เรื่องวุ่นๆของวัยรุ่นเกณฑ์ทหาร
ตามพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ.2497 มาตรา 7 ได้กำหนดไว้ว่าชายไทยทุกคนต้องเข้ารับราชการทหาร วันนี้ Legardy จะพาทุกท่านไปเจาะลึกเกี่ยวกับเรื่องการเกณฑ์ทหาร การผ่อนผันทหาร และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกัน
ใครบ้างที่จะต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหาร
การเกณฑ์ทหารจะเริ่มต้นในเดือนเมษายนของทุกปี โดยบุคคลดังต่อไปนี้ต้องเข้ารับการคัดเลือกการเกณฑ์ทหาร
- บุคคลที่มีอายุ 21 ปีบริบูรณ์ ในปีที่จะต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหาร
- บุคคลที่มีอายุ 22-29 ปีบริบูรณ์ ที่ยังไม่เคยผ่านการเกณฑ์ทหาร หรือผลการเกณฑ์ทหารยังไม่เสร็จสิ้น
- บุคคลที่ต้องการขอผ่อนผัน

วันที่ไปเกณฑ์ทหารต้องเตรียมเอกสารอะไรไปบ้าง
- บัตรประจำตัวประชาชน
- แบบสด.9
- แบบเรียกรับเข้าราชการทหาร (สด.35)
- ใบแสดงผลการเรียนตั้งแต่ชั้น ม.6 ขึ้นไป
- หนังสือสำคัญการเปลี่ยนชื่อ (ถ้ามี)
- หลักฐานต่างๆที่ใช้การผ่อนผัน (ถ้ามี)
- ใบรับรองแพทย์
ในแต่ละช่วงอายุมีสิทธิใดบ้างที่จะได้รับ หาคำตอบได้ที่นี่ ! คลิกเลย
ใบสด.9 มีความสำคัญอย่างไร
ใบสด.9 คือใบสำคัญทหารกองเกินจะได้รับเมื่อได้ทำการขึ้นทะเบียนทหารกองเกินที่ว่าการอำเภอที่หน่วยสัสดีอำเภอ ภูมิลำเนาทหารจะขึ้นอยู่กับภูมิลำเนาบิดา แต่หากไม่มีบิดาก็สามารถไปขึ้นกับภูมิลำเนามารดาได้เมื่อผู้ชายที่มีสัญชาติไทยอายุ 17ปี ซึ่งการคิดอายุแบบทหารจะมีวิธีการคิดต่างจากแบบปกติ โดยวิธีคิดคือ
เกิดปีพ.ศ. 2533 ปีที่จะต้องไปรับ สด.9 ก็คือ 2533+17 = 2550 โดยจะต้องดำเนินการขอใบสด.9ภายในปีที่คำนวณได้เท่านั้นนะครับ
ดังนั้นในปี 2550 ต้องไปทำการลงบัญชีทะเบียนทหารกองเกิน รับใบ สด.9จะต้องไปยื่นขอใบ สด.9
โดยใบ สด.9 มีความสำคัญดังนี้
1.เป็นเอกสารยืนยัน ว่าบุคคลดังกล่าวนั้นได้ทำการลงทะเบียนเพื่อรอเข้ารับการเกณฑ์ทหารและได้ปฎิบัติตามข้อบังคับของการเกณฑ์ทหาร
2.ใบสด.9 เป็นเอกสารสำคัญ ที่ใช้ในการสมัครงานราชการหรือเอกชนต่างๆ เพราะเป็นเครื่องยืนยันว่าบุคคลดังกล่าวได้พ้นภาระทางทหารแล้ว
ภูมิลำเนาทหาร
การเข้ารับราชการทหารนั้นจะไม่เหมือนกับภูมิลำเนาอื่นๆซึ่งอิงตาม พ.ร.บ. รับราชการทหาร พ.ศ.2497 มาตรา 5 ดังนี้
- บิดา มารดาจดทะเบียนสมรสกันถูกต้องตามกฎหมาย ภูมิลำเนาทหารจะอยู่ตามภูมิลำเนาของบิดา
- บิดา มารดาหย่ากันและในใบหย่าระบุความเป็นผู้ปกครอง ภูมิลำเนาทหารจะอยู่ตามที่ตกลงกันไว้ในใบหย่าว่าใครเป็นผู้ปกครอง
- บิดา มารดาไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน แต่บิดาได้จดทะเบียนรับรองบุตร ภูมิลำเนาทหารจะอยู่ตามภูมิลำเนาของบิดา
- บิดา มารดา ไม่ได้จดทะเบียนมรสกัน ภูมิลำเนาทหารจะอยู่ตามภูมิลำเนาของมารดา
- หากบิดา หรือมารดา หรือทั้งสองเสียชีวิต หรือไม่ปรากฎบิดาหรือมารดา ภูมิลำเนาทหารจะอยู่ตามภูมิลำเนาของบิดาหรือมารดาหรือผู้ปกครองแล้วแต่กรณี

การขอผ่อนผันเกณฑ์ทหารในกรณีต่างๆ
1.ขอผ่อนผันในกรณีที่กำลังเรียนอยู่ภายในประเทศ
หากเป็นนักเรียน นิสิต นักศึกษา ให้ส่งหลักฐานต่อสถานศึกษาภายในระยะเวลาตามประกาศของสถานศึกษา โดยที่สถานศึกษานั้นจะส่งรายชื่อไปยังผู้ว่ากรุงเทพมหานครหรือผู้ว่าราชการจังหวัดภูมิลำเนาทหารภายในเดือนกุมภาพันธ์ของปีที่จะต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหาร โดยให้เตรียมหลักฐานไปด้วย ได้แก่ สำเนาทะเบียนบ้าน, บัตรประจำตัวประชาชน, แบบสด.9,หมายเรียกฯ (แบบ สด.35), หนังสือสำคัญการเปลี่ยนชื่อสกุล (ถ้ามี)
- หากเป็นนักเรียนสายสามัญชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย สามารถผ่อนผันได้จนถึงอายุ22 หรือจนสำเร็จการศึกษา
- หากเป็นนิสิต นักศึกษา หรือสายอาชีพ สามารถผ่อนผันได้ถึงอายุ 26ปี แต่ถ้าเป็นนักศึกษาแพทย์สามารถผ่อนผันระหว่างปฎิบัติงานในโรงพยาบาล หรือสถาบันทางการแพทย์ เพิ่มเติมได้อีก1ปี
เมื่อทำการผ่อนผันแล้ววันที่มีการเกณฑ์ทหาร ผู้ผ่อนผันก็ต้องไปด้วยนะครับเพื่อไปรายงานตัวขอผ่อนผัน หากไม่ได้ไปรายงานตัวจะมีความผิด
ตามพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497 มาตรา 45 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ถ้าบุคคลนั้นไม่มีโรคติดต่อที่เป็นข้อห้ามและขนาดร่างกายตามที่ราชการต้องการก็จะต้องเป็นทหารกองประจำการทันที โดยไม่มีการจับใบดำใบแดง
2.ขอผ่อนผันกรณีที่กำลังเรียนอยู่ที่ต่างประเทศ
- ถ้านักเรียน นักศึกษา ที่ไปศึกษาต่างประเทศโดยทุนของรัฐบาล สำนักงาน ก.พ. จะเป็นผูดำเนินการขอผ่อนผันให้
- ถ้าไปศึกษาต่อประเทศด้วยทุนส่วนตัว จะมาทำการผ่อนผันด้วยตนเองหรือให้ผู้ปกครองเป็นคนผ่อนผันที่ภูมิลำเนาทหารได้เช่นกัน
โดยให้เตรียมหลักฐานในการผ่อนผันกรณีที่กำลังเรียนอยู่ต่างประเทศดังนี้
- หนังสือรับรองสถานศึกษาและคำแปลเป็นภาษาไทย พร้อมลงชื่อและตำแหน่งผู้แปล
- หนังสือรับรองของสถานทูตหรือกงสุลไทย ณ ประเทศที่ไปศึกษา
- สำเนาใบสำคัญ (แบบ สด.9)
- สำเนาหมายเรียกเข้ารับราชการทหาร (แบบ สด.35)
- คำร้องขอผ่อนผันไปศึกษาวิชาอะไร สำนักศึกษาประเทศใดประสงค์ผ่อนผันการตรวจเลือกทหารกี่ปี
3.การขอผ่อนผันของบุคคลที่ต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหารนั้นมีหน้าที่ต้องดูแลสมาชิกในครอบครัวที่ไม่สามารถหาเลี้ยงชีพเองได้
สามารถยื่นขอผ่อนผันได้โดยขอยื่นผ่อนผันต่อสัสดีอำเภอ โดยในวันที่ต้องไปเกณฑ์ทหารให้เตรียมเอกสารไปดังนี้
- แบบสด.9
- หมายเรียกฯ (แบบ สด.35)
- สำเนาทะเบียนบ้าน
- บัตรประจำตัวประชาชน
- บัตรประจำตัวคนพิการ (ถ้ามี)
- เอกสารรับรองความพิการ
หากผู้ที่ต้องเกณฑ์ทหารเสียชีวิตจะต้องทำอย่างไร
ให้ผู้ปกครองหรือญาติ นำหลักฐานการตายแจ้งต่อสัสดีอำเภอภูมิลำเนาทหารทันทีโดยมีหลักฐานที่จะต้องนำไปแจ้งดังนี้
2. บัตรประจำตัวประชาชน(ผู้แจ้ง)
3.หนังสือมรณะบัตร
4.สำเนาทะเบียนบ้านฉบับที่จำหน่ายตาย
5.ใบสำคัญ (แบบ สด.9) หรือ หนังสือสำคัญ (แบบ สด.8) ของบุคคลที่เสียชีวิต
6.หลักฐานทางราชการอื่น ๆ เช่น หนังสือรับรองการตาย
อ่านคำปรึกษาจริงเรื่อง "หนีทหาร" พร้อมคำตอบจากทนายความผู้เชี่ยวชาญ
Q: หนีทหารรอบแรก ถ้ายอมติดคุกยังต้องเป็นไหมครับ
Q: สอบถามเรื่องคดีหนีทหารครับพี่
ใบ สด.43 คืออะไรและมีความสำคัญอย่างไร
ใบสด.43นั้น เป็นเอกสารที่ทางกองทัพบกออกให้เป็นใบรับรองที่แสดงถึงว่าบุคคลนั้นได้ผ่านการเกณฑ์ทหารแล้วเพื่อให้บุคคลนั้นไม่ต้องรับราชการทหาร บุคคลนั้นได้รับการผ่อนผัน หรือไม่ต้องจับใบดำใบแดง ซึ่งมีความสำคัญเกี่ยวกับการสมัครงานรวมไปถึงการเรียนต่อเพราะทางต้นสังกัดจะได้ทราบว่าบุคคลนั้นไม่มีภาระทางทหารแล้ว
ใบ สด.43หาย ทำอย่างไรดี?
1.)แจ้งต่อนายอำเภอของภูมิลำเนาทหารภายใน 30วัน
2.)ยื่นคำขอใบสด.43 ใหม่ที่สัสดีประจำอำเภอหรือเขต
3.)เตรียมเอกสารไปดังนี้
- ทะเบียนบ้านฉบับจริง พร้อมสำเนาเอกสาร 2 ฉบับ
- บัตรประชาชนตัวจริง พร้อมสำเนา 2ฉบับ
- ใบแจ้งความเอกสารหาย พร้อมสำเนา 2ฉบับ

โทษของการหนีทหารและอายุความ
1.)พระราชบัญญัติรับราชการทหารมาตรา 44 บุคคลใดไม่มาลงบัญชีทหารกองเกิน หรือไม่มาลงบัญชีทหารกองเกินใหม่ หรือไม่ยอมลงบัญชีทหารกองเกิน หรือไม่มารับหมายเรียกที่อำเภอ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินสามร้อยบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2.)พระราชบัญญัติรับราชการทหารมาตรา 45 บุคคลใดหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนไม่มาให้คณะกรรมการตรวจเลือกทำการตรวจเลือก หรือมาแต่ไม่เข้ารับการตรวจเลือก หรือไม่อยู่จนกว่าการตรวจเลือกแล้วเสร็จ หรือขัดขืนด้วยประการใด ๆ เพื่อจะไม่ให้เข้ารับราชการทหารกองประจำการตามพระราชบัญญัตินี้ หรือบุคคลใดเข้ารับราชการทหารกองประจำการแทนผู้อื่น หรือเรียก รับหรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่น โดยสัญญาว่าจะช่วยเหลือผู้หนึ่งผู้ใดมิให้ต้องเข้ารับราชการทหารกองประจำการ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี
3.)พระราชบัญญัติรับราชการทหารมาตรา 48 บุคคลใดทำร้ายร่างกายตนเอง หรือให้ผู้อื่นทำเพื่อจะให้พ้นจากการรับราชการทหารตามพระราชบัญญัตินี้ มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไปจนถึงแปดปี ผู้สมรู้เป็นใจในการทำร้ายร่างกายเพื่อความมุ่งหมายดังกล่าวนี้ มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนขึ้นไปจนถึงสี่ปี
4.)พระราชบัญญัติรับราชการทหารมาตรา 49 บุคคลใดใช้อุบายหลอกลวงให้เจ้าหน้าที่หลงเชื่อโดยเจตนาหลีกเลี่ยงให้พ้น จากการเข้ารับราชการทหารตามพระราชบัญญัตินี้จนเป็นผลสำเร็จ หรือยุยงเสี้ยมสอนจนเกิดความผิดตามมาตรานี้ มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี
การหนีทหารนั้นถือว่าเป็นความผิดทางอาญาไม่สามารถยอมความได้ โทษของการหนีทหารมีอายุความ 10ปี และเมื่อทำความผิดอื่นจะถูกจำคุกทหารเพิ่มอีก 5ปี และไม่สามารถทำเอกสารที่เกี่ยวกับทะเบียนราษฎร์ได้ หากแจ้งเกิดลูกแล้วถ้าทางอำเภอสืบทราบว่ามีการหนีทหารก็จะต้องรับผิดตามข้างต้นครับ
สรุป
การหนีทหารนั้นต้องรับโทษหนักไม่ว่าจะเป็นจากโทษที่ตนได้ทำผิด ต้องรับโทษจำคุกทหารเพิ่มเติมอีก อีกทั้งเสียสิทธิ์หลายอย่างในการทำเอกสารราชการ ดังนั้นทาง Legardy อยากให้ทุกท่านทำตามขั้นตอนอย่างถูกต้องและไม่ทุจริตนะครับ หากกำลังทุกข์ใจเรื่องการเกณฑ์ทหาร สามารถปรึกษาทนายผ่าน Legardy ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
ปรึกษาทนายตัวจริง
สอบถามได้ทุกเรื่องราวทางกฎหมาย
"โดนโกง โดนประจาน" ปรึกษาได้ในคลิกเดียว
สมัครเป็นทนายออนไลน์
แพล็ทฟอร์มรวบรวม
งานกฎหมายจากทั่วประเทศ



