กฎหมายขายของออนไลน์ ข้อควรรู้เบื้องต้น
เมื่อเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น พฤติกรรมของบุคคลในสังคมย่อมเปลี่ยนแปลงไป การซื้อขายของหรือสินค้าก็เช่นกัน ในอดีตหากเราต้องการสิ่งของใด เราก็ต้องเดินทางไปซื้อของสิ่งนั้นด้วยตนเอง แต่ปัจจุบันในสังคมที่เป็นสังคมออนไลน์ ผู้คนสามารถติดต่อกันผ่านทางออนไลน์ได้เพียงแค่มีอินเทอร์เน็ตทำให้การดำเนินการต่าง ๆ สะดวกมากยิ่งขึ้น ซึ่งการซื้อขายของก็เช่นกัน เราสามารถสั่งซื้อสินค้าได้เพียงติดต่อกับผู้ขายผ่านช่องทางออนไลน์หรือซื้อขายผ่านเว็บไซต์ที่ขายของนั้น ๆ โดยไม่จำต้องเดินทางไปซื้อด้วยตนเอง
อย่างไรก็ตาม เมื่อพฤติกรรมการซื้อขายของออนไลน์มีมากขึ้นจึงต้องมีกฎหมายเข้ามาควบคุม เพื่อให้การซื้อขายของออนไลน์เป็นไปอย่างเรียบร้อย โดยในบทความนี้ Legardy จะพาผู้อ่านทุกท่านมารู้จักกับกฎหมายการขายของออนไลน์ ก่อนที่ผู้ขายจะตัดสินใจขายของออนไลน์

ขายของออนไลน์คืออะไร
การขายของออนไลน์ หรือ อีคอมเมิร์ซ (E-Commerce) หมายถึง การค้าขายและให้บริการผ่านช่องทางออนไลน์บนแพลตฟอร์มต่างๆ เปรียบเสมือนสื่อกลางเชื่อมโยงระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย ซึ่งมีความหลากหลายทั้งรูปแบบและวิธีการ ตัวอย่างเช่น แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ Lazada หรือ Shopee, โซเชียลมีเดีย Facebook, Line หรือ Instagram เป็นต้น
6 สิ่งที่ผู้ขายควรรู้เกี่ยวกับการขายของออนไลน์
1. การจดทะเบียนพาณิชย์
ตามพระราชบัญญัติทะเบียนพาณิชย์ พ.ศ. 2499 ผู้ขายสินค้าออนไลน์ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล ต้องจดทะเบียนพาณิชย์การซื้อขายสินค้า โดยใช้วิธีการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง ให้ผู้ประกอบพาณิชยกิจต้องจดทะเบียนพาณิชย์ (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2553 ข้อ 5
โดยหากผู้ขายสินค้าไม่ดำเนินการจดทะเบียนให้ถูกต้อง จะมีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท และต้องชำระค่าปรับเป็นรายวันอีกวันละ 100 บาท จนกว่าจะมีการจดทะเบียน ตามพระราชบัญญัติทะเบียนพาณิชย์ พ.ศ. 2499 มาตรา 19
2. การยื่นภาษีและเสียภาษี
การยื่นภาษีถือเป็นหน้าที่ตามกฎหมายของผู้มีรายได้ ซึ่งผู้ขายสินค้าออนไลน์ก็เช่นกัน รายได้จากการค้าขายออนไลน์ถือเป็นเงินได้ประเภทที่ 8 ที่ผู้ขายมีหน้าที่ต้องยื่นภาษีและเสียภาษีตามกฎหมาย โดยหากผู้ขายมีเจตนาละเลยไม่ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 37 ทวิ พระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2481 หรือหากผู้ขายยื่นแสดงรายการอันเป็นเท็จหรือโดยฉ้อโกงหรือใช้อุบาย มีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือนถึง 7 ปีและปรับตั้งแต่ 2,000 – 200,000 บาท ตามมาตรา 37 พระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2481
หากยื่นภาษีล่าช้ามีความผิดและโทษอย่างไรบ้าง หาคำตอบได้ที่นี่ คลิกเลย !
3. โฆษณาเกินจริง
หากผู้ขายขายสินค้าโดยมีเจตนาให้ผู้ซื้อเข้าใจผิดเกี่ยวกับแหล่งกำเนิดสินค้า สภาพสินค้า คุณภาพสินค้า หรือปริมาณ หรือโฆษณาหรือใช้ฉลากที่มีข้อความเป็นเท็จ ผู้ขายจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนหรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากผู้ขายยังกระทำความผิดซ้ำอีกจะรับโทษหนักขึ้นเป็นจำคุกไม่เกิน 1 ปีหรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 มาตรา 47
โฆษณาอย่างไรไม่ให้ผิดกฎหมาย อ่านได้ที่นี่ !
4. ขายของออนไลน์ไม่แจ้งราคา
การขายสินค้าเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ซื้อ ผู้ขายมีหน้าที่ต้องแสดงราคาสินค้าให้แก่ผู้ซื้อทราบ เพื่อให้ผู้ซื้อได้มีโอกาสพิจารณาและตัดสินใจ ซึ่งตามประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 70 พ.ศ. 2563 เรื่อง การแสดงราคาและรายละเอียดเกี่ยวกับการจำหน่ายสินค้าและบริการผ่านระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์หรือออนไลน์ ข้อ 4 ได้กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจแสดงราคาจำหน่าย รวมถึงประเภท ชนิด ลักษณะ ขนาด น้ำหนัก และรายละเอียดของสินค้า
โดยหากผู้ขายไม่แสดงราคาสินค้าของตน ผู้ขายจะมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 มาตรา 40
5. ขายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์
สินค้าหลาย ๆ ประการผู้อื่นอาจมีลิขสิทธิ์ในผลงานนั้น ๆ อยู่ ซึ่งหากผู้ขายขายสินค้าที่ละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น เช่น ขายสินค้าปลอม ผู้ขายจะมีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือนถึง 2 ปีหรือปรับตั้งแต่ 50,000 – 400,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 70 ประกอบมาตรา 31
6. ขายสินค้าโดยหลอกลวง
การขายของสินค้าออนไลน์ หากผู้ขายมีการหลอกลวงผู้ซื้อโดยนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ หรือข้อมูลที่บิดเบือนหรือปลอม ผู้ขายย่อมมีความผิดตามพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีหรือปรับไปเกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นอกจากนี้การขายสินค้าโดยหลอกลวงเพื่อให้ได้รับเงินจากผู้ซื้อไป เช่น ผู้ขายประกาศขายสินค้าโดยที่ตนเองไม่มีสินค้านั้นจริง หรือมีเจตนาไม่ส่งสินค้าให้แก่ผู้ซื้อ กรณีเหล่านี้ถือได้ว่าผู้ขายได้กระทำความผิดฐานฉ้อโกงด้วย มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปีหรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากการกระทำฉ้อโกงของผู้ขายนั้น ผู้ขายได้แสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชน เช่น การโพสท์ขายในแพลตฟอร์มที่บุคคลทั่วไปสามารถพบเห็นได้ ผู้ขายอาจมีความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีหรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ข้อควรปฏิบัติของผู้ซื้อ: ซื้อของออนไลน์แล้วไม่ได้ของ แจ้งความ
แม้การกระทำต่าง ๆ ข้างต้นของผู้ขายจะเป็นความผิดตามกฎหมาย แต่ก็ไม่ใช่ว่าผู้ซื้อจะถือเป็นผู้เสียหายในทุกกรณีที่จะสามารถแจ้งความได้ ซึ่งหากพิจารณาจากผู้ซื้อแล้วกรณีที่จะถือว่าผู้ซื้อเป็นผู้เสียหายนั้นที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดก็คือ กรณีที่ผู้ขายหลอกลวงผู้ซื้อ ซึ่งหากผู้ซื้อถูกหลอกลวงสามารถนำหลักฐานแชทการพูดคุยกับผู้ขายไปแจ้งความร้องทุกข์ได้ แต่ในบางกรณีหากผู้ขายไม่ได้มีเจตนาหลอกลวง เช่น ผู้ขายเพียงแต่ส่งมอบสินค้าล่าช้า หรือส่งมอบสินค้าที่มีความชำรุดบกพร่อง กรณีเหล่านี้จะเป็นเพียงความรับผิดในทางแพ่งของผู้ขาย ซึ่งผู้ซื้อสามารถดำเนินการได้เพียงเรียกร้องค่าเสียหายจากผู้ขายเท่านั้น แต่ไม่สามารถดำเนินคดีอาญาแก่ผู้ขายได้
แต่อย่างไรก็ตาม สำหรับความผิดของผู้ขายในกรณีอื่น ๆ แม้จะไม่ถือว่าผู้ซื้อเป็นผู้เสียหาย แต่หากพบเห็นการกระทำความผิดผู้ซื้อก็สามารถกล่าวโทษผู้ขายต่อตำรวจหรือหน่วยงานที่มีอำนาจดำเนินการแก่ผู้ขายได้ต่อไป
อ่านคำปรึกษาจริงเรื่อง "ซื้อของออนไลน์แล้วโดนโกง" พร้อมคำตอบจากทนายความ คลิกเลย !
สรุป
กล่าวโดยสรุป การซื้อขายของออนไลน์แม้จะทำให้เกิดความสะดวกแก่ผู้ซื้อและผู้ขาย แต่อย่างไรก็ตามผู้ซื้อและผู้ขายก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมายด้วย ไม่เช่นนั้นอาจต้องถูกอีกฝ่ายฟ้องร้องดำเนินคดีตามกฎหมายได้ หากยังมีข้อสงสัยทางด้านกฎหมาย อย่ารอช้าที่จะปรึกษาทนายผ่าน Legardy ปรึกษาทันที คลิกที่นี่ !
ปรึกษาทนายตัวจริง
สอบถามได้ทุกเรื่องราวทางกฎหมาย
"โดนโกง โดนประจาน" ปรึกษาได้ในคลิกเดียว
สมัครเป็นทนายออนไลน์
แพล็ทฟอร์มรวบรวม
งานกฎหมายจากทั่วประเทศ



