เผยแพร่เมื่อ: 2024-02-20

ความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังคืออะไร? 

ความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาฐานหนึ่ง ซึ่งถูกบัญญัติไว้ในลักษณะ 11 หมวด 1 ความผิดต่อเสรีภาพ โดยถูกบัญญัติไว้ใน มาตรา 310มาตรา 310 ทวิมาตรา 311 และ มาตรา 312 ทวิ.


ความหมายของคำว่า "หน่วงเหนี่ยว" และ "กักขัง" 

หน่วงเหนี่ยว คือ

คำว่า “หน่วงเหนี่ยว” ตามความหมายในพจนานุกรมและแนวคำพิพากษา หมายถึง รั้งตัวไว้ ดึงถ่วงไว้ กักไว้ การรั้งตัวไว้ไม่ให้ไปไหน เช่น การดึงมือไว้ การกอดรัดตัวไว้ หรือการไม่ให้ลงจากรถ เป็นต้น

กักขัง คือ 

คำว่า “กักขัง” นั้นทั้งตามพจนานุกรมและแนวคำพิพากษาก็ให้ความหมายไว้ในลักษณะเดียวกันว่า การบังคับให้อยู่ในที่จำกัด บุคคลที่ถูกกักขังมีเสรีภาพที่จะกระทำการใดก็ได้ในที่อันจำกัดนั้น เช่น บังคับให้อยู่ในห้องหรือในบ้านและใส่กุญแจไว้ เป็นต้น


2.png
รูปภาพจำลองการถูกกักขัง

ความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังตามประมวลกฎหมายอาญา 

ความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขัง (มาตรา 310)

ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310 ได้วางหลักไว้ว่า 

ผู้ใดหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่น หรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

จะเห็นได้ว่านอกจากการกระทำโดยการหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังแล้ว กฎหมายยังได้กำหนดไปถึงการกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ซึ่งการกระทำดังกล่าวถือเป็นถ้อยคำที่กว้างกว่าการหน่วงเหนี่ยวหรือกักขัง โดยวิธีการกระทำความผิดในฐานนี้ผู้กระทำจะกระทำด้วยวิธีการใด ๆ ก็ได้ไม่จำกัดวิธีการเพียงแต่เป็นผลให้ผู้ถูกกระทำถูกหน่วงเหนี่ยว กักขัง หรือปราศจากเสรีภาพในร่างกาย 

ตัวอย่างการกระทำข้างต้น

เช่น พูดขู่ว่าหากออกจากบ้านจะฆ่า จนทำให้ผู้ถูกกระทำกลัวและไม่กล้าออกไปไหน (เทียบคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 741/2563) ล็อคประตูไม่ให้ลงจากรถ (เทียบคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3953/2539) เป็นต้น

นอกจากนี้ หากการกระทำฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังนั้นเป็นเหตุให้ผู้ถูกหน่วงเหนี่ยว กักขัง หรือต้องปราศจากเสรีภาพในร่างกาย

 ถึงแก่ความตายหรือได้รับอันตรายสาหัส ผู้กระทำก็ต้องรับโทษหนักขึ้น ดังนี้

กรณีผู้ถูกกระทำถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 – 15 ปีตาม มาตรา 290 วรรคหนึ่ง

กรณีผู้ถูกกระทำได้รับอันตรายสาหัส เช่น ตาบอด หูหนวก สูญเสียอวัยวะ หรือป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่า 20 วัน เป็นต้น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน – 10 ปี และปรับตั้งแต่ 10,000 – 200,000 บาทตาม มาตรา 297

อ่านคำปรึกษาจากผู้ใช้จริงและคำตอบจากทนายความเรื่อง "กักขังหน่วงเหนี่ยว" คลิกเลย !

Q: โดนกักขังหน่วงเหนี่ยว

Q: คดีความอาญาข้อหาทำร้ายร่างกาย กักขังเหนี่ยวหน่วง และบุกรุก


ความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังและให้ผู้อื่นนั้นกระทำการใดให้แก่ตนหรือบุคคลอื่น (มาตรา 310 ทวิ)

ความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังกรณีนี้มีลักษณะของการกระทำที่เหมือนกับความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังตาม มาตรา 310 เพียงแต่ผู้ที่กระทำความผิดนั้น นอกจากหน่วงเหนี่ยว กักขัง หรือกระทำให้ผู้อื่นนั้นปราศจากเสรีภาพในร่างกายแล้ว ยังให้ผู้ถูกหน่วงเหนี่ยว กักขัง หรือต้องปราศจากเสรีภาพในร่างกายกระทำการใดให้แก่ตนหรือบุคคลอื่นด้วย เช่น กักขังไว้เป็นแรงงาน (เทียบคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7491/2562)

โดยการกระทำความผิดตามมาตรานี้ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 100,000 บาท

นอกจากนี้ หากการกระทำดังกล่าวได้กระทำต่อเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ผู้กระทำก็ต้องระวางโทษหนักขึ้น เป็นจำคุกตั้งแต่ 3 – 10 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท และหากปรากฏว่าเด็กนั้นได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ได้รับอันตรายสาหัส หรือถึงแก่ความตาย ผู้กระทำก็ต้องระวางโทษหนักขึ้นอีก (มาตรา 312 ทวิ)

นอกจากนี้ การที่ผู้กระทำความผิดให้ผู้ที่ถูกหน่วงเหนี่ยว กักขัง หรือปราศจากเสรีภาพในร่างกาย กระทำการใด้ให้แก่ตนหรือผู้อื่น ยังถือเป็นการข่มขืนใจผู้นั้นให้กระทำการ ไม่กระทำการ หรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สิน หรือโดยใช้กำลังประทุษร้าย จนผู้นั้นกระทำการ ไม่กระทำการ หรือจำยอมต่อสิ่งนั้น อันเป็นความผิดต่อเสรีภาพตามมาตรา 309 อีกบทหนึ่งด้วย

 

 

ความผิดกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถูกหน่วงเหนี่ยว กักขัง หรือต้องปราศจากเสรีภาพในร่างกาย (มาตรา 311)

จะเห็นได้ว่า นอกจากความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังจะเกิดขึ้นโดยเจตนาแล้ว หากปรากฏว่าผู้กระทำได้กระทำโดยประมาทและเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำถูกหน่วงเหนี่ยว กักขัง หรือต้องปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ผู้กระทำก็มีความผิดเช่นกัน ซึ่งการกระทำโดยประมาทนั้น หมายถึง การกระทำโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจะต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ (มาตรา 59 วรรคสี่) เช่น คนขับรถตู้รับส่งนักเรียนไม่ใช้ความระมัดระวังตรวจดูนักเรียนว่าลงจากรถตู้หมดหรือไม่ ทำให้เด็กนักเรียนถูกกักขังในรถตู้ เป็นต้น โดยผู้กระทำโดยประมาทนั้นจะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นอกจากนี้ หากปรากฏว่าผู้ถูกหน่วงเหนี่ยว กักขัง หรือต้องปราศจากเสรีภาพในร่างกายถึงแก่ความตายหรือได้รับอันตรายสาหัส ผู้กระทำก็ต้องรับโทษหนักขึ้น ดังนี้

กรณีผู้ถูกกระทำถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท ตาม มาตรา 291

กรณีผู้ถูกกระทำได้รับอันตรายสาหัส ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตาม มาตรา 300

 


ความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขัง เพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่ มาตรา 313 (3)

ความผิดตามมาตรานี้มีความแตกต่างจากความผิดฐานอื่น กล่าวคือ นอกจากผู้กระทำจะหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่นแล้ว ยังกระทำไปเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่ด้วย ซึ่งคำว่า “ค่าไถ่” นั้น ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1(13) ได้ให้ความหมายไว้ว่า “ทรัพย์สินหรือประโยชน์ที่เรียกเอาหรือให้เพื่อแลกเปลี่ยนเสรีภาพของผู้ถูกเอาตัวไป ผู้ถูกหน่วงเหนี่ยวหรือผู้ถูกกักขัง” เช่น การหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่น แล้วเรียกให้ญาติของผู้นั้นส่งเงินมาให้ เพื่อแลกกับการปล่อยตัว เป็นต้น โดยผู้กระทำความผิดฐานนี้จะต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 15 – 20 ปี และปรับตั้งแต่ 300,000 – 400,000 บาท หรือจำคุกตลอดชีวิต หรือประหารชีวิต

นอกจากนี้หากปรากฏว่าผู้ถูกหน่วงเหนี่ยวหรือผู้ถูกกักขังได้รับอันตรายสาหัส หรือถูกกระทำโดยทรมาน หรือโดยทารุณโหดร้าย จนได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ หรือถึงแก่ความตาย ผู้กระทำก็ต้องระวางโทษหนักขึ้นอีก

อย่างไรก็ตาม หากผู้กระทำได้ปล่อยผู้ถูกกระทำให้ได้รับเสรีภาพก่อนศาลชั้นต้นพิพากษา โดยผู้นั้นไม่ได้รับอันตรายสาหัส หรือตกอยู่ในภาวะอันใกล้จะเป็นอันตรายต่อชีวิต กฎหมายก็กำหนดให้ศาลลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดได้ แต่ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง (มาตรา 316)


3.png

สรุปความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขัง

จากที่ได้กล่าวมา จะเห็นได้ว่าความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังถือเป็นความผิดที่มีโทษค่อนข้างสูง และโดยส่วนมากจะเป็นความผิดที่ยอมความไม่ได้ เมื่อมีความผิดเกิดขึ้นผู้เสียหายย่อมสามารถแจ้งความหรือฟ้องร้องดำเนินคดีแก่ผู้กระทำความผิดได้ภายในกำหนดอายุความ เว้นแต่ความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังตาม มาตรา 310 วรรคแรก และ มาตรา 311 วรรคแรก ที่ มาตรา 321 บัญญัติว่าให้เป็นความผิดอันยอมความได้ ผู้เสียหายจึงต้องแจ้งความร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องและรู้ตัวผู้กระทำความผิด มิฉะนั้นคดีจะขาดอายุความ

หากต้องการคำปรึกษาทางด้านกฎหมาย สามารถปรึกษาทนายความผ่าน Legardy ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ปรึกษาเบื้องต้นฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย !

 

ปรึกษาทนายตัวจริง

สอบถามได้ทุกเรื่องราวทางกฎหมาย

"โดนโกง โดนประจาน" ปรึกษาได้ในคลิกเดียว

ทนายพร้อมให้คำปรึกษาตลอด 24 ชม.
4.8/5
รีวิวจากผู้ใช้งานจริงมากกว่า 16000 รีวิว
sanook ข่าวสด มติชน spring
cta
ปรึกษาทนาย 24 ชั่วโมง
“ ได้รับคำตอบทันที ! “
ติดต่อเราทาง LINE