
หลักการรับโทษจากการถูกฟ้องหลายข้อหา !
การกระทำความผิดแต่ละครั้งเป็นเรื่องปกติอยู่แล้วที่ในหลายๆ คดีพนักงานสอบสวนจะแจ้งข้อกล่าวหาหลายข้อหา และเมื่อถูกฟ้องคดีโจทก์ก็จะฟ้องรวมหลายๆ ข้อหามาในคดีแล้ว แล้วเคยสงสัยกันไหมครับว่าคดีที่โจทก์ฟ้องมาหลายข้อหาในคดีเดียวศาลจะตัดสินอย่างไร ต้องรับโทษทุกข้อหาหรือไม่ ในบทความนี้เรามีคำตอบครับ
การถูกฟ้องหลายข้อหา
คดีที่โจทก์ฟ้องมาหลายข้อหาในทางกฏหมายเราสามารถแยกออกได้เป็น 2 กรณีได้แก่“การกระทำผิดกรรมเดียวผิดกฏหมายหลายบท” และ “กระทำความผิดต่างกรรมต่างวาระ” โดยกฏหมายก็ได้กำหนดวิธีการที่ศาลจะพิพากษาลงโทษทั้ง 2 กรณีไว้แตกต่างกันดังนี้ครับ
1.การกระทำความผิดกรรมเดียวผิดกฏหมายหลายบท
หมายถึงผู้กระทำความผิดมีเจตนากระทำการนั้นๆ เพียงเจตนาเดียวแต่การกระทำนั้นผิดต่อบทกฏหมายหลายบทโดยสภาพ และเมื่อเป็นการกระทำความผิดกรรมเดียวผิดกฏหมายหลายบทแล้ว ศาลก็จะพิพากษาลงโทษจำเลยโดยปฎิบัติตาม ประมวลกฏหมายอาญา “มาตรา 90 เมื่อการกระทำใดอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษแก่ผู้กระทำความผิด” หมายความว่าศาลจะลงโทษทุกกระทงที่เป็นความผิดไม่ได้ แต่ต้องเลือกลงโทษกระทงที่มีโทษหนักที่สุดเพียงกระทงเดียว เรามาดูตัวอย่างกันครับ
ตัวอย่างการกระทำความผิดกรรมเดียวผิดกฏหมายหลายบท
คำพิพากษาฎีกาที่ 2686/2565
“...ความผิดฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดชลบุรี ห้ามเปิดสถานบริการเกินเวลาที่กำหนด และความผิดฐานขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เกินกว่าเวลาที่กำหนดโดยฝ่าฝืนกฎหมายนั้น จำเลยมีเจตนาที่จะขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เกินเวลาที่กฎหมายกำหนด ซึ่งเป็นเจตนาเดียวกันในการกระทำความผิดทั้งสามฐานดังกล่าว จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90...”
คำพิพากษาฎีกาที่ 4057/2560
“...การพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจารอันจะเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 283 ทวิ วรรคสอง ต้องเป็นการกระทำเพื่อสนองความใคร่ของตนเองหรือผู้ร่วมกระทำความผิดกับตน เมื่อจำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันเป็นธุระจัดหาและพาผู้เสียหายที่ 1 ไปเพื่อให้กระทำการค้าประเวณี อันเป็นการกระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่น มิใช่เพื่อสนองความใคร่ของจำเลยทั้งสองกับพวก การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 283 วรรคสาม แต่ไม่เป็นความผิดตาม มาตรา 283 ทวิ วรรคสอง ส่วนความผิดฐานร่วมกันเป็นธุระจัดหา ล่อไป หรือพาไปซึ่งเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีเพื่อให้กระทำการค้าประเวณี โดยขู่เข็ญ ใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรม หรือใช้วิธีข่มขืนใจด้วยประการใด ๆ ฐานค้ามนุษย์โดยร่วมกันกระทำความผิดตั้งแต่สามคนขึ้นไป และฐานเพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่น ร่วมกันเป็นธุระจัดหา ล่อไป หรือพาไปเพื่อการอนาจารซึ่งเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี โดยขู่เข็ญ ใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรม หรือใช้วิธีข่มขืนใจด้วยประการใด ๆ อันเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษจำเลยทั้งสองฐานเพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่น ร่วมกันเป็นธุระจัดหา ล่อไป หรือพาไปเพื่อการอนาจารซึ่งเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี โดยขู่เข็ญ ใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรม หรือใช้วิธีข่มขืนใจด้วยประการใด ๆ ตาม ป.อ. มาตรา 283 วรรคสาม ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90...”
ต้องการค้นหาด้านกฎหมายใช่ไหม ? สามารถค้นหาบทความ, คำปรึกษาจริง, มาตราที่เกี่ยวข้อง คลิกที่นี่ !
2.การกระทำความผิดต่างกรรมต่างวาระ
คือการกระทำความผิดที่ผู้กระทำมีเจตนากระที่แตกต่างกันออกไป แม้เป็นการกระทำคั้งเดียวกันก็ตาม โดยหากเป็นการกระทำความผิดต่างกรรมต่างวาระแล้ว ศาลก็จะพิพากษาลงโทษจำเลยโดยปฏิบัติตาม ประมวลกฏหมายอาญา “มาตรา 91 เมื่อปรากฏว่าผู้ใดได้กระทำการอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ศาลลงโทษผู้นั้นทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป...” หมายความว่าศาลมีอำนาจนำโทษของทุกกระทงที่เป็นความผิดมารวมเข้าด้วยกันได้ เรามาดูตัวอย่างกันครับ
ตัวอย่างการกระทำความผิดต่างกรรมต่างวาระ
คำพิพากษาฎีกาที่ 1151/2564
“...การใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ 26 ครั้ง แม้มีความมุ่งหมายเดียวคือเพื่อลักเอาเงินของโจทก์ร่วมไปจากบัญชี แต่เนื่องจากเงินในบัญชีมีจำนวนมาก ไม่อาจลักเอาไปเสียทีเดียวในครั้งเดียวได้ และการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ 26 ครั้ง ได้กระทำต่างวันต่างเวลาและต่างสถานที่กัน มิได้กระทำต่อเนื่องกัน ทั้งยังมีโอกาสที่จะยับยั้งในแต่ละครั้งได้ จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน...”
คำพิพากษาฎีกาที่ 7395/2551
“...ความผิดฐานพาผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจารโดยผู้เยาว์เต็มใจไปด้วย และฐานพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจารโดยผู้เยาว์เต็มใจไปด้วย แม้จำเลยกระทำในคราวเดียวกัน แต่ก็เป็นความผิดต่อทั้งผู้เยาว์และมารดาของผู้เยาว์ ถือได้ว่ามีเจตนากระทำความผิดให้เกิดผลเป็นกรรมในความผิดต่างฐานต่างหากจากกันจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่า ความผิดสองฐานดังกล่าวเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายบท ลงโทษฐานพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจารโดยผู้เยาว์เต็มใจไปด้วยซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 นั้น เป็นการไม่ชอบ...”
คำพิพากษาฎีกาที่ 372/2553
“...ความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากมารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจารเป็นความผิดที่จำเลยมีเจตนากระทำต่อมารดาผู้เสียหายที่ 2 ส่วนความผิดฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุไม่เกินสิบห้าปี จำเลยมีเจตนากระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ดังนั้น เจตนาในการกระทำความผิดเป็นคนละเจตนาแตกต่างกันและเป็นความผิดต่างฐานกัน แม้การกระทำของจำเลยไม่สามารถแยกการกระทำแต่ละขั้นตอนออกจากกันโดยเด็ดขาดก็เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตาม ป.อ. มาตรา 91...”
สรุป
จะเห็นได้ว่าความแตกต่างของการระทำความผิด “ต่างกรรมต่างวาระ” กับการ “กระทำความผิดกรรมเดียวผิดกฏหมายหลายบท” สามารถส่งผลต่อคดีได้มาก เพราะหากเป็นความผิดต่างกรรมต่างวาระแล้วแม้เป็นคดีที่มีอัตราโทษน้อยแต่เมื่อศาลสามารถนำโทษแต่ละกระทงมารวมกันได้แล้ว อัตราโทษที่จำเลยจะได้รับก็จะมากขึ้นไปโดยปริยาย ดังนั้นข้อต่อสู้เรื่องนี้จึงเป็นข้อต่อสู้ที่ทนายความและผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่ควรทิ้งและต้องรำลึกถึงอยู่เสมอในการต่อสู้คดี ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายโจทก์หรือจำเลยก็ตาม
สุดท้ายนี้หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ต่อเพื่อนๆ ผู้อ่านทุกคนและสามารถนำไปปรับใช้กับตัวเองหรือการทำงานได้ไม่มากก็น้อยนะครับ และหากเห็นว่าบทความนี้มีประโยชน์ อย่าลืมให้กำลังใจพวกเราได้โดยการ รีวิว กดไลค์ กดแชร์บทความ ตามช่องทางต่างๆ ก็จะเป็นพระคุณอย่างสูงเลย วันนี้ไปก่อน บายย
หากมีข้อสงสัยต้องการปรึกษาทนายความเพื่อหาทางออกกฎหมาย สามารถติดต่อผ่าน Legardy ได้ตลอด 24ชั่วโมงครับ
ปรึกษาทนายตัวจริง
สอบถามได้ทุกเรื่องราวทางกฎหมาย
"โดนโกง โดนประจาน" ปรึกษาได้ในคลิกเดียว
สมัครเป็นทนายออนไลน์
แพล็ทฟอร์มรวบรวม
งานกฎหมายจากทั่วประเทศ



