายหลังผู้ตายซึ่งเป็นผู้กู้ถึงแก่ความตาย ย่อมถือเป็นการรับสภาพหนี้ตามสัญญาค้ำประกันต่อโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ เป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงตามมาตรา 193/14 (1) ต้องเริ่มนับอายุความใหม่ตามสัญญาค้ำประกันอันเป็นมูลหนี้เดิมตามมาตรา 193/15 วรรคหนึ่ง ก็ตาม แต่ก็หาทำให้มูลหนี้ตามสัญญากู้ยืมอันเป็นหนี้ประธานของผู้ตายซึ่งเป็นลูกหนี้ชั้นต้นสะดุดหยุดลงด้วยไม่และเมื่อโจทก์มิได้ฟ้องทายาทผู้ตายให้รับผิดตามสัญญาเงินกู้สามัญ ภายในหนึ่งปีนับแต่เมื่อโจทก์ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของผู้ตาย สิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่มีต่อผู้ตายหรือกองมรดกของผู้ตายจึงเป็นอันขาดอายุความตามมาตรา 1754 วรรคสาม จำเลยทั้งสามซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันย่อมสามารถยกข้อต่อสู้ดังกล่าวขึ้นต่อสู้โจทก์เพื่อให้ตนเองพ้นความรับผิดได้ด้วยตามมาตรา 694


หากต้องการคำปรึกษาทางด้านกฎหมาย ทนายจาก Legardy มากกว่า 500ท่าน พร้อมให้คำปรึกษาตลอด 24 ชั่วโมง หรือคลิกที่ลิงค์

ปรึกษาทนายตัวจริง

สอบถามได้ทุกเรื่องราวทางกฎหมาย

"โดนโกง โดนประจาน" ปรึกษาได้ในคลิกเดียว

ทนายพร้อมให้คำปรึกษาตลอด 24 ชม.
4.8/5
รีวิวจากผู้ใช้งานจริงมากกว่า 16000 รีวิว
sanook ข่าวสด มติชน spring
cta
ปรึกษาทนาย 24 ชั่วโมง
“ ได้รับคำตอบทันที ! “
ติดต่อเราทาง LINE