ให้ที่ดินคนอื่นแล้วยังเป็นเจ้าของอยู่ได้ไหม?
สามารถทำได้ครับ ปกติแล้วบางคนมีที่ดินค่อนข้างมากจะปล่อยทิ้งไว้ให้รกร้างก็เสียดายที่ดิน ทางกฎหมายเล็งเห็นแล้วว่าการให้คนอื่นมาใช้ประโยชน์ในที่ดินตนเองและเจ้าของยังมีกรรมสิทธิ์อยู่ จึงได้กำหนด "ทรัพย์อิงสิทธิ์" ขึ้นมา บทความนี้ Legardy จะพาทุกท่านไปรู้จักกับคำว่า ทรัพย์อิงสิทธิกันครับ
ทรัพย์อิงสิทธิ คืออะไร?
ทรัพย์อิงสิทธิ คือ สิทธิที่เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ (ผู้ให้เช่า) มอบให้บุคคลอื่น (ผู้เช่า) เช่าและใช้ประโยชน์ในอสังหาริมทรัพย์นั้นได้เสมือนเป็นเจ้าของและเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ที่แท้จริงนั้นยังคงสภาพความเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์อยู่ สามารถโอนและตราเป็นประกันการชำระหนี้โดยการจำนองได้ ภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาไม่เกิน 30ปี แต่สามารถต่ออายุสัญญาได้อีกครั้งละไม่เกิน 30ปี
ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับการเช่าแต่การเช่านั้นหากเราหมดสัญญาเช่าหรือเสียชีวิตไปอาจจะต้องคืนเจ้าของหรือปล่อยเช่าต่อไม่ได้
บุคคลที่มีสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดในอสังหาริมทรัพย์ที่ก่อตั้งทรัพย์อิงสิทธิเสมือนหนึ่งเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์
เรียกว่า "ผู้ทรงทรัพย์อิงสิทธิ"
บุคคลที่ให้ทรัพย์อิงสิทธิแก่บุคคลอื่น หรือเจ้าของอสังหาริมทรัพย์เดิมก่อนที่จะมีการให้ทรัพย์อิงสิทธิ
เรียกว่า "เจ้าของกรรมสิทธิ์อสังหาริมทรัพย์"
ระเบียบของทรัพย์อิงสิทธิ
1.)การยื่นเพื่อทำทรัพย์อิงสิทธิ ยื่นต่อเจ้าหน้าที่ที่ดินพร้อมโฉนดหรือหนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุด
2.)ระยะเวลาในการให้ทรัพย์อิงสิทธิ ไม่เกิน30ปี และสามารถต่ออายุได้อีกครั้งละไม่เกิน 30ปี
3.)หากหนังสือรับรองทรัพย์อิงสิทธิเกิดความเสียหาย สามารถขอใบแทนหนังสือรับรองทรัพย์อิงสิทธิได้ และให้หนังสือรับรองนั้นเป็นอันยกเลิก
4.)ห้ามแบ่งแยกทรัพย์อิงสิทธิ แบ่งแยกออกเป็นหลายแปลงหรือรวมกับที่ดินแปลงอื่นเข้าเป็นแปลงเดียวกันไม่ได้
5.)ผู้ทรงทรัพย์อิงสิทธิ มีหน้าที่เสมือนเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ ยกเว้นสิทธิในการติดตามเอาคืนทรัพย์จากผู้ไม่มีสิทธิ
6.)กรรมสิทธิ์ในสิ่งที่ต่อเติม กรรมสิทธิ์ในสิ่งปลูกสร้างที่ผู้ทรงทรัพย์อิงสิทธิสร้างขึ้นตกเป็นของเจ้าของอสังหาฯ เมื่อทรัพย์อิงสิทธิสิ้นสุดลง เว้นแต่จะมีข้อตกลงเป็นอย่างอื่น ยกเว้นห้องชุดตามกฎหมายอาคารชุด
7.)ใช้เป็นหลักประกันในการชำระหนี้ โดยการจำนองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
8.)ทรัพย์อิงสิทธิสามารถโอนให้แก่กันได้
การทำนิติกรรมใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์อิงสิทธิต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ และเมื่อมีการจดทะเบียนแล้วให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีหนังสือแจ้งให้เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ทราบโดยเร็ว
9.)ผู้ทรงทรัพย์อิงสิทธิ มีสิทธิ์ที่จะยกเลิกทรัพย์อิงสิทธิ์ก่อนครบกำหนดเวลาที่ระบุไว้ได้
10.)เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาการให้ทรัพย์อิงสิทธิ ผู้ทรงทรัพย์อิงสิทธิต้องส่งมอบอสังหาริมทรัพย์คืนแก่เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ตามสภาพปัจจุบัน
ทรัพย์อิงสิทธิกับสิทธิการเช่า
ทั้งทรัพย์อิงสิทธิและสิทธิการเช่ามีความคล้ายคลึงกัน แต่มีความแตกต่างกันดังนี้
เรื่อง | ทรัพย์อิงสิทธิ | สิทธิการเช่า |
การปล่อยเช่าต่อ | ทำได้ | ทำไม่ได้ |
การต่อเติม ก่อสร้าง ดัดแปลง | ทำได้ | ขึ้นอยู่กับข้อตกลง |
ใช้ในการชำระหนี้ด้วยการจำนอง | ทำได้ | ทำไม่ได้ |
เป็นมรดกตกทอด | ทำได้ | ทำไม่ได้ |
ความเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ | เป็นเจ้าของในช่วงเวลาที่ตกลงกันไว้ | ไม่เป็นเจ้าของ |
การยกเลิก | ไม่สามารถยกเลิกได้หากกระทบสิทธิต่อบุคคลที่สาม | สามารถยกเลิกได้หากมีการบอกกล่าวล่วงหน้า |
ความสำคัญของทรัพย์อิงสิทธิ
ทรัพย์อิงสิทธิมีส่วนช่วยในการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากอสังหาริมทรัพย์ให้เกิดประโยชน์สูงที่สุด โดยเฉพาะในกรณีที่เจ้าของกรรมสิทธิ์
อสังหาริมรัพย์นั้นไม่ต้องการขายทรัพย์สินของตนเอง แต่ต้องการสร้างรายได้จากอสังหาริมทรัพย์นั้น หรือในกรณีที่ผู้ที่สนใจต้องการใช้ประโยชน์จากอสังหาริมทรัพย์นั้นในระยะยาวแต่ไม่ต้องการเป็นเจ้าของเพราะภาระการเป็นเจ้าของนั้นค่อนข้างมาก
นอกจากนี้ ทรัพย์อิงสิทธินำมาซึ่งโอกาสทางธุรกิจและการลงทุนใหม่ ๆ เช่น การพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ การลงทุนในธุรกิจโรงแรม หรือการสร้างแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ
ประเภทของอสังหาริมทรัพย์ที่สามารถก่อตั้งทรัพย์อิงสิทธิได้
ตามพระราชบัญญัติทรัพย์อิงสิทธิ พ.ศ. 2562 อสังหาริมทรัพย์ที่สามารถก่อตั้งทรัพย์อิงสิทธิได้ ได้แก่
- ที่ดิน เช่น ที่ดินเปล่า ที่นา ที่สวน ที่ดินที่ใช้สร้างบ้าน
- อาคาร เช่น บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ อาคารพาณิชย์ คอนโดมิเนียม
- สิ่งปลูกสร้างอื่น ๆ ที่ติดอยู่กับที่ดิน
- ห้องชุด เช่น ห้องชุดในคอนโดมิเนียม อพาร์ตเมนต์

การขอทรัพย์อิงสิทธิที่กรมที่ดิน
เอกสารที่ต้องเตรียมสำหรับขอทรัพย์อิงสิทธิ์
- คำขอจดทะเบียนสิทธิการเช่าทรัพย์อิงสิทธิ
- สำเนาบัตรประชาชน/หนังสือรับรองนิติบุคคลของผู้ให้เช่าและผู้เช่า
- สำเนาหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ เช่น โฉนดที่ดิน, หนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุด
- แผนที่แสดงตำแหน่งที่ดินหรือห้องชุด
- สัญญาเช่า (ทรัพย์อิงสิทธิ) ที่ทำขึ้นระหว่างผู้ให้เช่าและผู้เช่า
- หลักฐานการชำระภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ถ้ามี)
- เอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น หนังสือมอบอำนาจ, ใบเปลี่ยนชื่อ-สกุล
ขั้นตอนการขอทรัพย์อิงสิทธิจากกรมที่ดิน
1.)เตรียมเอกสารตามข้างต้น ที่สำนักงานที่ดินตามเขตที่ที่ดินหรือห้องชุดนั้นตั้งอยู่
2.)เจ้าหน้าที่ทำการตรวจสอบเอกสาร และทำการชำระค่าธรรมเนียม
3.)เมื่อเอกสารครบถ้วนเจ้าหน้าที่จะดำเนินการจดทะเบียนทรัพย์อิงสิทธิในสารบบที่ดินและออกหนังสือรับรองทรัพย์อิงสิทธิให้แก่ผู้เช่า
4.)ผู้เช่าสามารถรับหนังสือรับรองทรัพย์อิงสิทธิ์ได้ที่สำนักงานเขตที่ดินที่ติดต่อ
เกร็ดความรู้กับ Legardy : เซ็นรับรองสำเนาถูกต้องอย่างไรให้ไม่โดนมิจฉาชีพสวมรอย คลิกที่นี่เพื่ออ่าน !
สรุป
ทรัพย์อิงสิทธิเป็นเครื่องมือทางกฎหมายที่ช่วยให้เจ้าของอสังหาริมทรัพย์และผู้ที่ต้องการใช้ประโยชน์จากอสังหาริมทรัพย์สามารถได้ประโยชน์ร่วมกัน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยที่เจ้าของอสังหาริมทรัพย์นั้นก็ไม่สูญเสียความเป็นเจ้าของ โดยที่จะก่อตั้งทรัพย์อิงสิทธิ์นั้นควรอ่านสัญญาให้ละเอียดและรอบคอบนะครับ หากไม่มั่นใจในสัญญาทรัพย์อิงสิทธิสามารถติดต่อหาทนายความ เพื่อช่วยดูสัญญา หรือกดที่ลิงค์นี้ได้เลยครับ
ปรึกษาทนายตัวจริง
สอบถามได้ทุกเรื่องราวทางกฎหมาย
"โดนโกง โดนประจาน" ปรึกษาได้ในคลิกเดียว
สมัครเป็นทนายออนไลน์
แพล็ทฟอร์มรวบรวม
งานกฎหมายจากทั่วประเทศ



