เผยแพร่เมื่อ: 2024-02-27

กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผู้เยาว์ ผู้เยาว์สามารถทำอะไรได้บ้าง

4.png

ผู้เยาว์ (minor) ไมเนอร์ คืออะไร

เมื่อพิจารณาจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ไม่ปรากฏว่ามีการนิยามหรือให้ความหมายของคำว่า ผู้เยาว์ ไว้เป็นการเฉพาะ แต่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้กำหนดความสามารถของ ผู้เยาว์ ไว้ใน ส่วนที่ 2 ความสามารถ โดยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 19 กำหนดไว้ว่า:

“บุคคลย่อมพ้นจากภาวะ ผู้เยาว์ และบรรลุนิติภาวะเมื่อมีอายุยี่สิบปีบริบูรณ์” มาตรา 20 กำหนดไว้ว่า “ผู้เยาว์ย่อมบรรลุนิติภาวะเมื่อทำการสมรส หากการสมรสนั้นได้ทำตามบทบัญญัติมาตรา 1448 ซึ่งมาตรา 1448 กำหนดไว้ว่า “การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์แล้ว แต่ในกรณีที่มีเหตุอันสมควร ศาลอาจอนุญาตให้ทำการสมรสก่อนนั้นได้” ดังนั้น คำว่า ผู้เยาว์ (minor) จึงมีหมายความว่า บุคคลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะตามกฎหมาย

ผู้เยาว์ คือ คนที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ

 

อายุของผู้เยาว์ตามกฎหมาย

คำว่า ผู้เยาว์ ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไม่ได้กำหนดอายุของ ผู้เยาว์ ไว้ชัดเจน เพียงแต่กำหนดไว้ในมาตรา 19 ว่า:

“บุคคลย่อมพ้นจากภาวะ ผู้เยาว์ และบรรลุนิติภาวะเมื่อมีอายุยี่สิบปีบริบูรณ์” มาตรา 25 กำหนดไว้ว่า “ผู้เยาว์อาจทำพินัยกรรมได้เมื่ออายุสิบห้าปีบริบูรณ์” และเมื่อพิจารณาจากพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 ได้ให้คำนิยามในมาตรา:

คำว่า เด็ก หมายความว่า บุคคลซึ่งมีอายุเกินกว่าอายุที่กำหนดไว้ตามมาตรา 73 แห่งประมวลกฎหมายอาญา แต่ยังไม่เกินสิบห้าปีบริบูรณ์ มาตรา 4 กำหนดไว้ว่า “เยาวชน” หมายความว่า บุคคลอายุเกินสิบห้าปีบริบูรณ์ แต่ยังไม่ถึงสิบแปดปีบริบูรณ์ นอกจากนี้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 ได้กำหนดไว้ว่า:

“ผู้ใดอายุตั้งแต่สิบแปดปีแต่ยังไม่เกินยี่สิบปี กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด ถ้าศาลเห็นสมควรจะลดมาตราส่วนโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นลงหนึ่งในสามหรือกึ่งหนึ่งก็ได้” ดังนั้น เมื่อได้พิจารณาเทียบเคียงจากหลักกฎหมายข้างต้นแล้วเห็นว่า ผู้เยาว์ (minor) ต้องมีอายุ 15 ปีขึ้นไปแต่ไม่เกิน 20 ปีบริบูรณ์

ผู้เยาว์ต้องมีอายุ 15 ปีขึ้นไปแต่ไม่เกิน 20 ปีบริบูรณ์

รวมบทความทางกฎหมาย, คำปรึกษาจริงพร้อมคำตอบจากทนายความ, มาตรากฎหมายที่เกี่ยวข้องเรื่อง "ผู้เยาว์"


ผู้เยาว์กับการฟ้องคดีแพ่ง 

ผู้เยาว์สามารถฟ้องคดีแพ่งในความผิดฐานละเมิดได้

ตัวอย่างกรณี ผู้เยาว์ฟ้องคดีละเมิดเอง

“อายุความสิทธิเรียกร้องของ ผู้เยาว์ หรือของบุคคลวิกลจริตอันศาลจะสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือไม่ก็ตาม ถ้าจะครบกำหนดลงในขณะที่บุคคลดังกล่าวยังไม่ลุถึงความสามารถเต็มภูมิ หรือในระหว่างหนึ่งปีนับแต่วันที่บุคคลดังกล่าวไม่มีผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาล อายุความนั้นยังไม่ครบกำหนดจนกว่าจะครบหนึ่งปีนับแต่วันที่บุคคลนั้นได้ลุถึงความสามารถเต็มภูมิหรือได้มีผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาล แล้วแต่กรณี แต่ถ้าอายุความสิทธิเรียกร้องนั้นมีระยะเวลาน้อยกว่าหนึ่งปีก็ให้นำกำหนดระยะเวลาที่สั้นกว่านั้นมาใช้แทนกำหนดระยะเวลาหนึ่งปีดังกล่าว” 

ตัวอย่างกรณี: โจทก์ (โจทก์คือผู้เยาว์) เป็นบุตรของนางสาวปลา ที่เกิดจากนายวิทย์ ซึ่งเป็นบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2545 จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์โดยสารหมายเลขทะเบียน 11-5879 กรุงเทพมหานครของจำเลยที่ 2 ไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 โดยขับไปตามถนน เมื่อถึงที่เกิดเหตุเฉี่ยวชนกับรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน บคน 211 กรุงเทพมหานคร ที่นายเสือขับสวนทางมา โดยมีนางสาวปลา ซึ่งเป็นมารดา (โจทก์ผู้เยาว์) นั่งซ้อนท้าย ทำให้นายเสือและนางสาวปลาถึงแก่ความตาย ซึ่งขณะที่นางสาว ป. ถึงแก่ความตาย โจทก์ผู้เยาว์มีอายุ 18 ปีเศษ แต่โจทก์ผู้เยาว์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2548 (วันเกิดเหตุละเมิด 16 พ.ย. 2545)

ศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่า เหตุละเมิดในคดีนี้เกิดเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2545 ขณะเกิดเหตุโจทก์ยังเป็น ผู้เยาว์ มีอายุเพียง 18 ปี 6 เดือน 15 วัน ดังนั้นแม้อายุความ 1 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 448 จะต้องเริ่มนับตั้งแต่วันทำละเมิดตามที่จำเลยกล่าวอ้างก็ตาม แต่เมื่อปรากฏว่าในวันครบกำหนด 1 ปี โจทก์มีอายุเพียง 19 ปี 6 เดือน 15 วัน ซึ่งถือว่ายังไม่บรรลุนิติภาวะ หรือลุถึงความสามารถเต็มภูมิ อายุความ 1 ปี จึงยังไม่ครบจนกว่าจะครบ 1 ปีนับแต่วันที่โจทก์ลุถึงความสามารถเต็มภูมิตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/20 เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2548 ภายหลังจากโจทก์ลุถึงความสามารถเต็มภูมิ 9 เดือนเศษ คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ

นอกจากนี้ศาลฎีกายังวางหลักกฎหมายว่าในส่วนค่าขาดไร้อุปการะว่า เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านางสาว ป. ผู้ตายมีหน้าที่ที่จะต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูโจทก์ตามกฎหมาย โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าขาดไร้อุปการะตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 443 วรรคสาม โดยไม่ต้องพิจารณาว่าในขณะนั้นผู้ตายได้อุปการะเลี้ยงดูโจทก์หรือไม่ เมื่อพิจารณาถึงอายุและสถานภาพของโจทก์ซึ่งได้ความว่าเป็นนักศึกษากำลังศึกษาในระดับอุดมศึกษาประกอบกับพฤติการณ์แห่งคดีและความร้ายแรงแห่งละเมิดแล้วที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าขาดไร้อุปการะให้เป็นเงินจำนวน 139,500 บาท เป็นจำนวนที่เหมาะสมแล้ว (อ้างอิงจากคำพิพากษาฎีกาที่ 1139/2557)

สรุป  จากคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าว เห็นว่า ผู้เยาว์ สามารถฟ้องคดีแพ่งในความผิดฐานละเมิดได้


1.png

การทำนิติกรรมของผู้เยาว์

1.นิติกรรมที่ผู้เยาว์ทำนั้นต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน 

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 21 กำหนดไว้ว่า:

“ผู้เยาว์จะทำนิติกรรมใด ๆ ต้องได้รับความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน การใด ๆ ที่ ผู้เยาว์ ได้ทำลงปราศจากความยินยอมเช่นว่านั้นเป็นโมฆียะ เว้นแต่จะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น ผู้แทนโดยชอบธรรม หมายถึง บิดา มารดา ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1566 วรรคหนึ่ง กำหนดให้ “บุตรซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะต้องอยู่ใต้อำนาจปกครองของบิดามารดา” หรือผู้ปกครองที่ตั้งโดยคำสั่งศาล ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1585 วรรคหนึ่ง กำหนดไว้ว่า “บุคคลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะและไม่มีบิดามารดาหรือบิดามารดาถูกถอนอำนาจปกครองเสียแล้วนั้น จะจัดให้มีผู้ปกครองขึ้นในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์ก็ได้” และมาตรา 1586 วรรคหนึ่ง ผู้ปกครองตามมาตรา 1585 นั้น ให้ตั้งโดยคำสั่งศาลเมื่อมีการร้องขอของญาติของ ผู้เยาว์ อัยการ หรือผู้ซึ่งบิดาหรือมารดาที่ตายทีหลังได้ระบุชื่อไว้ในพินัยกรรมให้เป็นผู้ปกครอง หรือผู้ปกครองตามพินัยกรรม ตามมาตรา 1586 วรรคสอง หรือผู้รับบุตรบุญธรรม มาตรา 1598/28 วรรคหนึ่งกำหนดไว้ว่า “บุตรบุญธรรมย่อมมีฐานะอย่างเดียวกับบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้รับบุตรบุญธรรมนั้น แต่ไม่สูญสิทธิและหน้าที่ในครอบครัวที่ได้กำเนิดมา ในกรณีเช่นนี้ ให้บิดามารดาโดยกำเนิดหมดอำนาจปกครองนับแต่วันเวลาที่เด็กเป็นบุตรบุญธรรมแล้ว”

ผู้แทนโดยชอบธรรมของ ผู้เยาว์ คือ บิดา มารดา ผู้ปกครองที่ตั้งโดยคำสั่งศาล ผู้ปกครองตามพินัยกรรม ผู้รับบุตรบุญธรรม

นิติกรรมที่ ผู้เยาว์ ต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม หมายถึง กรณีดังกล่าวต้องเป็นนิติกรรมเท่านั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 149 กำหนดว่า:

“นิติกรรม หมายความว่า การใด ๆ อันทำลงโดยชอบด้วยกฎหมายและด้วยใจสมัคร มุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคล เพื่อจะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิ” เช่น การที่ ผู้เยาว์ ประสงค์จะจำหน่ายทรัพย์สินต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน หรือ การที่ ผู้เยาว์ จะประกอบธุรกิจการค้าหรือธุรกิจอื่น ต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน หรือ การที่ ผู้เยาว์ จะทำสัญญาเป็นลูกจ้างในสัญญาจ้างแรงงาน ต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 27

 

2.นิติกรรมที่ผู้เยาว์ทำเองได้ไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม

  1. การเป็นผู้รับจากการให้โดยเสน่หา หรือการที่เจ้าหนี้ทำนิติกรรมปลดหนี้ให้ ผู้เยาว์ ทั้งนี้ตามมาตรา 22 กำหนดไว้ว่า ผู้เยาว์ อาจทำการใด ๆ ได้ทั้งสิ้น หากเป็นเพียงเพื่อจะได้ไปซึ่งสิทธิอันใดอันหนึ่ง หรือเป็นการเพื่อให้หลุดพ้นจากหน้าที่อันใดอันหนึ่ง
  2. นิติกรรมที่ ผู้เยาว์ อาจทำการใด ๆ ได้ทั้งสิ้น ซึ่งเป็นการต้องทำเองเฉพาะตัว ตามมาตรา 23 เช่นกรณีที่ ผู้เยาว์ จะรับรองบุตรซึ่งเกิดนอกสมรสจากหญิงซึ่งไม่ได้จดทะเบียนสมรสด้วย หรือการทำพินัยกรรมตามมาตรา 25 ถือได้ว่าเป็นนิติกรรมที่ ผู้เยาว์ ต้องทำเองเฉพาะตัว
  3. ผู้เยาว์ สามารถทำนิติกรรมที่จำเป็นในการดำรงชีพของ ผู้เยาว์ ตามสมควรและสมแก่ฐานานุรูป ตามมาตรา 24 เช่น ซื้ออาหารกลางวัน ซื้อนมปั่น ซื้อถุงเท้า เป็นต้น

ผู้เยาว์สามารถทำนิติกรรมบางอย่างได้เองโดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม

 

 

3.นิติกรรมที่เกี่ยวกับทรัพย์สินของ ผู้เยาว์ ผู้ปกครองจะกระทำเองไม่ได้ ต้องได้รับอนุญาตจากศาล 

นิติกรรมที่เกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ ผู้ปกครองจะกระทำเองไม่ได้ ต้องได้รับอนุญาตจากศาล

ตามประมวลกฎหมายแพวงและพาณิชย์ มาตรา 1574 นิติกรรมใดอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของ ผู้เยาว์ ดังต่อไปนี้ ผู้ใช้อำนาจปกครองจะกระทำมิได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาต:

ขาย แลกเปลี่ยน ขายฝาก ให้เช่าซื้อ จำนอง ปลดจำนอง หรือโอนสิทธิจำนอง ซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้ กระทำให้สุดสิ้นลงทั้งหมดหรือบางส่วน ซึ่งทรัพยสิทธิของ ผู้เยาว์ อันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ก่อตั้งภาระจำยอม สิทธิอาศัย สิทธิเหนือพื้นดิน สิทธิเก็บกิน ภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์ หรือทรัพยสิทธิอื่นใดในอสังหาริมทรัพย์ จำหน่ายไปทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งสิทธิเรียกร้องที่จะให้ได้มาซึ่งทรัพยสิทธิในอสังหาริมทรัพย์ หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้ หรือสิทธิเรียกร้องที่จะให้ทรัพย์สินเช่นว่านั้นของ ผู้เยาว์ ปลอดจากทรัพยสิทธิที่มีอยู่เหนือทรัพย์สินนั้น ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกินสามปี ก่อข้อผูกพันใด ๆ ที่มุ่งให้เกิดผลตาม (1) (2) หรือ (3) ให้กู้ยืมเงิน ให้โดยเสน่หา เว้นแต่จะเอาเงินได้ของ ผู้เยาว์ ให้แทน ผู้เยาว์ เพื่อการกุศลสาธารณะ เพื่อการสังคม หรือตามหน้าที่ธรรมจรรยา ทั้งนี้ พอสมควรแก่ฐานานุรูปของ ผู้เยาว์ รับการให้โดยเสน่หาที่มีเงื่อนไขหรือค่าภาระติดพัน หรือไม่รับการให้โดยเสน่หา ประกันโดยประการใด ๆ อันอาจมีผลให้ ผู้เยาว์ ต้องถูกบังคับชำระหนี้หรือทำนิติกรรมอื่นที่มีผลให้ ผู้เยาว์ ต้องรับเป็นผู้รับชำระหนี้ของบุคคลอื่นหรือแทนบุคคลอื่น นำทรัพย์สินไปแสวงหาผลประโยชน์นอกจากในกรณีที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1598/4 (1) (2) หรือ (3) ประนีประนอมยอมความ มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย 

ยกตัวอย่าง: พ่อซึ่งเป็นผู้แทนโดยชอบธรรม ต้องการขายที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์ร่วมกับ ผู้เยาว์ ต้องขอให้ศาลสั่งอนุญาตก่อน ผู้ร้องขอขายที่ดินซึ่งผู้ร้องถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับ ผู้เยาว์ เพื่อการศึกษาแก่ ผู้เยาว์ ซึ่งเป็นบุตร ผู้ร้องในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมมาร้องขออนุญาตทำนิติกรรมขายที่ดินต่อศาลตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1574 ก็เพื่อให้ศาลกำกับดูแลให้เหมาะสมเป็นประโยชน์ต่อ ผู้เยาว์ หรือก่อความเสียหายแก่ ผู้เยาว์ น้อยที่สุด เมื่อได้ความว่าการขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นไปเพื่อประโยชน์แห่งอนาคตของ ผู้เยาว์ และได้รับราคาที่สูงกว่าราคาประเมิน จึงเป็นเหตุผลเพียงพอที่ศาลจะอนุญาตให้มีการขายได้โดยเร็วเพื่อประโยชน์ของ ผู้เยาว์ ที่ศาลชั้นต้นอ้างว่าการทำนิติกรรมขายไม่ได้รับความยินยอมจาก จ. มารดาผู้เยาว์ เป็นการวินิจฉัยขัดกับข้อเท็จจริงเนื่องจากที่ จ. ไม่ได้ดูแล ผู้เยาว์ และไม่อาจติดต่อได้ ส่วนที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษอ้างว่า ไม่มีเรื่องเร่งด่วนหรือเหตุฉุกเฉิน ก็ไม่ได้อยู่ในบริบทที่มาตรา 1574 กำหนดไว้ ส่วนที่อ้างว่ารอให้ ผู้เยาว์ ทั้งสองเจริญวัยจนบรรลุนิติภาวะตัดสินใจเอง ก็เป็นข้อวินิจฉัยที่ขัดต่อเจตนารมณ์ที่มาตรา 1574 ให้ศาลกำกับดูแลการทำนิติกรรม ไม่ใช่ปล่อยให้ช่วงเวลาที่ยังเป็น ผู้เยาว์ เสียไปโดยเปล่าประโยชน์ ศาลจึงพิพากษาอนุญาตให้ผู้ร้อง(พ่อของ ผู้เยาว์) ขายที่ดินโฉนดเลขที่ 91693 พร้อมสิ่งปลูกสร้างในส่วนที่ ผู้เยาว์ เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวม อ้างอิงจากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 453/2567

 

4.ถ้าเป็นนิติเหตุ (เหตุที่เกิดจากการกระทำของบุคคล) ไม่ใช่นิติกรรม ผู้เยาว์ สามารถกระทำเองได้ โดยไม่ต้องขอความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม 

ถ้าเป็นนิติเหตุ (เหตุที่เกิดจากการกระทำของบุคคล) ผู้เยาว์สามารถกระทำเองได้ โดยไม่ต้องขอความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม

ยกตัวอย่างเช่น ผู้เยาว์ สามารถฟ้องคดีแพ่งได้ ผู้เยาว์ สามารถแจ้งความร้องทุกข์กับตำรวจได้ โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน

ผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้เยาว์ ได้ไปร้องทุกข์ ให้ดำเนินคดีกับจำเลย ในข้อหาความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา และความผิดฐานพาบุคคลอายุเกิน 15 ปี แต่ยังไม่เกิน 18 ปี ไปเพื่อการอนาจารโดยชอบตาม มาตรา 2(7) แล้ว แต่ปรากฏว่า ผู้เยาว์ ไปร้องทุกข์เอง โดยไม่ปรากฏว่า แทนโดยชอบธรรมจะได้ยินยอม ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้เยาว์ ร้องทุกข์ด้วยตนเองได้ เนื่องจากการร้องทุกข์ ไม่ใช่เป็นการทำนิติกรรม ผู้เยาว์ กระทำเองได้ โดยไม่ต้องได้รับความยินยอม จากผู้แทนโดยชอบธรรม การร้องทุกข์จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ดังนั้น พนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจสอบสวน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 121 และพนักงานอัยการโจทก์มีอำนาจฟ้อง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120 (อ้างอิงตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1847/2563)

cta
ปรึกษาทนาย 24 ชั่วโมง
“ ได้รับคำตอบทันที ! “
cta
ปรึกษาทนายได้ตลอด 24 ชม.