เงินชดเชยเลิกจ้าง คืออะไร ทำไมลูกจ้างต้องเรียนรู้?
แม้ว่าลูกจ้างจะมีหน้าที่ทำงานตามที่นายจ้างมอบหมาย จึงจะได้รับเงินเดือนตามที่ตกลงกันไว้ แต่ทราบหรือไม่ว่าทางนายจ้างเองก็มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบลูกจ้างด้วยเช่นกัน ทั้งการจัดเตรียมสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับการทำงาน การเตรียมอุปกรณ์ และเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นต่อการทำงานให้กับลูกจ้าง และการดูแลความปลอดภัยให้กับลูกจ้าง แต่เมื่อมีเหตุไม่คาดฝันทำให้นายจ้างต้องเลิกจ้างลูกจ้างแบบกะทันหัน นายจ้างก็มีหน้าที่จ่ายเงิดชดเชยให้ลูกจ้างด้วย เพื่อให้ลูกจ้างได้มีเวลาตั้งตัวก่อนหางานใหม่นั่นเอง
'คลิกเพื่ออ่านบทความเกี่ยวกับ ลูกจ้าง ที่เขียนโดยทนายความ'
เงินชดเชยเลิกจ้างคือ
เงินชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานหมายถึง เงินที่นายจ้างต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง นอกเหนือจากเงินประเภทอื่น ๆ โดยนายจ้างจะพิจารณาอัตราค่าชดเชยตามอายุงานของลูกจ้าง และลูกจ้างจะต้องทำงานครบ 120 วันเป็นอย่างน้อย และมีข้อยกเว้นที่ลูกจ้างจะไม่มีสิทธิค่าชดเชยในกรณีต่อไปนี้
- ลูกจ้างลาออกโดยสมัครใจเอง
- ลูกจ้างถูกเลิกจากจ้างกรณีทุจริตต่อหน้าที่ และเป็นการกระทำที่ผิดตามกฎหมายอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง มักเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น ลูกจ้างกระทำการโกงเงิน ยักยอกเงิน หรือแสวงหาผลประโยชน์จากบริษัทเพื่อประโยชน์ของตนเอง
- ลูกจ้างที่ดำเนินการต่าง ๆ โดยตั้งใจ หรือเจตนาที่จะสร้างความเสียหายให้กับนายจ้าง หรือบริษัท ถือเป็นการกระทำความผิดที่บริษัทสามารถเลิกจ้างได้ทันทีโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า และจะไม่ถือเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม
- ลูกจ้างกระทำโดยประมาทเลินเล่อ หรือการกระทำใด ๆ ที่ปราศจากความระมัดระวัง หรือละเลยในสิ่งที่ควรกระทำ จนนายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง จากความประมาทนั้น นายจ้างสามารถแจ้งเลิกจ้าง และไม่จ่ายเงินชดเชยให้ลูกจ้างได้โดยไม่ผิดกฎหมาย
- ลูกจ้างฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน หรือระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมาย และเป็นธรรม ในการทำงานย่อมมีกฎระเบียบข้อบังคับ หรือคำสั่งจากนายจ้างเพื่อให้ลูกจ้างนำไปปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันความเสียหายจากการทำงานที่อาจเกิดขึ้น ดังนั้นหากลูกจ้างกระทำการฝ่าฝืน หรือทำผิดระเบียบร้ายแรง หรือกระทำความผิดเดิมซ้ำ ๆ แม้จะได้รับจดหมายตักเตือนแล้ว นายจ้างก็จะมีสิทธิเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายเงินชดเชย
- ลูกจ้างละทิ้งหน้าที่โดยไม่แจ้งลา ไม่แจ้งล่วงหน้า และนายจ้างไม่สามารถติดต่อได้ต่อเนื่อง 7 วันทำงาน และส่งผลให้นายจ้างหรือบริษัทได้รับความเสียหาย โดยไม่มีเหตุผลอธิบายการละทิ้งหน้าที่อย่างสมเหตุสมผลมากเพียงพอ นายจ้างก็จะสามารถเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องให้สิทธิชดเชยใด ๆ
- ลูกจ้างได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก ลูกจ้างที่กระทำความผิดและถูกศาลพิพากษาให้รับโทษจำคุก นายจ้างมีสิทธิให้ออกจากงานได้ทันทีไปโดยปริยาย และลูกจ้างจะไม่สามารถเรียกร้องขอเงินชดเชย หรือเงินทดแทนใด ๆ ได้
- กรณีการจ้างมีกำหนดระยะเวลาการจ้างงานที่แน่นอน และนายจ้างเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลานั้น ได้แก่ การจ้างงานในโครงการ งานที่มีลักษณะเป็นครั้งคราว และงานที่เป็นไปตามฤดูกาล
'อ่านคำปรึกษาจริงเรื่อง ลูกจ้าง พร้อมคำตอบจากทนายความที่เชี่ยวชาญด้านแรงงาน'
อัตราเงินชดเชยเลิกจ้าง
- ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าชดเชย ในกรณีถูกนายจ้างเลิกจ้างโดยไม่มีความผิด ดังนี้
- ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี สิทธิได้รับเงินชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน
- ลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี มีสิทธิได้รับเงินชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน
- ลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันครบ 3 ปีแต่ไม่ครบ 6 ปี มีสิทธิได้รับเงินชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน
- ลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี มีสิทธิ์ได้รับเงินชดเชยเท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้าย 240 วัน
- ลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันครบ 10 ปีขึ้นไป มีสิทธิ์ได้รับเงินชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน
'คลิกเพื่อเลือกดูทนายกว่า 500ท่านที่เชี่ยวชาญด้านกฎหมายแรงงาน'
- ค่าตกใจ ในกรณีที่ลูกจ้างถูกเลิกจ้างโดยกะทันหัน หรือนายจ้างบอกเลิกจ้างโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า นายจ้างต้องจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้าหรือ “ค่าตกใจ” ดังนี้
- กรณีเลิกจ้างทั่วไป นายจ้างต้องจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้า 1 งวดของการจ่ายค่าจ้าง เช่น ถ้าได้ค่าจ้างทุก 30 วัน นายจ้างต้องแจ้งเลิกจ้างเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างน้อย 30 วัน มิฉะนั้นจะต้องจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้า 1 เดือน
- กรณีเลิกจ้างเพื่อปรับปรุงหน่วยงาน ลดจำนวนลูกจ้าง นายจ้างต้องแจ้งล่วงหน้าอย่างน้อย 60 วัน หากนายจ้างไม่แจ้งล่วงหน้าต้องจ่ายเงินชดเชย ไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 60 วัน
- กรณีเลิกจ้างเพราะย้ายสถานประกอบกิจการ นายจ้างต้องแจ้งล่วงหน้าอย่างน้อย 30 วัน หากลูกจ้างไม่ได้รับแจ้งจะได้รับเงินชดเชยแทนการแจ้งล่วงหน้าไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน และในกรณีบอกกล่าวล่วงหน้า แต่ลูกจ้างไม่ต้องการย้ายไปทำงานที่ใหม่ ก็มีสิทธิได้รับเงินชดเชยไม่น้อยกว่า 50% ของเงินชดเชยถูกเลิกจ้างที่มีสิทธิได้รับ
กำหนดระยะเวลาในการจ่ายเงินชดเชยเลิกจ้าง
นายจ้างต้องจ่ายเงินชดเชยให้ลูกจ้างภายในวันสุดท้ายที่ทำงาน หากลูกจ้างไม่ได้รับก็สามารถร้องเรียนได้ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานตามสาขาของที่ทำงานได้ เพราะถือว่าเป็นการถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม
เงินทดแทนกรณีว่างงาน ต่างกับเงินชดเชยเลิกจ้างอย่างไร
หากลูกจ้างมีสิทธิประกันสังคม และจ่ายเงินสมทบต่อเนื่องมาแล้ว 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนว่างงาน จะมีสิทธิ์ได้รับเงินทดแทนกรณีว่างงาน ซึ่งเป็นสิทธิประโยชน์ของลูกจ้างในกรณีว่างงานจากการถูกเลิกจ้าง ลาออก หรือสิ้นสุดสัญญาจ้างตามระยะเวลาที่กำหนด ลูกจ้างสามารถยื่นเรื่องได้ที่สำนักงานประกันสังคม และจะได้รับเงินโอนทดแทนการขาดรายได้ตามสิทธิของผู้ประกันตนในอัตราที่กฎหมายกำหนด แต่จะต้องไปขึ้นทะเบียนผู้ว่างงานที่เว็บไซต์ของสำนักงานจัดหางานภายใน 30 วันนับจากวันที่ลาออกหรือถูกเลิกจ้าง
ในชีวิตคนทำงานมักมีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้นได้เสมอ ยิ่งในยุคที่เศรษฐกิจถดถอย หรือสถานการณ์โลกที่ไม่แน่นอน อาจส่งผลกระทบต่องานที่ทำอยู่การเตรียมความพร้อมแผนสำรองไว้รับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมถึงศึกษาข้อมูลของเงินชดเชยเลิกจ้างเพื่อรักษาผลประโยชน์ของลูกจ้างจึงมีความสำคัญ หรือหากใครอยากได้ความรู้ด้านนี้เพิ่มเติมสามารถสอบถาม Legardy ทนายความออนไลน์ ที่พร้อมให้ความรู้ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
แหล่งที่มา
ปรึกษาทนายตัวจริง
สอบถามได้ทุกเรื่องราวทางกฎหมาย
"โดนโกง โดนประจาน" ปรึกษาได้ในคลิกเดียว
สมัครเป็นทนายออนไลน์
แพล็ทฟอร์มรวบรวม
งานกฎหมายจากทั่วประเทศ



