รับซื้อของโจรมีโทษและมีหลักเกณฑ์อย่างไร ?
บางครั้งคนที่รับซื้อของต่างๆก็ไม่ทราบว่าของที่ตนได้ซื้อมานั้นเป็นของโจรหรือไม่ รู้ตัวอีกทีเจ้าหน้าที่ก็มาบุกถึงที่แล้ว วันนี้ทาง Legardy จะพาผู้อ่านทุกท่านมาลงรายละเอียดเรื่องการรับซื้อของโจรกันครับ ก่อนอื่นต้องทราบก่อนว่ารับของโจรคืออะไร
รับของโจรคืออะไร?
ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 357 รับของโจรคือ ผู้ใดช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาหรือนำไป ซื้อ รับจำนำหรือรับไว้ โดยรู้ว่าทรัพย์นั้นได้มาโดยการกระทำความผิดที่เกิดจากการ วิ่งราวทรัพย์ กรรโชก รีดเอาทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ฉ้อโกง ยักยอก หรือเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานรับของโจร (ความผิดมูลฐาน) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ผู้ที่จะกระทำความผิดรับของโจรได้นั้นต้องมีการกระทำความผิดมูลฐานตามข้างต้นก่อน ถึงจะผิดฐานรับของโจรได้
ความผิดมูลฐาน คืออะไร? หาคำตอบได้ที่ลิงค์นี้ !
รับของโจร ยอมความได้ไหม
ยอมความไม่ได้ เพราะว่าเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 357
แต่หากได้คืนทรัพย์นั้นแก่เจ้าของที่แท้จริงไปแล้ว หรือมีการชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นให้แก่เจ้าทุกข์หรือมีประวัติที่ดี ไม่เคยมีประวัติอาชญากรรมอาจเป็นเหตุขอให้ศาลพิจารณาการลดโทษได้ครับ ศาลอาจรอลงโทษการจำคุกและคุมประพฤติแทนได้
ความผิดฐานรับของโจร
ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน5ปี หรือปรับไม่เกิน100,000บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ซึ่งความผิดฐานรับของโจรนั้นจะได้รับโทษหนักขึ้นถ้าหาก
- ได้นำทรัพย์ที่ได้จากการชิงทรัพย์หรือปล้นทรัพย์นั้นไปทำการค้าทำกำไรต้องระวางโทษจำคุก 6เดือน–10 ปีและปรับ10,000 – 200,000 บาท
- รับซื้อของที่ใช้สำหรับทำสาธารณประโยชน์ เช่น การขโมยฝาท่อระบายน้ำแล้วไปขายต่อ ซึ่งฝาท่อระบายน้ำนั้นตามสามัญสำนึกถือว่าเป็นของรัฐอยู่แล้ว บุคคลที่รับซื้อจะมีความผิดฐานรับซื้อของโจรต้องระวางโทษจำคุก 6เดือน–10 ปีและปรับ10,000 – 200,000 บาท
- รับซื้อทรัพย์ที่เป็นพระพุทธรูป วัตถุทางศาสนา สมบัติของชาติ โดยทรัพย์นั้นได้มาจากการลักทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ บุคคลที่รับซื้อของโจรนั้น ต้องระวางโทษจำคุก 5-15 ปี และปรับ 100,000 - 300,000 บาท
รวมบทความทางกฎหมาย, คำปรึกษาพร้อมคำตอบจากทนายความ, มาตรากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่อง
"รับของโจร" คลิกเลย !
หลักเกณฑ์ที่ใช้ในการพิจารณาการรับซื้อของโจร
หลักเกณฑ์ตรงนี้ไม่ได้มีกำหนดเป็นลายลักษณ์อักษรแบบชัดเจน เป็นแค่การดูพฤติการณ์คร่าวๆ ว่าเจตนาดีหรือไม่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับตัวบุคคลนั้นเองว่าจะนำสืบดีหรือไม่
1.มูลค่าของสินค้าที่รับซื้อนั้นเมื่อเทียบกับราคาท้องตลาดแล้วมีความผิดปกติหรือไม่
เช่น ราคารถยนต์รุ่นนี้มือสองราคาตลาดอยู่ที่ 500,000บาท แต่มีคนมาขายแค่ 250,000 หากเรารับไว้ก็จะสื่อถึงเจตนาที่ไม่ดีอาจเข้าข่ายรับของโจรได้ครับ
**แต่ถ้าเป็นการรับจำนำต่อให้ราคาที่รับจำนำนั้นจะต่ำกว่าราคาทรัพย์สินมากก็ตาม ย่อมไม่ถือว่ามีพิรุธเพราะว่าการรับจำนั้นไม่ใช่การซื้อขาย ผู้รับจำนำนั้นเพียงแค่รับทรัพย์สินไว้เป็นหลักประกันหนี้เท่านั้น
ตัวอย่างคำพิพากษาฎีกาที่ 2608/2548 (เกี่ยวข้องกับมูลค่าของสินค้า)
แม้ขณะที่ ก. กับ จ. เอารถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายไปจะไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์เนื่องจากได้รับความยินยอมจากผู้เสียหาย แต่ ก. กับ จ. มีหน้าที่ต้องนำรถจักรยานยนต์มาคืนผู้เสียหาย การที่ ก. กับ จ. ไม่นำมาคืน ผู้เสียหาย กลับนำไปขายให้แก่จำเลยทั้งที่ไม่ใช่ของตน ถือได้ว่า ก. กับ จ. มีเจตนาเบียดบังเอารถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายโดยทุจริตอันเป็นความผิดฐานยักยอก เมื่อจำเลยรับซื้อไว้ในราคาเพียง 800 บาท ต่ำกว่าราคาแท้จริง 7,000 บาท มาก โดยไม่ประสงค์ตรวจสอบเสียก่อนว่าคู่มือจดทะเบียนรถจักรยานยนต์คันดังกล่าวมีชื่อ ก. กับ จ. เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์หรือไม่ ย่อมเป็นการผิดวิสัยของบุคคลโดยทั่วไป เชื่อว่าจำเลยรับซื้อไว้โดยรู้อยู่แล้วว่ารถจักรยานยนต์ที่ ก. กับ จ. นำมาขายได้มาจากการกระทำความผิดอาญาฐานยักยอก ดังนั้น ไม่ว่าการที่ ก. กับ จ. ได้รถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายมาจะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์หรือยักยอก การกระทำของจำเลยถือว่าครบองค์ประกอบความผิดฐานรับของโจร ตาม ป.อ. มาตรา 357 วรรคแรก
2.ลักษณะของความเปิดเผย
หากผู้ซื้อได้นำทรัพย์สินที่ซื้อมานั้นไปใช้งานหรือเก็บไว้อย่างเปิดเผย ไม่ได้มีเจตนาที่จะซุกซ่อนถือว่าเป็นข้อบ่งชี้ได้ว่าผู้ซื้อนั้นมีเจตนาที่ดีซึ่งอาจตีความได้ว่าผู้ซื้อไม่ทราบว่าสิ่งที่ซื้อมานั้นเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำผิด แต่กลับกันหากผู้ซื้อกระทำการซ่อนทรัพย์หรือนำทรัพย์นั้นไปขายต่อตามราคาตลาดหรือเปลี่ยนแปลงสภาพของทรัพย์นั้นให้ไม่เหลือโครงเดิมอาจสื่อถึงเจตนาที่ไม่ดีเช่นกัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2923/2544 (ลักษณะของความเปิดเผย)
ในคดีความผิดฐานรับของโจรนั้น โจทก์มีหน้าที่ต้องนำสืบให้เห็นว่าจำเลยรับจำนำรถจักรยานยนต์ของกลางไว้โดยรู้ว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ไม่ใช่ว่าเมื่อจำเลยเป็นผู้ครอบครองรถจักรยานยนต์ของกลางแล้วจำเลยต้องนำสืบแก้ตัวว่าตนไม่รู้ว่าเป็นของที่ได้มาจากการกระทำความผิด เมื่อโจทก์นำสืบไม่ได้ว่าจำเลยรับจำนำรถจักรยานยนต์ของกลางโดยรู้ว่าเป็นรถจักรยานยนต์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ พยานโจทก์จึงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำผิดฐานรับของโจร ลำพังคำรับสารภาพชั้นจับกุม แต่จำเลยให้การปฏิเสธในชั้นสอบสวนและชั้นพิจารณาคดี จะนำมาฟังลงโทษจำเลยว่ากระทำความผิดฐานรับของโจรหาได้ไม่
3.สภาพของทรัพย์สินที่รับซื้อ
ต้องดูสภาพของทรัพย์สินที่ซื้อ หากสภาพทรัพย์สินนั้นพิรุธ เช่น รถไม่มีแผ่นป้ายทะเบียนหรือมีการขูดเลขตัวถังออก ไม่มีสมุดคู่มือจดทะเบียนรถ หรือการรับซื้อสัญญาณไฟจราจร ซึ่งสามารถรู้ได้อยู่แล้วว่าเป็นทรัพย์สินของรัฐ การที่รับซื้อส่อถึงเจตนาที่ไม่ดีของผู้รับซื้อ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่187/2541 (สภาพของทรัพย์สินที่รับซื้อ)
รถยนต์กระบะของกลางมีสภาพเป็นรถใหม่ผู้เสียหายซื้อมาก่อนเกิดเหตุ 5 เดือน ราคา 335,000 บาท แต่ขณะที่จำเลยรับซื้อรถยนต์กระบะของกลางปรากฏว่าไม่มีกุญแจและบริวารกุญแจไขประตูและกุญแจสตาร์ทชำรุด ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน ป้ายวงกลมและหลักฐานการทำประกันภัยก็ไม่มีที่รถ ในชั้นจับกุมและสอบสวนจำเลยให้การรับสารภาพว่าได้รับซื้อรถยนต์กระบะของกลางไว้ในราคา 80,000 บาท ดังนี้ ตามพฤติการณ์พยานหลักฐานโจทก์ฟังได้ว่าจำเลยรับซื้อรถยนต์กระบะของกลางโดยรู้ว่าเป็นทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ จำเลยจึงมีความผิดฐานรับของโจร
อ่านคำปรึกษาจริงพร้อมคำตอบจากทนายความผู้เชี่ยวชาญเรื่อง "รับของโจร" คลิกเลย !
Q: คดีรับของโจร ถ้าชดใช้เจ้าทุกข์แล้วและเขายกโทษให้ เราจะติดคุกมั้ยครับ
Q: ซื้อของโจรมาโดยไม่ทราบ ด้วยความสะเพร่า
Q: รับซื้อของโจรทั้งๆที่เราไม่รู้เราผิดไหมคะ
Q: นำของโจรไปขายต่อผิดกฏหมายไหมคะ
4.เวลาและสถานที่ที่ทำการซื้อขาย
หากมีการซื้อขายตามวันเวลาทำการตามปกติไม่ได้มีการซื้อขายผิดเวลาและได้ซื้อขายในสถานที่ที่เปิดเผย ไม่มีการซ่อนเร้น เช่นกันนัดขายของกันตามมุมตึกช่วงดึก แบบนี้จะส่องถึงเจตนาที่ไม่ดีครับ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 427/2541 (เวลาที่ซื้อขาย)
ป. ถูกจับและลงโทษในข้อหาลักขโมยปลาดุกของผู้เสียหาย แล้วนำปลาดุกไปขายให้จำเลยที่ 2 ในเวลา 4 นาฬิกา โดยขายในราคาถูกมาก (กิโลกรัมละ 8 บาท) ในขณะที่ราคาปลาดุกปกติคือ 22 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งทำให้เห็นได้ชัดว่าจำเลยที่ 2 รู้ว่าปลาดุกนี้ถูกลักขโมยมา
แม้จำเลยที่ 2 และที่ 3 จะไม่ถูกฟ้องในคดีเดียวกันกับ ป. แต่ศาลมองว่าคำเบิกความของ ป. และนาง ข. (ภริยาของ ป. ซึ่งมีส่วนร่วมในเหตุการณ์) ไม่น่าเชื่อถือเพราะอาจมีเจตนาซัดทอดจำเลยที่ 2 และที่ 3 เพื่อป้องกันตนเอง
จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพฐานรับของโจร แต่จำเลยที่ 3 ปฏิเสธตลอดและไม่ได้ถูกฟ้องในคดีเดียวกัน ศาลจึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ตามกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม จำเลยที่ 2 ถูกลงโทษในข้อหาฐานรับของโจรเนื่องจากพฤติการณ์ที่ชัดเจนว่าเขารู้ว่าปลาดุกถูกลักขโมยมา
5.อาชีพและฐานะของผู้ซื้อ
หากเปิดร้านที่ทำธุรกิจประเภทนั้นๆอยู่แล้ว เช่น ร้านรับซื้อของเก่าซึ่งถือว่ามีความชำนาญในวิชาชีพอยู่แล้ว การที่ไม่รู้ราคาตลาด หรือไม่มีการตรวจสอบเอกสารต่างๆก่อนทำการซื้อขายนั้นถ้าเกิดการซื้อของโจรเกิดขึ้น ก็อาจจะเป็นเจตนาที่ไม่ดีได้
6.อาชีพและฐานะของผู้ขาย
หากดูพฤติการณ์ของผู้ขายแล้ว ผู้ขายนั้นไม่ควรที่จะนำทรัพย์สินนั้นมาขายได้ ถือเป็นข้อบ่งชี้ได้ว่าถ้าผู้ซื้อรับซื้อนั้นอาจจะรับซื้อโดยไม่สุจริตได้ เช่น ผู้ขายเป็นเด็กแล้วนำปืนมาขาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6771 / 2542
การที่จำเลยอ้างว่าดับจำนำอาวุธของกลางซึ่งถูกคนร้ายรักไปไว้จากตอ. ซึ่งมีอายุเพียง 16 ปีและไม่เคยรู้จักกับจำเลยมาก่อนโดยไม่ได้ขอดูหลักฐานใบอนุญาตให้มีและใช้ อาวุธปืนของบิดาต่อ. และรับจำนำไว้ในราคาเพียง 3500 บาททั้งที่จำเลยนำไปขายต่อยังได้ราคาถึง 10,000 บาทแสดงว่าจำเลยรับจำนำไว้ในราคาที่ต่ำผิดปกติและมีพิรุธ ตั้งอาวุธปืนดังกล่าวมีร่องรอยการขุดลบหมายเลขทะเบียนไม่สามารถอ่านได้แสดงว่าอาวุธปืนดังกล่าวถูกเปลี่ยนมือไปในลักษณะที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงมีการขูดลบหมายเลขทะเบียนเพื่อทำลายหลักฐานศให้เห็นว่าจำเลยรับอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนดังกล่าวไว้โดยรู้ว่าเป็นซับที่ได้มาจากการกระทำ ผิดจำเลยจึงมีความผิดฐานรับของโจร
สรุป
การจะรับซื้อของโจรได้นั้นผู้ซื้อต้องรับซื้อโดยเจตนา แต่หากไม่รู้ว่าของที่ต้นรับซื้อมานั้นเป็นของที่ได้มาจากการกระทำความผิดก็ถือว่าขาดเจตนา แต่เจตนานั้นศาลก็จะดูจากพฤติการณ์ต่างๆด้วยนะครับ หากกำลังประสบปัญหาทางกฎหมายเรื่องรับของโจร ปรึกษาทนายความผ่าน Legardy ได้ตลอด 24ชั่วโมง ทนายความพร้อมช่วยคุณ !