ขั้นตอนการแบ่งมรดก่ที่ถูกต้องตามกฎหมายตามคำแนะนำของทนายความ
มรดกคืออะไร ?
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1600 ได้ให้ความหมายของคำว่า “มรดก” ว่าหมายถึง ทรัพย์สินทุกชนิด สิทธิ หน้าที่ และความรับผิดต่าง ๆ ของผู้ตาย ตัวอย่างเช่น เงิน รถยนต์ บ้าน ที่ดิน สิทธิในภาระจำยอม สิทธิในการให้เช่าทรัพย์ของผู้ให้เช่า(แต่สำหรับผู้เช่า สิทธิในการเช่าเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้เช่า ดังนั้น เมื่อผู้เช่าตายสัญญาเช่าจึงระงับ ไม่ตกทอดแก่ทายาท) หนี้ตามสัญญาต่าง ๆ เป็นต้น นอกจากนี้ ทรัพย์สิน สิทธิ หน้าที่ และความรับผิดนั้น ต้องเป็นสิ่งที่ผู้ตายมีอยู่ก่อนตาย หากเกิดขึ้นภายหลังการตายย่อมไม่ถือเป็นมรดกของผู้ตาย
สำหรับหนี้นั้น ทายาทต้องรับผิดในหนี้ของผู้ตายด้วย เพียงแต่ทายาทไม่ต้องรับผิดในหนี้เกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดแก่ตน เช่น มารดามีหนี้ 1,000,000 บาท มีมรดกเป็นเงินสดที่ตกแก่บุตร 10,000 บาท บุตรก็รับในหนี้นั้นเพียง 10,000 บาท (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1601) นอกจากนี้ หนี้นั้นต้องไม่ใช่หนี้ที่เป็นการเฉพาะตัวของผู้ตาย เช่น มารดามีหนี้กระทำการที่ต้องไปร้องเพลงในงานแต่งให้แก่ผู้ว่าจ้าง เมื่อมารดาตาย บุตรก็ไม่ต้องไปร้องเพลงในงานแทนมารดาของตน เป็นต้น
'พ่อแม่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส ลูกมีสิทธิ์ได้มรดกไหม? บทความนี้มีคำตอบ!'
ใครที่เป็นผู้มีหน้าที่แบ่งทรัพย์มรดก ?
ในทางปฏิบัติผู้ที่มีหน้าที่จัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทมักเป็นผู้จัดการมรดก ไม่ว่าจะเป็นผู้จัดการมรดกที่ผู้ตายแต่งตั้งไว้ในพินัยกรรม หรือเป็นทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียที่ร้องต่อศาลขอแต่งตั้งตนเป็นผู้จัดการมรดกโดยได้รับความยินยอมจากทายาทอื่นก็ตาม
ใครบ้างที่มีสิทธิได้รับทรัพย์มรดก ?
หากผู้ตายทำพินัยกรรมไว้ว่าจะยกทรัพย์มรดกของตนให้แก่ใคร โดยปกติแล้วย่อมเป็นไปตามนั้น ผู้มีสิทธิรับมรดกตามพินัยกรรม คือ “ผู้รับพินัยกรรม”
แต่หากผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ หรือมีทรัพย์สินที่ไม่ได้ระบุไว้ในพินัยกรรม มรดกนั้นย่อมตกแก่ “ทายาทโดยธรรม” ซึ่งตามกฎหมายได้กำหนดลำดับชั้นของทายาทโดยธรรมไว้ ดังต่อไปนี้
1. ผู้สืบสันดาน ได้แก่ บุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้ว และบุตรบุญธรรม
2. บิดามารดา (สำหรับบิดาต้องชอบด้วยกฎหมาย) 'บิดาชอบด้วยกฎหมายคืออะไร บทความนี้มีคำตอบ คลิกเลย!'
3. พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน
4. พี่น้องร่วมบิดาหรือมารดาเดียวกัน
5. ปู่ ย่า ตา ยาย
6. ลุง ป้า น้า อา
นอกจากนี้ คู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย ยังถือเป็นทายาทโดยธรรมเช่นกัน เพียงแต่ไม่อยู่ในลำดับทายาทโดยธรรมข้างต้น เนื่องจากคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมายมีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตายเสมอ เพียงแต่สัดส่วนที่ได้รับจะมากหรือน้อยต้องพิจารณาจากทายาทโดยธรรมลำดับที่ 1 – 6 ข้างต้นว่าลำดับใดมีชีวิตอยู่บ้าง
ลำดับการแบ่งทรัพย์มรดก
1. การแบ่งทรัพย์มรดกของทายาทโดยธรรม
การแบ่งปันทรัพย์มรดกของทายาทโดยธรรมจะมีการจัดการตามลำดับชั้นทายาท 1 – 6 ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว กล่าวคือ หากมีทายาทลำดับก่อนมีชีวิตอยู่หรือมีผู้รับมรดกแทนที่แล้ว ทายาทลำดับหลังย่อมไม่มีสิทธิได้มรดก หรือที่เรียกกันว่า “หลักญาติสนิทตัดญาติห่าง” อาทิเช่น กรณีที่ผู้ตายมีบุตรที่ยังมีชีวิตอยู่ พี่น้องของผู้ตายก็ไม่มีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกนั้น หรือกรณีที่ผู้ตายมีพี่หรือน้องอยู่ ลุง ป้า น้า อา ก็ไม่มีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกนั้น เป็นต้น (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1630)
แต่อย่างไรก็ตาม หลักญาติสนิทตัดญาติห่าง ข้างต้นจะไม่นำมาใช้หากเป็นกรณีที่ผู้ตายมีทั้งบุตรและบิดามารดาที่ยังมีชีวิตอยู่ บุตรและบิดามารดาจะได้รับส่วนแบ่งในทรัพย์มรดกเท่า ๆ กัน (ทายาทลำดับที่ 1 ไม่ตัดทายาทลำดับที่ 2)
2. การแบ่งทรัพย์มรดกของคู่สมรส (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1635)
ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่าไม่ว่าทายาททั้ง 6 ลำดับใครจะมีชีวิตอยู่บ้าง คู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมายก็มีสิทธิได้รับมรดกเสมอ (คู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย หมายถึง คู่สมรสที่มีการจดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมาย และการสมรสนั้นไม่เป็นโมฆะ) เพียงแต่สัดส่วนที่คู่สมรสได้รับจะไม่เท่ากัน โดยพิจารณาจากลำดับทายาทที่มีชีวิตอยู่ ดังต่อไปนี้
2.1 คู่สมรสได้รับมรดกเสมือนทายาทชั้นบุตร(ทายาทลำดับที่ 1) ในกรณีที่ผู้ตายมีบุตรที่มีชีวิตอยู่ หรือผู้ตายมีบุตรและบิดามารดาที่มีชีวิตอยู่ ตัวอย่างเช่น ผู้ตายมีมรดกเป็นเงิน 1,000,000 บาท ผู้ตายมีทายาทคือ บุตร 2 คน บิดา และคู่สมรส ดังนี้ บุตรทั้ง 2 คน บิดา และคู่สมรส จะได้ส่วนแบ่งเท่า ๆ กัน คนละ 250,000 บาท เป็นต้น
2.2 คู่สมรสได้รับมรดกครึ่งหนึ่ง ในกรณีที่ผู้ตายไม่มีบุตรแต่มีบิดามารดาที่มีชีวิตอยู่ หรือผู้ตายไม่มีบุตรและบิดามารดา แต่มีพี่น้องร่วมบิดามารดาที่มีชีวิตอยู่ ตัวอย่างเช่น ผู้ตายมีมรดกเป็นเงิน 1,000,000 บาท ผู้ตายมีทายาทคือ พี่ชาย น้องสาว และคู่สมรส ดังนี้ คู่สมรสจะได้รับ 500,000 บาท และพี่ชาย น้องสาว จะได้คนละ 250,000 บาท เป็นต้น
2.3 คู่สมรสได้รับมรดก 2/3 ในกรณีที่ผู้ตายมีพี่น้องร่วมบิดามารดา หรือมีปู่ ย่า ตา ยาย หรือมีลุง ป้า น้า อา ที่มีชีวิตอยู่ ตัวอย่างเช่น ผู้ตายมีมรดกเป็นเงิน 1,000,000 บาท ผู้ตายมีทายาทคือ ปู่ ย่า และคู่สมรส ดังนี้ คู่สมรสจะได้รับ 2/3 ของ 1,000,000 บาท หรือประมาณ 666,666 บาท ส่วนปู่และย่า จะได้คนละ 166,666.5 บาท เป็นต้น
2.4 คู่สมรสได้รับมรดกทั้งหมด ในกรณีที่ไม่มีทายาททั้ง 6 ลำดับเลยซักคน
ต้องการค้นหาด้านกฎหมายใช่ไหม ? สามารถค้นหาบทความ, คำปรึกษาจริง, มาตราที่เกี่ยวข้อง คลิกที่นี่ !
วิธีแบ่งทรัพย์มรดก
เมื่อทราบแล้วว่าผู้ใดมีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกบ้าง เพียงใด ต่อไปจะมากล่าวถึงวิธีการแบ่งทรัพย์มรดก ซึ่งวิธีการแบ่งทรัพย์มรดกนั้น โดยหลักแล้วทายาทสามารถตกลงกันได้ในระหว่างทายาทกันเอง แต่กฎหมายก็ได้กำหนดวิธีการแบ่งทรัพย์มรดกไว้สำหรับกรณีที่ตกลงไม่ได้ โดยบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1750 ดังนี้
1. ทายาทเข้าครอบครองทรัพย์สินเป็นส่วนสัด เช่น บุตรคนโตเอาบ้านที่ลำปาง บุตรคนกลางเอาบ้านที่ภูเก็ต บุตรคนเล็กเอาบ้านที่เชียงใหม่ เป็นต้น
2. ขายทรัพย์มรดกแล้วเอาเงินที่ได้มาแบ่งกัน โดยหลักมักใช้สำหรับกรณีที่ตกลงกันไม่ได้ว่าใครจะเอาอะไร จึงสามารถทำได้โดยเอามรดกทั้งหมดไปขายและแบ่งเงินให้เท่า ๆ กัน
กรณีผู้จัดการมรดกแบ่งทรัพย์มรดกไม่ชอบด้วยกฎหมาย
สำหรับกรณีที่ผู้จัดการมรดกแบ่งทรัพย์มรดกไม่ชอบด้วยกฎหมาย แบ่งทรัพย์มรดกไม่เป็นไปตามความตกลงของทายาท หรือไม่ยอมแบ่งทรัพย์มรดก เช่น ผู้จัดการมรดกโอนทรัพย์เป็นของตนเองทั้งหมด โอนให้แก่ทายาทคนใดคนหนึ่งเพียงคนเดียว หรือได้รับแต่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดกแล้วแต่ไม่ยอมจัดการทรัพย์มรดกซักที เป็นต้น หากปรากฏเหตุเหล่านี้ ทายาทสามารถดำเนินการได้ ดังต่อไปนี้
1. ฟ้องถอนผู้จัดการมรดก และแต่งตั้งผู้จัดการมรดกคนใหม่ให้เข้าไปจัดการแทน
2. ฟ้องแบ่งทรัพย์มรดก เป็นการฟ้องขอให้ผู้จัดการมรดกดำเนินการจัดการแบ่งทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทตามกฎหมาย
3. ฟ้องเพิกถอนการโอนทรัพย์มรดก มักใช้ในกรณีที่ผู้จัดการมรดกโอนทรัพย์เป็นของตนเองคนเดียว โอนไปให้ทายาทคนใดคนหนึ่งคนเดียว หรือขายให้แก่บุคคลภายนอกแล้ว ทำให้ทายาทอื่นได้รับความเสียหาย เพื่อให้ทรัพย์นั้นกลับคืนสู่กองมรดกและมาจัดการแบ่งกันใหม่ให้เป็นไปตามกฎหมาย
4. ดำเนินคดีอาญาฐานยักยอกทรัพย์มรดก เช่น ในกรณีที่ผู้จัดการมรดกโอนทรัพย์เป็นของตนเองคนเดียว หรือขายทรัพย์มรดกและนำเงินมาใช้เอง หรือโอนให้แก่ทายาทคนใดคนหนึ่งหรือบุคคลภายนอก เป็นต้น กรณีเหล่านี้ถือเป็นความผิดตามกฎหมาย ทายาทที่เสียหาย ถือเป็นผู้เสียหายสามารถดำเนินคดีแก่ผู้จัดการมรดก หรือทายาทที่รู้เห็นเป็นใจรับทรัพย์นั้นไปเป็นของตนคนเดียวได้ โดยสามารถแจ้งความหรือฟ้องคดีต่อศาลในความผิดฐานยักยอกทรัพย์มรดก
คลิกเพื่ออ่านกว่า 180คำปรึกษาจริง เรื่อง "มรดก" พร้อมคำตอบจากทนายความตัวจริง อ่านเลย!
Q: โดนโกงที่ดินมรดก ผู้จัดการมรดกโอนที่ดินเป็นชื่อตนเองและนำไปจำนอง ต้องทำอย่างไร อ่านเลย!
Q: เจ้าหนี้สามารถยึดทรัพย์สินที่ได้จากมรดกได้หรือเปล่าครับ
Q: จะฟ้องผู้จัดการมรดกต้องเริ่มต้นยังไงบ้าง
สรุป
กล่าวโดยสรุป กฎหมายได้กำหนดทายาทที่มีสิทธิรับมรดก และวิธีการแบ่งทรัพย์มรดกไว้อย่างชัดเจน แม้ในทางปฏิบัติทายาทจะสามารถตกลงกันเองได้ แต่หากไม่สามารถตกลงกันได้ทนายก็แนะนำให้ดำเนินการแบ่งทรัพย์มรดกให้เป็นไปตามกฎหมาย เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการฟ้องหรือถูกฟ้องคดีต่อศาล หรืออาจมีความผิดเป็นประวัติติดตัวต่อไป หากมีข้อสงสัยต้องการปรึกษาทนายความเพื่อหาทางออกกฎหมาย สามารถติดต่อผ่าน Legardy ได้ตลอด 24ชั่วโมงครับ
ปรึกษาทนายตัวจริง
สอบถามได้ทุกเรื่องราวทางกฎหมาย
"โดนโกง โดนประจาน" ปรึกษาได้ในคลิกเดียว
สมัครเป็นทนายออนไลน์
แพล็ทฟอร์มรวบรวม
งานกฎหมายจากทั่วประเทศ



