บุคคลไร้ความสามารถกับบุคคลเสมือนไร้ความสามารถ
1. บุคคลไร้ความสามารถ
บุคคลไร้ความสามารถ คือ บุคคลวิกลจริตที่ศาลมีคำสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ ซึ่งคำว่า “บุคคลวิกลจริต” นั้น ไม่ได้หมายถึงเฉพาะบุคคลที่มีจิตใจผิดปกติหรือเป็นบ้าเท่านั้น แต่หมายความรวมถึงบุคคลที่ขาดความรู้สึก ขาดความรับผิดชอบจนไม่สามารถประกอบกิจการใด ๆ ได้ด้วยตนเอง เช่น บุคคลที่สมองฝ่อ บุคคลที่ป่วยติดเตียงไม่สามารถดูแลตนเองได้ บุคคลอายุ 92 ปี ไม่รู้จักตนเอง ไม่รู้สึกตัว พูดรู้เรื่องบ้าง ไม่รู้เรื่องบ้าง ถือเป็นบุคคลวิกลจริตเช่นกัน (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 74/2511)
การทำนิติกรรมของคนไร้ความสามารถ
เมื่อบุคคลใดเป็นบุคคลวิกลจริตและศาลมีคำสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถแล้ว ต้องมีการแต่งตั้งผู้อนุบาล และจัดให้คนไร้ความสามารถอยู่ในความอนุบาลของผู้อนุบาลการจะทำนิติกรรมต่าง ๆ ของคนไร้ความสามารถนั้นต้องให้ผู้อนุบาลเป็นผู้กระทำแทน หากคนไร้ความสามารถได้กระทำนิติกรรมไป ย่อมส่งผลให้นิติกรรมนั้นตกเป็นโมฆียะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 29 และมาตรา 153
ในทางกลับกันหากบุคคลวิกลจริตนั้นศาลยังไม่มีคำสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ ก็ไม่จำต้องมีการจัดตั้งผู้อนุบาลเพื่อทำหน้าที่ดูแลบุคคลวิกลจริตนั้น และนิติกรรมใดที่บุคคลวิกลจริตได้ทำไปย่อมมีผลสมบูรณ์ถูกต้องตามกฎหมาย เว้นแต่บุคคลนั้นได้กระทำนิติกรรมขณะจริตวิกลอยู่และคู่กรณีอีกฝ่ายได้รู้ว่าผู้กระทำเป็นบุคคลวิกลจริต นิติกรรมนั้นย่อมตกเป็นโมฆียะเช่นกัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 30
แต่อย่างไรก็ตาม สำหรับนิติกรรมที่มีความสำคัญดังที่ระบุไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1574 ผู้อนุบาลจะกระทำแทนคนไร้ความสามารถโดยพลการไม้ได้ แต่ต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อน ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 28 วรรคสอง มาตรา 1574 ประกอบมาตรา 1598/18
2. บุคคลเสมือนไร้ความสามารถ
คนเสมือนไร้ความสามารถ หมายถึง บุคคลที่มีกายพิการหรือมีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ หรือประพฤติสุรุ่ยสุร่ายเสเพลเป็นอาจิณ หรือติดสุรายาเมา หรือมีเหตุอื่นใดทำนองเดียวกัน จนไม่สามารถจะจัดทำการงานโดยตนเองได้ หรือจัดกิจการไปในทางที่อาจจะเสื่อมเสียแก่ทรัพย์สินของตนเองหรือครอบครัว (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 32 วรรคแรก)
ตัวอย่างของบุคคลไร้ความสามารถ
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 912/2520 อายุ 74 ปี ป่วยเป็นโรคเบาหวาน และเป็นอัมพาตมานานประมาณ 13 เดือน มือเท้าข้างขวาและร่างกายแถบซีกด้านขวาเคลื่อนไหวไม่ได้ เคลื่อนไหวได้เฉพาะแถบซีกด้านซ้าย ลุกขึ้นยืนไม่ได้ นั่งได้ คลานไปในระยะใกล้ ๆ ได้ เข้าใจคำถามได้ดีและสามารถตอบคำถามได้บ้าง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4045/2528 ตาบอดทั้งสองข้างเมื่อบุคคลใดศาลมีคำสั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถแล้ว ต้องมีการแต่งตั้งผู้พิทักษ์ และจัดให้คนเสมือนไร้ความสามารถอยู่ในความพิทักษ์ของผู้พิทักษ์
การทำนิติกรรมของบุคคลเสมือนไร้ความสามารถ
สำหรับการทำนิติกรรมของบุคคลเสมือนไร้ความสามารถนั้น โดยหลักแล้วจะถือว่าสมบูรณ์ตามกฎหมาย แต่ก็มีนิติกรรมบางประเภทที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 34 ซึ่งคนเสมือนไร้ความสามารถต้องได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์ก่อน นิติกรรมนั้นจึงจะมีผลสมบูรณ์ หากคนเสมือนไร้ความสามารถได้กระทำนิติกรรมตามที่กฎหมายกำหนดไว้โดยปราศจากความยินยอมจากผู้พิทักษ์ นิติกรรมนั้นจะตกเป็นโมฆียะ
นิติกรรมที่บุคคลเสมือนไร้ความสามารถต้องได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์ก่อน
ซึ่งนิติกรรมที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 34 กำหนดไว้มีดังนี้
- นำทรัพย์สินไปลงทุน
- รับคืนทรัพย์สินที่ไปลงทุน ต้นเงินหรือทุนอย่างอื่น
- กู้ยืมหรือให้กู้ยืมเงิน ยืมหรือให้ยืมสังหาริมทรัพย์อันมีค่า
- รับประกันโดยประการใด ๆ อันมีผลให้ตนต้องถูกบังคับชำระหนี้
- เช่าหรือให้เช่าสังหาริมทรัพย์มีกำหนดระยะเวลาเกินกว่า 6 เดือน หรืออสังหาริมทรัพย์มีกำหนดระยะเวลาเกินกว่า 3 ปี
- ให้โดยเสน่หา เว้นแต่การให้ที่พอควรแก่ฐานานุรูป เพื่อการกุศล การสังคม หรือตามหน้าที่ธรรมจรรยา
- รับการให้โดยเสน่หาที่มีเงื่อนไขหรือค่าภาระติดพัน หรือไม่รับการให้โดยเสน่หา
- ทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อจะได้มาหรือปล่อยไปซึ่งสิทธิในอสังหาริมทรัพย์หรือในสังหาริมทรัพย์อันมีค่า
- ก่อสร้างหรือดัดแปลงโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นหรือซ่อมแซมอย่างใหญ่
- เสนอคดีต่อศาลหรือดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ เว้นแต่การร้องขอตามมาตรา 35 หรือการร้องขอถอนผู้พิทักษ์
- ประนีประนอมยอมความหรือมอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย
ต้องการค้นหาด้านกฎหมายใช่ไหม ? สามารถค้นหาบทความ, คำปรึกษาจริง, มาตราที่เกี่ยวข้อง คลิกที่นี่ !
3. การยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้เป็นบุคคลไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ
3.1 วิธีการร้องขอ
การเสนอคดีต่อศาลนั้น สามารถทำได้โดยยื่นคำร้องต่อศาลอย่างคดีไม่มีข้อพิพาท โดยศาลที่มีเขตอำนาจในการพิจารณาคือ ศาลที่คนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถนั้นอยู่ในเขตศาล หรือศาลที่ผู้ร้องขอมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล และเมื่อศาลได้รับคำร้องจากผู้ร้องแล้ว ศาลจะนัดพิจารณาไต่สวนคำร้องและมีคำสั่งต่อไป
3.2 บุคคลผู้มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาล
บุคคลผู้มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถนั้น ได้ระบุไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 28 (คนเสมือนไร้ความสามารถประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 32 ประกอบมาตรา 28) ดังต่อไปนี้
- คู่สมรส
- ผู้บุพการี หมายถึง ญาติสืบสายโลหิตโดยตรงขึ้นไป เช่น บิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย เป็นต้น
- ผู้สืบสันดาน หมายถึง ญาติสืบสายโลหิตโดยตรงลงมา เช่น บุตร หลาน เหลน เป็นต้น
- ผู้ปกครอง
- ผู้ซึ่งปกครองดูแลผู้เยาว์
- พนักงานอัยการ
ในทางปฏิบัติ การร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้บุคคลเป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ มักจะเกิดขึ้นในกรณีบุคคลนั้นมีทรัพย์สินที่ต้องจัดการ เช่น ต้องการขายที่ดิน เบิกถอนเงินจากธนาคาร แต่บุคคลเหล่านี้ไม่สามารถมาทำนิติกรรมนั้นได้ด้วยตนเอง จำเป็นต้องมีการร้องขอต่อศาลให้ศาลมีคำสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถเสียก่อน เพื่อที่จะสามารถจัดการทรัพย์สินของบุคคลนั้นได้ และเป็นผลให้การจัดการทรัพย์สินนั้นมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย
ปรึกษาทนายตัวจริง
สอบถามได้ทุกเรื่องราวทางกฎหมาย
"โดนโกง โดนประจาน" ปรึกษาได้ในคลิกเดียว
สมัครเป็นทนายออนไลน์
แพล็ทฟอร์มรวบรวม
งานกฎหมายจากทั่วประเทศ



