
ธุรกิจผ่อนโทรศัพท์แบบผ่อนไปใช้ไป
ปัจจุบันการผ่อนโทรศัพท์แบบผ่อนไปใช้ไปได้รับความนิยมมากขึ้น เพราะว่าใช้เพียงแค่บัตรประชาชนใบเดียว ไม่ต้องง้อบัตรเครดิต แต่ก็มีมิจฉาชีพแฝงตัวเข้ามาเช่นกัน บทความนี้ Legardy จะพาทุกท่านมารู้จักกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการผ่อนโทรศัพท์แบบผ่อนไปใช้ไปกันครับ
ก่อนเริ่มผ่อนโทรศัพท์กับร้านค้าออนไลน์ ต้องทำสิ่งต่อไปนี้ก่อน
1.)ทำสัญญาการซื้อขาย
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 453
อันว่าซื้อขายนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลฝ่ายหนึ่ง เรียกว่าผู้ขาย โอนกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินให้แก่บุคคลอีกฝ่ายหนึ่ง เรียกว่าผู้ซื้อ และผู้ซื้อตกลงว่าจะใช้ราคาทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้ขาย
โดยในสัญญาซื้อขายนั้น ให้มีชื่อของผู้ซื้อและผู้ขาย ที่อยู่ และข้อกำหนดต่างๆ เพราะหากเกิดข้อพิพาทหรือผิดสัญญากันขึ้นมา เราจะได้ใช้สัญญาซื้อขายนี้เป็นหลักฐานครับ
หากร้านไม่ยอมทำสัญญา ให้ระวังไว้ว่าอาจเป็นมิจฉาชีพ
"หากผิดสัญญาซื้อขาย สามารถเอาผิดอะไรได้บ้าง หาคำตอบได้ที่นี่ คลิกเลย !"
2.)เช็คประวัติก่อนทำการซื้อขาย
อาจนำชื่อร้านไปเช็คประวัติดูก่อน ว่าเคยโดนโกงไหม สามารถนำชื่อไปค้นหาใน google ได้เลย หากเคยมีประวัติที่ฉ้อโกง ก็อย่าทำการซื้อขายนะครับ และเพื่อความแน่ใจอาจขอดูใบทะเบียนพาณิชย์ของร้านค้านั้น เพื่อเป็นการยืนยันว่าร้านค้าค้าขายอย่างสุจริต
3.)หากโดนโกงผ่อนโทรศัพท์
ให้รวบรวมหลักฐานให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นแชทสนทนา สลิปการโอนเงิน รูปร้านค้า(ได้ทั้งแบบออนไลน์และหน้าร้าน) ชื่อบัญชีผู้รับเงิน นำหลักฐานทั้งหมดแจ้งความดำเนินคดี
กฎหมายที่เกี่ยวข้องสำหรับร้านผ่อนโทรศัพท์
ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง ให้ผู้ประกอบพาณิชยกิจต้องจดทะเบียนพาณิชย์ (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2553 กำหนดให้บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลที่มีรูปแบบค้าขายออนไลน์ 4 ประเภท ต้องจดทะเบียนพาณิชย์ภายใน 30 วัน นับแต่เริ่มประกอบพาณิชยกิจ ได้แก่
- ซื้อขายสินค้า/บริการผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (เว็บไซต์, e-Marketplace, โซเชียลมีเดีย, แอปพลิเคชัน)
- ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP)
- ให้เช่าพื้นที่ของเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่าย (Web hosting)
- ให้บริการเป็นตลาดกลางในการซื้อขายสินค้าและบริการผ่านระบบอินเทอร์เน็ต (e-Marketplace)
ร้านค้าออนไลน์ที่ไม่ปฏิบัติตาม จะมีความผิดและต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท และปรับรายวันไม่เกิน 100 บาท จนกว่าจะจดทะเบียนพาณิชย์ฯ หลังจากจดทะเบียนแล้ว สามารถขอรับเครื่องหมายรับรองการจดทะเบียนพาณิชย์ฯ (DBD Registered) เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับผู้บริโภคได้
หากผิดชำระค่างวด ไม่คืนโทรศัพท์ได้ไหม ?
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 572 วรรคแรก
การซื้อสินค้าแบบ "ผ่อนชำระสินค้าผ่านร้านค้า/เจ้าของสินค้า" ถือเป็นการทำ "สัญญาเช่าซื้อ"
หากอยู่ในสัญญาเช่าซื้อนี้ กรรมสิทธิ์ในสินค้านั้นจะยังคงเป็นของเจ้าของสินค้าเสมอ (ผู้ให้เช่าซื้อ) ตลอดระยะเวลาการผ่อนชำระ ผู้ซื้อ (ผู้เช่าซื้อ) จะได้รับสิทธิในการครอบครองและใช้สอยสินค้า แต่จะยังไม่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เมื่อผู้ซื้อชำระค่าสินค้าครบถ้วนตามจำนวนที่ตกลงไว้ในสัญญา กรรมสิทธิ์ในสินค้าจะโอนไปยังผู้ซื้อทันที
อย่างไรก็ตาม หากผู้ซื้อผิดนัดไม่ชำระค่างวดตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญาเช่าซื้อ เจ้าของสินค้ามีสิทธิ์ที่จะบอกเลิกสัญญาและเรียกคืนสินค้าได้
รวมคำปรึกษาจริงพร้อมคำตอบจากทนายความเรื่อง "ผ่อนโทรศัพท์" คลิกเลย !
Q: ผ่อนโทรศัทพ์ครบแล้วแต่ทางร้านไม่ส่งให้
Q: ร้านค้าในติ๊กต๊อกที่ยอมให้เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ผ่อนโทรศัพท์มือถือรายวัน

ร้านค้าสามารถคิดดอกเบี้ยได้เท่าไร ?
การคิดดอกเบี้ยหรือค่าธรรมเนียมในการผ่อนโทรศัพท์นั้น ผู้ซื้อควรพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะอาจมีผลกระทบต่อภาระหนี้สินได้ โดยมีหลักกฎหมายเกี่ยวกับดอกเบี้ยดังนี้
1.พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560
กฎหมายนี้กำหนดอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่ผู้ประกอบธุรกิจสามารถเรียกเก็บจากผู้บริโภคได้ โดยอัตราดอกเบี้ยสูงสุดอยู่ที่ร้อยละ 15 ต่อปี
โดยการคิดดอกเบี้ยนั้น ผู้ขายต้องคำนวณจากยอดเงินต้นที่เหลือในแต่ละงวด
"อัตราดอกเบี้ยสำหรับยืมเงินโดยถูกกฎหมาย คิดได้กี่% หาคำตอบได้ที่นี่"
2.ค่าธรรมเนียม
ผู้ขายสามารถเรียกเก็บค่าธรรมเนียมต่างๆที่เกิดขึ้นได้ เช่น ค่าธรรมเนียมการทำสัญญา ค่าธรรมเนียมการจัดการ แต่ต้องแจ้งให้ผู้ซื้อทราบอย่างชัดเจนก่อนการทำสัญญานั้น และค่าธรรมนั้นต้องมีความสมเหตุสมผล ไม่สูงเกินไป
ถ้าไม่ต้องการผ่อนต่อแล้ว ทำอย่างไรได้บ้าง?
มุมของผู้ซื้อ
สามารถแจ้งต่อร้านค้าได้โดยตรง และทำการคืนโทรศัพท์มือถือให้แก่ร้านค้า โดยมีกฎหมายที่คุ้มครองผู้บริโภคอยู่ ดังนี้
สิทธิในการบอกเลิกสัญญาตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค
ผู้ซื้อสามารถบอกเลิกสัญญาซื้อขายได้ภายใน 7วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับสินค้า โดยผู้ซื้อนั้นแจ้งให้ผู้ขายทราบเป็นลายลักษณ์อักษร หรือด้วยวิธีการใดก็ตามที่สามารถพิสูจน์ได้ เมื่อบอกเลิกสัญญาซื้อขายแล้ว ผู้ซื้อต้องคืนโทรศัพท์มือถือให้แก่ผู้ขาย และผู้ขายต้องคืนเงินที่จ่ายไปแล้วทั้งหมดให้แก่ผู้ซื้อ
ผู้ซื้อนั้นต้องคืนสินค้าในสภาพเดิม หากสินค้ามีการชำรุดเสียหาย ผู้ซื้ออาจต้องรับผิดชอบค่าเสียหายที่เกิดขึ้น
มุมของผู้ขาย
หากผู้ซื้อผิดนัดชำระค่างวดตามที่กำหนดไว้ในสัญญา
ผู้ขายมีสิทธิ์ที่จะบอกเลิกสัญญาและขอคืนสินค้านั้นได้ แต่ต้องแจ้งให้ผู้ซื้อทราบล่วงหน้าตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญา
ผู้ซื้อทำให้ทรัพย์สินเสียหาย
หากผู้ซื้อจงใจทำลายหรือทำให้สินค้าเสียหายโดยไม่มีเหตุอันควร ผู้ขายนอกจากจะมีสิทธิ์ที่บอกเลิกสัญญาซื้อขายนั้นแล้ว อีกทั้งสามารถเรียกร้องค่าเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ผู้ซื้อได้อีกด้วย
Q: ผ่อนโทรศัทพ์ครบแล้วแต่ทางร้านไม่ส่งให้
ร้านค้าโฆษณาเกินจริง !
หากร้านค้าโฆษณาเกินจริง เช่น ผ่อนเดือนละ 10บาท แต่เมื่อเราทำการซื้อแล้ว ปรากฎว่ามีค่าธรรมเนียมนู่นนี่ รวมแล้วหลักหมื่นบาท
สามารถเอาผิดได้ดังนี้ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522
มาตรา 22 การโฆษณาจะต้องไม่ใช้ข้อความที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคหรือใช้ข้อความที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมส่วนรวม ทั้งนี้ ไม่ว่าข้อความดังกล่าวนั้น จะเป็นข้อความที่เกี่ยวกับแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพ หรือลักษณะของสินค้าหรือบริการ ตลอดจนการส่งมอบ การจัดหา หรือการใช้สินค้าหรือบริการ
อาจต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 889/2566 (โฆษณาเกินจริง)
ซึ่งศาลได้ตัดสินว่าโครงการหมู่บ้านจัดสรรที่โฆษณาว่ามีสวนสาธารณะ 2 ไร่เศษ แต่ในความเป็นจริงมีเพียง 550 ตารางวา โครงการหมู่บ้านจัดสรรต้องรับผิดชอบและจัดหาพื้นที่เพิ่มเติมหรือชดเชยค่าเสียหายให้กับผู้บริโภคตามสัญญา
กฎหมายการโฆษณามีที่สำคัญมีอะไรบ้าง ร่วมหาคำตอบกันได้ที่ลิงค์นี้ !
สรุป
การซื้อขายนั้นต่อให้เป็นการผ่อนก็ตามต้องทำสัญญาซื้อขายเสมอ เพราะหากเกิดข้อพิพาทขึ้นแล้วการที่ไม่มีสัญญาซื้อขายนั้นจะทำให้เกิดการเสียเปรียบได้ และถ้าหากรู้สึกว่าสัญญาซื้อขายดังกล่าวนั้นไม่เป็นธรรมสามารถให้ทนายความช่วยตรวจสอบสัญญาได้นะครับ
ปรึกษาทนายตัวจริง
สอบถามได้ทุกเรื่องราวทางกฎหมาย
"โดนโกง โดนประจาน" ปรึกษาได้ในคลิกเดียว
สมัครเป็นทนายออนไลน์
แพล็ทฟอร์มรวบรวม
งานกฎหมายจากทั่วประเทศ



