เผยแพร่เมื่อ: 2024-01-15

การสมรสที่ถูกต้องตามกฎหมาย

 

woman-signing-divorce-contract.jpg

 

ความหมายของการสมรส

การสมรส คือ การที่ชายและหญิงยินยอมตกลงเป็นสามีภริยากัน และต้องแสดงความยินยอมนั้นโดยเปิดเผยต่อหน้านายทะเบียน และต้องมีการจดทะเบียนต่อหน้านายทะเบียน (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1457 และมาตรา 1458) แต่หากปรากฏพฤติการณ์พิเศษทำให้ไม่อาจทำการจดทะเบียนต่อหน้านายทะเบียนได้ เพราะฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่าย ตกอยู่ในอันตรายใกล้ความตาย หรืออยู่ในภาวการณ์รบหรือสงคราม สามารถแสดงเจตนาต่อหน้าบุคคลที่บรรลุนิติภาวะที่อยู่ ณ ที่นั้น ให้จดแจ้งเป็นหลักฐานและนำหลักฐานนั้นไปยื่นจดทะเบียนต่อนายทะเบียนภายหลังได้ (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1460)


5 เงื่อนไขตามกฎหมายของการสมรส

 

1. การสมรสจะกระทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุ 17 บริบูรณ์แล้ว เว้นแต่กรณีมีเหตุอันสมควร เช่น หญิงตั้งครรภ์ก่อนอายุ 17 ปีบริบูรณ์ ศาลก็อาจอนุญาตให้ทำการสมรสก่อนนั้นได้ (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448)

แต่อย่างไรก็ตาม หากชายหรือหญิงที่จะกระทำการสมรสนั้นยังเป็นผู้เยาว์ ต้องได้รับความยินยอมจากบุคคลดังต่อไปนี้

  (1) บิดาและมารดา ในกรณีที่มีทั้งบิดาและมารดา

  (2) บิดาหรือมารดา ในกรณีที่มารดาหรือบิดาตายหรือถูกถอนอำนาจปกครองหรือไม่อยู่ในสภาพหรือฐานะที่อาจให้ความยินยอม หรือโดยพฤติการณ์ผู้เยาว์ไม่อาจขอความยินยอมจากมารดาหรือบิดาได้

  (3) ผู้รับบุตรบุญธรรม ในกรณีผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรม

  (4) ผู้ปกครอง ในกรณีที่ไม่มีบุคคลซึ่งอาจให้ความยินยอมตาม (1) (2) และ (3) หรือมีแต่บุคคลดังกล่าวถูกถอนอำนาจปกครอง

หากชายหรือหญิงที่เป็นผู้เยาว์กระทำการสมรสโดยปราศจากความยินยอมจากบุคคลดังกล่าวนั้น ส่งผลให้การสมรสเป็นโมฆียะ (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1454 ประกอบประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1436)

 

2. การสมรสจะกระทำไม่ได้หากชายหรือหญิงเป็นบุคคลวิกลจริตหรือคนไร้ความสามารถ (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1449) ซึ่งหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นบุคคลวิกลจริตหรือคนไร้ความสามารถแล้ว การสมรสย่อมตกเป็นโมฆะ (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1495)

 

3. ชายและหญิงคู่สมรสต้องไม่เป็นญาติสืบสายโลหิตโดยตรงขึ้นไปหรือลงมา ไม่เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาหรือร่วมแต่บิดาหรือมารดากัน (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1450) หากฝ่าฝืนการสมรสย่อมตกเป็นโมฆะ (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1495)

 

4. ผู้รับบุตรบุญธรรมและบุตรบุญธรรมจะสมรสกันไม่ได้ (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1451) แต่กรณีเช่นนี้ กฎหมายไม่ได้ห้ามเด็ดขาด หรือหากฝ่าฝืนส่งผลให้การสมรสเป็นโมฆะเช่นเดียวกับกรณีอื่น ซึ่งหากผู้รับบุตรบุญธรรมและบุตรบุญธรรมสมรสกัน มีผลเพียงทำให้การรับบุตรบุญธรรมเป็นอันยกเลิกไปเท่านั้น (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1598/32)

 

5. ชายหรือหญิงจะทำการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่ไม่ได้ (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1452) กรณีเช่นนี้อาจเรียกได้ว่า “สมรสซ้อน” ซึ่งหากชายหรือหญิงสมรสโดยฝ่าฝืน การสมรสในครั้งหลังย่อมตกเป็นโมฆะ (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1495) โดยไม่ต้องคำนึงว่าได้สมรสโดยรู้หรือไม่ว่าอีกฝ่ายมีคู่สมรสอยู่แล้ว (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6924/2560)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6924/2560

การกำหนดประเด็นข้อพิพาทในคดี ศาลต้องพิจารณาจากคำฟ้อง คำให้การและกฎหมายที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย มิใช่พิจารณาจากคำฟ้องและคำให้การเท่านั้น แม้จำเลยจะให้การตั้งประเด็นต่อสู้ว่าผู้ตายแจ้งกับจำเลยว่าเป็นโสด ยังไม่ได้แต่งงาน จำเลยจึงตกลงจดทะเบียนสมรสแต่งงานอยู่กินกับผู้ตายมาถึง 35 ปี โดยเข้าใจว่าผู้ตายมิได้มีภริยามาก่อนก็ตาม แต่ ป.พ.พ. มาตรา 1452 บัญญัติเงื่อนไขการสมรสว่า ชายหรือหญิงจะทำการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่ไม่ได้ และมาตรา 1496 (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะจดทะเบียนสมรสบัญญัติว่า การสมรสที่ฝ่าฝืนมาตรา 1452 ตกเป็นโมฆะ โดยมิได้บัญญัติว่าการสมรสที่ฝ่าฝืนมาตรา 1452 จะต้องกระทำโดยสุจริตหรือไม่ ดังนั้น หากชายหรือหญิงทำการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่ไม่ว่าจะกระทำโดยสุจริตหรือไม่ ย่อมตกเป็นโมฆะ คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยขอให้เพิกถอนการสมรสที่ตกเป็นโมฆะ เพราะผู้ตายจดทะเบียนกับจำเลยในขณะที่ผู้ตายมี บ. เป็นคู่สมรส การจดทะเบียนสมรสดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1495 โดยไม่จำต้องคำนึงถึงว่าจำเลยได้จดทะเบียนสมรสโดยสุจริตหรือไม่ ที่ศาลชั้นต้นมิได้นำถ้อยคำที่จำเลยต่อสู้ในคำให้การว่าจำเลยจดทะเบียนสมรสกับผู้ตายโดยสุจริตไปกำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทและกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า การจดทะเบียนสมรสระหว่าง อ. กับจำเลยเป็นการจดทะเบียนสมรสซ้อนตกเป็นโมฆะตามฟ้องหรือไม่ จึงถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายแล้ว ไม่มีเหตุให้ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทใหม่

ต้องการค้นหาด้านกฎหมายใช่ไหม ? สามารถค้นหาบทความ, คำปรึกษาจริง, มาตราที่เกี่ยวข้อง คลิกที่นี่ !

couple-love-is-signing-official-marriage-documents.jpg

ทรัพย์สินของสามีและภรรยา

เมื่อชายและหญิงได้ทำการสมรสกันแล้ว ในเรื่องของทรัพย์สินของสามีภริยา กฎหมายจะมีการแยกว่าทรัพย์สินใดเป็นสินส่วนตัว และทรัพย์สินใดเป็นสินสมรส ซึ่งการแยกดังกล่าวจะมีผลต่อการจัดการทรัพย์สินนั้นว่าจะต้องจัดการร่วมกันหรือสามารถจัดการได้โดยลำพัง โดยทรัพย์สินระหว่างสามีภริยานั้น นอกจากที่แยกไว้เป็นสินส่วนตัวย่อมเป็นสินสมรส (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1470)

1. สินส่วนตัว (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1471) ได้แก่

1.1 ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอยู่ก่อนสมรส

1.2 ทรัพย์สินที่เป็นเครื่องใช้สอยส่วนตัว เครื่องแต่งกาย หรือเครื่องประดับกายตามสมควรแก่ฐานะ หรือเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นในการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

1.3 ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยการรับมรดกหรือโดยการให้โดยเสน่หา

1.4 ทรัพย์สินที่เป็นของหมั้น

วิธีการจัดการกับสินส่วนตัว

สินส่วนตัวนั้น ไม่ว่าจะได้แลกเปลี่ยนเป็นทรัพย์สินอื่น ซื้อทรัพย์สินอื่น ขายได้เป็นเงิน ทรัพย์สินอื่นหรือเงินที่ได้มานั้นก็คงเป็นสินส่วนตัว หรือหากสินส่วนตัวนั้นถูกทำลาย แล้วเป็นเหตุให้ได้ทรัพย์สินอื่นหรือเงินมาทดแทน ทรัพย์สินอื่นหรือเงินนั้นก็เป็นสินส่วนตัวเช่นกัน (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1472) เช่น กรณีที่สามีซื้อบ้านด้วยเงินที่เป็นสินส่วนตัว แม้จะซื้อระหว่างสมรส บ้านนั้นก็เป็นสินส่วนตัว(  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 145/2563 ) ส่วนการจัดการสินส่วนตัวนั้น หากทรัพย์สินนั้นเป็นของคู่สมรสฝ่ายใด ฝ่ายนั้นย่อมสามารถจัดการได้โดยลำพัง โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายก่อน (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1473)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 145/2563

โจทก์ใช้เงินสินส่วนตัวของโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นบ้านเล็กๆ มีแต่หลังคาแต่ไม่มีฝาบ้านมาในระหว่างสมรส และใช้เงินสินส่วนตัวของโจทก์ในการก่อสร้างบ้าน โรงจอดรถ คอกวัว และศาลาริมน้ำในที่ดินพิพาทของโจทก์ แม้เป็นการก่อสร้างในระหว่างที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสามีภริยากันก็จะถือว่าบ้านพิพาทเป็นทรัพย์สินที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้มาระหว่างสมรสหาได้ไม่ บ้านพิพาทย่อมเป็นสินส่วนตัวของโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1472 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองออกจากบ้านพิพาทและเรียกค่าเสียหายได้

 


2. สินสมรส (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1474) ได้แก่

2.1 ทรัพย์สินที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส แม้ในเอกสารจะเป็นชื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่เพียงผู้เดียวก็ตาม (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7533/2560)

2.2 ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยพินัยกรรมหรือโดยการให้เป็นหนังสือเมื่อพินัยกรรมหรือหนังสือนั้นระบุว่าให้เป็นสินสมรส

2.3 ทรัพย์สินที่เป็นดอกผลของสินส่วนตัว

นิติกรรมที่สามีและภริยาต้องจัดการร่วมกัน

เมื่อทรัพย์สินใดเป็นสินสมรสแล้ว การจัดการสินสมรสนั้นสามีและภริยาต้องจัดการร่วมกัน หรือต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายก่อน ซึ่งกฎหมายได้กำหนดประเภทของนิติกรรมที่สามีและภริยาต้องจัดการร่วมกัน หรือต้องได้รับความยินยอมไว้ดังนี้ (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1476)

(1) ขาย แลกเปลี่ยน ขายฝาก ให้เช่าซื้อ จำนอง ปลดจำนอง หรือโอนสิทธิจำนอง ซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้

(2) ก่อตั้งหรือกระทำให้สุดสิ้นลงทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งภาระจำยอม สิทธิอาศัย สิทธิเหนือพื้นดิน สิทธิเก็บกิน หรือภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์

(3) ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกิน 3 ปี

(4) ให้กู้ยืมเงิน

(5) ให้โดยเสน่หา เว้นแต่การให้ที่พอควรแก่ฐานานุรูปของครอบครัวเพื่อการกุศล เพื่อการสังคม หรือตามหน้าที่ธรรมจรรยา

(6) ประนีประนอมยอมความ

(7) มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย

(8) นำทรัพย์สินไปเป็นประกันหรือหลักประกันต่อเจ้าพนักงานหรือศาล

แต่หากเป็นกรณีอื่นนอกจากที่กล่าวมาข้างต้น แม้ทรัพย์สินนั้นจะเป็นสินสมรส สามีหรือภริยาก็สามารถจัดการได้โดยลำพัง โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่าย เช่น การฟ้องคดีเกี่ยวกับสินสมรส (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2947/2538)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2947/2538

โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายที่จำเลยที่1ลูกจ้างจำเลยที่2ได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รถยนต์ซึ่งเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับส. สามีโจทก์จากจำเลยที่2ซึ่งไม่เข้ากรณีใดในอนุมาตรา1ถึงอนุมาตรา8ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1476วรรคหนึ่งโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองได้โดยไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากสามีตามวรรคสองของบทบัญญัติดังกล่าว

 

young-asian-pregnant-couple-records-income-expenses-home-mom-worried-serious-stress-while-record-budget-tax-financial-document-working-living-room-home.jpg

หนี้สินระหว่างสามีภริยา

เมื่อชายหญิงสมรสกันโดยถูกต้องตามกฎหมายแล้ว หากได้มีการก่อหนี้ขึ้นระหว่างที่เป็นสามีภริยากัน หนี้ที่เกิดขึ้นนั้นย่อมเป็นหนี้ร่วมระหว่างสามีภริยา กล่าวคือ สามีภริยามีฐานะเป็นลูกหนี้ร่วมกัน และการชำระหนี้ร่วมนั้นสามารถบังคับชำระหนี้จากสินสมรสและสินส่วนตัวของทั้งสองฝ่ายได้ (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1489) และเมื่อเป็นหนี้ร่วมระหว่างสามีภริยา แม้เจ้าหนี้จะฟ้องสามีหรือภริยาเป็นจำเลยเพียงคนเดียว และศาลพิพากษาให้จำเลยแพ้คดี ในชั้นบังคับคดีเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาก็มีสิทธิยึดสินสมรสได้ทั้งหมด (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2725/2528) แต่จะยึดสินส่วนตัวของคู่สมรสอีกฝ่ายที่ไม่ได้ถูกฟ้องเป็นจำเลยด้วยไม่ได้ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 445/2540)

ตัวอย่างคดีการยึดสินสมรส

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 445/2540
จำเลยที่ 2 สามีของผู้ร้องได้ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของบริษัท บ.แก่โจทก์ โดยผู้ร้องได้ให้ความยินยอมในภายหลังและให้ถือเสมือนหนึ่งว่าเป็นการกระทำของผู้ร้องเอง ถือได้ว่า หนี้ตามสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้ก่อขึ้นในระหว่างสมรส ผู้ร้องได้ให้สัตยาบันแล้ว จึงเป็นหนี้ร่วมระหว่างผู้ร้องและจำเลยที่ 2 ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1490 (4) แต่สินส่วนตัวของภริยาไม่ใช่ทรัพย์สินที่เป็นของภริยาซึ่งตามกฎหมายอาจถือได้ว่าเป็นทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือเป็นทรัพย์สินที่อาจบังคับเอาชำระหนี้ตามคำพิพากษาได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา282 วรรคท้าย โจทก์มิได้ฟ้องผู้ร้องเป็นจำเลย ผู้ร้องมิได้เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาของโจทก์ แม้หนี้ที่จำเลยที่ 2 เป็นหนี้โจทก์จะเป็นหนี้ร่วมระหว่างจำเลยที่ 2 กับผู้ร้อง โจทก์ก็ไม่มีอำนาจยึดสินส่วนตัวของผู้ร้องเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ได้

 

การยึดสินส่วนตัว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2725/2528
ผู้ร้องเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลย จำเลยไปยืมเงินโจทก์มาเพื่ออุปการะเลี้ยงดูและเพื่อประโยชน์ร่วมกัน ระหว่างจำเลยกับผู้ร้อง ซึ่งเป็นหนี้ร่วมผู้ร้องไม่มีสิทธิขอกันส่วนในสินสมรสที่โจทก์นำยึดมาขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษา


หนี้ร่วมระหว่างสามีและภริยา

นอกจากนี้ยังมีหนี้บางประเภทที่แม้สามีหรือภริยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก่อขึ้นระหว่างสมรสกัน ก็ให้ถือว่าเป็นหนี้ร่วมระหว่างสามีภริยา โดยกำหนดไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1490 ดังนี้

1. หนี้เกี่ยวแก่การจัดการบ้านเรือนและจัดหาสิ่งจำเป็นสำหรับครอบครัว การอุปการะเลี้ยงดูตลอดถึงการรักษาพยาบาลบุคคลในครอบครัวและการศึกษาของบุตรตามสมควรแก่อัตภาพ

2. หนี้ที่เกี่ยวข้องกับสินสมรส

3. หนี้ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการงานซึ่งสามีภริยาทำด้วยกัน

4. หนี้ที่สามีหรือภริยาก่อขึ้นเพื่อประโยชน์ตนฝ่ายเดียวแต่อีกฝ่ายหนึ่งได้ให้สัตยาบัน

อย่างไรก็ตาม หากหนี้นั้นเป็นหนี้เป็นหนี้ที่สามีหรือภริยาก่อขึ้นโดยลำพัง ทั้งไม่เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1490 ที่ให้ถือว่าเป็นหนี้ร่วมระหว่างสามีหรือภริยา หนี้สินนั้นย่อมไม่เป็นหนี้ร่วมระหว่างสามีภริยา แต่เป็นหนี้ส่วนตัวของสามีหรือภริยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่ผู้เดียว หากเจ้าหนี้ฟ้องคดีและยึดสินสมรสในชั้นบังคับคดีขายทอดตลาด คู่สมรสอีกฝ่ายที่ไม่ได้เป็นลูกหนี้ ย่อมมีสิทธิร้องขอกันส่วนจากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 324 (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 679/2532)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 679/2532

ที่ดินที่จำเลยได้รับมาหลังจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 5 ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519 ใช้บังคับแล้ว แม้จำเลยกับผู้ร้องจะสมรสกันก่อนกฎหมายใหม่ใช้บังคับ ก็ยังต้องนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ที่ได้ตรวจชำระใหม่นี้มาใช้บังคับ เมื่อจำเลยฝ่ายเดียวได้ที่ดินดังกล่าวมาระหว่างสมรสโดยการยกให้โดยเสน่หา จึงเป็นสินส่วนตัวของจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1471(3) ส่วนที่ดินที่จำเลยได้มาในระหว่างสมรสก่อนหน้านี้ เมื่อไม่ปรากฏว่า บิดายกให้จำเลยแต่ผู้เดียวหรือให้ผู้ร้องด้วย จึงต้องเป็นไปตามบทสันนิษฐานของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1474 ตอนท้าย ที่ให้ถือว่าเป็นสินสมรสระหว่างผู้ร้องกับจำเลย. แม้ผู้ร้องกับจำเลยจะร่วมกันกระทำหนี้ละเมิด แต่ก็เป็นการเฉพาะตัวของผู้ร้องกับจำเลยไม่เกี่ยวกับกิจการอันจำเป็นในครอบครัวหรือเกี่ยวข้องกับสินสมรส หรือเกิดจากการงานที่ทำด้วยกันในฐานะที่เป็นสามีภริยา จึงไม่เป็นหนี้ร่วมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1490 เมื่อโจทก์มิได้ฟ้องผู้ร้องเป็นจำเลยด้วย จึงไม่อาจจะบังคับคดีให้กระทบกระทั่งถึงสิทธิของผู้ร้องที่มีอยู่เหนือสินสมรสตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 287 ได้

 


กล่าวโดยสรุป การสมรสที่จะทำให้ชายและหญิงเป็นสามีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ต้องเป็นการสมรสที่กระทำโดยถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งไม่เป็นการสมรสที่กฎหมายกำหนดให้เป็นโมฆะ หากการสมรสนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ย่อมไม่ทำให้เกิดความสัมพันธ์ในทางทรัพย์สิน และหนี้สิน ระหว่างสามีภริยา และการเป็นสามีหรือภริยาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ย่อมไม่ทำให้เกิดสิทธิเรียกร้องใด ๆ ตามกฎหมายในฐานะเป็นคู่สมรสได้ หากมีข้อสงสัยต้องการปรึกษาทนายความเพื่อหาทางออกกฎหมาย สามารถติดต่อผ่าน Legardy ได้ตลอด 24ชั่วโมงครับ

Image by Freepik
cta
ปรึกษาทนาย 24 ชั่วโมง
“ ได้รับคำตอบทันที ! “
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.