เผยแพร่เมื่อ: 2024-02-29

วิธีการเอาผิดเจ้าพนักงานตามมาตรา 157: แนวทางจากทนายผู้เชี่ยวชาญ

การดำเนินคดีกับเจ้าพนักงาน

ในปัจจุบันไม่ว่าเราจะทำอะไร ก็มักจะมีกฎหมายออกมาเพื่อควบคุมการกระทำนั้นๆ อยู่เสมอ และเมื่อมีการออกกฎหมายที่ออกมาเพื่อควบคุมแล้ว การจะปฏิบัติให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดคงหนีไม่พ้นการตั้งเจ้าพนักงานขึ้นมาเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด เจ้าพนักงานพวกนี้ก็จะใช้อำนาจตามกฎหมายมาดำเนินคดีกับผู้ที่ฝ่าฝืนกฎหมายนั้นๆ

 

การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน

หากเป็นเจ้าพนักงานที่มีความเป็นธรรม ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฏหมายกำหนดโดยเคร่งครัดก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ก็มีหลายครั้งที่เจ้าพนักงานใช้อำนาจหน้าที่ที่กฎหมายมอบให้โดยมิชอบเพื่อหาประโยชน์ให้กับตนเองหรือเพื่อกลั่นแกล้งรังแกคนอื่น

สิทธิของผู้ได้รับผลกระทบ

แล้วเคยสงสัยกันไหมครับว่า หากเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบแล้ว ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำนั้นจะสามารถทำอะไรได้บ้าง? ในบทความนี้มีคำตอบครับ

ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำของเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบสามารถดำเนินการฟ้องร้องทางอาญา, ทางแพ่ง, และทางวินัยได้


การเอาผิดทางอาญาของเจ้าพนักงาน

การเอาผิดทางอาญาเป็นการดำเนินการให้เจ้าพนักงานผู้กระทำความผิดต้องได้รับโทษทางอาญา ได้แก่ ประหารชีวิต จำคุก กักขัง ปรับ ยึดทรัพย์ ในประมวลกฎหมายอาญาได้บัญญัติเกี่ยวกับความผิดอาญาของเจ้าพนักงานไว้ในภาคที่ 2 ลักษณะ 2 และ 3

ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ มาตรา 157

มาตราที่เรามักจะได้ยินบ่อยๆ และคุ้นเคยกันดีได้แก่ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ซึ่งเป็นฐานความผิดที่ครอบคลุมการกระทำความผิดของเจ้าพนักงานเกือบทุกฐานไว้ในมาตราเดียว ในส่วนการเอาผิดทางอาญาจึงจะขออนุญาตเจาะลึกเพียงมาตรานี้เท่านั้น เราลองมาดูกันครับ

มาตรา 157 อาญามีองค์ประกอบดังนี้

ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 บัญญัติว่า

“ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต”

เราจึงสามารถแยกองค์ประกอบมาตรา 157 อาญา ได้ดังนี้ครับ

องค์ประกอบความผิดของมาตรา 157 ประกอบด้วย 
1. ผู้กระทำต้องเป็นเจ้าหนักงาน
 2. ต้องเป็นการกระทำที่เกี่ยวกับหน้าที่รับผิดชอบของเจ้าพนักงานคนนั้น หรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 157 โดยไม่ชอบ
 3. ต้องเป็นการกระทำโดยมีเจตนาให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย หรือเป็นการกระทำโดยทุจริตเพื่อตนเอง

ผู้กระทำต้องเป็นเจ้าหนักงาน หมายถึงบุคคลซึ่งกฎหมายบัญญัติให้เป็นเจ้าพนักงานหรือได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติราชการ ไม่ว่าประจำหรือชั่วคราวและไม่ว่าจะได้รับค่าตอบแทนหรือไม่ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 1(16) เช่น เจ้าพนักงานตำรวจ เจ้าพนักงานบังคับคดี พนักงานอัยการฯ เป็นต้น

ต้องเป็นการกระทำที่เกี่ยวกับหน้าที่รับผิดชอบของเจ้าพนักงานคนนั้น หรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 157 โดยไม่ชอบ เช่น เจ้าพนักงานตำรวจไม่ได้มีหน้าที่รับผิดชอบในการเบิกความเป็นพยานต่อศาล การที่เจ้าพนักงานตำรวจเบิกความเท็จจึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 แต่เป็นความผิดในฐานอื่นๆ

ต้องเป็นการกระทำโดยมีเจตนาให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย หรือเป็นการกระทำโดยทุจริตเพื่อตนเอง เช่น ซ้อมผู้ต้องหาให้รับสารภาพ แกล้งจับเพื่อเรียกรับเงิน นำของกลางไปใช้หรือนำไปขาย ฯ เหล่านี้เป็นความผิดตาม ม.157 อาญา แต่หากเป็นเพียงการทำงานข้ามขั้นตอนตามระเบียบของหน่วยงานเพื่อให้เกิดความรวดเร็วไม่เป็นความผิดตามมาตรา 157 เพราะไม่ได้มีเจตนาให้ผู้ใดได้รับความเสียหาย

สรุปประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157

ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 จึงอธิบายโดยสรุปได้ว่าเป็นการกระทำของเจ้าพนักงานโดยอาศัยอำนาจหน้าที่ของตนเองก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่นหรือเป็นการกระทำโดยทุจริตนั่นเอง

มาตรา 157 อาญาโทษตามกฎหมาย

ผู้ที่กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 มีโทษคุกตั้งแต่ 1 - 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000 บาทถึง 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ทำไมไปแจ้งความแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ดำเนินการให้ ? หาคำตอบได้ที่นี่ คลิกเลย !

 

 


วิธีการฟ้องคดีอาญามาตรา 157

วิธีการฟ้องมาตรา 157

ผู้เสียหายสามารถฟ้องร้องเจ้าพนักงานที่กระทำผิดมาตรา 157 ได้โดยการร้องทุกข์กล่าวโทษผ่านช่องทางของรัฐ เช่น พนักงานสอบสวน, ป.ป.ช., หรือหน่วยงานของรัฐที่เปิดโอกาสให้ร้องเรียน

คำถามว่าการฟ้องคดีอาญาเกี่ยวกับการกระทำความผิดของเจ้าพนักงานของรัฐ เช่น ฟ้องตำรวจปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบมาตรา 157 ฟ้องที่ไหน ฟ้องอย่างไรนั้น กฎหมายได้เปิดโอกาสให้ผู้เสียหายหรือผู้ที่พบการกระทำความผิดเกี่ยวกับเจ้าพนักงานของรัฐร้องทุกข์กล่าวโทษหรือฟ้องร้องดำเนินคดีได้หลายช่องทางตามแต่ความสะดวก

ช่องทางการฟ้องร้องมาตรา 157

สามารถดำเนินการฟ้องร้องดำเนินคดีโดยการร้องทุกข์กล่าวโทษผ่านช่องทางของรัฐ เช่น พนักงานสอบสวน หรือหากเป็นเรื่องที่พนักงานสอบสวนกระทำความผิดเสียเองก็อาจจะยื่นคำร้องทุกข์ต่อ ป.ป.ช. หรือหน่วยงานของรัฐที่เปิดโอกาสให้ร้องเรียน ฯ หรือในกรณีเป็นผู้เสียหายโดยตรงจากการกระทำความผิดของเจ้าพนักงานด้วย ผู้เสียหายจะฟ้องร้องต่อศาลด้วยตนเองก็ได้

2.png

การเอาผิดเจ้าพนักงานทางแพ่ง

การกระทำความผิดของเจ้าพนักงานนั้นหากเป็นความผิดอาญาที่มีผู้ได้รับความเสียหาย หรือไม่เป็นความผิดอาญาแต่เป็นการกระทำให้ที่เกิดความเสียหายต่อบุคคลทั่วไป เช่น ขับรถจับคนร้ายแต่เจ้าพนักงานขับพลาดไปชนบ้านของชาวบ้าน แม้ไม่เป็นความผิดอาญา แต่ถือเป็นการกระทำละเมิดในทางแพ่งอย่างหนึ่ง

สิทธิของผู้ได้รับความเสียหาย

ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำของเจ้าพนักงานมีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนจากการกระทำนั้นด้วย โดยเราสามารถแบ่งออกได้เป็นกรณีดังต่อไปนี้

ความเสียหายเกิดจากการกระทำของเจ้าพนักงานที่กระทำตามหน้าที่ราชการ

ผู้เสียหายต้องฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากหน่วยงานที่เจ้าพนักงานคนนั้นสังกัดอยู่ เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ผู้เสียหายต้องฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากหน่วยงานที่เจ้าพนักงานคนนั้นสังกัดอยู่ แต่จะฟ้องเจ้าหน้าที่ที่ทำละเมิดเป็นการส่วนตัวไม่ได้ หากเจ้าหน้าที่ผู้กระทำละเมิดไม่ได้สังกัดหน่วยงานของรัฐก็ต้องฟ้องกระทรวงการคลังให้รับผิดชำระค่าสินไหมทดแทนทาง ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 มาตรา 5 และ 6

ตัวอย่างกรณีเอาผิดเจ้าพนักงานทางแพ่ง

เช่น นาย A เจ้าพนักงานตำรวจสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติขับรถติดตามจับกุมคนร้าย ซึ่งเป็นการกระทำตามหน้าที่ราชการ แต่รถเสียหลักพุ่งชนบ้านของนาย B ได้รับความเสียหาย กรณีนี้หากนาย B ต้องการฟ้องเรียกค่าเสียหายจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น นาย B ต้องฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ฟ้องนาย A เป็นการส่วนตัวไม่ได้

สิทธิของหน่วยงานของรัฐ

ในกรณีนี้หากหน่วยงานของรัฐชำระค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายแทนเจ้าหน้าที่ผู้กระทำละเมิดไปแล้ว หน่วยงานของรัฐก็มีสิทธิที่จะไล่เบี้ยเพื่อเรียกค่าสินไหมทดแทนคืนจากเจ้าหน้าที่ผู้กระทำละเมิดได้ ถ้าเจ้าหน้าที่ผู้นั้นกระทำละเมิดด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 มาตรา 8

คำปรึกษาจริงพร้อมคำตอบจากทนายความเรื่อง : ฟ้องข้าราชการละเว้นการปฎิบัติหน้าที่


กรณีความเสียหายเกิดจากความผิดส่วนตัวของเจ้าพนักงาน

ผู้เสียหายต้องฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากเจ้าพนักงานผู้กระทำละเมิดโดยตรง เช่น นาย A

ผู้เสียหายต้องฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากเจ้าพนักงานผู้กระทำละเมิดโดยตรง ในกรณีนี้ผู้เสียหายจะฟ้องหน่วยงานของรัฐที่เจ้าพนักงานคนนั้นสังกัดอยู่ไม่ได้

ตัวอย่างกรณีความเสียหายเกิดจากความผิดส่วนตัวของเจ้าพนักงาน

เช่น นาย A เจ้าพนักงาน มีเหตุโกรธเคืองกับนาย B มาก่อน ต่อมานาย A ได้ออกตรวจพื้นที่ผ่านหน้าบ้านนาย B ด้วยความที่มีเหตุผิดใจกันมาก่อน นาย A จึงขับรถชนรั้วบ้านของนาย B ด้วยความโกรธเคืองส่วนตัว กรณีนี้หากนาย B ต้องการเรียกค่าสินไหมทดแทนจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ฟ้องนาย A โดยตรง จะฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่นาย A สังกัดอยู่ไม่ได้

การเอาผิดเจ้าพนักงานทางวินัย

นอกจากความรับผิดในทางอาญาและทางแพ่งตามที่กล่าวมาแล้ว เจ้าพนักงานผู้กระทำความผิดยังต้องรับโทษในทางวินัยตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 โดยผู้ได้รับความเสียหายสามารถร้องเรียนต่อหน่วยงานที่เจ้าพนักงานผู้นั้นสังกัดอยู่ให้ตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัยได้อีกทางหนึ่ง

โทษทางวินัยมี 5 สถานได้แก่

  1. ภาคทัณฑ์
  2. ตัดเงินเดือน
  3. ลดเงินเดือน
  4. ปลดออก
  5. ไล่ออก

ซึ่งเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ผู้เสียหายสามารถดำเนินการกับเจ้าพนักงานได้ครับ

ผู้เสียหายสามารถร้องเรียนต่อหน่วยงานที่เจ้าพนักงานผู้นั้นสังกัดอยู่เพื่อให้ตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัยได้


สรุปแนวทางการดำเนินคดีกับเจ้าพนักงาน

แนวทางการดำเนินคดีกับเจ้าพนักงานที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้นหวังว่าจะเป็นประโยชน์ที่ผู้อ่านจะสามารถนำไปใช้ดำเนินการกับเจ้าพนักงานผู้กระทำความผิดเพื่อให้เกิดความยุติธรรมกับตนเองได้ต่อไป

สิ่งที่จะขาดไม่ได้เลยไม่ว่าเราจะดำเนินคดีกับใครก็ตามคือ การรวมรวมพยานหลักฐานที่จะสามารถใช้ยืนยันความผิดของผู้กระทำผิดได้ ดังนั้นหากเราอยู่ในสถานการณ์ที่สุ่มเสี่ยงที่จะได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดของเจ้าพนักงาน เราก็ต้องรู้จักระวังตัวและเก็บรวบรวมพยานหลักฐานไปด้วยในคราวเดียวกันด้วยครับ หากมีข้อสงสัยทางกฎหมาย ปรึกษาทนายความผ่าน Legardy ได้ตลอด 24ชั่วโมง !

 

ปรึกษาทนายตัวจริง

สอบถามได้ทุกเรื่องราวทางกฎหมาย

"โดนโกง โดนประจาน" ปรึกษาได้ในคลิกเดียว

ทนายพร้อมให้คำปรึกษาตลอด 24 ชม.
4.8/5
รีวิวจากผู้ใช้งานจริงมากกว่า 16000 รีวิว
sanook ข่าวสด มติชน spring
cta
ปรึกษาทนาย 24 ชั่วโมง
“ ได้รับคำตอบทันที ! “
ติดต่อเราทาง LINE