มาทำความเข้าใจทั้งหมดเกี่ยวกับหลักการยินยอมครับ
ความหมายของหลักความยินยอม
หลักความยินยอม หมายถึง
การแสดงเจตนาของผู้เสียหายหรือผู้มีอำนาจกระทำการแทนผู้เสียหายที่จะให้ความยินยอมให้ผู้อื่นมาก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย โดยการจงใจปล่อยให้เหตุการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นโดยไม่ขัดขวางทั้งที่สามารถขัดขวางได้ เป็นการแสดงความประสงค์ที่จะให้เกิดเหตุการณ์เช่นนั้นขึ้น ซึ่งมีองค์ประกอบและเงื่อนไขตามกฎหมายที่ต้องปฏิบัติตาม
องค์ประกอบของการให้ความยินยอมตามกฎหมาย
ผู้ให้ความยินยอม
- ผู้ให้ความยินยอมซึ่งเป็นบุคคลที่ได้รับความเสียหาย ต้องเป็นผู้ที่มีความสามารถในการให้ความยินยอมได้ กล่าวคือ รู้สำนึก เข้าใจถึงการกระทำนั้น และรู้ว่าการกระทำนั้นจะทำให้เกิดผลอย่างไร
วิธีการให้ความยินยอม
- การให้ความยินยอม การให้ความยินยอมนั้นไม่มีกฎหมายใดกำหนดรูปแบบของการให้ความยินยอมไว้ ดังนั้น ผู้ให้ความยินยอมจึงอาจให้ความยินยอมเป็นหนังสือหรือด้วยวาจาก็ได้ หรืออาจให้ความยินยอมโดยชัดแจ้งหรือปริยายก็ได้ เช่น การไม่ทักท้วงหรือโต้แย้งในการที่บุคคลอื่นกระทำต่อตนย่อมถือเป็นการให้ความยินยอมโดยปริยาย เป็นต้น
เงื่อนไขของการให้ความยินยอม
- เงื่อนไขของการให้ความยินยอม
- การให้ความยินยอมต้องมีอยู่ก่อนหรือขณะที่มีการกระทำนั้น และต้องมีตลอดระยะเวลาที่มีการกระทำนั้น ดังนั้น แม้ก่อนมีการกระทำจะให้ความยินยอม แต่ต่อมาได้ปฏิเสธหรือทักท้วงก็จะถือว่ามีการให้ความยินยอมไม่ได้
- ความยินยอมนั้นผู้ให้ความยินยอมต้องแสดงเจตนาต่อผู้กระทำโดยตรง
- การให้ความยินยอมต้องเกิดจากการแสดงเจตนาที่ชอบด้วยกฎหมายและด้วยใจสมัคร หากการให้ความยินยอมนั้นเกิดจากการถูกข่มขู่ หลอกลวง ฉ้อฉล หรือกระทำให้เกิดความสำคัญผิด จะถือว่าผู้นั้นให้ความยินยอมไม่ได้
- การให้ความยินยอมกระทำสิ่งใด ต้องถือว่าให้ความยินยอมเพียงสิ่งนั้น จะหมายความรวมถึงสิ่งอื่นที่ผู้ให้ความยินยอมไม่ทราบถึงไม่ได้ เช่น ยินยอมให้เพื่อนหยิบเงินไม่จากกระเป๋าเงิน 100 บาท เพื่อนจะหยิบไป 1,000 บาทไม่ได้ เพราะถือว่าเกินกว่าความยินยอม เป็นต้น
- ความยินยอมต้องไม่มีเงื่อนไข
- ผู้กระทำต้องทราบถึงความยินยอมนั้นและได้กระทำในความผิดที่อ้างความยินยอมได้
ผลของการให้ความยินยอม
ผลของการให้ความยินยอมตามกฎหมาย
เมื่อมีการให้ความยินยอมครบถ้วนตามเงื่อนไขที่กล่าวในข้อ 3. แล้ว ย่อมทำให้ผลของการให้ความยินยอมสมบูรณ์ตามกฎหมายและผู้กระทำอาจอ้างหลักความยินยอมไม่เป็นละเมิดได้
หลักความยินยอมไม่เป็นละเมิด
โดยปกติเมื่อมีการให้ความยินยอมแล้วย่อมเป็นผลให้การกระทำของผู้กระทำไม่เป็นละเมิด เช่น ยินยอมให้หยิบเงินไป ผู้กระทำก็ไม่ผิดฐานลักทรัพย์ ยินยอมให้ผู้อื่นนำทรัพย์ไปทำลาย ผู้กระทำก็ไม่ผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ยินยอมให้ผู้อื่นมีเพศสัมพันธ์ ผู้กระทำก็ไม่ผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา (เว้นแต่กรณีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 ที่กำหนดว่าแม้เด็กจะยินยอมก็เป็นความผิด) หรือแพทย์ทำการผ่าตัดผู้ป่วยโดยได้รับความยินยอม แพทย์ก็ไม่มีความผิดฐานทำร้ายร่างกาย เป็นต้น
กรณีไม่ต้องรับผิด
อย่างไรก็ตามอาจมีบางกรณีที่ผู้กระทำได้กระทำไปโดยไม่ได้รับความยินยอม แต่ผู้กระทำก็ไม่ต้องรับผิด ได้แก่
- กรณีมีเหตุฉุกเฉิน เช่น การจับหรือล็อคตัวคนที่จะฆ่าตัวตายด้วยการกระโดดจากตึกสูง เป็นต้น
- กรณีที่วิญญูชนย่อมให้ความยินยอม เช่น ผลักผู้อื่นหลบกระสุนปืน หลบรถยนต์ที่พุ่งมา แม้ผู้นั้นจะได้รับบาดเจ็บ ผู้กระทำก็ไม่ต้องรับผิด
- กรณีที่ผู้กระทำไม่รู้หรือไม่มีเหตุอันควรรู้ว่าผู้ถูกกระทำจะไม่ให้ความยินยอม เช่น แพทย์นำคนเจ็บที่สลบไม่รู้สึกตัวจากการได้รับอุบัติเหตุไปผ่าตัดรักษาตัวเพื่อช่วยชีวิตผู้นั้น เป็นต้น
ความยินยอมตามบทกฎหมาย
ความยินยอมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั้นได้กล่าวถึงการให้ความยินยอมไว้หลายเรื่องด้วยกัน ตัวอย่างเช่น
- การทำนิติกรรมสัญญา แม้กฎหมายจะไม่ได้บัญญัติโดยตรงว่าผู้กระทำนิติกรรมต้องยินยอมในการทำนิติกรรม แต่เมื่อพิจารณาจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 149 ที่กล่าวว่าทำลง “โดยใจสมัคร” ย่อมหมายความได้ว่า ผู้กระทำต้องสมัครใจยินยอมกระทำนิติกรรมนั้นด้วย หากเกิดจากการข่มขู่ หลอกลวง ย่อมถือไม่ได้ว่าผู้กระทำสมัครใจยินยอมกระทำนิติกรรมนั้น อันอาจส่งผลถึงความสมบูรณ์ของนิติกรรมได้
- การทำนิติกรรมของผู้เยาว์ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ ต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้พิทักษ์แล้วแต่กรณีมิฉะนั้นจะเป็นผลให้นิติกรรมนั้นเป็นโมฆียะ (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 21 และมาตรา 34)
- ความยินยอมไม่เป็นละเมิด โดยปกติการที่ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายแก่ชีวิต ร่างกาย อนามัย เสรีภาพ ทรัพย์สิน หรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใด ถือได้ว่าผู้นั้นกระทำละเมิดและต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420) ดังนั้น หากผู้ที่ได้รับความเสียหายให้ความยินยอมแล้ว ผู้กระทำย่อมไม่ถือว่าได้กระทำละเมิดและไม่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน
ความยินยอมตามประมวลกฎหมายอาญา
การให้ความยินยอมตามประมวลกฎหมายอาญานั้น ย่อมส่งผลให้การกระทำนั้นไม่เป็นความผิดตามกฎหมายและผู้กระทำไม่ต้องรับโทษ เช่น ยินยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์ไป ไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334) ยินยอมให้ผู้อื่นเข้ามาในบ้าน ไม่เป็นความผิดฐานบุกรุก (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 364) หรือกรณีนักมวยชกมวยกันก็ไม่ถือว่าเป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกาย (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295) เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาบางฐาน ผู้กระทำก็ยังถือว่ามีความผิดอยู่แม้จะได้รับความยินยอมจากผู้ถูกกระทำหรือผู้ที่ได้รับความเสียหายก็ตาม เช่น การยินยอมให้ผู้อื่นฆ่าตนเอง ผู้กระทำก็ยังมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่น (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288) หรือกรณีเด็กยินยอมมีเพศสัมพันธ์กับผู้อื่น ผู้กระทำก็ยังคงมีความผิดฐานกระทำชำเรา (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277) เป็นต้น
หนังสือให้ความยินยอม
หนังสือให้ความยินยอมทั่วไป
การให้ความยินยอมเป็นหนังสือนั้น ย่อมถือเป็นการให้ความยินยอมโดยชัดแจ้ง ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วผู้กระทำมักจะให้ผู้ยินยอมแสดงเจตนายินยอมโดยชัดแจ้งเป็นหนังสือ เพื่อป้องกันมิให้เกิดปัญหาข้อพิพาทในภายหลังและเพื่อเป็นหลักฐานในการให้ความยินยอมนั้น เช่น หนังสือให้ความยินยอมร้องขอจัดตั้งผู้จัดการมรดก หนังสือให้ความยินยอมทางการแพทย์ไม่ว่าจะเป็นการขอให้ยินยอมตรวจหรือรักษา หนังสือยินยอมของแพทย์ที่ขอผ่าตัดรักษาผู้ป่วย หนังสือยินยอมให้คู่สมรสจัดการสินสมรส หนังสือให้ความยินยอมทั่วไป เป็นต้น
การทำสัญญาประนีประนอมยอมความ
นอกจากนี้ การทำสัญญาประนีประนอมยอมความตามกฎหมายยังถือเป็นการให้ความยินยอมอย่างหนึ่ง เนื่องจากการประนีประนอมยอมความ คือ การที่คู่สัญญาตกลงระงับข้อพิพาทด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850) โดยผลของการประนีประนอมยอมความนั้น ย่อมทำให้ข้อเรียกร้องของแต่ละฝ่ายระงับไป อันถือได้ว่าคู่สัญญายินยอมสละข้อเรียกร้องของตน (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 852) ซึ่งการประนีประนอมยอมความนั้นกฎหมายกำหนดให้ทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิด ไม่เช่นนั้นจะฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้ (ประมวลกฎหมายแพ่งพาณิชย์ มาตรา 851)
การยอมความในคดีอาญา
สำหรับคดีอาญานั้น การยอมความในความผิดอันยอมความได้ก็ถือเป็นการยินยอมที่จะไม่ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดเช่นกัน อันเป็นผลให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับสิ้นไป แต่ก็มิใช่ความผิดอาญาทุกฐานความผิดที่จะสามารถยอมความกันได้ โดยกฎหมายจะกำหนดไว้ว่าความผิดใดเป็นความผิดอันยอมความได้ เช่น ความผิดฐานยักยอก (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352) ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358) ความผิดฐานบุกรุก (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362 และมาตรา 364) เป็นต้น โดยการยอมความในความผิดอาญานั้นอาจพบการยอมความโดยทำเป็นหนังสือยอมความต่อกันได้ ซึ่งในหนังสือยอมความนั้นมักจะมีข้อความระบุไว้ว่า “ยินยอมและไม่ติดใจเรียกร้องใด ๆ ทั้งในทางแพ่งและทางอาญา” เมื่อมีข้อความดังกล่าวในหนังสือหรือบันทึกข้อตกลงแล้วย่อมถือได้ว่ามีการยอมความกันโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว
หลักความยินยอม ทางการแพทย์
การให้ความยินยอมทางการแพทย์ไม่ว่าจะเป็นการขอให้ยินยอมตรวจหรือรักษา เช่น แพทย์นำคนเจ็บที่สลบไม่รู้สึกตัวจากการได้รับอุบัติเหตุไปผ่าตัดรักษาตัวเพื่อช่วยชีวิตผู้นั้น
สรุป
กล่าวโดยสรุป หลักความยินยอมนั้น ย่อมเป็นผลให้ผู้กระทำมีสิทธิกระทำการนั้นได้ และเป็นผลให้การกระทำนั้นไม่เป็นละเมิดและผู้กระทำไม่ต้องรับผิดใด ๆ ไม่ว่าทั้งทางแพ่งหรือทางอาญา แต่อย่างไรก็ตาม การให้ความยินยอมนั้นก็ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการให้ความยินยอมจึงจะสมบูรณ์ตามกฎหมาย นอกจากนั้น ต้องไม่ใช่กรณีที่แม้มีความยินยอมก็ยังถือว่าการกระทำนั้นเป็นความผิด ต้องการปรึกษากฎหมาย สามารถปรึกษาผ่าน Legardy ได้ตลอด 24 ชั่วโมง