เขตอำนาจศาลในคดีแพ่ง
เขตอำนาจศาลในคดีแพ่ง คือ เขตพื้นที่ที่ศาลมีอำนาจที่จะรับคดีนั้นไว้พิจารณาพิพากษา ในการยื่นคำฟ้อง (คดีมีข้อพิพาท) หรือคำร้องขอ (คดีไม่มีข้อพิพาท) นั้น จึงต้องยื่นต่อศาลที่มีอำนาจชำระคดีนั้น เพราะหากยื่นต่อศาลที่ไม่มีเขตอำนาจเหนือคดีนั้นแล้ว อาจส่งผลให้ศาลมีคำสั่งไม่รับหรือคืนคำฟ้องหรือคำร้องขอนั้นได้
การยื่นคำฟ้องคำร้องขอนั้น กฎหมายกำหนดเขตอำนาจศาลไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4 ดังนี้
1. คำฟ้อง (ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4(1))
- ศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนา เช่น ที่อยู่ตามทะเบียนบ้านของจำเลย ที่ตั้งสำนักงานใหญ่นิติบุคคล เป็นต้น
- ศาลที่มูลคดีเกิด เช่น สถานที่ทำสัญญาซื้อขาย สถานที่ที่ทำสัญญากู้ยืมเงิน สถานที่เกิดเหตุละเมิด เป็นต้น
2. คำร้องขอ (ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4(2))
- ศาลที่ผู้ร้องมีภูมิลำเนา
- ศาลที่มูลคดีเกิด เช่น ศาลที่ที่ดินตั้งอยู่ในคดีร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์(คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1665/2548) ศาลที่เหตุวิกลจริตเกิดขึ้นในคดีร้องขอให้ศาลสั่งให้คนวิกลจริตเป็นคนไร้ความสามารถ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4513/2542) เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ก็มีคดีบางประเภทที่กฎหมายกำหนดเขตอำนาจศาลไว้โดยเฉพาะ ซึ่งคดีประเภทนี้จะไม่ได้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4 มาบังคับใช้ โจทก์หรือผู้ร้องจึงต้องยื่นคำฟ้องหรือคำร้องขอของตนตามเขตอำนาจศาลที่กฎหมายกำหนดไว้เท่านั้น
คดีที่กฎหมายกำหนดเขตอำนาจศาลไว้โดยเฉพาะ
1. คำฟ้องเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์
คำฟ้องเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ หรือสิทธิหรือประโยชน์อันเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ หมายถึง คำฟ้องที่บังคับเอาแก่ตัวอสังหาริมทรัพย์โดยตรง เช่น คำฟ้องขอให้จดทะเบียนโอนที่ดิน (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1115/2523) คำฟ้องขับไล่ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1134/2514) คำฟ้องขอบังคับจำนองที่ดิน (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3530/2542) เป็นต้น คำฟ้องเกี่ยวกับคดีประเภทนี้ กฎหมายกำหนดเขตอำนาจศาลไว้ ดังนี้ (ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4ทวิ)
- ศาลที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่
- ศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนา
2. กรณีที่จำเลยไม่มีภูมิลำเนา
สำหรับกรณีที่จำเลยไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรและมูลคดีไม่ได้เกิดในราชอาณาจักร โจทก์จึงไม่อาจยื่นฟ้องต่อศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4 ได้ ในกรณีเช่นนี้ กฎหมายกำหนดเขตอำนาจศาลไว้ ดังนี้ (ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4ตรี)
- ศาลแพ่ง (กรณีโจทก์มีสัญชาติไทย)
- ศาลที่โจทก์มีภูมิลำเนา (กรณีที่โจทก์มีภูมิลำเนาในราชอาณาจักร)
- ศาลที่ทรัพย์สินของจำเลยตั้งอยู่ (กรณีที่จำเลยมีทรัพย์สินที่อาจถูกบังคับคดีได้อยู่ในราชอาณาจักร)
3. คำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดก
คำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดก กฎหมายกำหนดเขตอำนาจศาลไว้ ดังนี้ (ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4จัตวา)
- ศาลที่เจ้ามรดก (ผู้ตาย) มีภูมิลำเนา
- ศาลที่ทรัพย์มรดกตั้งอยู่ (ในกรณีที่เจ้ามรดก (ผู้ตาย) ไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักร)
4. คำร้องขอเพิกถอน
คำร้องขอเพิกถอนมติของที่ประชุมหรือที่ประชุมใหญ่ของนิติบุคคล คำร้องขอเลิกนิติบุคคล คำร้องขอตั้งหรือถอนผู้ชำระบัญชีของนิติบุคคล หรือคำร้องขออื่นใด้เกี่ยวกับนิติบุคคล กฎหมายกำหนดเขตอำนาจศาลไว้ ดังนี้ (ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4เบญจ)
- ศาลที่นิติบุคคลมีสำนักงานแห่งใหญ่ตั้งอยู่
ต้องการค้นหาด้านกฎหมายใช่ไหม ? สามารถค้นหาบทความ, คำปรึกษาจริง, มาตราที่เกี่ยวข้อง คลิกที่นี่ !
5. คำร้องขอเกี่ยวกับทรัพย์สิน
คำร้องขอเกี่ยวกับทรัพย์สินที่อยู่ในราชอาณาจักร คำร้องขอที่หากศาลมีคำสั่งตามคำร้องขอนั้นจะเป็นผลให้ต้องจัดการหรือเลิกจัดการทรัพย์สินที่อยู่ในราชอาณาจักร ซึ่งมูลคดีไม่ได้เกิดในราชอาณาจักรและผู้ร้องขอไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักร กฎหมายกำหนดเขตอำนาจศาลไว้ ดังนี้ (ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4 ฉ)
- ศาลที่ทรัพย์สินนั้นอยู่
สำหรับกรณีที่คำฟ้องหรือคำร้องขอสามารถยื่นต่อศาลได้หลายศาล เพราะ ภูมิลำเนาของบุคคล ที่ตั้งของทรัพย์สิน สถานที่มูลคดีเกิด ข้อหาหลายข้อหา ถ้ามูลความแห่งคดีเกี่ยวข้องกัน โจทก์หรือผู้ร้องขอนั้นจะยื่นคำฟ้องหรือคำร้องขอต่อศาลใดศาลหนึ่งที่มีเขตศาลเหนือคดีนั้นก็ได้ (ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 5)
ตัวอย่างเช่น
คดีกู้ยืมเงินที่ลูกหนี้และผู้ค้ำประกันมีภูมิลำเนาต่างที่กัน โจทก์จะยื่นคำฟ้องทั้งลูกหนี้และผู้ค้ำประกันต่อศาลที่ทำสัญญากู้ ศาลที่ลูกหนี้มีภูมิลำเนา หรือศาลที่ผู้ค้ำประกันมีภูมิลำเนาก็ได้ เพราะถือว่ามูลความแห่งคดีเกี่ยวข้องกัน (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4760/2534)
คำถามที่พบบ่อย
Q : หากยื่นคำฟ้องหรือคำร้องขอต่อศาลที่ไม่มีอำนาจพิจารณาคดีนั้น จะสามารถดำเนินคดีในศาลนั้นต่อไปได้หรือไม่ ?
A : ในทางปฏิบัติ ก่อนศาลรับคำฟ้องหรือคำร้องขอ ศาลจะตรวจคำฟ้องหรือคำร้องขอนั้นก่อน หากศาลเห็นว่าคดีไม่ได้อยู่ในเขตอำนาจศาลนั้น ศาลก็จะมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องหรือคำร้องขอ หรือคืนคำฟ้องหรือคำร้องขอเพื่อให้ไปยื่นต่อศาลที่มีเขตอำนาจ (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 18 วรรคสาม)
Q : หากยื่นคำฟ้องต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาไปแล้ว ต่อมาจำเลยเปลี่ยนภูมิลำเนา ต้องยื่นฟ้องใหม่หรือไม่ ?
A : กรณีเช่นนี้ แม้จำเลยจะเปลี่ยนแปลงภูมิลำเนาภายหลังยื่นฟ้องคดีแล้ว ก็ไม่ตัดอำนาจศาลเดิมที่รับฟ้องไว้ ที่จะพิจารณาพิพากษาต่อไปได้ (ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง(2))
หากมีข้อสงสัยต้องการปรึกษาทนายความเพื่อหาทางออกกฎหมาย สามารถติดต่อผ่าน Legardy ได้ตลอด 24ชั่วโมงครับ