เผยแพร่เมื่อ: 2024-03-04

ทางเอกทางโทดูยังไงและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับทางเอกทางโท

เป็นปกติที่คนเรานั้นต้องขับรถและต้องใช้เส้นทางจราจรต่างๆ บางครั้งเมื่อถึงแยกมีไฟแดงบ้างไม่มีไฟแดงบ้าง จะให้ใครไปก่อนไปหลังนั้นก็เกรงใจกันเหลือเกิน บางทีใจตรงกันอีกก็เกิดอุบัติรถชนกันตรงทางแยก หลายๆคนเคยได้ยินคำว่าทางเอกทางโท แต่จริงๆแล้วทางเอกทางโทตามกฎหมายนั้นระบุไว้อย่างไร และฝ่ายไหนเป็นฝ่ายผิด อีกทั้งทางเอกทางโทดูยังไง Legardy จะอธิบายให้ฟังครับ


Untitled design (4).png

ทางเอกทางโท คือ

เป็นคำศัพท์ที่ใช้ในกฎหมายจราจรเพื่อบ่งบอกถึงลำดับความสำคัญของถนนและสิทธิ์ในการสัญจรของรถโดยทางเอกทางโทนั้นใช้กีบถนนที่มีทางแยกร่วม

วิธีสังเกตทางเอกทางโท

ทางเอก

คือถนนเส้นทางหลัก มักเป็นถนนเส้นทางหลัก มีขนาดใหญ่กว้างขวางและมีปริมาณรถสัญจรมาก

  • ไม่มีป้ายหยุด
  • พื้นที่เดินรถมากกว่าทางโท
  • ไม่มีเส้นหยุดรถ
  • อาจมีสัญญาณไฟจราจรควบคุม

ไม่ใช่ว่าทางเอกจะถูกเสมอไป เมื่อถึงทางแยกร่วมก็ต้องชะลอความเร็วของรถอยู่ดีครับ

ทางโท

คือถนนหรือเส้นทางสัญจรรองที่มีลำดับความสำคัญต่ำกว่าทางเอก ทางโทจะต้องให้ความสำคัญกับทางเอกและมีหน้าที่ในการให้ทางแก่รถที่วิ่งบนทางเอก

  • มีป้ายจราจร "หยุด" หรือ "ให้ทาง" กำกับ
  • มีพื้นที่เดินรถน้อยกว่าทางเอก
  • มีเส้นหยุดรอด (เส้นทึบ)
  • มักไม่มีสัญญาณไฟจราจรควบคุม

ก่อนจะออกรถจากทางแยก คนที่อยู่ทางโทควรใช้ความระมัดระวังอย่างมากเพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ


ทางเอกทางโท ทางไหนไปก่อน

ตามพระราชบัญญัติการจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 71 ได้ระบุให้

ทางเอกไปก่อน

เมื่อถึงทางแยกที่เป็นทางเอกตัดกับทางโท รถที่สัญจรบนทางเอกมีสิทธิ์ไปก่อนเสมอ ส่วนรถที่สัญจรบนทางโทต้องหยุดรถและให้ทางแก่รถบนทางเอกก่อน รถบนทางโทจึงจะสามารถสัญจรต่อไปได้

13 กฎจราจรในชีวิตประจำวันที่พบเจอบ่อย ! คลิกเพื่ออ่าน !


ทางเอกทางโท ดูยังไง

ขอยกตัวอย่างเป็นรูปภาพ เพื่อความเข้าใจที่มากขึ้นครับ

ไฟจราจร.png

จากรูป

รถคันสีเหลืองจะอยู่ที่ทางโท เพราะว่ามีเส้นทึบให้หยุดรถ และในบางกรณีอาจมีป้าย “หยุด” ตั้งอยู่ตรงมุมแยกครับ และขนาดของถนนมีความเล็กกว่าจึงเป็นทางโท (ทางรอง)

ส่วนรถคันสีเงิน คือทางเอกเพราะเป็นเส้นทางหลัก ไม่มีเส้นทึบให้หยุดรถ และไม่มีป้ายหยุด อีกทั้งขนาดของถนนมีความกว้างกว่า จึงเหมาะกับการเป็นถนนเส้นหลัก(ทางเอก)มากกว่า

 

 


ทางเอกทางโท อุบัติเหตุ

ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 71 ได้กำหนดสิทธิในการใช้ทางในทางร่วมทางแยก

(2) เมื่อมาถึงทางร่วมทางแยกพร้อมกัน ทางเอกมีสิทธิไปก่อน ถ้าไม่มีทางเอกทางโท ให้รถทางซ้ายมือไปก่อน

(3) เมื่อฝั่งเราไฟเขียว แต่มีรถคาอยู่ที่แยก ให้เราหยุดรอหลังเส้นหยุดจนกว่าจะสามารถขับผ่านแยกไปได้

มาตรา 74 กำหนดให้ผู้ขับขี่ต้องลดความเร็วเมื่อเข้าใกล้ทางร่วมทางแยก

แต่เมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้นแล้วไม่ใช่ว่าฝ่ายทางเอกจะถูกเสมอไปและฝ่ายทางโทจะผิดเสมอไป 

ต้องพิจารณาจากหลายปัจจัยดังนี้

กรณีเกิดอุบัติเหตุทางเอกทางโทโดยทางโทไม่ได้ให้ทางแก่ทางเอก

หากมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นระหว่างรถที่มาจากทางโทและทางเอก และผู้ขับขี่จากทางโทไม่ได้ให้ทางแก่รถจากทางเอก ผู้ขับขี่จากทางโทจะเป็นฝ่ายผิด เนื่องจากไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมายจราจรที่กำหนดให้ผู้ขับขี่จากทางโทต้องให้ทางแก่ทางเอก

กรณีผู้ขับขี่จากทางเอกขับรถเร็วเกินกำหนด โดยฝ่ายทางโทได้ใช้ความระมัดระวังอย่างดีแล้ว

ผู้ขับขี่จากทางเอกก็อาจจะเป็นฝ่ายผิดได้ แม้ว่าทางเอกจะมีสิทธิ์ไปก่อนก็ตาม

รถทางเอกหรือทางโทไม่ลดความเร็วเมื่อใกล้ถึงทางแยก

ฝ่ายที่ไม่ลดความเร็วนั้นจะมีความผิด แต่หากทั้งสองฝ่ายต่างคนต่างไม่ชะลอความเร็วทั้งคู่ ก็จะผิดฐานประมาทร่วมครับ

ปัจจัยอื่นๆที่อาจเกี่ยวข้อง

สภาพแวดล้อม

บางครั้งสภาพอากาศก็ไม่ดี มีฝนตกหนักมีหมอกหนา ทั้งทางเอกและทางโทต้องใช้ความระมัดระวังมากขึ้น หากเกิดอุบัติเหตุขึ้น และไม่ได้ทำผิดตามกรณีข้างต้น จะถือว่าฝ่ายทางโทผิด เพราะว่าหมอกหนาหรือฝนตกหนักนั้น ก็เกิดขึ้นกับทางเอกและทางโทเหมือนกัน สภาพอากาศไม่สามารถเลือกตกเฉพาะที่ได้

ความสว่างของเสาไฟ

ก็อาจจะมีบางแยกที่แสงไฟส่องสว่างไม่เพียงพอ ซึ่งข้อนี้สามารถยกเป็นประเด็นได้ครับ

เช่น ทางเอกเสาไฟพังทำให้มีไฟส่องสว่างไม่เพียงพอ ทางโทขับมาตามปกติ แล้วเกิดอุบัติเหตุขึ้น แบบนี้ฝ่ายทางโทจะเป็นฝ่ายผิด แต่สามารถยกเรื่องความสว่างของเสาไฟเพื่อให้ส่งผลต่อการพิจารณาคดีได้ครับ


กฎหมายทางเอกทางโท

ตามพระราชบัญญัติการจราจรทางบก พ.ศ. 2522   

มาตรา71 ภายใต้บังคับมาตรา 21 และมาตรา 26 เมื่อผู้ขับขี่ขับรถมาถึงทางร่วมทางแยก ให้ผู้ขับขี่ปฏิบัติดังนี้

(1) ถ้ามีรถอื่นอยู่ในทางร่วมทางแยก ผู้ขับขี่ต้องให้รถในทางร่วมทางแยกนั้นผ่านไปก่อน

(2) ถ้ามาถึงทางร่วมทางแยกพร้อมกันและไม่มีรถอยู่ในทางร่วมทางแยก ผู้ขับขี่ต้องให้รถที่อยู่ทางด้านซ้ายของตนผ่านไปก่อน เว้นแต่ในทางร่วมทางแยกใดมีทางเดินรถทางเอกตัดผ่านทางเดินรถทางโท ให้ผู้ขับขี่ซึ่งขับรถในทางเอกมีสิทธิขับผ่านไปก่อน

(3)(1) ถ้าสัญญาณจราจรไฟสีเขียวปรากฏข้างหน้า แต่ในทางร่วมทางแยกมีรถอื่นหยุดขวางอยู่จนไม่สามารถผ่านพ้นทางร่วมทางแยกไปได้ ผู้ขับขี่จะต้องหยุดรถที่หลังเส้นให้รถหยุดจนกว่าจะสามารถเคลื่อนรถผ่านพ้นทางร่วมทางแยกไปได้

มาตรา 72(2) ทางเดินรถทางเอกได้แก่ทางเดินรถดังต่อไปนี้

(1) ทางเดินรถที่ได้ติดตั้งเครื่องหมายจราจรแสดงว่าเป็นทางเดินรถทางเอก

(2) ทางเดินรถที่มีป้ายหยุดหรือป้ายที่มีคำว่า ให้ทาง ติดตั้งไว้ หรือทางเดินรถที่มีคำว่าหยุดหรือเส้นหยุดซึ่งเป็นเส้นขาวทึบหรือเส้นให้ทางซึ่งเป็นเส้นขาวประบนผิวทาง ให้ทางเดินรถที่ขวางข้างหน้าเป็นทางเดินรถทางเอก

(3) ในกรณีที่ไม่มีเครื่องหมายจราจรตาม (1) หรือไม่มีป้ายหรือเส้นหรือข้อความบนผิวทางตาม (2) ให้ทางเดินรถที่มีช่องเดินรถมากกว่าเป็นทางเดินรถทางเอก

(4) ถนนที่ตัดหรือบรรจบกับตรอกหรือซอย ให้ทางเดินรถที่เป็นถนนเป็นทางเดินรถทางเอก

ทางเดินรถอื่นที่มิใช่ทางเดินรถทางเอกตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นทางเดินรถทางโท

มาตรา 74  ผู้ขับขี่ซึ่งขับรถออกจากทางส่วนบุคคลหรือทางเดินรถในบริเวณอาคาร เมื่อจะขับรถผ่านหรือเลี้ยวสู่ทางเดินรถที่ตัดผ่านต้องหยุดรถเพื่อให้รถที่กำลังผ่านทางหรือรถที่กำลังแล่นอยู่ในทางเดินรถผ่านไปก่อนเมื่อเห็นว่าปลอดภัยแล้วจึงขับรถต่อไปได้

คำพิพากษาฎีกาที่ 1171/2544 (ทางเอกทางโท)

แม้จำเลยที่ 1 ขับรถมาในทางโทโดยไม่ปฏิบัติตามกฎจราจรคือ หยุดรถดูความปลอดภัยตามสัญญาณป้ายจราจรก่อนที่ขับผ่านเข้าไปในสี่แยก จำเลยที่ 2 ซึ่งขับรถมาในทางเอกก็ต้องชะลอรถลงแล้วดูความปลอดภัยก่อนด้วยเช่นกัน การที่จำเลยที่ 2 ขับรถไปชนบริเวณล้อหลังด้านขวาของรถคันที่จำเลยที่ 1 ขับมาแม้ชนแล้วรถบรรทุกสิบล้อยังแล่นต่อไปอีกเป็นระยะทางยาวถึง 7 เมตร แสดงว่าจำเลยที่ 2 ขับรถมาด้วยความเร็วสูงจนไม่อาจหยุดรถทัน ไม่มีการชะลอก่อนถึงสี่แยกที่เกิดเหตุ การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการกระทำโดยประมาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5248/2559 (ทางเอกทางโท)

ถนนที่จำเลยขับรถมาเป็นทางเดินรถทางโท มีสัญญาณจราจรไฟกระพริบสีแดงและป้ายเตือนให้หยุด ติดไว้ก่อนเข้าทางร่วมทางแยก จำเลยต้องหยุดรถก่อนถึงทางร่วมทางแยก หลังเส้นให้หยุดรถและให้ผู้ขับรถในทางเอกขับผ่านไปก่อน เมื่อเห็นว่าปลอดภัยและไม่เป็นการกีดขวางการจราจรแล้วจึงจะขับรถต่อไปได้ด้วยความระมัดระวัง ส่วนโจทก์ขับรถมาในทางเอกแม้จะมีสิทธิขับรถผ่านทางร่วมทางแยกไปก่อน แต่ก็ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 70 โดยต้องลดความเร็วของรถ เมื่อขับรถเข้าใกล้ทางร่วมทางแยก สภาพความเสียหายของรถโจทก์ได้รับความเสียหายอย่างมากอันเกิดจากการชนโดยแรง และตามแผนที่แสดงสถานที่เกิดเหตุ รถยนต์โจทก์อยู่ห่างจากจุดชนประมาณ 35 เมตร แสดงว่าโจทก์ขับรถมาด้วยความเร็วและไม่ได้ชะลอความเร็วของรถ เมื่อเข้าใกล้ทางร่วมทางแยก เพื่อหลีกเลี่ยงมิให้เกิดเหตุรถชนกันโจทก์จึงมีส่วนประมาทอยู่ด้วย

Untitled design (5).png


สรุป

โดยปกตินั้นหากเกิดอุบัติเหตุตรงทางแยก ฝ่ายทางโทต้องรับผิดชอบเสมอ แต่ต้องดูปัจจัยภายนอกอื่นด้วยครับ หากฝ่ายทางเอกประมาท หรือขับรถผิดกฎหมายฝ่ายทางเอกก็ผิด ถ้าประมาทร่วมต่างฝ่ายต่างประมาทก็รับผิดชอบกันเองครับ หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้เพื่อนๆดูทางเอกทางโทได้ง่ายขึ้น และขับรถกันแบบมีสติตลอดเวลาครับ เพราะเวลาเกิดอุบัติเหตุแล้วเสียทั้งเงินเสียทั้งเวลา หากกำลังหาที่ปรึกษากฎหมาย สามารถปรึกษาทนายผ่าน Legardy ได้ตลอด 24ชั่วโมง ครับ !

ปรึกษาทนายตัวจริง

สอบถามได้ทุกเรื่องราวทางกฎหมาย

"โดนโกง โดนประจาน" ปรึกษาได้ในคลิกเดียว

ทนายพร้อมให้คำปรึกษาตลอด 24 ชม.
4.8/5
รีวิวจากผู้ใช้งานจริงมากกว่า 16000 รีวิว
sanook ข่าวสด มติชน spring
cta
ปรึกษาทนาย 24 ชั่วโมง
“ ได้รับคำตอบทันที ! “
ติดต่อเราทาง LINE