ได้รับหมายเรียก ควรอ่านบทความนี้ให้จบ
โดยปกติกระบวนการยุติธรรมการออกหมายศาลนั้นเป็นขั้นตอนแรกๆและเป็นขั้นตอนที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการดำเนินคดี เช่นการได้รับหมายเรียกแล้วไม่ไปก็ย่อมส่งผลต่อรูปคดี จากที่โทษน้อยก็สามารถกลายเป็นโทษหนักได้ บทความนี้ทางLegardy จะพาไปรู้จักกับความหมายของหมายเรียก ประเภทของหมายเรียก รวมถึงโทษทางกฎหมายหากไม่ปฎิบัติตามหมายเรียก

หากได้รับหมายเรียกควรทำอย่างไร ?
1.ตั้งสติก่อนนะครับไม่ต้องตกใจหากเป็นหมายเรียก หมายเรียกจะไม่มีการควบคุมตัวใดๆทั้งสิ้นครับ แต่ไม่ควรเพิกเฉยนะครับ
2.อ่านเอกสารหมายเรียกอย่างละเอียดว่าในหมายเรียกครั้งที่เท่าไรและมีวัตถุประสงค์เพื่ออะไร เช่น เรียกในฐานะพยาน หรือต้องการเรียกเพื่อขอเอกสารใดๆเพิ่มเติม หรือ เรียกเพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติมเป็นต้น
*** หากท่านไม่ได้ไปพบเจ้าหน้าที่หรือปฎิบัติตามหน้าที่ที่ได้รับจากหมายเรียก อาจมีความผิดฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน และอาจถูกออกหมายจับได้ ยกเว้น ไม่สะดวกที่จะไปตามหมายเรียกก็สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อเลื่อนวันออกไปก่อนได้ เช่นกัน***
3.ควรปรึกษาทนายความ เพราะว่าทนายความสามารถให้คำแนะนำได้ ว่าควรตอบคำถามกับเจ้าหน้าที่แบบใด
4.รวบรวมหลักฐานตามที่เจ้าหน้าที่ต้องการ และตรวจสอบวัน เวลา สถานที่อย่างรอบคอบ พร้อมเช็คตารางเวลาของตัวคุณเองด้วยนะครับ ว่าวันที่เจ้าหน้าที่นัดนั้น คุณสะดวกที่จะไปตามหมายเรียกไหม?
5.ไปพบกับเจ้าหน้าที่ที่ออกหมายเรียก
อ่านบทความ : ทำอย่างไรเมื่อถูกตำรวจ ออกหมายเรียก ? ได้ที่นี่ คลิกเลย !
หมายเรียกครั้งที่ 2 ขอเลื่อนได้หรือไม่
หากท่านได้รับหมายเรียกครั้งที่1แล้ว หากไม่ได้ไปตามวันเวลาที่กำหนด ทางเจ้าหน้าที่จะออกหมายเรียกครั้งที่2 การออกหมายเรียกครั้งที่2นั้น สามารถขอเลื่อนได้ครับ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ ว่าจะให้เลื่อนหรือไม่ หากเจ้าหน้าที่ทำการเลื่อนให้แล้วแต่ผู้ต้องหายังคงไม่มาตามนัดหมายอีก หมายเรียกก็จะกลายเป็นหมายจับนะครับ แต่ถ้าทางเจ้าหน้าที่ไม่ทำการเลื่อนนัดตามหมายเรียกครั้งที่2ให้ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่อีกเช่นกันว่าเจ้าหน้าที่จะขออนุมัติศาลออกหมายจับเลยหรือไม่
ประเภทของหมายเรียก
1.หมายเรียกพยาน โดยตัวหมายเรียกพยานก็จะมีวัตถุประสงค์เพื่อให้คนที่ได้รับหมายไปให้ข้อมูลเพิ่มเติมในฐานะพยานเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการสอบสวน เช่น เป็นผู้เห็นเหตุการณ์
แต่หมายเรียกพยานก็อาจเป็นกรณีที่เจ้าหน้าที่สงสัยว่าคุณอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดครั้งนั้นได้เช่นกัน เช่น มีคนพบเห็นว่าคุณอยู่ในเหตุการณ์ปล้นรถด้วย
2.หมายเรียกผู้ต้องหา แสดงว่าทางเจ้าหน้าที่มีหลักฐานเพียงพอที่จะพิสูจน์ได้แล้วว่า บุคคลนั้นเป็นผู้กระทำผิดจริง บุคคลนั้นจะถูกออกหมายเรียกผู้ต้องหาเพื่อไปรับทราบข้อกล่าวหาที่เกิดขึ้น แต่ถึงขั้นนี้แล้วยังไม่ถือว่าเป็นบุคคลที่กระทำผิดนะครับ เพราะผู้ต้องหาสามารถมีสิทธิที่จะปฎิเสธได้ เมื่อได้รับหมายเรียกผู้ต้องหา ทางLegardy ขอแนะนำให้ท่านปรึกษาและพาทนายไปพบเจ้าหน้าที่ด้วยนะครับ เพราะว่าการให้ความในชั้นสอบสวนนั้น ค่อนข้างมีน้ำหนักหากให้การผิดพลาด ก็อาจเป็นหลักฐานมัดตัวได้เช่นกัน

การตรวจสอบหมายเรียกปลอม
แต่ปัจจุบันนั้น มิจฉาชีพก็ค่อนข้างเยอะ บางครั้งหมายที่ท่านได้รับอาจเป็นหมายปลอมได้เช่นกัน! ทางLegardy มีวิธีตรวจสอบหมายปลอมให้ทุกท่านด้วยครับ ให้เริ่มจากการตรวจสอบหมายเรียกที่ได้รับว่ามีรายละเอียดครบถ้วนตามด้านล่างนี้หรือไม่
- วันที่ที่ออกหมาย
- ชื่อและที่อยู่ของพนักงานสอบสวนที่ออกหมาย
- สาเหตุที่เรียกไปพบ
- สถานที่และวันเวลาที่นัดหมายให้ไปพบ
- ลายมือชื่อพร้อมตำแหน่งของพนักงานสอบสวน
หากมิจฉาชีพได้ทำการปลอมแปลงเอกสารทั้งหมดโดยมีรายละเอียดครบถ้วน ให้ท่านติดต่อไปยังหน่วยงานที่พนักงานสอบสวนท่านนั้นประจำอยู่ เพื่อสอบถามว่ามีพนักงานสอบสวนท่านนั้นประจำอยู่จริงหรือไม่
"โปรดระมัดระวังในการสแกน QR code ที่แนบมาพร้อมหมายหรือโทรหาเบอร์โทรที่แนบมาพร้อยหมาย เพราะอาจเป็นขบวนการเดียวกันกับมิจฉาชีพได้"
หลังจากการตรวจสอบเบื้องต้นแล้ว หากหมายเรียกนั้นได้รับการยืนยันว่าเป็นของจริง ให้เข้าไปพบเจ้าหน้าที่ตามวันและเวลาที่หมายได้กำหนดไว้ หากต้องการเลื่อนก็สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ได้เช่นเดียวกัน แต่หากหมายนั้นเป็นเอกสารปลอม ให้นำหมายไปแจ้งความที่สถานีตำรวจเพื่อดำเนินคดีกับมิจฉาชีพฐาน "ปลอมแปลงเอกสารทางราชการ"
กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับหมายเรียก
1.ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา368 บัญญัติไว้ว่า ผู้ใดทราบคำสั่งของเจ้าพนักงานซึ่งสั่งการตามอำนาจที่มีกฎหมายให้ไว้ ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนั้นโดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบวัน หรือปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2.การปลอมแปลงเอกสารราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา266
เกร็ดความรู้เกี่ยวกับหมายเรียกและหมายจับ
1.หมายเรียกหรือหมายจับนั้น จะส่งไปยังที่อยู่ตามบัตรประชาชน หากท่านไม่ได้อาศัยอยู่ตามที่อยู่ในบัตรประชาชน ให้ทำการตรวจสอบเอกสาร , จดหมายที่ส่งไปที่อยู่ตามบัตรประชาชนให้บ่อยครั้ง
2.หมายเรียกครั้งที่2นั้น หากท่านยังนิ่งเฉยหรือไม่ไปตามหมายนัดหรือขอเลื่อนนั้น ทางเจ้าหน้าที่จะขออนุญาตศาลออกหมายจับได้ด้วย
3.ต่อให้เจ้าหน้าที่ออกหมายเรียกพยานที่ไม่ใช่หมายเรียกผู้ต้องหา หากการที่ท่านไปเป็นพยานแล้วการที่ท่านให้การมีพิรุจน์หรือให้การมัดตัวแก่ตัวเอง เจ้าหน้าที่ก็สามารถให้ท่านเป็นผู้ต้องหาได้เช่นกัน
สรุป
หากได้รับหมายเรียกหรือหมายจับจากเจ้าหน้าที่สิ่งที่ควรทำที่สุดคือการปรึกษาทนาย เพราะการเล่าเหตุการณ์ให้ทนายฟังนั้นสามารถเปลี่ยนจากโทษหนักให้เป็นเบาได้ และเมื่อได้รับหมายเรียกสิ่งที่ควรทำรองลงมาคือการเข้าพบเจ้าหน้าที่ตามที่หมายนั้นได้ระบุไว้ หากไม่สะดวกก็สามารถขอเลื่อนได้เช่นกัน
ปรึกษาทนายตัวจริง
สอบถามได้ทุกเรื่องราวทางกฎหมาย
"โดนโกง โดนประจาน" ปรึกษาได้ในคลิกเดียว
สมัครเป็นทนายออนไลน์
แพล็ทฟอร์มรวบรวม
งานกฎหมายจากทั่วประเทศ



