ฟอกเงิน คืออะไร?
การฟอกเงินคือ การนำเงินที่ได้มาจากการกระทำที่ไม่สุจริตไม่ว่าจะเป็นจากการพนัน จากการค้ายาเสพติดหรืออื่นใดก็ตามที่มีความผิดตามมูลฐาน โดยนำเงินที่ได้นั้น
มาซุกซ่อน เก็บ ย้ายเงินหนีหรือว่าเปลี่ยนสภาพเงิน ปกปิดความเป็นเจ้าของ โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้เงินที่ได้จากการกระทำผิดนั้นนำมาใช้ประโยชน์ได้โดยทำให้เงินนั้นถูกกฎหมาย หรือให้เข้าใจง่ายๆคือ การฟอกเงินนั้นให้เงินที่ได้มาจากการทำสิ่งที่ผิดกฎหมายกลายเป็นเงินที่ได้มาจากสิ่งที่ถูกกฎหมาย
เช่น Aได้เปิดเว็บไซต์พนันออนไลน์และมีเงินหมุนสะพัดเป็นจำนวนมาก ต่อมาAจึงได้นำเงินเหล่านั้นไปซื้อทอง , เปิดธุรกิจบังหน้า เพื่อแจ้งรายได้ที่ได้มานั้นมาจากการกระทำที่ถูกกฎหมาย
หากเกิดการฟอกเงินขึ้นแล้ว ใครบ้างที่จะต้องรับผิด
1.บุคคลที่กระทำหรือคนที่รวมกระทำการฟอกเงิน
รู้ว่าเงินที่ได้มานั้นมาจากการกระทำที่ทุจริต และรู้ถึงวัตถุประสงค์การฟอกเงินว่าเป็นการทำให้เงินที่ทุจริตนั้นให้ถูกกฎหมายโดยไม่สามารถสืบทราบได้
2.บุคคลที่ร่วมกันสมคบคิดในการฟอกเงิน
หากบุคคลใดที่ร่วมกันวางแผนในการฟอกเงิน ถึงแม้ว่าการฟอกเงินนั้นยังไม่เกิดขึ้นก็ตาม บุคคลหรือคณะบุคคลดังกล่าวนั้นต้องรับผิดฐานสมคบกันฟอกเงิน โดยบทลงโทษนั้นเท่ากันกับบุคคลที่กระทำการฟอกเงินเสร็จแล้ว
3.บุคคลที่พยายามทำการฟอกเงิน
หมายถึง บุคคลที่พยายามทำการฟอกเงินต่อให้การฟอกเงินนั้นไม่ครบตามขั้นตอนก็ตาม เช่น นายAได้นำเงินที่ได้จากการเรียกค่าไถ่ไปฝากกับธนาคาร แต่เจ้าหน้าที่ธนาคารกลับพบว่าที่ธนบัตรมีคราบเลือดติดอยู่ จึงแจ้งเจ้าหน้าที่เข้าจับกุม นายAจะผิดฐานพยายามทำการฟอกเงิน เพราะกระบวนการฝากเงินเพื่อฟอกเงินนั้นยังไม่สำเร็จ ซึ่งต้องรับโทษเท่ากันกับการที่ฟอกเงินสำเร็จแล้วต่อให้เป็นแค่การพยายามทำการฟอกเงินก็ตาม
ความผิดมูลฐาน คืออะไร
ความผิดมูลฐาน คือ ความผิดที่เป็นที่มาของแหล่งเงินที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ในการลงโทษผู้กระทำผิดฐานฟอกเงินนั้นต้องคำนึงถึงความผิดมูลฐานมาก่อนเสมอ เพราะว่าตามหลักสากลการที่ได้เงินสกปรกมานั้นต้องมีการกระทำที่ผิดมาก่อนเสมอ
การกระทำผิดมูลฐานแบบใดที่สามารถสืบไปยังการฟอกเงินบ้าง
ต้องเข้าใจก่อนว่าเจ้าหน้าที่ไม่สามารถจับกุมคนฐานฟอกเงินได้ หากบุคคลดังกล่าวไม่ได้กระทำความผิดมูลฐานดังต่อไปนี้
- เงินที่ได้มาจากการค้ายาเสพติด
- เงินที่ได้มาจากความผิดทางเพศหรือการค้ามนุษย์
- การลักลอบหนีศุลกากร
- เงินที่ได้จากการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา
- เงินได้ที่จากการเป็นโจรสลัด
- นำเงินนั้นไปสนับสนุนการก่อการร้าย
- เงินได้ที่จากการยักยอกหรือฉ้อโกงสถาบันทางการเงิน
- กรรโชกทรัพย์หรือรีดทรัพย์โดยใช้อำนาจอั้งยี่หรือซ่องโจร
- เงินที่ได้จากการก่อการร้าย
- เงินที่ได้จากการพนัน(วงเงินเกิน5ล้านบาท)หรือเงินที่ได้จากการพนันออนไลน์
- เป็นสมาชิกของอั้งยี่
- รับของโจรโดยมีส่วนในการช่วยขาย ซื้อ หรือรับจำนำของโจร
- ปลอมเงินตรา
- ปลอมเอกสารสิทธิ บัตรอิเล็กทรอนิกส์ หรือเดินทาง
- หาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต
- ทำร้ายจนสาหัสเพื่อเอาทรัพย์
- การเรียกค่าไถ่
- กระทำความผิดทางอาญาที่เกี่ยวกับทรัพย์เป็นกิจวัตร (ลักขโมย ปล้นทรัพย์ ชิงทรัพย์ กรรโชกทรัพย์ ชิงทรัพย์ เป็นต้น)
- ซื้อขายหลักทรัพย์อย่างไม่เป็นธรรม
- ค้าอาวุธปืน วัตถุระเบิด เพื่อการก่อการร้าย
- สนับสนุนองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ
- บังคับใช้แรงงานจนบุคคลนั้นได้รับอันตรายสาหัสหรือเสียชีวิต
หากบุคคลดังกล่าวนั้นได้กระทำความผิดมูลฐานข้างต้น เจ้าหน้าที่สามารถนำสืบเพื่อขยายผลไปสู่การฟอกเงินได้
ขั้นตอนการฟอกเงิน มี 3 ขั้นตอน
1.การนำเงินที่ผิดกฎหมายเข้าสู่ระบบ
เป็นกระบวนการที่นำเงินที่ได้มาจากการกระทำความผิดนั้นเข้าสู่ระบบการเงิน อาจจะเป็นได้ทั้งการนำเงินที่ได้ฝากเข้าไปกับสถาบันการเงิน หรือการนำเงินที่ได้ไปซื้อทรัพย์สินต่างๆ โดยทางมิจฉาชีพนั้นอาจมีวิธีการ ฝากเงินให้น้อยกว่าขั้นต่ำของการฝากที่ธนาคารต้องทำรายงาน , การนำเงินทั้งที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมายเข้าแบบผสมกันเพื่อให้ยากต่อการตรวจสอบ
2.การลบเบาะแสของเงินที่ผิดกฎหมาย
อาจจะกระทำได้หลายแบบไม่ว่าจะเป็นการโยกเงินไปมาหลายๆชั้นเพื่อให้ยากต่อการตรวจสอบปกปิดแหล่งที่มาที่แท้จริงของเงินนั้นหรือการซื้อขายทองเป็นจำนวนมากและถี่ครั้ง หรือนำเงินที่ได้นั้นไปซื้อทองคำเพราะว่าการซื้อขายทองคำนั้นไม่มีหลักฐานทางทะเบียน
3.การผสานเงินผิดและเงินถูก
เป็นการที่ทำให้เงินผิดนั้นเข้ามาผสานกับเงินที่ถูกกฎหมาย อาจทำธุรกิจบังหน้า ที่ทำแบบนี้เพราะว่าหากเกิดการตรวจสอบขึ้นมา ผู้ถูกตรวจสอบสามารถอ้างได้ว่าเงินที่ได้นั้นมาจากการทำธุรกิจ
ทรัพย์สินที่ได้จากการกระทำความผิด ไปไหน?
สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินมีอำนาจในการยึดหรืออายัดให้ตกเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน ไม่ว่าจะเป็นตัวเงินหรือทรัพย์สินอื่นใดก็ตามที่สามารถตีเป็นมูลค่าได้รวมไปถึงผลกำไรหรือรายได้ที่เกิดจากการนำทรัพย์สินนั้นไปลงทุนก็สามารถถูกยึดหรืออายัดได้เช่นกัน เว้นแต่ว่าเจ้าของทรัพย์สินนั้นได้มาโดยสุจริต และไม่ทราบว่ามีการกระทำผิดที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สิน
หากมีการยึดทรัพย์สินที่ได้จากการฟอกเงินเกิดขึ้นแล้ว กฎหมายให้ความเป็นธรรมกับเจ้าของทรัพย์สินด้วยนะครับ เจ้าของทรัพย์สินนั้นสามารถคัดค้านหรือเพิกถอนคำสั่งได้ เมื่อพิสูจน์แล้วหากศาลเชื่อว่าเจ้าของทรัพย์นั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดก็จะมีการคืนทรัพย์สินให้พร้อมทั้งชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดจากการเสื่อมราคาของทรัพย์สินนั้นด้วย แต่หากมีหลักฐานใหม่ปรากฎในภายหลังว่าเจ้าของทรัพย์นั้นเกี่ยวข้องหรือไม่ดเกี่ยวข้องกับการกระทำผิด ศาลก็มีอำนาจในการคืนหรือยึดทรัพย์สินนั้นได้เช่นกันนะครับ
อ่านคำปรึกษาจริงเรื่อง "ฟอกเงิน" พร้อมคำตอบจากทนายความ คลิกเลย !
Q: หากบริษัททำการฟอกเงิน และ ฉ้อโกง
Q: ปรึกษาคดีร่วมกันฟอกเงินเป็นอั้งยี่บัญชีม้า
Q: โดนคนรู้จักหลอกให้ฟอกเงินครับ
กฎหมายที่เกี่ยวข้องและโทษของการฟอกเงิน
พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542
มาตรา ๕ ผู้ใด
(1) โอน รับโอน หรือเปลี่ยนสภาพทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเพื่อซุกซ่อนหรือปกปิดแหล่งที่มาของทรัพย์สินนั้น หรือเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นไม่ว่าก่อน ขณะ หรือหลังการกระทำความผิด มิให้ต้องรับโทษหรือรับโทษน้อยลงในความผิดมูลฐาน หรือ
(2) กระทำด้วยประการใด ๆ เพื่อปกปิดหรืออำพรางลักษณะที่แท้จริงการได้มาแหล่งที่ตั้ง การจำหน่าย การโอน การได้สิทธิใด ๆ ซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด
(3) ได้มา ครอบครอง หรือใช้ทรัพย์สิน โดยรู้ในขณะที่ได้มา ครอบครองหรือใช้ทรัพย์สินนั้นว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด
ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฟอกเงิน
มาตรา 9 ผู้ใดสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิด ฐานฟอกเงิน ต้องระวางโทษกึ่งหนึ่งของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น ถ้าได้มีการกระทำความผิดฐานฟอกเงินเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกันตาม วรรคหนึ่ง ผู้สมคบกันนั้นต้องระวางโทษตามที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น
มาตรา 60 ผู้ใดกระทําความผิดฐานฟอกเงิน ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึง
สิบปีหรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
“ในกรณีความผิดใดเกิดขึ้นโดยการกระทำของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป ผู้ที่ได้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันนั้นเป็นตัวการ ต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น”
เมื่อปรากฏว่าผู้ใดได้กระทำการอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ศาลลงโทษผู้นั้นทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป แต่ไม่ว่าจะมีการเพิ่มโทษ ลดโทษ หรือลดมาตราส่วนโทษด้วยหรือไม่ก็ตาม เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว โทษจำคุกทั้งสิ้นต้องไม่เกินกำหนดดังต่อไปนี้
(1) สิบปี สำหรับกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกินสามปี
(2) ยี่สิบปี สำหรับกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปีแต่ไม่เกินสิบปี
(3) ห้าสิบปี สำหรับกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสิบปีขึ้นไป เว้นแต่กรณีที่ศาลลงโทษจำคุกตลอดชีวิต
โดยความผิดฐานฟอกเงินนั้นมีอายุความ 15ปี
สรุป
ปัจจุบันนั้นการฟอกเงินสามารถเกิดขึ้นได้ง่ายมากไม่ว่าจะมาจากทางฉ้อโกงจากแก๊งค์คอลเซนเตอร์หรือพนันออนไลน์ การที่เจ้าหน้าที่จะตามสืบเส้นทางทางการเงินได้นั้นอาจจะต้องใช้เวลาพอสมควร หากใครที่มีเบาะแสเกี่ยวกับการฟอกเงินสามารถช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ได้ด้วยการพูดความจริงและเป็นพยานให้เจ้าหน้าที่ครับ หากท่านกำลังกังวลใจเรื่องกฎหมายสามารถปรึกษาทนายเบื้องต้นผ่าน Legardy ได้นะครับมีทนายกว่า 500 ท่านที่พร้อมช่วยเหลือ
ปรึกษาทนายตัวจริง
สอบถามได้ทุกเรื่องราวทางกฎหมาย
"โดนโกง โดนประจาน" ปรึกษาได้ในคลิกเดียว