
ไขข้อสงสัยสั่งของแล้วยกเลิกผิดกฎหมายไหม?
เชื่อว่าขาชอปออนไลน์ต้องเคยเจอสถานการณ์สั่งของแล้วเปลี่ยนใจ อยากจะยกเลิกแต่ก็เกิดคำถามตามมาว่าสั่งของแล้วยกเลิกผิดกฎหมายไหม? สั่งของแล้วยกเลิกได้ไหม? วันนี้ Legardy มีคำตอบมาฝาก พร้อมตอบคำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการสั่งของออนไลน์
สั่งของแล้วยกเลิกผิดกฎหมายไหม?
คำถามที่ว่าสั่งของแล้วยกเลิกผิดกฎหมายไหม? แบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ กรณีที่สั่งของแล้ว จ่ายเงินแล้ว แต่ผู้ขายยังไม่ได้เตรียมส่ง สามารถยกเลิกได้ ส่วนจะได้รับเงินคืนหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับเงื่อนไขข้อตกลงระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย บาง Marketplace มีระบบให้สามารถกดยกเลิกได้และจะได้รับเงินคืน กับกรณีที่สั่งของแล้วและผู้ขายส่งของแล้ว แต่ยังไม่ได้จ่ายเงิน หรือที่เราเรียกว่าสั่งแบบเก็บเงินปลายทาง แบบนี้เข้าข่ายผิดประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 168 และมาตรา 458
เปิดเหตุผล ทำไมลูกค้าสั่งของแล้วยกเลิก?
พ่อค้าแม่ค้าหลายคนอาจจะตั้งข้อสงสัยว่าทำไมลูกค้าสั่งของแล้วยกเลิก ลองมาดู 4 สาเหตุหลักที่เราหยิบยกมาฝาก
เปลี่ยนใจกะทันหัน
อาการเปลี่ยนใจเป็นสาเหตุหลักที่เกิดขึ้นได้กับลูกค้าทุกคน บางครั้งเกิดความรู้สึกอยากได้แล้วรีบกดสั่งซื้อ โดยไม่ได้คิดให้ดี พอสั่งซื้อเสร็จ จ่ายเงินเรียบร้อย กลับพบว่าสินค้าที่สั่งไปจริง ๆ แล้วไม่ได้อยากได้ขนาดนั้น จึงเปลี่ยนใจไม่อยากรับสินค้ากะทันหันและยกเลิกคำสั่งซื้อนั่นเอง
เจอร้านที่ราคาถูกกว่า
ท่ามกลางการแข่งขันของร้านค้ามากมาย มีโอกาสที่ร้านอื่นจะขายสินค้าชนิดเดียวกันในราคาที่ถูกกว่า ทำให้เมื่อลูกค้าไปเจออีกร้าน จึงตัดสินใจยกเลิกคำสั่งซื้อร้านเดิมที่สั่งซื้อไปแล้ว เพื่อไปสั่งร้านอื่นแทน
สั่งผิด
สั่งผิดสี ผิดไซซ์ หรือผิดประเภท เป็นเหตุผลยอดฮิตที่ลูกค้าใช้ยกเลิกคำสั่งซื้อ โดยเฉพาะช่วงโปรโมชันที่มีการแข่งขันกันจับจองสินค้า แต่หลังจากสั่งของกลับมาเช็กรายละเอียดสินค้าพบว่าสั่งไปผิดสี ผิดไซซ์ ทำให้ลูกค้ายกเลิกการสั่งซื้อนั่นเอง
ไม่พอใจในคุณภาพของสินค้า
กรณีนี้มักเกิดขึ้นกับการสั่งของแบบเก็บเงินปลายทาง เพราะลูกค้าสามารถตรวจสอบสภาพสินค้าได้ก่อนชำระค่าสินค้า หากได้รับของแล้วพบว่าสินค้าไม่ตรงปก คุณภาพไม่ดี ก็เป็นเหตุผลที่ทำให้ลูกค้ายกเลิกการสั่งได้เช่นกัน
สั่งของไม่รับของ ผิดกฎหมายไหม?
อย่างที่เราได้พูดถึงไปข้างต้นว่า หากสั่งของแล้วและผู้ขายส่งของแล้ว แต่ยังไม่ได้จ่ายเงิน (สั่งแบบเก็บเงินปลายทาง) และเมื่อของมาส่งกลับปฏิเสธการรับของ กรณีนี้ผิดกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 168 และ 458 ดังนี้
- มาตรา 168 การแสดงเจตนาที่กระทำต่อบุคคลซึ่งอยู่เฉพาะหน้าให้ถือว่ามีผลนับแต่ผู้รับการแสดงเจตนาได้ทราบการแสดงเจตนานั้น กล่าวคือ สัญญาซื้อขายสินค้า มีผลนับแต่ผู้ขายได้ทราบการแสดงเจตนาซื้อด้วยการตอบตกลงจะส่งมอบสินค้าแก่ลูกค้านั่นเอง
- มาตรา 458 กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ขายนั้น ย่อมโอนไปยังผู้ซื้อตั้งแต่ขณะเมื่อได้ทำสัญญาซื้อขายกัน ดังนั้นหากผู้ซื้อไม่รับของจึงผิดกฎหมายนั่นเอง
ไม่ได้รับพัสดุ แจ้งความได้ไหม?
สั่งของแล้วแต่ไม่ได้รับพัสดุ สามารถแจ้งความได้ โดยกรณีแรก ร้านค้ามีเจตนาโกง หลอกให้ผู้อื่นโอนเงินมาซื้อสินค้าและตั้งใจไม่ส่งสินค้า ถือเป็นความผิดฐานฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ส่วนอีกกรณีที่ร้านค้าส่งของล่าช้า หรือส่งของเพียงบางส่วน ถือว่าผิดสัญญาซื้อขาย เป็นความผิดทางแพ่ง สามารถฟ้องร้องคดีเรียกค่าเสียหายได้เช่นกัน
ไม่ได้สั่งของแต่มีของมาส่ง ทำไงดี?
หากมั่นใจว่าไม่ได้สั่งของ แต่มีของมาส่งและเรียกเก็บเงินค่าสินค้า สามารถปฎิเสธการรับของได้โดยไม่ต้องกลัวว่าจะผิดกฎหมาย และสามารถดำเนินการแจ้งความที่สถานีตำรวจใกล้บ้านได้ เพราะเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 โดยถ่ายรูปกล่องพัสดุเอาไว้เพื่อเป็นหลักฐานประกอบการแจ้งความ
คงได้คำตอบกันแล้วว่าสั่งของแล้วยกเลิกผิดกฎหมายไหม จะเห็นได้ว่าแม้การซื้อของออนไลน์จะสะดวกรวดเร็ว แต่ก็เป็นช่องโหว่ให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมา ทั้งการยกเลิกคำสั่งซื้อ สั่งของแล้วไม่ได้รับของ หรือไม่ได้สั่งขอแต่กลับมีของมาส่ง ซึ่งหลายประเด็นก็มีความเกี่ยวโยงกับข้อกฎหมาย ดังนั้นใครที่ไม่แน่ใจว่าทำแบบนี้ถูกต้องหรือไม่ ทำแบบนั้นผิดกฎหมายหรือเปล่า สามารถส่งคำถามเข้ามาปรึกษาทนายฟรี 24 ชม. ที่ Legardy ทนายของเราพร้อมไขข้อสงสัยทุกปัญหาของคุณ
ปรึกษาทนายตัวจริง
สอบถามได้ทุกเรื่องราวทางกฎหมาย
"โดนโกง โดนประจาน" ปรึกษาได้ในคลิกเดียว
สมัครเป็นทนายออนไลน์
แพล็ทฟอร์มรวบรวม
งานกฎหมายจากทั่วประเทศ



