บทความนี้อยากให้อ่าน 2หัวข้อแรกก่อนนะครับ เพื่อความเข้าใจที่มากขึ้นในเรื่องของ “ที่งอกริมตลิ่ง”
บางครั้งเมื่อฤดูฝนมีน้ำไหลผ่าน สายน้ำได้พัดพาเศษซากตะกอน กรวด หิน ดิน ทราย มารวมตัวกันทำให้เกิดเป็นที่งอกใหม่ขึ้นมา ซึ่งที่งอกใหม่นั้นมีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการดูว่าจะตกเป็นของใคร บทความนี้ Legardy จะบรรยายถึง "ที่งอกริมตลิ่ง" กันครับ
ก่อนอื่นต้องรู้จักคำว่า “ทรัพยสิทธิ” กันก่อน
ทรัพยสิทธิ คือ สิทธิที่บุคคลมีเหนือทรัพย์สินโดยตรงซึ่งอาจได้สิทธิจากนิติกรรมหรือผลของกฎหมาย เช่น กรรมสิทธิ์ สิทธิอาศัย การจำยอม สิทธิเก็บกิน สิทธิครอบครอง สิทธิเหนือพื้นดิน เป็นต้น และสิทธิจะติดตามไปกับทรัพย์สินนั้นไม่ว่าทรัพย์สินจะตกไปอยู่ในความครอบครองของบุคคลใดก็ตาม
ยกตัวอย่างเช่น Aมีรถยนต์เป็นของตนเอง Aย่อมมีสิทธิที่จะขาย ให้ยืม หรือจำนำรถยนต์ของตนเองได้ แต่ถ้าหาก Aขายรถยนต์ให้B
ทรัพยสิทธิในรถยนต์นั้นจะตกเป็นของ B เมื่อทรัพย์เปลี่ยนมือ ทรัพยสิทธิย่อมเปลี่ยนมือตามไปด้วยเช่นกัน
ทรัพยสิทธิ เป็นสิทธิที่คงทนถาวร แม้จะไม่ได้ใช้ทรัพยสิทธิมานานแค่ไหนทรัพยสิทธิก็ไม่ได้ระงับสิ้นไป เว้นแต่ ภาระจำยอม(ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1399) และ ภารติดพันในอสังหาริมทรัพย์ (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1434) หากใน2กรณีดังกล่าว ถ้าไม่มีการใช้ทรัพย์สินนั้น จะเป็นการสิ้นไปของทรัพย์
การได้มาซึ่งทรัพย์ สามารถเกิดได้จาก 2กรณีใหญ่ๆ
1.การได้มาโดยนิติกรรม การได้มาซึ่งทรัพย์โดยอาศัยนิติกรรมเป็นหลัก นิติกรรมคือการใดๆ อันทำลงโดยชอบด้วยกฎหมาย มีวัตถุประสงค์ก่อให้เกิดผลทางกฎหมาย เช่น
- การซื้อขาย ผู้ซื้อได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินเมื่อชำระราคาครบถ้วน และผู้ขายส่งมอบทรัพย์สินให้แก่ผู้ซื้อ หรือง่ายๆคือการซื้อของนั่นเอง
- สัญญาแลกเปลี่ยน แต่ละฝ่ายได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่อีกฝ่ายหนึ่งส่งมอบให้
- ได้มาจากการยกให้ ผู้รับได้ให้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินเมื่อผู้ให้ส่งมอบทรัพย์สินให้ หรือการยกให้ฟรีๆนั่นเอง
- ได้มาจากมรดก ทายาทได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์มรดกของผู้ตายตามพินัยกรรมหรือตามกฎหมาย
- สัญญาเช่าซื้อ ผู้เช่าซื้อได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินเมื่อชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วน เช่น การผ่อนรถกับไฟแนนซ์ เมื่อผ่อนครบทุกงวดแล้ว ชื่อเจ้าของรถก็จะเป็นของเรา
หากเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยนิติกรรม ให้ทำการไปจดทะเบียนที่บอกถึงการได้มาแก่เจ้าหน้าที่และทำเป็นหนังสือ
2.การได้มาโดยไม่ใช่นิติกรรม คือ การได้มาซึ่งทรัพย์โดยไม่ต้องอาศัยนิติกรรม อาจเกิดขึ้นโดยผลของกฎหมายหรือโดยการกระทำของบุคคล เช่น
- การครอบครองปรปักษ์ การครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นโดยเปิดเผยและต่อเนื่องเป็นระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ทำให้ได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้น
- การได้มาโดยการสร้าง การได้มาซึ่งทรัพย์สินที่เกิดขึ้นใหม่จากทรัพย์สินเดิมของตน เช่น ลูกสัตว์ที่เกิดจากสัตว์เลี้ยงของตน หรือผลไม้ที่เกิดจากต้นไม้ของตน
- การได้มาโดยเป็นสมบัติตกทอด การได้มาซึ่งทรัพย์สินของผู้ตายโดยไม่มีพินัยกรรม โดยทายาทจะได้รับมรดกตามลำดับที่กฎหมายกำหนด
- การพบทรัพย์สินที่ไม่มีเจ้าของ ผู้พบทรัพย์สินที่ไม่มีเจ้าของมีสิทธิได้รับทรัพย์สินนั้น หากได้แจ้งแก่เจ้าหน้าที่และไม่มีผู้มาแสดงตนเป็นเจ้าของภายในเวลาที่กำหนด
ที่งอกริมตลิ่ง มาตรา 1308
ที่งอกริมตลิ่ง คือ ที่ดินที่เกิดขึ้นใหม่ตามธรรมชาติโดยการทับถมของดินตะกอนจากแม่น้ำ ลำคลอง หรือทะเล ที่บริเวณริมตลิ่งเดิม ทำให้พื้นที่ดินบริเวณนั้นขยายออกไป
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1308 บัญญัติไว้ว่า
มาตรา 1308 ที่ดินแปลงใดเกิดที่งอกริมตลิ่ง ที่งอกย่อมเป็นทรัพย์สินของเจ้าของที่ดินแปลงนั้น
หลักเกณฑ์การดูที่งอกริมตลิ่งมีดังนี้
1.ต้องเป็นที่งอกที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ
ซึ่งเกิดจากที่กระแสน้ำพัดเอากรวดหินดินทรายมาเกาะติดกับที่ดินริมตลิ่งจนสูงขึ้นจากท้องน้ำและเกิดงอกออกไปทีละน้อย ไม่ใช่เกิดจากฝีมือมนุษย์ถมขึ้น หากเกิดจากฝีมือมนุษย์จะผิดฐานบุกรุกที่สาธารณประโยชน์
ตัวอย่างคำพิพากษาฎีกาที่ 10534/2551 (ที่งอกริมตลิ่ง)
แม้ที่งอกอันเป็นที่ดินพิพาทในคดีนี้จะเกิดขึ้นจากการที่บุคคลอื่นสร้างเขื่อนหินยื่นลงไปในทะเลใกล้กับที่ดินของโจทก์ทำให้เกิดการสะสมของตะกอนทรายแล้วเกิดที่งอกจากที่ดินดังกล่าวของโจทก์ เมื่อโจทก์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสร้างเขื่อนหินดังกล่าว ก็ถือได้ว่าที่งอกของที่ดินของโจทก์เป็นที่งอกที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ โจทก์จึงเป็นเจ้าของที่งอกดังกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 1308
2.ต้องเป็นที่ดินที่งอกจากริมตลิ่งออกไป
ที่ดินใหม่ต้องเกิดขึ้นจากการขยายตัวของที่ดินเดิมที่ติดกับตลิ่ง ไม่ใช่ที่ดินที่เกิดขึ้นใหม่กลางแม่น้ำหรือลำคลองแล้วมาเชื่อมกับตลิ่งในภายหลัง
3.ที่งอกริมตลิ่งนั้นต้องติดกับที่ดินเดิม
ที่ดินที่งอกต้องเชื่อมต่อกับที่ดินเดิมของเจ้าของที่ดินริมตลิ่งโดยไม่มีสิ่งใดกั้นขวางหากมีสิ่งใดกั้นขวางไม่ว่าจะเป็นที่หลวงหรือถนน จะไม่ถือว่าที่งอกริมตลิ่งนั้นเป็นของเจ้าของที่ดิน
4.ฤดูฝนน้ำต้องไม่ท่วม หากน้ำยังท่วมอยู่จะถือเป็นที่ของแผ่นดิน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 126/2503 (ที่งอกที่น้ำท่วมถึง)
ก่อนเป็นที่งอก ที่พิพาท เป็นที่น้ำท่วมถึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินต่อมาที่พิพาทเริ่มเป็นของจำเลยโดยเป็นที่งอกหน้าที่ดินของจำเลยตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1308เมื่อ 3 ปีมานี้ การที่โจทก์ครอบครองปรปักษ์ต่อที่ดินของจำเลยดังกล่าวนี้เพียง 3 ปีโจทก์ย่อมไม่ได้กรรมสิทธิ์
อ่านคำปรึกษาจริงพร้อมคำตอบจากทนายความเรื่อง "ที่งอกริมตลิ่ง"
ที่งอกริมตลิ่ง ออกโฉนด
ต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าที่ดินที่งอกนั้นเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กล่าวไปข้างต้นหรือไม่ หากตรงตามหลักเกณฑ์ข้างต้นแล้ว
1.ให้เตรียมเอกสารดังต่อไปนี้
- สำเนาโฉนดที่ดินเดิมที่ติดกับริมตลิ่ง
- แบบคำขอ (กษ. 01)
- หลักฐานแสดงการได้มาของที่ดินเดิม (เช่น สัญญาซื้อขาย, สัญญามรดก)
- หลักฐานแสดงการเสียภาษีบำรุงท้องที่
- แผนที่แสดงตำแหน่งที่ตั้งของที่ดินและที่งอกริมตลิ่ง
- รูปถ่ายบริเวณที่งอกริมตลิ่ง
2.เมื่อเตรียมเอกสารครบแล้วให้ยื่นคำขอ ยื่นคำขอพร้อมเอกสารประกอบที่สำนักงานที่ดินที่ที่ดินตั้งอยู่
3.หากเจ้าหน้าที่ที่ดินตรวจสอบและไม่มีข้อพิพาท ก็สามารถออกโฉนดที่ดินใหม่ให้
ในกรณีที่ที่ดินเดิมไม่มีโฉนดที่ดิน เจ้าของที่ดินสามารถยื่นคำขอออกโฉนดที่ดินครั้งแรกพร้อมกับที่งอกริมตลิ่งได้
ที่งอกริมตลิ่ง ชายทะเล
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ได้ให้นิยาม "ชายทะเล" ว่าเป็นเขตระหว่างแนวน้ำทะเลลงต่ำสุดกับแนวน้ำทะเลขึ้นสูงสุด ซึ่งหมายถึงบริเวณชายตลิ่งนั่นเอง
เมื่อชายทะเลตื้นเขินจนน้ำทะเลไม่สามารถท่วมถึงได้ ที่ดินส่วนที่งอกขึ้นนี้จะถือเป็นส่วนควบของที่ดินแปลงใดก็ตามที่ติดกับชายทะเลนั้น โดยอาศัยหลักกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1308
อย่างไรก็ตาม การที่ที่ดินงอกริมทะเลจะตกเป็นส่วนควบของที่ดินเดิมหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับว่าการตื้นเขินของชายทะเลนั้นเกิดขึ้นโดยธรรมชาติหรือไม่ หากเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ ที่ชายทะเลดังกล่าวจะพ้นจากสภาพการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304(2)
สรุป
การที่มีที่งอกเกิดขึ้นมาเองโดยธรรมชาติ เจ้าของที่ดินนั้นสามารถยื่นขอจดทะเบียนที่ดินที่งอกออกมาได้ หากตรงตามหลักเกณฑ์และไม่มีข้อพิพาทใดๆ เจ้าหน้าที่สามารถออกโฉนดใบใหม่ที่รวมถึงที่งอกที่เพิ่มขึ้นมาได้ หากกำลังทุกข์ใจเรื่องที่ดิน กำลังมองหาที่ปรึกษาทางด้านกฎหมาย สามารถปรึกษาทนายความผ่าน Legardy ได้ตลอด 24ชั่วโมง หรือคลิกที่ลิงค์นี้ได้เลยครับ