เผยแพร่เมื่อ: 2024-01-03

เรามาทำความรู้จักคำว่า "การแจ้งความ" กัน

 

เมื่อประชาชนได้รับความเดือดร้อน เสียหาย หรือพบเห็นเหตุร้ายเกิดขึ้น บุคคลแรกที่นึกถึงคงหนีไม่พ้นเจ้าหน้าที่ตำรวจ 

เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจถือเป็นบุคคลที่มีหน้าที่ตรวจตรา รักษาความสงบเรียบร้อย จับกุม และปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมาย โดยเรามักจะการนำเรื่องต่าง ๆ 

ไปแจ้งแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจช่วยเหลือ ซึ่งการนำเรื่องไปแจ้งแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจนี้ เราเรียกกันว่า “การแจ้งความ”

 

การแจ้งความนั้นถูกแบ่งออกเป็น 3 กรณี ได้แก่ 

 

  1. คำร้องทุกข์ 
  2. คำกล่าวโทษ และ
  3. การลงบันทึกประจำวัน

 

ซึ่งทั้ง 3 กรณีจะมีรายละเอียดดังนี้

 

1. การแจ้งความร้องทุกข์ หรือคำร้องทุกข์ 

 

"การที่ผู้เสียหายได้กล่าวหาต่อเจ้าหน้าที่ ว่ามีผู้กระทำความผิดขึ้น จะรู้ตัวผู้กระทำความผิดหรือไม่ก็ตาม ซึ่งกระทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย และการกล่าวหาเช่นนั้นได้กล่าวโดยมีเจตนาให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษ"

อ้างอิงจาก  (ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(7) 

 

จะเห็นได้ว่า การแจ้งความร้องทุกข์มีได้แต่เฉพาะในคดีอาญาเท่านั้น นอกจากนี้ต้องมีเจตนาเพื่อให้ผู้กระทำความผิดต้องได้รับโทษตามกฎหมายด้วย ดังนั้น การแจ้งความไว้เพื่อเป็นหลักฐาน(คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6644/2549) หรือการแจ้งความเพราะไม่ต้องการให้คดีขาดอายุความ(คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 228/2544) จึงไม่ถือว่ามีเจตนาให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษ ไม่ถือเป็นคำร้องทุกข์ตามกฎหมาย

 

บุคคลใดบ้างที่มีอำนาจแจ้งความร้องทุกข์ ?

 

- ผู้เสียหาย 

 

คือบุคคลที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดเอง ไม่ว่าจะเป็นบุคคลใด อายุเท่าใดก็ตาม หรือแม้จะเป็นผู้เยาว์ก็มีอำนาจแจ้งความร้องทุกข์ได้ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1847/2563)

 

- ผู้จัดการแทนผู้เสียหาย

 

 คือบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ตัวผู้ได้รับความเสียหายด้วยตนเอง เช่น บิดามารดา สามี ภริยา หรือบุตรของผู้เสียหาย ผู้จัดการหรือผู้แทนของนิติบุคคล(กรณีนิติบุคคลเป็นผู้เสียหาย) ผู้อนุบาลของผู้ไร้ความสามารถ ผู้ที่ได้รับมอบอำนาจจากผู้เสียหาย เป็นต้น

 

การแจ้งความร้องทุกข์จำเป็นหรือไม่ ?

 

การแจ้งความร้องทุกข์ ถือเป็นสิ่งจำเป็นในการมอบคดีให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีแก่ผู้กระทำความผิดให้ ซึ่งหากไม่มีการแจ้งความแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ไม่สามารถทราบได้ว่ามีความผิดเกิดขึ้น นอกจากนี้หากเป็นความผิดอันยอมความได้หรือความผิดต่อส่วนตัวแล้ว ถ้าไม่มีการแจ้งความร้องทุกข์ เจ้าหน้าที่ตำรวจหรือพนักงานสอบสวนก็ไม่มีอำนาจสอบสวนความผิดนั้นได้เลย (ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 121) และความผิดอันยอมความได้หรือความผิดต่อส่วนตัวนั้น หากไม่มีการแจ้งความร้องทุกข์หรือฟ้องคดีภายใน 3 เดือน ก็ส่งผลให้คดีนั้นขาดอายุความและศาลไม่สามารถลงโทษผู้กระทำความผิดได้เลย (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96)

 

 

2. การกล่าวโทษ หรือคำกล่าวโทษ 

 

หมายถึง การที่บุคคลอื่นซึ่งไม่ใช่ผู้เสียหายได้กล่าวหาต่อเจ้าหน้าที่ ว่ามีบุคคลรู้ตัวหรือไม่ก็ดี ได้กระทำความผิดอย่างหนึ่งขึ้น (ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(8)) หากพิจารณาเปรียบเทียบกับการแจ้งความร้องทุกข์แล้วจะเห็นได้ว่า บุคคลที่จะไปกล่าวโทษต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจได้นั้นจะเป็นบุคคลใดก็ได้ที่พบเห็นการกระทำความผิดแม้ตนจะไม่ใช่ผู้เสียหายหรือผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายก็ตาม แต่หากบุคคลที่ไปแจ้งความร้องทุกข์ไม่ใช่ตัวผู้เสียหายหรือผู้ที่มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหาย สิ่งที่แจ้งแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจนั้นก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการแจ้งความร้องทุกข์ตามกฎหมาย แต่ถือเป็นเพียงคำกล่าวโทษเท่านั้น และถ้าความผิดนั้นเป็นความผิดต่อส่วนตัวแล้ว หากมีเพียงแต่คำกล่าวโทษ โดยไม่มีคำร้องทุกข์จากผู้เสียหายหรือผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหาย เจ้าหน้าที่ตำรวจหรือพนักงานสอบสวนก็ไม่มีอำนาจสอบสวนความผิดนั้น

 

3. การลงบันทึกประจำวัน

 ถือเป็นการแจ้งความอย่างหนึ่ง แต่ไม่ถือเป็นการมอบคดีให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีแก่ผู้กระทำความผิดให้ การลงบันทึกประจำวันจึงเปรียบเสมือนการนำเรื่องราวไปแจ้งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจรับทราบและบันทึกไว้เท่านั้น การแจ้งความไว้เพื่อเป็นหลักฐานตามที่กล่าวมาข้างต้นจึงถือเป็นเพียงการลงบันทึกประจำวันเช่นกัน

 

ทำไมไปแจ้งความแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ดำเนินการให้ ?

 

แม้เจ้าหน้าที่ตำรวจจะมีหน้าที่ตรวจตรา รักษาความสงบเรียบร้อย จับกุม และปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมาย แต่ก็ไม่ใช่ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจะสามารถดำเนินการให้ได้ทุกกรณี ประการแรกต้องแยกก่อนว่าสิ่งที่เรานำไปแจ้งความแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจนั้น เป็นความผิดอาญา หรือเป็นความผิดตามกฎหมายแพ่ง

 

1. กรณีเป็นความผิดอาญา

 

ความผิดอาญา คือ ความผิดที่มีโทษตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา หรือความผิดตามกฎหมายอื่นก็ตาม กรณีเช่นนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจมีอำนาจดำเนินคดีแก่ผู้กระทำความผิดได้ ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าความผิดนั้นเป็นความผิดต่อส่วนตัว หรือความผิดต่อแผ่นดิน หากเป็นความผิดต่อส่วนตัวต้องมีคำร้องทุกข์จากผู้เสียหายหรือผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายเสียก่อน เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงจะสามารถดำเนินการตามกฎหมายแก่ผู้กระทำความผิดได้ ในทางกลับกันหากเป็นความผิดต่อแผ่นดินแล้ว แม้ไม่มีคำร้องทุกข์เจ้าหน้าที่ตำรวจก็สามารถดำเนินการตามกฎหมายแก่ผู้กระทำความผิดได้

 

2. กรณีเป็นความผิดทางแพ่ง

 

กรณีเช่นนี้ ไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่สามารถจับตัวผู้กระทำผิดสัญญาทางแพ่งมาลงโทษตามกฎหมายได้ ตัวอย่างเช่น ผู้เช่าที่ไม่ยอมจ่ายค่าเช่า นายจ้างที่ไม่ยอมจ่ายค่าจ้าง เป็นต้น ซึ่งหากเป็นกรณีความผิดทางแพ่งนี้ เมื่อผู้ได้รับความเสียหายมาแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ทำได้เพียงลงบันทึกประจำวันไว้เท่านั้น แต่ไม่สามารถดำเนินการใด ๆ ต่อไปได้

ดังนั้น เมื่อเราจะไปแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ ควรตรวจสอบก่อนว่าเรื่องที่เราได้รับความเสียหายนั้นเป็นความผิดอาญาหรือเป็นเพียงความผิดทางแพ่ง นอกจากนี้เราเป็นผู้เสียหายหรือผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายหรือไม่

ปรึกษาทนายตัวจริง

สอบถามได้ทุกเรื่องราวทางกฎหมาย

"โดนโกง โดนประจาน" ปรึกษาได้ในคลิกเดียว

ทนายพร้อมให้คำปรึกษาตลอด 24 ชม.
4.8/5
รีวิวจากผู้ใช้งานจริงมากกว่า 16000 รีวิว
sanook ข่าวสด มติชน spring
cta
ปรึกษาทนาย 24 ชั่วโมง
“ ได้รับคำตอบทันที ! “
ติดต่อเราทาง LINE