พินัยกรรมคืออะไร ?
พินัยกรรม คือ คำสั่งเสีย หรือการแสดงเจตนาเกี่ยวกับเรื่องทรัพย์สินหรือการต่าง ๆ ไว้ในอนาคตเมื่อตนเองถึงแก่ความตาย หรือเรียกอีกอย่างว่า
“การแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตาย” (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1646 และมาตรา 1647)
บุคคลใดบ้างที่สามารถทำพินัยกรรมได้ ?
บุคคลทุกคนสามารถทำพินัยกรรมจัดการเกี่ยวกับทรัพย์สินของตนเองได้ หากแต่ต้องมีอายุตั้งแต่ 15 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 25 และมาตรา 1703) และต้องไม่ใช่บุคคลที่ถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1704) มิฉะนั้นพินัยกรรมนั้นจะตกเป็นโมฆะเสมือนหนึ่งว่าไม่ได้ทำขึ้นเลย
บุคคลที่ถูกต้องห้ามไม่ให้เป็นผู้รับทรัพย์ตามพินัยกรรม
แม้กฎหมายจะกำหนดให้ผู้ทำพินัยกรรมสามารถทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินของตนให้แก่ผู้ใดก็ได้ แต่กฎหมายก็มีการกำหนดบุคคลที่ต้องห้ามเป็นผู้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมไว้ ได้แก่ ผู้เขียน พยาน ตลอดจนถึงคู่สมรสของผู้เขียนหรือพยานในพินัยกรรมนั้น (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1653) ซึ่งหากบุคคลดังกล่าวนี้เป็นผู้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมแล้ว ย่อมส่งผลให้ข้อกำหนดในพินัยกรรมที่ยกทรัพย์สินให้บุคคลนั้นตกเป็นโมฆะ (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1705)
รูปแบบของพินัยกรรม
พินัยกรรมสามารถทำได้ทั้งสิ้น 5 แบบ ดังนี้
1. พินัยกรรมแบบธรรมดา (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1656)
พินัยกรรมแบบธรรมดานี้ ถือเป็นพินัยกรรมที่ทำง่าย เป็นที่นิยม และมีขั้นตอนการทำที่ไม่ยุ่งยาก การทำพินัยกรรมแบบนี้จะทำด้วยวิธีเขียน หรือพิมพ์ก็ได้ หากแต่ต้องมีการลงวัน เดือน ปี ที่ทำ และผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อไว้ต่อหน้าพยานอย่างน้อย 2 คน พร้อมกัน และให้พยานลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อนั้น
2. พินัยกรรมแบบเขียนเอง (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1657)
พินัยกรรมแบบเขียนเองนี้ ต้องเป็นการทำพินัยกรรมโดยให้ผู้ทำพินัยกรรมเป็นผู้เขียนด้วยลายมือของตนเองทั้งฉบับ ลงวัน เดือน ปี ที่ทำ และลงลายมือชื่อของตนไว้ โดยพินัยกรรมแบบเขียนเองนี้ ไม่จำเป็นต้องมีพยานรับรองลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมแต่อย่างใด
3. พินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1658)
พินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง ถือเป็นพินัยกรรมแบบที่มีความน่าเชื่อถือมากที่สุด เนื่องจากมีการกระทำต่อหน่วยงานราชการ ซึ่งพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองนี้ สามารถทำได้โดยให้ผู้ทำพินัยกรรมไปแจ้งข้อความที่ตนประสงค์แก่นายอำเภอ(กรณีต่างจังหวัด) หรือผู้อำนวยการเขต(กรณีกรุงเทพมหานคร) ต่อหน้าพยาน 2 คนพร้อมกัน โดยนายอำเภอ หรือผู้อำนวยการเขตจะเป็นผู้จดข้อความนั้นไว้ และให้ผู้ทำพินัยกรรม พยาน และนายอำเภอหรือผู้อำนวยการเขตลงลายมือชื่อรับรองพินัยกรรมไว้
4. พินัยกรรมแบบเอกสารลับ (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1660)
พินัยกรรมแบบเอกสารลับ เป็นพินัยกรรมรูปแบบที่ผู้ทำพินัยกรรมต้องการปกปิดเนื้อความในพินัยกรรมไม่ให้ผู้ใดรับรู้ สามารถทำได้โดยให้ผู้ทำพินัยกรรมทำพินัยกรรม และลงลายมือชื่อไว้ ทั้งต้องผนึกพินัยกรรมนั้น แล้วลงลายมือชื่อคาบรอยผนึกไว้ และนำพินัยกรรมที่ผนึกนั้นไปแสดงต่อนายอำเภอ(กรณีต่างจังหวัด) หรือผู้อำนวยการเขต(กรณีกรุงเทพมหานคร) และพยานอีกอย่างน้อย 2 คน และให้ถ้อยคำยืนยันว่าเป็นพินัยกรรมของตนเอง แล้วนายอำเภอ หรือผู้อำนวยการเขตจะนำพินัยกรรมนั้นใส่ซอง และให้ผู้ทำพินัยกรรม พยาน และนายอำเภอหรือผู้อำนวยการเขต ลงลายมือชื่อบนซองนั้น
5. พินัยกรรมแบบวาจา (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1663)
พินัยกรรมแบบวาจานี้ มีความแตกต่างจากพินัยกรรมชนิดอื่น เนื่องจากต้องปรากฏว่ามีพฤติการณ์พิเศษที่ทำให้ผู้ทำพินัยกรรมไม่สามารถทำพินัยกรรมตามแบบอื่นได้ เช่นตกอยู่ในอันตรายใกล้ความตาย หรือสงคราม เป็นต้น โดยพินัยกรรมแบบวาจานี้สามารถทำได้โดยให้ผู้ทำพินัยกรรม แสดงเจตนาเกี่ยวกับข้อความในพินัยกรรมต่อหน้าพยานอย่างน้อย 2 คน และพยานทั้งสองคนนั้นต้องไปแสดงตนต่อนายอำเภอ(กรณีต่างจังหวัด) หรือผู้อำนวยการเขต(กรณีกรุงเทพมหานคร) โดยไม่ชักช้า และแจ้งข้อความ วัน เดือน ปี สถานที่ทำพินัยกรรม พร้อมทั้งแจ้งพฤติการณ์พิเศษที่ทำให้ผู้ทำพินัยกรรมไม่สามารถทำพินัยกรรมแบบอื่นได้ด้วย เมื่อแจ้งข้อความแล้ว นายอำเภอหรือผู้อำนวยการเขตจะจดข้อความนั้น และให้พยานทั้งสองคนนั้นลงลายมือชื่อไว้
การทำพินัยกรรมให้ถูกต้องตามแบบนั้นมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากหากไม่กระทำให้ถูกต้องตามแบบแล้ว พินัยกรรมนั้นอาจตกเป็นโมฆะและไม่สามารถใช้บังคับได้เลย แต่อย่างไรก็ตามแม้ผู้ทำพินัยกรรมจะตั้งใจทำพินัยกรรมแบบหนึ่ง แต่พินัยกรรมนั้นอาจไปเข้าตามรูปแบบพินัยกรรมแบบอื่นก็ได้เช่นกัน ตัวอย่างเช่น คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2102/2551 ผู้ทำพินัยกรรมใช้พิมพ์ดีดทำพินัยกรรมทั้งฉบับ จึงถือไม่ได้ว่าเป็นพินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ คงเป็นพินัยกรรมแบบธรรมดา
พยานในพินัยกรรมมีความสำคัญเพียงใด ?
ผู้ที่จะเป็นพยานในพินัยกรรมนั้น ถือว่ามีความสำคัญมาก เพราะหากผู้ที่เป็นพยานนั้นต้องห้ามตามกฎหมาย อาจส่งผลให้พินัยกรรมนั้นเป็นโมฆะเสียเปล่าเลยทีเดียว ซึ่งกฎหมายได้กำหนดบุคคลที่ต้องห้ามเป็นพยานในพินัยกรรมไว้ ดังต่อไปนี้ (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1670)
1. ผู้ซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะ
2. บุคคลวิกลจริต หรือผู้เสมือนไร้ความสามารถ
3. บุคคลที่หูหนวก เป็นใบ้ หรือตาบอดทั้งสองข้าง
พินัยกรรมจะมีผลใช้บังคับเมื่อใด ?
เมื่อพินัยกรรมเป็นการกำหนดการไว้เผื่อตายของผู้ทำพินัยกรรม พินัยกรรมนั้นจึงย่อมมีผลใช้บังคับได้ตั้งแต่เวลาที่ผู้ทำพินัยกรรมถึงแก่ความตาย (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1673) ดังนั้น ในระหว่างที่ผู้ทำพินัยกรรมยังไม่ถึงแก่ความตาย พินัยกรรมนั้นก็ยังไม่มีผลใช้บังคับได้ ผู้รับพินัยกรรมจึงยังไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องทรัพย์ใด ๆ ตามพินัยกรรมนั้นได้ นอกจากนี้ ผู้ทำพินัยกรรมยังสามารถแก้ไข ยกเลิก ตกเติม ข้อความในพินัยกรรมได้ตลอดเวลา หากแต่ต้องทำตามแบบเดียวกับตอนที่ตนทำพินัยกรรมนั้นไว้
กล่าวโดยสรุปแล้ว พินัยกรรมเป็นการกำหนดไว้เผื่อตายว่าเราจะยกทรัพย์สินใดให้แก่ใคร การทำพินัยกรรมให้ถูกต้องตามกฎหมายจึงมีความสำคัญ เพราะหากเราทำไม่ถูกต้องตามกฎหมายแล้ว พินัยกรรมนั้นอาจใช้บังคับไม่ได้เลย และเป็นผลให้บุคคลที่เราต้องการให้รับทรัพย์ตามพินัยกรรม ไม่ได้ทรัพย์นั้นไป ดังนั้น หากต้องการทำพินัยกรรมจึงควรปรึกษาผู้ที่มีความรู้เรื่องกฎหมายก่อน เพื่อให้พินัยกรรมเป็นไปอย่างถูกต้อง และใช้บังคับได้