จ่ายหนี้ไม่ไหว ทำอย่างไรได้บ้าง?
บางครั้งหนี้สินมันรัดตัวเหลือเกิน ไหนจะค่ารถ ค่าบ้าน ค่าบัตรเครดิต หมุนเงินไม่ทันทำให้ไม่มีเงินไปใช้หนี้ บทความนี้ Legardy จะพาทุกท่านไปรู้จักกับการขอประนอมหนี้กันครับ
ประนอมหนี้ คืออะไร?
การประนอมหนี้ คือ การที่ลูกหนี้นั้นไม่สามารถชำระหนี้ได้ ตัวลูกหนี้นั้นยังมีโอกาสที่จะขอประนอมหนี้กับเจ้าหนี้เพื่อหาทางออกที่ดีร่วมกันในการแก้ไขปัญหาหนี้สิน โดยลูกหนี้สามารถเสนอให้ชำระหนี้คืนให้กับเจ้าหนี้เพียงบางส่วน หรือขอลดหย่อนผ่อนผันในรูปแบบอื่น ๆ เช่น เสนอมอบกิจการและทรัพย์สินทั้งหมดให้กับเจ้าหนี้เพื่อทำการหักลบหนี้บางส่วนหรือทั้งหมดก็ได้
ประนอมหนี้บัตรเครดิต และ ประนอมหนี้รถยนต์
การประนอมหนี้บัตรเครดิต หรือการขอผ่อนปรนหนี้บัตรเครดิต คือการที่ลูกหนี้นั้นได้ทำการเจรจาเรื่องหนี้กับสถาบันทางการเงินเพื่อที่จะหาข้อตกลงเรื่องหนี้กันใหม่ อาจมีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการชำระหนี้ เพื่อช่วยให้ลูกหนี้นั้นทำการชำระหนี้ได้ง่ายขึ้น
ขอประนอมหนี้บัตรเครดิต ขอประนอมหนี้รถยนต์ เพื่อให้
- คิดดอกเบี้ยในอัตราที่เป็นปกติ เหมือนไม่ได้ผิดนัดชำระหนี้บัตรเครดิต
- ขอลดยอดหนี้บางส่วน
- ขอปรับลดดอกเบี้ย หรือค่าธรรมเนียมต่างๆ เพื่อให้ลูกหนี้สามารถชำระหนี้บัตรเครดิตได้ง่ายขึ้น
- อาจจะขอผ่อนหนี้โดยใช้ระยะเวลาที่นานขึ้นและจำนวนเงินต่องวดน้อยลง
- ขยายเวลาการชำระหนี้
การประนอมหนี้ก่อนสถาบันทางการเงินจะส่งฟ้องศาล
เมื่อลูกหนี้ได้ผิดนัดชำระหนี้เป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว แต่ทางสถาบันทางการเงินนั้นยังไม่ได้ใช้สิทธิทางกฎหมายเพื่อดำเนินคดีแก่ลูกหนี้ ลูกหนี้นั้นสามารถเจรจาเพื่อขอประนอมหนี้ก่อนส่งฟ้องศาลได้ครับ โดยมีขั้นตอนดังนี้
- ติดต่อธนาคารเพื่อขอประนอมหนี้
- แจ้งสถานะการเงินของตัวเอง เช่น รายได้ รายจ่าย หนี้สินอื่นๆ
- เสนอแนวทางของตนเองที่ทำให้ชำระหนี้ได้ เช่น การขอลดดอกเบี้ย เป็นต้น
- สอบถามเอกสารที่ต้องใช้ต่อธนาคาร และนัดหมายวันเวลาเพื่อเจรจาขอประนอมหนี้
- เมื่อหาจุดที่ทั้งสองฝ่ายตกลงกันได้แล้ว ให้ทำสัญญาประนอมหนี้เป็นลายลักษณ์อักษร
การประนอมหนี้หลังจากสถาบันทางการเงินส่งฟ้องศาลไปแล้ว
เมื่อลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ หรือมีการประนอมหนี้แล้วผิดนัดตามที่ตกลงกันไว้ สถาบันทางการเงินสามารถใช้สิทธิในการฟ้องศาลเพื่อให้ลูกหนี้ชำระหนี้คืน แต่ตรงนี้ลูกหนี้ยังสามารถไกล่เกลี่ยหนี้และขอประนอมหนี้กับสถาบันการเงินได้อีกครั้ง โดยมีขั้นตอนดังนี้
- ได้รับหมายศาลแล้วให้ไปขึ้นศาลด้วย หากไม่ไปจะไม่มีโอกาสในการขอประนอมหนี้ เพราะศาลจะพิพากษาจากโจทก์เพียงฝ่ายเดียว
- แจ้งความประสงค์ขอประนอมหนี้กับศาลก่อนวันนัดขึ้นศาล
- ศาลอาจส่งลูกหนี้ไปยังศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเพื่อไกล่เกลี่ยกับสถาบันทางการเงิน
- เมื่อไกล่เกลี่ยกันเสร็จแล้ว ลูกหนี้ต้องชำระหนี้ตามที่กำหนดเวลาไว้
หากลูกหนี้ผิดนัด เจ้าหนี้สามารถร้องต่อศาลเพื่อบังคับคดี โดยศาลจะยึดหรืออายัดทรัพย์สินของลูกหนี้มาชำระหนี้แทน
แต่ก็ยังสามารถขอประนอมหนี้ได้อีกนะครับ
ดูคำปรึกษาจริงพร้อมคำตอบจากทนายความเรื่อง "การประนอมหนี้" คลิกได้เลย !
Q: มีการประนอมหนี้ที่ศาลกับทางไฟแนนซ์และผิดนัดชำระค่างวดรถยนต์
Q: ประนอมหนี้ผิดนัดจ่าย.นำกลับมาฟ้อง60.. และอายัดเงินปี66
Q: มีหมายยึดทรัพย์ ขอเจรจาประนอมหนี้
ข้อดีและข้อเสียของการประนอมหนี้
ข้อดีของการประนอมหนี้
1.)เป็นการลดภาระหนี้ เพราะลูกหนี้นั้นสามารถปรับลดดอกเบี้ย หรือลดจำนวนหนี้ที่ต้องจ่ายลงได้ ทำให้ชำระหนี้ได้ง่ายขึ้นครับ
2.)เป็นการหลีกเลี่ยงการล้มละลาย เพราะว่า ถ้าเราสามารถประนอมหนี้และเจรจาก่อนเจ้าหนี้ส่งฟ้องศาลได้ ก็จะไม่โดนบังคับคดียึดทรัพย์ขายทอดตลาดครับ
3.)แก้ไขประวัติเครดิต หากประนอมหนี้สำเร็จและจ่ายครบตรงเวลาตามที่กำหนด ก็จะส่งผลต่อเครดิตในระยะยาวต่อให้เสียเครดิตไปแล้วแต่ยังมีความรับผิดชอบที่จะชำระหนี้ ก็ทำให้เครดิตดูดีขึ้นได้
4.)แสดงถึงความตั้งใจ หากมีการขอประนอมหนี้เกิดขึ้น เจ้าหนี้อาจจะเห็นถึงความตั้งใจที่จะชำระหนี้ของเรา เจ้าหนี้อาจลดหนี้ให้ได้ครับ
ข้อเสียของการประนอมหนี้
1.)อาจเสียเครดิต การประนอมหนี้นั้นอาจมีผลกระทบต่อคะแนนเครดิต ซึ่งทำให้ยากต่อการทำธุรกรรมต่างๆในอนาคต เพราะมันแสดงถึงความไม่พร้อมในการชำระหนี้
2.)มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม บางครั้งการประนอมหนี้อาจเสียค่าธรรมเนียมในการเจรจาหรือการจ้างผู้เชี่ยวชาญที่มาช่วยประนอมหนี้
3.)ความเสียเปรียบ เพราะว่าเจ้าหนี้นั้นมีอำนาจต่อรองมากกว่า ทำให้ลูกหนี้นั้นต้องใช้ทักษะอย่างสูงในการเจรจาเพื่อให้ผลลัพธ์ออกมาดี
4.)อาจมีการสูญเสียทรัพย์สิน บางกรณีเจ้าหนี้อาจให้ลูกหนี้นั้นนำสินทรัพย์มาค้ำประกันไว้ก่อน ก่อนที่จะเริ่มประนอมหนี้
ค่าจ้างทนายความ จ้างทนายไกล่เกลี่ยประนอมหนี้ราคาเท่าไร? สามารถดูรายละเอียดได้ที่นี่ครับ คลิกเลย !
คำแนะนำในการประนอมหนี้
1.)หากเริ่มการประนอมหนี้แล้ว เวลาลูกหนี้เสนอการลดหนี้ด้วยวิธีการต่างๆให้เสนอด้วยจำนวนที่เยอะไว้ก่อน ยังไงทางเจ้าหนี้เขาก็จะมีหลักเกณฑ์ในการประนอมหนี้อยู่แล้ว และค่อยมาเจรจาหาข้อสรุปที่ดีที่สุดครับ
2.)หากถึงขั้นการบังคับคดียึดทรัพย์เพื่อชำระหนี้สินแล้ว ลูกหนี้ยังมีโอกาสที่จะประนอมหนี้อยู่นะครับ โดยทางกรมบังคับคดีจะส่งหนังสือไปยังลูกหนี้ว่าประสงค์ที่จะไกล่เกลี่ยหรือไม่ โดยสามารถไปพูดคุยกับเจ้าหนี้ได้ที่สำนักงานบังคับคดีประจำจังหวัด และจะมีนิติกรคอยเป็นผู้ไกล่เกลี่ยให้
3.)หากทรัพย์ที่โดนเจ้าหนี้ยึดและถูกขายทอดตลาดไปแล้ว ผลปรากฎว่ามูลค่าของทรัพย์ที่ขายได้ไม่พอที่จะชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ และเจ้าหนี้ฟ้องล้มละลาย และถูกพิทักษ์ทรัพย์ ทรัพย์สินต่างๆไม่ว่าจะเป็นเงิน ที่ดิน หรืออะไรก็ตามที่มีมูลค่า หากมีการสืบทรัพย์ ทรัพย์ที่โอนให้ผู้อื่นและนิติกรรมทั้งหมดก่อนหน้าก่อนถูกฟ้องล้มละลาย6เดือน จะถูกเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพิกถอนได้
4.)หากถูกฟ้องล้มละลายแล้ว อาจเป็นผู้จัดการมรดกไม่ได้ เพราะฉะนั้นอย่าให้ถึงขั้นล้มละลายเลยนะครับ
สรุป
หากเกิดหนี้สินเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นผ่อนรถไม่ไหว ผ่อนบ้านไม่ไหว หรือหนี้บัตรเครดิต ใดๆก็ตามแต่อยากให้ทุกท่านเจรจากับเจ้าหนี้ก่อนนะครับ ทางเจ้าหนี้มีหลักเกณฑ์ในการลดหย่อนผ่อนหนี้ให้ ไม่ว่าจะเป็นการยืดระยะเวลาหนี้ หรือการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง ไม่ควรหนีหายครับ