3.png
เผยแพร่เมื่อ: 2024-05-15

การตั้งผู้จัดการมรดกไม่ยากอย่างที่คิด

ผู้จัดการมรดก คือ บุคคลที่มีสิทธิและหน้าที่ในการจัดการเกี่ยวกับทรัพย์มรดกของผู้ตาย ไม่ว่าจะจัดสรรแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทที่มีสิทธิรับมรดก นำไปชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ของผู้ตาย หรือติดตามให้ลูกหนี้ของผู้ตายชำระหนี้ หรืออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินของผู้ตาย

 

1.png


สาเหตุที่ต้องมีการตั้งผู้จัดการมรดก

เมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย และมีทรัพย์สินที่เป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทไม่ว่าจะเป็นทายาทโดยธรรม หรือทายาทโดยพินัยกรรม บรรดาทรัพย์สินต่าง ๆ ทายาทอาจไม่สามารถไปดำเนินการติดต่อรับโอนทรัพย์สินเหล่านั้นได้ด้วยตนเอง เช่น โฉนดที่ดิน ทะเบียนรถยนต์ บัญชีเงินฝากธนาคาร เป็นต้น โดยเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่ทายาทไปติดต่อมักแจ้งแก่ทายาทว่าให้ไปดำเนินการตั้งผู้จัดการมรดกก่อน จึงจะสามารถรับโอนทรัพย์ได้ ซึ่งการที่เจ้าหน้าที่ไม่สามารถดำเนินการให้ได้นี้ ส่วนมากเราจะเรียกกันว่า “เหตุขัดข้องที่ต้องตั้งผู้จัดการมรดก”

'พ่อแม่ไม่ได้จดทะเบียนกัน ลูกมีสิทธิรับมรดกไหม?'


บุคคลใดบ้างที่มีสิทธิร้องขอตั้งผู้จัดการมรดก

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 ได้กำหนดเกี่ยวกับบุคคลที่มีสิทธิยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายไว้ด้วยกัน 3 บุคคล ดังต่อไปนี้

1. ทายาท ซึ่งหมายความทั้งทายาทโดยธรรมและทายาทผู้รับพินัยกรรม

1.1 ทายาทโดยธรรม สำหรับทายาทโดยธรรมนั้นเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629 ที่กำหนดทายาทโดยธรรมไว้ 6 ลำดับ ได้แก่

(1) ผู้สืบสันดาน รวมถึงบุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองและบุตรบุญธรรม

(2) บิดามารดา

(3) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน

(4) พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน

(5) ปู่ ย่า ตา ยาย

(6) ลุง ป้า น้า อา

ต้องการค้นหาด้านกฎหมายใช่ไหม ? สามารถค้นหาบทความ, คำปรึกษาจริง, มาตราที่เกี่ยวข้อง คลิกที่นี่ !

 

 

และนอกจากบุคคลทั้ง 6 ลำดับข้างต้นยังรวมถึงคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมายของเจ้ามรดก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629 วรรคสอง และผู้รับมรดกแทนที่ของทายาททั้ง 6 ลำดับข้างต้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1639 และนอกจากนั้น ทายาทโดยธรรมที่จะมีสิทธิร้องขอจัดตั้งผู้จัดการมรดกได้จะต้องเป็นทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิรับมรดกของเจ้ามรดกผู้ตายด้วย (เทียบคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5543/2551)

1.2 ทายาทผู้รับพินัยกรรม หมายถึง ทายาทที่มีสิทธิรับทรัพย์ตามพินัยกรรม

2. ผู้มีส่วนได้เสีย หมายถึงบุคคลที่มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกนั้น ตัวอย่างเช่น ผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เยาว์ ในกรณีที่ทายาทที่มีสิทธิรับมรดกยังเป็นผู้เยาว์ (เทียบคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2731/2556) เจ้าของรวมในทรัพย์มรดก (เทียบคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 902/2541) เจ้าหนี้ของกองมรดก (เทียบคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1695/2531 ประชุมใหญ่) เป็นต้น

3. พนักงานอัยการ

อย่างไรก็ตาม หากเจ้ามรดกผู้ตายได้ทำพินัยกรรมไว้ และในข้อกำหนดพินัยกรรมได้แต่งตั้งบุคคลหนึ่งบุคคลใด หรือหลายบุคคลให้เป็นผู้จัดการมรดกไว้ กฎหมายก็กำหนดให้ศาลแต่งตั้งผู้จัดการมรดกไปตามข้อกำหนดพินัยกรรมนั้น (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 วรรคสอง)

 

'แล้วถ้าไม่มีพินัยกรรม มรดกจะตกเป็นของใคร? บทความนี้มีคำตอบ อ่านเลย คลิก!'

 

2.png


คุณสมบัติต้องห้ามของผู้จัดการมรดก

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1718 ได้กำหนดเกี่ยวกับคุณสมบัติของบุคคลที่ไม่สามารถเป็นผู้จัดการมรดกได้ ดังนี้

1. ผู้ซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะ (อายุไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์)

2. บุคคลวิกลจริต หรือบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นผู้เสมือนไร้ความสามารถ

3. บุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นบุคคลล้มละลาย

 

'อ่านมากกว่า 60คำปรึกษาจริง เรื่อง "ผู้จัดการมรดก" พร้อมคำตอบจากทนายความ ได้ที่นี่ คลิกเลย!'

Q: แบ่งทรัพย์สิน หลังจากเป็นผู้จัดการมรดก

Q: ปัญหาแรกเริ่มการตั้งผู้จัดการมรดก

Q: คือผมอยากยื่นคัดค้านน้องชายที่ยื่นขอเป็นผู้จัดการมรดก


ขั้นตอนในการขอตั้งผู้จัดการมรดก

เมื่อบุคคลใดถึงแก่ความตายและมีเหตุขัดข้องให้ต้องตั้งผู้จัดการมรดก ทายาท ผู้มีส่วนได้เสีย หรือพนักงานอัยการ ต้องดำเนินการยื่นคำร้องขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดกของผู้ตายต่อศาล ซึ่งทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียสามารถกระทำได้ ดังนี้

1. ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียดำเนินการรวบรวมเอกสารหลักฐาน และแต่งตั้งทนายความที่ไว้วางใจให้ดำเนินการจัดทำคำร้องยื่นต่อศาลด้วยตนเอง หรือ

2. ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสีย สามารถไปติดต่อสำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือกฎหมายฯ เพื่อยื่นเอกสารให้พนักงานอัยการจัดทำคำร้องยื่นต่อศาลก็ได้เช่นกัน **แต่สำหรับกรณีที่ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสีย จะดำเนินการให้พนักงานอัยการจัดทำคำร้องยื่นต่อศาลให้ ต้องปรากฏว่าไม่มีผู้คัดค้านการตั้งผู้จัดการมรดกนั้น และทายาททุกคนต้องมาแสดงความยินยอมเป็นหนังสือต่อหน้าเจ้าหน้าที่

สำหรับเขตอำนาจศาลในการยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกนั้น คือ ศาลที่เจ้ามรดกผู้ตายมีภูมิลำเนาขณะถึงแก่ความตาย (ทางปฏิบัติจะดูจากทะเบียนบ้านผู้ตาย) หรือศาลที่ทรัพย์มรดกอยู่ในเขตศาล ในกรณีที่เจ้ามรดกไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทย หรือในกรณีที่แต่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกหลายคน และเจ้ามรดกหลายคนนั้นมีกรรมสิทธิ์ร่วมกันในทรัพย์สินอย่างหนึ่ง ถือว่ามูลความแห่งคดีเกี่ยวข้องกัน ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียสามารถยื่นขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกทุกคนต่อศาลที่ทรัพย์นั้นตั้งอยู่ก็ได้ แม้เจ้ามรดกแต่ละคนจะมีภูมิลำเนาต่างกันก็ตาม (เทียบคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11216/2558)

 

'รับชมทนายความที่เชี่ยวชาญเรื่อง "มรดกและพินัยกรรม" คลิกที่นี่'


เอกสารที่ต้องใช้ในการยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดก

1. บัตรประชาชน และทะเบียนบ้านของผู้ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก

2. มรณบัตร และทะเบียนบ้านที่มีการประทับตราว่า “ตาย” หรือแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎร ของเจ้ามรดกผู้ตาย

3. หลักฐานแสดงความสัมพันธ์ระหว่างผู้ร้องกับเจ้ามรดกผู้ตาย เช่น ทะเบียนสมรส สูติบัตร หนังสือรับรองบุตรบุญธรรม เป็นต้น

4. เอกสารแสดงการเปลี่ยนชื่อตัว หรือชื่อสกุล (หากมี)

5. มรณบัตรของทายาทที่ถึงแก่ความตายก่อน เช่น บุตร บิดามารดา คู่สมรส ของเจ้ามรดก เป็นต้น

6. พินัยกรรม (หากมี)

7. เอกสารเกี่ยวกับทรัพย์มรดก เช่น โฉนดที่ดิน และสัญญาจำนอง ทะเบียนรถจักรยานยนต์ ทะเบียนรถยนต์ สมุดบัญชีเงินฝาก 

8. หนังสือให้ความยินยอมในการร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก (ให้ทายาทที่มีสิทธิรับมรดกคนอื่นลงลายมือชื่อรับรอง)

9. บัญชีเครือญาติ (ในทางปฏิบัติทนายความหรือพนักงานอัยการจะเป็นผู้จัดทำให้)

10. บัตรประชาชน และทะเบียนบ้าน ของทายาทที่ให้ความยินยอม

(หากปลอมบัตรประชาชน จะมีโทษหนัก อ่านได้ที่บทความนี้ คลิกเลย!)

11. คำสั่งตั้งผู้จัดการมรดก (หากเคยมีการแต่งตั้งแล้ว)

เมื่อทราบขั้นตอนและเอกสารที่ต้องใช้ในการยื่นคำร้องขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดกแล้ว ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียก็สามารถดำเนินการขอจัดตั้งผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้ เพื่อให้มีสิทธิและหน้าที่ในการจัดการทรัพย์มรดกของผู้ตายต่อไป

หากมีข้อสงสัยต้องการปรึกษาทนายความเพื่อหาทางออกกฎหมาย สามารถติดต่อผ่าน Legardy ได้ตลอด 24ชั่วโมงครับ

ปรึกษาทนายตัวจริง

สอบถามได้ทุกเรื่องราวทางกฎหมาย

"โดนโกง โดนประจาน" ปรึกษาได้ในคลิกเดียว

ทนายพร้อมให้คำปรึกษาตลอด 24 ชม.
4.8/5
รีวิวจากผู้ใช้งานจริงมากกว่า 16000 รีวิว
sanook ข่าวสด มติชน spring
cta
ปรึกษาทนาย 24 ชั่วโมง
“ ได้รับคำตอบทันที ! “
ติดต่อเราทาง LINE