เผยแพร่เมื่อ: 2024-02-24

ผู้อนุบาลและผู้พิทักษ์: บทบาท หน้าที่ และการจัดการทรัพย์สินของคนไร้ความสามารถ

เมื่อบุคคลถูกศาลสั่งเป็นคนไร้ความสามารถแล้ว บทบาท หน้าที่ในทางกฎหมายก็ย่อมลดลงไป การจะจัดการอะไรด้วยตัวเองนั้นจะเป็นเรื่องยากขึ้นไป จึงต้องมีผู้อนุบาลขึ้นเพื่อเปรียบเสมือนเป็นคนที่คอยจัดการดูแลเรื่องต่างๆให้แก่บุคคลไร้ความสามารถนั้น วันนี้ทนายจะพาไปลงรายละเอียดเรื่องผู้อนุบาลกันครับ


ผู้อนุบาลคืออะไร?

ผู้อนุบาล หมายถึง บุคคลซึ่งศาลมีคำสั่งแต่งตั้งให้เป็นผู้ปกครองดูแลคนไร้ความสามารถ

ผู้ดูแลคนไร้ความสามารถ คือใคร?

คนไร้ความสามารถ คือ คนวิกลจริตถึงขนาดที่ไม่สามารถดูแลตนเองหรือผลประโยชน์ของตนเองได้เลย เช่น ผู้ป่วยติดเตียง บุคคลที่มีปัญหาทางจิตที่ไม่สามารถรับรู้ถึงการกระทำของตนได้เลย เป็นตน ซึ่งศาลมีคำสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนไร้ความสามารถตามคำร้องขอของคู่สมรส ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน ผู้ปกครอง ผู้พิทักษ์ ผู้ซึ่งปกครองดูแลบุคคลนั้นอยู่ หรือพนักงานอัยการ

2.png
การดูแลผู้สูงอายุโดยผู้อนุบาล

 

ผู้อนุบาลคือใคร?

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์กำหนดบุคคลที่สามารถยื่นคำร้องให้ผู้อื่นเป็นคนไร้ความสามารถและตั้งผู้อนุบาลไว้หลายบุคคลด้วยกัน ได้แก่ คู่สมรส ผู้บุพการี (บิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย ทวด) ผู้สืบสันดาน (ลูก หลาน เหลน ลื่อ) ผู้ปกครอง ผู้พิทักษ์ ผู้ซึ่งปกครองดูแลผู้นั้นอยู่ หรือพนักงานอัยการ แต่สำหรับกรณีพนักงานอัยการนั้น พนักงานอัยการสามารถเป็นผู้ร้องต่อศาลได้ แต่พนักงานอัยการจะมีคำร้องขอให้แต่งตั้งบุคคลที่เกี่ยวข้องกับคนไร้ความสามารถเป็นผู้อนุบาล โดยพนักงานอัยการจะไม่ได้มาเป็นผู้อนุบาลด้วยตนเอง (มาตรา 28)

จะเห็นได้ว่า กฎหมายไม่ได้กำหนดไว้เพียงบุคคลที่เป็นญาติสนิทของคนไร้ความสามารถเท่านั้น แต่ยังรวมถึงบุคคลที่เป็นผู้ดูแลคนไร้ความสามารถนั้นอยู่ด้วย ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นญาติของคนไร้ความสามารถหรือไม่ก็ตาม


ผู้อนุบาลทำอะไรได้บ้าง?

สำหรับอำนาจหน้าที่ของผู้อนุบาลนั้น กฎหมายกำหนดให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ว่าด้วยครอบครัว (มาตรา 28 วรรคสอง) กล่าวคือ ผู้อนุบาลมีหน้าที่คล้ายกับผู้ใช้อำนาจปกครองผู้เยาว์ เช่น มีอำนาจกำหนดถิ่นที่อยู่ของคนไร้ความสามารถ (มาตรา 1567(1)) มีหน้าที่ในการอุปการะเลี้ยงดูคนไร้ความสามารถ (มาตรา 1564) เป็นต้น


ผู้อนุบาล จัดการทรัพย์สิน ได้อย่างไร?

นอกจากที่กล่าวมาข้างต้น ผู้อนุบาลยังมีอำนาจจัดการทรัพย์สินและทำนิติกรรมแทนคนไร้ความสามารถได้ เนื่องจาก หากคนไร้ความสามารถกระทำการใด ๆ ลงไปด้วยตนเอง การที่กระทำลงไปนั้นย่อมตกเป็นโมฆียะ (มาตรา 29) แต่อย่างไรก็ตาม ก็มีนิติกรรมบางประเภทอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของคนไร้ความสามารถที่ผู้อนุบาลจะกระทำแทนไม่ได้ แต่ต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อน ดังนี้ (มาตรา 1574)

1. ขาย แลกเปลี่ยน ขายฝาก ให้เช่าซื้อ จำนอง ปลดจำนอง หรือโอนสิทธิจำนอง ซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้
2. กระทำให้สุดสิ้นลงทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งทรัพยสิทธิของคนไร้ความสามารถ อันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์
3. ก่อตั้งภาระจำยอม สิทธิอาศัย สิทธิเหนือพื้นดิน สิทธิเก็บกิน ภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์ หรือทรัพยสิทธิอื่นใดในอสังหาริมทรัพย์
4. จำหน่ายไปทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งสิทธิเรียกร้องที่จะให้ได้มา ซึ่งทรัพยสิทธิในอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้ หรือสิทธิเรียกร้องที่จะให้ทรัพย์สินเช่นว่านั้นของคนไร้ความสามารถปลอดจากทรัพยสิทธิที่มีอยู่เหนือทรัพย์สินนั้น
5. ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกิน 3 ปี
6. ก่อข้อผูกพันใด ๆ ที่มุ่งให้เกิดผลตามข้อ 1, 2 หรือ 3 ข้างต้น
7. ให้กู้ยืมเงิน
8. ให้โดยเสน่หา เว้นแต่จะเอาเงินได้ของคนไร้ความสามารถให้แทนคนไร้ความสามารถเพื่อการกุศลสาธารณะ เพื่อการสังคม หรือตามหน้าที่ธรรมจรรยา ทั้งนี้ พอสมควรแก่ฐานานุรูปของคนไร้ความสามารถ
9. รับการให้โดยเสน่หาที่มีเงื่อนไขหรือค่าภาระติดพัน หรือไม่รับการให้โดยเสน่หา
10. ประกันโดยประการใด ๆ อันอาจมีผลให้คนไร้ความสามารถต้องถูกบังคับชำระหนี้ หรือทำนิติกรรมอื่นที่มีผลให้คนไร้ความสามารถต้องรับเป็นผู้รับชำระหนี้ของบุคคลอื่นหรือแทนบุคคลอื่น
11. นำทรัพย์สินไปแสวงหาผลประโยชน์ เว้นแต่ เป็นการซื้อพันธบัตรรัฐบาลไทยหรือพันธบัตรที่รัฐบาลไทยค้ำประกัน รับขายฝากหรือรับจำนองอสังหาริมทรัพย์ในลำดับแรกแต่จำนวนเงินที่รับขายฝากหรือรับจำนองต้องไม่เกินครึ่งราคาตลาดของอสังหาริมทรัพย์นั้น หรือฝากประจำในธนาคาร (1598/4 (1)(2)(3))
12. ประนีประนอมยอมความ
13. มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย

จากที่กล่าวมาข้างต้นจึงเห็นได้ว่า มีนิติกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินของคนไร้ความสามารถหลายประเภทที่ผู้อนุบาลไม่สามารถจัดการได้เอง เช่น หากผู้อนุบาลจะขายที่ดินของคนไร้ความสามารถ เอาที่ดินหรืออาคารพาณิชย์ของคนไร้ความสามารถไปปล่อยให้ผู้อื่นเช่า หรือนำเงินของคนไร้ความสามารถไปให้ผู้อื่นกู้ยืมเงิน เป็นต้น นิติกรรมเหล่านี้ผู้อนุบาลต้องยื่นคำร้องขออนุญาตจากศาลก่อนจึงจะดำเนินการได้

อย่างไรก็ตาม หากไม่ใช่นิติกรรมที่กฎหมายกำหนดไว้ ผู้อนุบาลย่อมสามารถทำได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องขออนุญาตจากศาล เช่น ผู้อนุบาลถอนเงินจากธนาคารแทนคนไร้ความสามารถ แต่การนำเงินของคนไร้ความสามารถออกมาใช้นั้นต้องเป็นการใช้ตามสมควรเพื่ออุปการะเลี้ยงดูคนไร้ความสามารถนั้น (มาตรา 1598/4)

 

3.png

ผู้อนุบาลขายที่ดินได้หรือไม่?

หากผู้อนุบาลจะขายที่ดินของคนไร้ความสามารถ เอาที่ดินหรืออาคารพาณิชย์ของคนไร้ความสามารถไปปล่อยให้ผู้อื่นเช่า หรือนำเงินของคนไร้ความสามารถไปให้ผู้อื่นกู้ยืมเงิน เป็นต้น นิติกรรมเหล่านี้ผู้อนุบาลต้องยื่นคำร้องขออนุญาตจากศาลก่อนจึงจะดำเนินการได้


ผู้อนุบาลถอนเงินธนาคารได้หรือไม่?

อย่างไรก็ตาม หากไม่ใช่นิติกรรมที่กฎหมายกำหนดไว้ ผู้อนุบาลย่อมสามารถทำได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องขออนุญาตจากศาล เช่น การถอนเงินจากธนาคารแทนคนไร้ความสามารถ แต่การนำเงินของคนไร้ความสามารถออกมาใช้นั้นต้องเป็นการใช้ตามสมควรเพื่ออุปการะเลี้ยงดูคนไร้ความสามารถนั้น (มาตรา 1598/4)

อ่านคำปรึกษาจริงเรื่อง "ผู้อนุบาล ผู้พิทักษ์" พร้อมคำตอบจากทนายความผู้เชี่ยวชาญ

Q: ต้องการแต่งตั้งผู้อนุบาล แต่ไม่ได้เป็นญาติโดยตรง

Q: ยื่นขอศาลเป็นผู้อนุบาลของพ่อที่ป่วยติดเตียง

Q: หน้าที่ของผู้พิทักษ์คนเสมือนไร้ความสามารถ

Q: เรื่องการขายทรัพย์ของแม่บุญธรรมซึ่งเป็นบุคคลไร้ความสามารถ


4.png

ผู้อนุบาลกับผู้พิทักษ์ต่างกันอย่างไร?

ก่อนจะพิจารณาถึงความแตกต่างของผู้อนุบาลกับผู้พิทักษ์ ต้องทราบก่อนว่าผู้พิทักษ์คืออะไร

ผู้พิทักษ์คืออะไร?

ผู้พิทักษ์นั้นคือบุคคลที่ศาลมีคำสั่งแต่งตั้งให้เป็นผู้ดูแลคนเสมือนไร้ความสามารถ ซึ่งคนเสมือนไร้ความสามารถนั้นจะมีความแตกต่างจากคนไร้ความสามารถ เนื่องจากคนเสมือนไร้ความสามารถยังพอกระทำการต่าง ๆ ด้วยตนเองได้บ้าง เช่น บุคคลที่มีกายพิการ มีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ บุคคลที่ประพฤติสุรุ่ยสุร่ายเสเพล หรือบุคคลที่ติดสุรา เป็นต้น (มาตรา 32)

จะเห็นได้ว่า ทั้งผู้อนุบาลและผู้พิทักษ์เป็นบุคคลผู้ปกครองดูแลผู้อื่นเช่นกัน แต่บุคคลที่อยู่ใต้อำนาจปกครองนั้นแตกต่างกัน โดยขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้นั้นว่าสามารถกระทำการใดได้บ้างหรือไม่สามารถกระทำการได้เลย


นิติกรรมที่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์

จากที่ได้กล่าวมาแล้วว่าคนเสมือนไร้ความสามารถนั้นสามารถกระทำการต่าง ๆ ได้บ้าง ดังนั้น นิติกรรมที่เกี่ยวกับทรัพย์สินของคนเสมือนไร้ความสามารถ คนเสมือนไร้ความสามารถจึงสามารถกระทำได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องให้ผู้พิทักษ์กระทำแทนอย่างเช่นกรณีคนไร้ความสามารถที่ต้องให้ผู้อนุบาลกระทำการแทน แต่ก็มีนิติกรรมบางประเภทที่กฎหมายกำหนดให้คนเสมือนไร้ความสามารถจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์ก่อน (มาตรา 34) ได้แก่

1. นำทรัพย์สินไปลงทุน
2. รับคืนทรัพย์สินที่ไปลงทุน ต้นเงินหรือทุนอย่างอื่น
3. กู้ยืมหรือให้กู้ยืมเงิน ยืมหรือให้ยืมสังหาริมทรัพย์อันมีค่า
4. รับประกันโดยประการใด ๆ อันมีผลให้ตนต้องถูกบังคับชำระหนี้
5. เช่าหรือให้เช่าสังหาริมทรัพย์มีกำหนดระยะเวลาเกินกว่าหกเดือน หรืออสังหาริมทรัพย์มีกำหนดระยะเวลาเกินกว่าสามปี
6. ให้โดยเสน่หา เว้นแต่การให้ที่พอควรแก่ฐานานุรูป เพื่อการกุศล การสังคม หรือตามหน้าที่ธรรมจรรยา
7. รับการให้โดยเสน่หาที่มีเงื่อนไขหรือค่าภาระติดพัน หรือไม่รับการให้โดยเสน่หา
8. ทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อจะได้มาหรือปล่อยไปซึ่งสิทธิในอสังหาริมทรัพย์หรือในสังหาริมทรัพย์อันมีค่า
9. ก่อสร้างหรือดัดแปลงโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น หรือซ่อมแซมอย่างใหญ่
10. เสนอคดีต่อศาลหรือดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ เว้นแต่การร้องขอกระทำการในกรณีที่ผู้พิทักษ์ไม่ให้ความยินยอมโดยปราศจากเหตุผลอันสมควรตามมาตรา 35 หรือการร้องขอถอนผู้พิทักษ์
11. ประนีประนอมยอมความหรือมอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย

หากคนเสมือนไร้ความสามารถกระทำการดังกล่าวข้างต้นไปด้วยตนเองโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์ย่อมเป็นผลให้การนั้นตกเป็นโมฆียะ

 

 

การยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถและตั้งผู้อนุบาลต้องดำเนินการอย่างไร?

การยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถและตั้งผู้อนุบาลนั้น บุคคลที่กล่าวไว้ในตอนต้นอาจดำเนินการได้โดยติดต่อปรึกษาทนายความที่ไว้วางใจเพื่อให้จัดทำคำร้องยื่นต่อศาลเยาวชนและครอบครัวที่มีเขตอำนาจได้ หรืออาจดำเนินการโดยไปติดต่อสำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิฯ ในจังหวัดที่อยู่เพื่อให้พนักงานอัยการดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลให้ก็ได้เช่นกัน โดยเอกสารหลักฐานที่ต้องใช้ในการจัดทำคำร้องนั้นมีดังต่อไปนี้

เอกสารที่ต้องใช้ในการจัดทำคำร้อง

1. บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ร้องและคนไร้ความสามารถ
2. ทะเบียนบ้านของผู้ร้องและคนไร้ความสามารถ
3. บัตรคนพิการ (หากมี)
4. ใบรับรองแพทย์
5. ภาพถ่ายที่แสดงให้เห็นว่าบุคคลนั้นไม่สามารถกระทำการใด ๆ ด้วยตนเองได้
6. เอกสารที่แสดงความสัมพันธ์ของผู้ร้องกับคนไร้ความสามารถ
7. เอกสารเกี่ยวกับทรัพย์สินของคนไร้ความสามารถ


สรุป

กล่าวโดยสรุป เมื่อบุคคลใดตกเป็นคนวิกลจริตหรือไม่สามารถกระทำการต่าง ๆ ด้วยตนเองได้ และบุคคลนั้นจำเป็นต้องได้รับการปกครองดูแล การจะจัดการหรือกระทำการต่าง ๆ แทนบุคคลนั้นจึงต้องมีการร้องต่อศาลขอให้มีคำสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนไร้ความสามารถ และมีคำสั่งแต่งตั้งผู้อนุบาลก่อน ผู้อนุบาลจึงจะสามารถกระทำการต่าง ๆ แทนคนไร้ความสามารถนั้นได้ หากมีปัญหาทุกข์ใจเกี่ยวกับเรื่องกฎหมาย อย่าลังเลที่จะปรึกษาทนายผ่าน Legardy นะครับ ปรึกษาได้ตลอด 24 ชั่วโมง

cta
ปรึกษาทนาย 24 ชั่วโมง
“ ได้รับคำตอบทันที ! “
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.